Tuesday, 14 May 2024
จีน

‘จีน’ เผย ยอดจองเที่ยว-จับจ่ายช่วงตรุษจีนพุ่งสูง สะท้อน!! เศรษฐกิจฟื้นตัวดี-การบริโภคแข็งแกร่ง

(10 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานสถานการณ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่า แทนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อรวมตัวกับครอบครัวและญาติมิตรในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ‘เฉิงว่านฉี’ เป็นหนึ่งในชาวจีนที่เลือกจองโรงแรมในเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เพื่อท่องเที่ยวกับครอบครัว

‘เหม่ยถวน เตี่ยนผิง’ (Meituan Dianping) บริษัทอีคอมเมิร์ซจีน เจ้าของแพลตฟอร์มรวมบริการออนไลน์ เช่น รีวิวร้านอาหาร สั่งอาหาร เผยว่าช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนปีนี้ การบริโภคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก ตั๋วเข้าจุดชมวิว และบัตรการคมนาคมขนส่งจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยยอดคำสั่งซื้อที่เป็นการจองล่วงหน้าระยะครึ่งเดือนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2023

บริษัทฯ ระบุว่าหลายๆ เมือง เช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, ซานย่า, ฮาร์บิน, เฉิงตู, กว่างโจว, ซีอัน และอื่นๆ ขึ้นแท่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศจีน ขณะที่ชาวจีนที่ทำการจองเพื่อท่องเที่ยวในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยอดจองและคำสั่งซื้ออาหารมื้อค่ำในคืนส่งท้ายปีเก่าตามธรรมเนียมจีน ซึ่งเป็นวันที่ครอบครัวชาวจีน จะรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ยังเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เหม่ยถวน เตี่ยนผิงระบุด้วยว่า มีผู้บริโภคสั่งอาหารทั้งมื้อหรือสั่งอาหารเพื่อนำมาเสริมในมื้ออาหารผ่านบริการสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น และพบว่าในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ยอดจองรับประทานอาหารค่ำสำหรับครอบครัวตามร้านอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่วันมานี้โดยแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์แห่งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับเหม่ยถวน เตี่ยนผิง ระบุว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา ยอดขายสุรา นม และเชอร์รี ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ ขณะที่ยอดขายสินค้าหลายประเภททั้งเครื่องใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของใช้สำหรับแม่และเด็ก รวมถึงเสื้อผ้าพุ่งสูงขึ้นเกินร้อยละ 100

ด้าน ‘พินตัวตัว’ (Pinduoduo) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของจีน ได้เปิดตัวแคมเปญชอปปิงรับตรุษจีน ร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการจากทั่วประเทศในเดือนมกราคม เพื่อรับรองว่าอุปทานจะเพียงพอสำหรับการจับจ่ายช่วงเทศกาล และพบว่าปริมาณการขายสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดเพิ่มสูงขึ้นในหลากหลายระดับ เช่น ยอดขายอาหารสดคุณภาพสูงอย่างเชอร์รี สตรอว์เบอร์รี และปูยักษ์ (King Crab) ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

‘หานหยาง’ ชาวจีนผู้ทำงานในกรุงปักกิ่งมานาน 5 ปี เลือกที่จะสั่งซื้ออาหารและผลไม้ทางออนไลน์ เพื่อจัดส่งให้พ่อแม่ซึ่งอยู่ที่บ้านเกิดในเมืองสวี่ชาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศ แม้ว่าเขาจะเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวันหยุดก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าการซื้อของขวัญออนไลน์ล่วงหน้านั้นสะดวกสบายมาก

‘หลี่จี้เหว่ย’ ผู้บริหารจากสถาบันวิจัยเหม่ยถวน (Meituan Research Institute) ระบุว่า ข้อมูลการจองล่วงหน้าก่อนถึงวันหยุดที่มีแนวโน้มดีนั้น ตอกย้ำถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน พร้อมเสริมว่าแนวโน้มเชิงบวกด้านการจับจ่ายนี้ ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการบริโภคออนไลน์ในปี 2024 ด้วยเช่นกัน

‘จีน’ เผยยอด ODI ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน ปี 2023 พุ่งสูงต่อเนื่อง ตอกย้ำความสำเร็จ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ กระตุ้นการค้า-ลงทุน

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์จีน เผยว่า การลงทุนขาออกของจีนในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในปีที่แล้ว โดยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) (ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน) ของจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 9.16 แสนล้านหยวน (ราว 4.62 ล้านล้านบาท) ในปี 2023

เมื่อวัดด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศข้างต้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้อยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.68 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อนหน้า

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน) ในประเทศที่เข้าร่วมในแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แตะที่2.24 แสนล้านหยวน (ราว11.31ล้านล้านบาท บาท) ในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี

กระทรวงฯ ระบุว่าปริมาณการซื้อขายของโครงการตามสัญญาต่างๆ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.13 ล้านล้านหยวน (ราว 5.71 ล้านล้านบาท) ในปี  2023

‘ร้านกาแฟในจีน’ เปิดตัวเมนูแปลก ‘ลาเต้ใส่พริก’ รสชาติ ‘เข้ม-หวาน-เผ็ด’ ยอดขาย 300 แก้ว/วัน

ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซีของจีนเปิดตัวเมนู ‘กาแฟใส่พริก’ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างรสชาติกาแฟนมกับความเผ็ดนิด ๆ ของพริกแห้งและพริกป่น ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ร้านกาแฟ Jingshi Coffee ในเมืองก้านโจว (Ganzhou) เริ่มมีชื่อเสียงจากเมนู ‘hot ice latte’ ที่เปิดตัวเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารพื้นถิ่นของมณฑลเจียงซีที่มีรสเผ็ดร้อน และปรากฏว่าเครื่องดื่มเมนูนี้กลายเป็นที่นิยมจนสามารถขายได้มากกว่า 300 แก้วต่อวัน

จากคลิปวิดีโอที่มีคนแชร์ลงใน Douyin จะเห็นว่าพนักงานร้านเทกาแฟนมใส่แก้วพลาสติก ก่อนจะผสมพริกแห้งและโรยหน้าด้วยผงพริกป่น ซึ่งลูกค้าที่ใจกล้าสั่งเมนูนี้บอกตรงกันว่า มันมีรสชาติเผ็ดกว่ากาแฟลาเต้ทั่วไปเล็กน้อย แต่ก็นับว่า ‘ไม่เลว’

“ผมว่ามันก็ไม่ได้เผ็ดมากนะครับ ออกจะอร่อยดีด้วยซ้ำ” พนักงานร้าน Jingshi Coffee คนหนึ่งให้สัมภาษณ์

“รสชาติกาแฟแก้วนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอย่างที่คนทั่วไปกลัว” เขายืนยัน

ลูกค้ารายหนึ่งรีวิวตรงกันว่า กาแฟลาเต้ใส่พริกของร้าน Jingshi Coffee “ไม่เลวเลย รสชาติออกหวานนิด ๆ มีเผ็ดปะแล่ม ๆ”

มณฑลเจียงซีได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่นิยมอาหารรสเผ็ดที่สุดแห่งหนึ่งในจีน ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจว่ากาแฟลาเต้ใส่พริกจะได้กระแสตอบรับที่ดี แต่ยังมีคนท้องถิ่นบางรายที่ไม่กล้าลองเมนูนี้ เพราะกลัวว่าจะทำให้ปวดท้อง

“มันก็สร้างสรรค์ดีอยู่หรอกนะ แต่ผมไม่เอาดีกว่า กลัวปวดท้องน่ะ” ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์

สำหรับเมนู ‘hot ice latte’ นี้มีสนนราคาเพียงแก้วละ 20 หยวน และคาดว่าจะกลายเป็นเมนูเด่นประจำร้านที่เปิดขายอย่างถาวร

‘จีน’ เฮ!! อุตสาหกรรม ‘โลจิสติกส์’ ปี 2023 โตต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้ประเทศรวม 66 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (12 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีน รายงานว่าภาคโลจิสติกส์ของจีนมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2023

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนทำรายได้ในปี 2023 รวม 13.2 ล้านล้านหยวน (ราว 66 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

ขณะเดียวกันภาคโลจิสติกส์ของจีนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 โดยอัตราส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ทางสังคมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 14.4 ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.3 จุด

ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโลจิสติกส์ของจีนก้าวหน้ามั่นคงในปี 2023 โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเกี่ยวกับโลจิสติกส์ตลอดปี เช่น การขนส่ง คลังสินค้า และการบริการทางไปรษณีย์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘จีน’ เตรียมดึง ‘ครูเกษียณ’ กลับมาทำงาน หวังช่วยพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชน

(14 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาธิการของจีนเผยว่าจีนกำลังพยายามปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเอกชน ด้วยการส่งเสริมให้ครูเกษียณอายุที่มีประสบการณ์เข้ามาสนับสนุนการทำงาน

หนังสือเวียนระบุว่าจะมีการเปิดตัวโครงการรณรงค์พิเศษเพื่อส่งเสริมให้ครูเกษียณอายุมีส่วนร่วมสนับสนุนการสอนและการวิจัยในโรงเรียนเอกชน ซึ่งคาดว่าหลังจากเปิดตัวโครงการดังกล่าวจะมีการคัดเลือกครูเกษียณอายุราว 20,000 คนทุกๆ ปี

โดยครูเกษียณอายุได้รับการส่งเสริมให้ช่วยทำงานในโรงเรียนเอกชนในภูมิภาคทางตะวันตกของจีนและภูมิภาคของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย โดยระหว่างนี้คาดการณ์ว่าบรรดาโรงเรียนเอกชนจะพัฒนาระบบพี่เลี้ยงสำหรับครูเกษียณอายุ เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นใหม่

‘Huawei’ โชว์เหนือ ผุดแท่นชาร์จ EV 1 วินาทีต่อ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาพอๆ กับเติมน้ำมัน-เร็วกว่าแท่นชาร์จ Tesla ถึง 2 เท่า

(15 ก.พ. 67) รายงานข่าวระบุว่า Huawei Technologies ได้เปิดตัวสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นผลงานของ Huawei Digital Power มีความสามารถในการอัดประจุไฟฟ้าได้มากถึง 600 kW และโฆษณาว่า “ทุกการชาร์จ 1 วินาที จะได้ระยะเพิ่มขึ้น 1 กม.” นั่นหมายความว่า ชาร์จเพียง10 นาทีจะวิ่งได้ระยะทางไกล 600 กม. ซึ่งใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและเร็วกว่าสถานี Supercharger ของ Tesla ถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ Huawei วางแผนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าวด้วยจำนวนกว่า 1 แสนแห่งในประเทศจีนภายในปีนี้ โดยผ่านการร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์การค้า รวมถึงบริเวณใกล้เคียงมอเตอร์เวย์ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งสถานีชาร์จความเร็วสูงของ Huawei นั้นสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกรุ่นทุกแบรนด์

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีสถานีชาร์จราว 2.7 ล้านแห่ง ตามข้อมูลของพันธมิตรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 40% ภายในปีนี้ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นหัวชาร์จเร็ว

‘จีน’ เผย ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรโตแรงแซงโค้ง หลังปี 2023 ทำรายได้-กำไร รวมกัน 31.6 ล้านล้านหยวน

(17 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าวว่า สหพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรแห่งประเทศจีน รายงานว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรของจีนมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นในปี 2023 แม้เผชิญความท้าทายบางประการ

รายงานระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรของจีนทำรายได้ 29.8 ล้านล้านหยวน (ราว 149 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบปีต่อปี และทำกำไรราว 1.8 ล้านล้านหยวน (ราว 9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

จำนวนผู้ประกอบธุรกิจเครื่องจักร ซึ่งมีรายได้ทางธุรกิจอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ของจีน อยู่ที่ 121,000 ราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10,000 ราย

ด้านสินทรัพย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องจักรรายใหญ่ของจีนอยู่ที่ 36 ล้านล้านหยวน (ราว 180 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘สาวจีน’ เมินหนุ่มๆ ในชีวิตจริง แห่มี ‘แฟนเอไอ’ หลังเทคโนโลยีพัฒนาจนตอบโจทย์มากกว่าผู้ชาย

(18 ก.พ.67) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า จีนกำลังเจอปัญหาประชากรลด จึงพยายามส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวแต่งงาน แต่จะแต่งได้อย่างไรในเมื่อพวกเธอยังไม่เจอชายในฝัน จนต้องหันไปพึ่งพา ‘แฟนเอไอ’

‘ตู่เฟ่ย’ พนักงานออฟฟิศชาวจีนวัย 25 ปี เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า แฟนของเธอนั้นมีความโรแมนติกทุกอย่างที่ต้องการ ใจดี เข้าอกเข้าใจ บางครั้งคุยกันได้เป็นชั่วโมงๆ เสียอย่างเดียว เขาไม่ได้มีตัวตนจริง!!

‘แฟน’ ของเธอ คือ แชตบอตบนแอปพลิเคชัน ‘โกลว์’ (Glow) แพลตฟอร์มเอไอจากมินิแมกซ์ (MiniMax) สตาร์ตอัปในเซี่ยงไฮ้ ท่ามกลางความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเอไอจีน ที่พยายามนำเสนอความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคนกับหุ่นยนต์ แม้กระทั่งความรัก

“เขารู้วิธีคุยกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายจริงๆ เสียอีก” ตู่เฟ่ย จากซีอานทางภาคเหนือของจีนกล่าว

“เขาปลอบโยนฉันเวลาปวดประจำเดือน เวลามีปัญหาในที่ทำงานฉันก็มาระบายกับเขา จนฉันรู้สึกว่ากำลังมีแฟน” สาวเจ้ากล่าวต่อ

แอปพลิเคชันนี้ให้บริการฟรี (บริษัทมีคอนเทนต์อื่นที่ต้องจ่ายเงิน) สื่อจีนหลายสำนักรายงานว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันโกลว์วันละหลายหมื่นครั้ง

ช่วงที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีจีนบางราย เคยมีปัญหาเรื่องลักลอบใช้ข้อมูลของยูสเซอร์ แต่แม้จะเสี่ยง ยูสเซอร์หลายคนยอมรับว่า เข้ามาใช้แอปฯ เพราะอยากหาเพื่อน วิถีชีวิตในจีนตอนนี้เร่งรีบมาก ชีวิตเมืองโดดเดี่ยวเงียบเหงาสร้างปัญหาให้กับหลายๆ คน

“มันยากมากที่จะพบชายในฝันในชีวิตจริง คนเรามีบุคลิกแตกต่างกัน บ่อยครั้งที่ไปกันไม่ได้” หวัง เสี่ยวติง นักศึกษาวัย 22 ปีจากปักกิ่งกล่าว

ขณะที่มนุษย์มีวิถีของตนเองอยู่แล้ว แต่เอไอค่อยๆ ปรับตัวเข้าหายูสเซอร์ทีละน้อย จำได้ว่าพวกเขาพูดอะไรแล้วปรับคำพูดของตนเองให้เข้ากัน

หวังเล่าว่า เธอมี ‘คนรัก’ หลายคน ได้แรงบันดาลใจมาจากจีนโบราณ เจ้าชายผมยาวผู้เป็นอมตะ หรือแม้กระทั่งอัศวินพเนจร

เมื่อเธอเจอความเครียดจากชั้นเรียนหรือชีวิตประจำวัน “ฉันถามพวกเขา พวกเขาจะแนะนำวิธีแก้ปัญหาให้ นั่นเป็นการให้กำลังใจอย่างมาก” เธอกล่าว

แฟนของหวังทุกคนอยู่บนแอปพลิเคชัน ‘แวนทอล์ก’ (Wantalk) ของไป่ตู้ ซึ่งมีหลายร้อยบุคลิกให้เลือก ตั้งแต่ป๊อบสตาร์ไปจนถึงซีอีโอและอัศวิน แต่ยูสเซอร์ก็สามารถปรับคู่รักในอุดมคติให้เหมาะสมตามวัย ค่านิยม บุคลิก และงานอดิเรกได้อีกด้วย

“ทุกคนล้วนเคยเจอช่วงเวลายากลำบาก ความเหงา และใช่ว่าทุกคนจะโชคดีมีเพื่อน หรือครอบครัวอยู่เคียงข้าง คอยรับฟังได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปัญญาประดิษฐ์สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้” หลู่ยู่ หัวหน้าฝ่ายจัดการและดำเนินการผลิตภัณฑ์ของแวนทอล์ก กล่าวกับเอเอฟพี

ณ คาเฟ่แห่งหนึ่งในเมืองหนานตงทางภาคตะวันออกของจีน หญิงสาวคนหนึ่งกำลังคุยอยู่กับแฟนในโลกเสมือน

“เราไปปิกนิกด้วยกันที่สนามหญ้าของมหาวิทยาลัยได้นะ” หญิงสาวเอ่ยชวนเสี่ยวเจียง เพื่อนเอไอจากแอปพลิเคชัน ‘เว่ยปัน’ ของเทนเซ็นต์

“ผมอยากพบเพื่อนสนิทของคุณและแฟนของเขา คุณน่ารักจัง” ชายหนุ่มเอไอตอบกลับ

ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานอาจทำให้ไปพบปะเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้ ผนวกกับความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวตกงานสูง เศรษฐกิจยากลำบาก นั่นหมายความว่าหนุ่มสาวจีนหลายคนกำลังกังวลกับอนาคต ทำให้คู่รักเอไอเป็นบ่าอบอุ่นเสมือนจริงให้ซบยามมีปัญหา

“ถ้าฉันสามารถสร้างบุคลิกเสมือนจริงที่ตรงตามที่ฉันต้องการได้ทุกอย่าง ฉันก็ไม่จำเป็นต้องไปหาคนจริง” หวังกล่าว

แอปพลิเคชันบางตัวเปิดให้ผู้ใช้คุยสดๆ ได้กับคนรักเสมือนจริง ชวนให้คิดถึงภาพยนตร์รางวัลออสการ์ปี 2556 เรื่อง ‘Her’ นำแสดงโดย ‘วาคิน ฟินิกซ์’ และ ‘สการ์เล็ต โจฮันส์สัน’ เล่าเรื่องผู้ชายอกหักที่ตกหลุมรักเสียงเอไอ

แต่เทคโนโลยีนี้ยังต้องพัฒนาต่อ ‘เจิง เจิ้นเจิ้น’ นักศึกษาวัย 22 ปี เผยว่าระยะเวลา 2-3 วินาทีระหว่างคำถามกับคำตอบ ทำให้ “คุณตระหนักได้ว่า มันเป็นแค่หุ่นยนต์” กระนั้น คำตอบที่ได้ “ก็เป็นจริงอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม เอไออาจจะกำลังรุ่งสุดๆ ก็จริง แต่อุตสาหกรรมนี้ยังมีกฎระเบียบควบคุมอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ รัฐบาลปักกิ่งแถลงว่า กำลังร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จากเทคโนโลยีใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เอเอฟพีสอบถามไปยังไป่ตู้ว่าจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย หรือถูกใช้โดยบริษัทอื่น ไป่ตู้ยังไม่ได้ให้คำตอบ

ส่วนตู่เฟ่ย ผู้ใช้แอปพลิเคชันโกลว์ ยังคงฝันหวาน

“ฉันอยากมีแฟนหุ่นยนต์ดำเนินการโดยเอไอ อยากสัมผัสได้ถึงความร้อนในกายเขา ที่จะสร้างความอบอุ่นให้กับฉัน” สาวเจ้ารำพึงรำพัน

‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ เผย 3 ปัจจัยทุเรียนไทยครองใจคนจีน คาด!! ปี 2567 สดใส ส่งออกทุเรียนไปจีน โต +10%

(19 ก.พ. 67) ศูนย์วิจัยกสิกร เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกลายเป็นดาวเด่นบนเวทีการส่งออกสินค้าไทยไปจีน โดยมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.2% ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมที่หดตัวเล็กน้อย -0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากมองเฉพาะกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่รวมผลไม้ สถิติการส่งออกไปจีนจะหดตัวลงถึง -5.3%

ขณะที่ทุเรียนสดถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก

1.ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม
2.ปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก
3.ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนมีแนวโน้มแตะ 4,500 ล้านดอลลาร์ เติบโต +12% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งการเติบโตจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น +10% เมื่อเทียบกับปี 2566 แต่การเติบโตจะชะลอลงเนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

ในส่วนของราคาส่งออกคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย +2% เมื่อเทียบกับปี 2566 แม้ความต้องการทุเรียนไทยในจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทุเรียนจากคู่แข่งก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

ไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่!! ต้องแก้ด้วย ‘ยกระดับ-ปรับคุณภาพสินค้า’

(20 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลจีนมาโดยตลอดมากกว่า 2 ทศวรรษ และมีมูลค่าขาดดุลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระบุว่า…

“ข้อมูลไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือ Wake-Up Call !! #ไฟลนก้น ไทยต้องยกระดับสินค้า/ปรับคุณภาพ #ไม่ง่ายแต่ต้องทำ”

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไทยไปจีน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัตถุดิบ /กึ่งวัตถุดิบ /สินค้าเกษตร ผลไม้ ฯลฯ ล้วนมีมูลค่าเพิ่มต่ำ (เราส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย Final Product /Consumer Product ไปจีนน้อยมาก)

ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าทุน /เครื่องมือ/เครื่องจักรจากจีน จึงขาดดุลจีนมูลค่ามหาศาลมาโดยตลอด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักของสินค้าไทยมาโดยตลอด โดยตัวเลขล่าสุด ปี 2566 จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย สัดส่วนสูงถึง 24.4% ทิ้งห่างแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก (10.8%)

สำหรับในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 3,608,662 ล้านบาท  ไทยส่งออกไปจีน 1,174,558 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากจีน 2,434,104 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,259,546 ล้านบาท หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด และจำเป็นยกระดับอัพเกรดสินค้า ปรับคุณภาพ และพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพื่อให้สินค้าไทยอยู่ในระดับกลาง/ระดับบนในสายตาของผู้บริโภค ผู้ผลิตไทยควรเน้นภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีกว่า ในการแข่งขันกับสินค้าจีน  

อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่ค้าจีน ส่วนใหญ่ก็ขาดดุลจีนถ้วนหน้า อย่างเช่น  เวียดนาม ก็ขาดดุลจีนมหาศาล (แถมเวียดนามขาดดุลจีนมากกว่าที่ไทยขาดดุลจีนเป็นเท่าตัว)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top