Sunday, 12 May 2024
กองทัพอากาศ

ทอ. ส่งเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน มีภาวะสมองขาดเลือด ส่งรักษาตัวที่ รพ.ตรัง

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค. 66) ที่กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กองทัพอากาศ โดยกองบิน 7 ได้รับการประสานจากโรงพยาบาลระนอง ขอรับการสนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ จากสนามบินระนองของกองทัพอากาศ ภูเขาหญ้า ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหญิง อายุ 91 ปี มีอาการปากด้านซ้ายเบี้ยว แขนซ้ายไม่มีแรง พูดไม่รู้เรื่อง 
ตามองไปด้านขวา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบหรือหลอดเลือดอุดตัน จึงต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตรัง

ทางพล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้สั่งการให้ศูนย์ยุทธการทางอากาศ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 (EC-725) เพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าว และมอบหมายให้ นาวาอากาศเอก ณัฏฐวุธ ดวงสูงเนิน ผู้บังคับการกองบิน 7 เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติ

โดยเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 (EC-725) สังกัดหน่วยบิน 2037 พร้อมชุดลำเลียงทางอากาศสายแพทย์โรงพยาบาลกองบิน กองบิน 7 ได้ปฏิบัติงานร่วมกับโรงพยาบาลระนอง ในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เส้นทางบิน กองบิน 7 - สนามบินระนองของกองทัพอากาศ ภูเขาหญ้า - ท่าอากาศยานตรัง เพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลตรัง

กองทัพอากาศ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ

กองทัพอากาศ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ด้านการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้นำส่งสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรณีพายุไซโคลน MOCHA การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันในวันสำคัญต่าง ๆ การจัดหน่วยทหารรักษาพระองค์ถวายพระเกียรติ/ถวายความปลอดภัยในหมายที่สำคัญ ด้านการป้องกันประเทศ โดยการบินลาดตระเวนรบทางอากาศตามแนวชายแดนด้านทิศตะวันตก ทั้งกลางวัน/กลางคืนเพื่อป้องปราบการบินล้ำแดน ให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ และในห้วงเวลาปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม ให้เกิดการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วกัน ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยการรักษาความปลอดภัยและการรองรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ ๒๙ การนำขีดความสามารถกำลังทางอากาศเข้าบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน อาทิ การบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนอากาศยานปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ปฏิบัติการควบคุมไฟป่า 

การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ การสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติการนภารักไทย ร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย ในภารกิจการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสาธารณรัฐซูดาน การบรรจุเข้าประจำการระบบอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ DominatorXP (Maned - Unmaned Teaming)

ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE แบบแรกของประเทศไทย การจัดทำแผนงานสำหรับพัฒนาพื้นที่สนามบินเชียงราย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือ
ด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภารกิจช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทัพอากาศและองค์การต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการ
ให้ความช่วยเหลือประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ การจัดกิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดและอำนวยความยุติธรรมทางอาญา การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ ๒ ด้าน ได้แก่ มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการยกระดับความสำคัญในการป้องกันยาเสพติด แสวงหาความร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการชุมนุมยั่งยืน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน และมาตรการปราบปรามยาเสพติด ได้แก่ การปราบปรามยาเสพติด 213,104 คดี โดยจากการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้วางระบบการรับแจ้งความออนไลน์ จำนวน ๓๐๕,๙๕๒ คดี มูลค่าความเสียหาย๔๑,๓๓๖ ล้านบาท สามารถอายัดเงิน ๗๔๗ ล้านบาท ซึ่งพบว่าสถิติประเภทคดีสูงสุด ๕ ลำดับ ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ ร้อยละ ๓๘.๔๐ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ร้อยละ ๑๓.๓๙ หลอกให้กู้เงิน ร้อยละ ๑๓.๑๕ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ร้อยละ ๘.๑๕ และข่มขู่ทางโทรศัพท์/Call Center ร้อยละ ๗.๔๗ การผลักดัน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.๒๕๖๖ ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยพบว่าภายหลังกฎหมายบังคับใช้สถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ลดลง สามารถจับกุมบัญชีรับเงิน หรือบัญชีม้า ๒๕๒ ราย ซิมการ์ด ๘๔ ราย และใช้กลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องกัน ปราบปราม และจัดการคดี จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำหรับการบังคับใช้กฎหมายจราจร มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เช่น การกำหนดเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การกำหนดการโดยสารท้ายรถกระบะให้มีความปลอดภัย การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ การกำหนดโทษของการรวมกลุ่มมั่วสุมเพื่อแข่งรถในทางตั้งแต่ ๕ คันขึ้นไป การยกระดับสถานีตำรวจและการให้บริการประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างขวัญกำลังใจข้าราชการตำรวจ โครงการธรรมนำใจ โครงการทำดี มีรางวัล การจัดหาเครื่องแบบรูปแบบใหม่ให้กับตำรวจจราจรทั่วประเทศ โครงการครอบครัวตำรวจเราไม่ทิ้งกัน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้าง นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มุ่งเน้นการดำเนินการในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน” และวางแนวทางการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า “ความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมต่อไป

ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ร่วมแรง ร่วมใจตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมาในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน สามารถแก้ปัญหาในภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สำเร็จด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ดำรง
ความร่วมมือระหว่างเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลประเทศชาติและประชาชน พร้อมกับปกป้องสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดไป

กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง สนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และประชาชนสืบไป 
--------------------------------------------
กองประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖

‘นนอ.ไทย’ เจ๋ง!! รับเกียรติบัตรในการปฏิบัติหน้าที่ยอดเยี่ยม จาก รร.กองทัพอากาศและอวกาศมาชัยสกี สหพันธรัฐรัสเซีย

(29 ต.ค. 66) เนื่องในวันครบรอบ 78 ปี การก่อตั้งแผนกต่างประเทศ (Special Faculty) ของโรงเรียนกองทัพอากาศและอวกาศมาชัยสกี สหพันธรัฐรัสเซีย ทางโรงเรียนฯ จึงจัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจ และความยอดเยี่ยมในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีนักเรียนที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 22 นาย จากจำนวนทั้งหมด 290 นาย

ทั้งนี้มี นักเรียนนายเรืออากาศ (นนอ.) ไทย ที่ได้รับเกียรติบัตรจำนวน 2 นาย ได้แก่ 
- นนอ.รอยอินทร์ ชุนหกิจ และ
- นนอ.วชิรวิทย์ ลาภประเสริฐล้ำ

นอกจากนี้ นนอ.ไทย ที่ทำการศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนกองทัพอากาศและอวกาศ มาชัยสกี ทั้ง 4 นาย ซึ่งประกอบด้วย นนอ.พันธวัช เทียบรัตน์, นนอ.วชิรวิทย์  ลาภประเสริฐล้ำ, นนอ.ณัฐชนนท์ เจียมจิตวานิชย์ และ นนอ.รอยอินทร์ ชุนหกิจ ได้ทำการแสดงรำไหว้ครูมวยไทย พร้อมนำเสนอวีดีทัศน์แนะนำประเทศไทย เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของไทยสู่สายตานานาชาติ

รวมถึงแต่งกายชุดไทย บรรยายประวัติของกีฬามวยไทยเป็นภาษารัสเซียให้แก่ผู้รับชมการแสดง เนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี การก่อตั้งแผนกต่างประเทศ (Special Faculty) โดยมี ผู้บังคับบัญชาของโรงเรียนฯ นายทหารปกครอง นักเรียนชาวรัสเซีย รวมถึงนักเรียนต่างชาติมากกว่า 20 ประเทศ ที่เข้าร่วมชมการแสดง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566

'บิ๊กไก่' ผบ.ทอ. ต้อนรับ นักศึกษา มส.16 ศึกษาดูงานกองทัพอากาศ

วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม กองทัพอากาศ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมคณะให้การต้อนรับ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ ประธานมูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง พลเอก ดร. มารุต ปัชโชตะสิงห์
ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูงพล.อ.ต.หญิง ดร.พัชรี พิพิธสุขสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรฯ พร้อมคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง (มส.) รุ่นที่ 16 ในการศึกษาดูงานกิจการกองทัพอากาศ 

เริ่มจากการสักการะจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาแห่ง กองทัพอากาศ จากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจในการเตรียมกำลังกองทัพอากาศ และป้องกันราชอาณาจักร พร้อมการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งในระดับต่างๆ รวมถึงภารกิจการช่วยคนไทยจากอิสราเอล พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ 

จากนั้นไปศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ก่อนจะเดินทางไป ชลพฤกษ์รีสอร์ท จ.นครนายก ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับสู่ครอบครัว มส.16

สำหรับหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง (มส.) ปัจจุบันรุ่นที่ 16 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้บริหารระดับสูง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หรือองค์การสาธารณะ

สำหรับปรัชญาของหลักสูตร มุ่งพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคลังสมองของประเทศ ให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในองค์ประกอบความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงของมนุษย์ มีทักษะ หลักคิด มีหลักเกณฑ์ ในการวิเคราะห์/สังเคราะห์ สถานการณ์อย่างถูกต้อง และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้บริหารระดับสูง เพื่อร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงแห่งชาติโดยรวม

กองทัพอากาศขอเชิญร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ กองทัพอากาศ ประจำปี 2567 

กองทัพอากาศ ขอเชิญร่วมกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ กองทัพอากาศ ประจำปี 2567 โดยส่วนกลางที่ตั้งดอนเมืองจัด ณ ฝูงบิน 601 กองบิน 6 พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ สนามบินเล็กกองทัพอากาศ (ทุ่งสีกัน) สำหรับต่างจังหวัดจัด ณ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช (สระบุรี) โรงเรียนการบิน กำแพงแสน และกองบินต่างๆ 
ทั่วประเทศ ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 08.00 - 15.00 น. โดยที่ตั้งดอนเมืองมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

• การแสดงภาคการบิน (AIR SHOW) ของเครื่องบินแบบต่าง ๆ ได้แก่ การบินผ่านสนามบิน และการบินผ่านปล่อยควันสี 
• การตั้งแสดงยุทโธปกรณ์ และการตั้งแสดงอากาศยาน จำนวน 12 แบบ ได้แก่ T-50, F-16 A/B, AU-23A, EC-725, F-5 E/F, Alpha Jet, CT/4E, A-340, DA-42, T-6C, C-130H และ Gripen เป็นต้น
• กิจกรรมบนเวที ได้แก่ การแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ทหารอากาศและแขกรับเชิญ การเดินแบบโดยนักเรียนนายเรืออากาศและนักเรียนพยาบาลทหารอากาศ การแสดงของศิลปิน Girl Group BERRY BERRY การเล่นเกมส์แจกของรางวัล เป็นต้น
• กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การออกบูธนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ การแสดงของสุนัขทหาร การแสดง Fancy Drill การแสดงกระบี่กระบอง การแสดง Drum Zeed การแสดงรถเกราะ (1 Condor, V-150) เป็นต้น

ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ได้จัดรถโดยสารปรับอากาศ จากกรมขนส่งทหารอากาศ อำนวยความสะดวก รับ-ส่งผู้ร่วมงานจากจุดจอดรถ ไปยังบริเวณงานฯ สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว สามารถจอดรถได้ 4 จุด ดังนี้
- จุดจอดรถ อุทยานการบินกองทัพอากาศ รองรับได้ประมาณ 400 คัน
- จุดจอดรถ หอประชุมกานตรัตน์ รองรับได้ประมาณ 50 คัน
- จุดจอดรถ หอประชุมกองทัพอากาศ (ทองใหญ่) รองรับได้ประมาณ 300 คัน
- จุดจอดรถบริเวณโรงเรียนจ่าอากาศ รองรับได้ประมาณ 500 คัน

โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติของกองทัพอากาศ ประจำปี 2567 ได้ที่ www.rtaf.live และเฟซบุ๊ก “กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force” ระหว่างเวลา 08.00 - 10.00 น. ทั้งนี้ ขอความร่วมมือไม่บินโดรนเหนือบริเวณพื้นที่จัดงาน รวมถึงไม่นำลูกโป่ง อาวุธและสิ่งของมีคม วัตถุไวไฟ และสัตว์เลี้ยง เข้ามายังบริเวณงาน 

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 มกราคม ของทุกปี ยังเป็นวันการบินแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ ตรงกับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กองทัพอากาศ จึงจัดให้มีพิธีวางพานพุ่ม เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณโรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6  โดยมี พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีวันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปีพุทธศักราช 2454 โดยจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย (บุพการีทหารอากาศ) คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต (ยศสุดท้าย) ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นาย เดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ 

นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 เครื่อง ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรกประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 เครื่อง หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 (ค.ศ.1913) ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้นในวันที่ 13 มกราคม 2456 (ค.ศ.1914 ห้วงนั้นประเทศไทยถือเอาวันที่  1 เมษายน เป็นวันขึ้นศักราชใหม่) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย กระทั่ง ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปี เป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่พุทธศักราช 2538 เป็นต้นมา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการบินไทย และคุณประโยชน์ของกิจการการบิน อีกด้วย

'ทอ.' แจง!! ดรามาโปสเตอร์รับสมัครนักเรียนนายเรืออากาศ ยัน!! ไม่มีเจตนาโยงซีรีส์วาย แต่อยากสื่อถึงมิติทหารเจเนอเรชันใหม่

(23 ม.ค.67) พล.อ.ต.บุญเลิศ อันดารา โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวถึงกรณีที่บนโซเชียลฯ วิจารณ์อินโฟกราฟิกโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เปิดรับสมัครนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพอากาศ) ประจำปีการศึกษา 2567 ที่ส่วนใหญ่ต่างคอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เหมือนกับโปสเตอร์ซีรีส์วาย ว่า...

...เป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ จากกรอบแนวคิดที่ให้นักเรียนนายเรืออากาศเป็นศูนย์กลาง ทางโรงเรียนก็เลยดูว่า สิ่งที่นักเรียนนายเรืออากาศได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นทหาร ความเป็นเจนเนอเรชันใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับแอร์พาวเวอร์ ไซเบอร์ และสเปซ จึงปรากฏอยู่ในโปสเตอร์ที่เป็นแนวศิลปะ ซึ่งในมุมมอง ก็อาจจะดูแบบเป็นเจนเนอเรชันใหม่ แต่หลายคนให้ความเห็นว่า โปสเตอร์ดังกล่าวคล้ายกับซีรีส์วาย ซึ่งทางกองทัพอากาศไม่ได้มีเจตนาโปรโมตเช่นนั้น

ส่วนผลกระทบหลังโซเชียลวิจารณ์นั้น โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า ขอบคุณที่ประชาชนหรือชาวโซเชียลฯ แสดงความคิดเห็นและให้ความสนใจ ทางกองทัพอากาศน้อมรับและรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีซีรีส์วาย ที่กระแสสังคมเป็นห่วง แต่สำหรับกองทัพอากาศ เราเปิดกว้างทุกความคิดเห็นและน้อมรับ

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเพจ 'โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช' ได้โพสต์ภาพโปสเตอร์ประกาศรับสมัครนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพอากาศ) ประจำปีการศึกษา 2567 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.-29 ก.พ.2567 ภาพโปสเตอร์โปรโมตดังกล่าวมีชาวเน็ตแห่คอมเมนต์เป็นเสียงเดียวกันว่า เหมือนโปสเตอร์ซีรีส์ดัง ที่นักแสดงนำเป็นทหารอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจรัก พิทักษ์น่านฟ้า, มองตอนแรกคิดว่า ซีรีส์ใหม่, ภารกิจรัก พิทักษ์หัวใจ, ทหารอากาศไม่ขาดรักแล้ว, ปีกเพื่อชาติ หัวใจเพื่อนาย เป็นต้น 

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการสร้างกระแส และได้ผลตอบรับที่ดี ช่วยโปรโมตกองทัพอากาศให้เป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น

‘ผบ.ทอ.’ ชื่นชม!! ‘2 กำลังพล ทอ.’ เข้าช่วยเหลือประชาชน ประสบเหตุรถคว่ำบนทางขึ้นภูทับเบิก ยกเป็นแบบอย่างที่ดี

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้ยกย่อง ข้าราชการกองทัพอากาศ จำนวน 2 คน คือ พันจ่าอากาศเอก ณัฐพงษ์ แก้วคำ และ พันจ่าอากาศเอก ชิษณุพงศ์ นาโค ปฏิบัติราชการสนาม ณ สถานีรายงานภูหมันขาว กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางออกจากที่ทำงานเพื่อไปจัดซื้อเสบียง ระหว่างทางได้พบรถยนต์กระบะของประชาชนเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนเส้นทางขึ้นภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว พันจ่าอากาศเอก ณัฐพงษ์ แก้วคำ ซึ่งทำหน้าที่พลขับได้หยุดรถและรีบเข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุทันที ในขณะที่ พันจ่าอากาศเอก ชิษณุพงศ์ นาโค ได้ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในที่เกิดเหตุ โดยข้าราชการทั้ง 2 คน ได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบเหตุรถยนต์กระบะพลิกคว่ำ จำนวน 3 คน ได้อย่างปลอดภัยด้วยความกล้าหาญและเสียสละ

ทั้งนี้ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้แสดงความชื่นชมและยกย่องให้เป็นแบบอย่างอันดีให้แก่ข้าราชการของกองทัพอากาศ ในการดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือประชาชนและพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกสถานการณ์

 

‘สส.ก้าวไกล’ แฉ!! รถเมล์เถื่อน-ไม่มีเลข ถามเงินเข้ากระเป๋าใคร? เจอชาวเน็ตงัดหลักฐานฟาด แท้จริงคือ ‘รถเมล์ฟรี’ จาก ‘ทอ.’

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 4 (อ.แปลงยาว อ.บ้านโพธิ์ และ อ.บางปะกง) จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทาง X กรณีรถเมล์ไม่มีป้ายทะเบียน โดยระบุว่า…

“แล้วรถเมล์เถื่อนไม่มีหมายเลขแบบนี้ ท่าน รมต.เอาไงครับ? ปล.ไม่ไช่รถเอกชนนะนี่เงินภาษี”

ต่อมา เจ้าตัวได้ทวิตข้อความเพิ่มเติมว่า “ไม่ได้ขึ้นกับ ขสมก.มาวิ่งแบบนี้ เลขรถไม่มี ใช้เงินภาษี ปชช.ไปซื้อมาวิ่งหารายได้เงินเข้ากระเป๋าใครไม่รู้ แบบนี้ผมเรียกเถื่อนครับ

“ไม่ได้ขึ้นกับมาตรฐานของ ขสมก.เลขรถก็ไม่มี ใช้เงินภาษีซื้อมาวิ่งบริการรายได้เข้ากระเป๋าใคร? ผมตั้งคำถามเพื่อประโยชน์สาธารณะครับ ไม่ได้มั่วๆ อยาก พิมพ์อะไรก็พิมพ์ครับ วิ่งมาเป็น 10 ปีไม่เคยส่งรายได้เข้าแผ่นดิน แล้วเงินเข้า กระเป๋าใคร?”

ล่าสุด ได้มีผู้ใช้งาน X ท่านหนึ่งเผยหลักฐาน แท้จริงแล้วไม่ใช่รถเมล์เถื่อนแต่อย่างใด แต่เป็น ‘รถเมล์สวัสดิการ’ จาก ‘กองทัพอากาศ’ ที่วิ่งให้บริการ ‘ฟรี’ แก่ประชาชน เพื่อเชื่อมการเดินทางจากโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมแพทย์ทหารอากาศ สู่สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟ และวิ่งผ่านกรมขนส่งทหารอากาศ แฟลต จนถึงโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ไป-กลับเป็นรอบๆ ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยผู้ใช้ดังกล่าวระบุว่า…

“ท่าน สส.ต้องเช็กข้อมูลดีๆ ก่อนครับ อันนี้เป็นรถฟรีที่กองทัพอากาศจัดไว้บริการประชาชน”

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวยังไม่ได้ให้คำตอบหรือทำการลบภาพและข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด

3 มีนาคม พ.ศ. 2426 วันคล้ายวันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ’  พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ผู้บุกเบิกทัพฟ้าสยามทัดเทียมนานาประเทศ 

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช (ในรัชกาลที่ 6) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ นริศรราช มหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นรินทร สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณ์พิสุทธิชาติ วิมโลภาษอุทัยปักษ์ อรรควรรัตน์ขัตติยราชกุมาร กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) และขุนบำนาญ วรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้น ในพระบรมมหาราชวังแล้วได้ทรงเข้าโรงเรียนนี้ ทรงศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ครูสอนภาษาอังกฤษ คือ มิสเตอร์วุลสเลย์ และมิสเตอร์เยคอลฟิลค์เยมส์) ครั้นเมื่อพระชนมายุได้ 14 ชันษา คือ ในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรป โดยมี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช เชิญเสด็จไปถึงทวีปยุโรป เมื่อถึงแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ  

ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายร้อยทหารบกของประเทศสยาม แต่คงให้ทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษไปก่อน แล้วจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิรัสเซียได้ขอไว้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2441 จึงได้เสด็จไปประเทศรัสเซีย เพื่อทรงศึกษา ณ โรงเรียนทหารทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ (พลตรี เคานต์ เค็ลแลร์ และ ร.อ.วัลเอมาร์ฆรูล็อฟฟ์) เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวก ดูแลทุกประการ

ในการศึกษานี้ สมเด็จพระจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ 9 ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด 4 ปี เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้น ๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชา เพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น 6 ทีเดียว โดยจัดครูมาสอนในที่ประทับ จากนั้นจึงเข้าศึกษาชั้น 6 และจบชั้น 9 ในปี พ.ศ. 2445 โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 พระองค์ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2448 สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยยิ่ง ทรงแต่งตั้งให้เป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิกับพระราชทานสายสะพาย เซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์ อีกด้วย

ในระหว่างที่ประทับอยู่ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงเษกสมรสกับพยาบาลชาวรัสเซีย ชื่อ คัทรินเดนิตสกี้ และทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ ซึ่งภายหลังได้พระนามว่า พระเจ้าจุลจักรพงษ์

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย ทรงเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2449 และต่อมาในปีเดียวกันทรงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2452 ทรงเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และได้ทรงเป็นเสนาธิการทหารบกในปีเดียวกันพร้อมกับทรงรั้งหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (เปลี่ยนการจัดโรงเรียนทหารบก เป็นกรมยุทธศึกษาทหารบก) จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2456 และในปี พ.ศ. 2453  ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่ นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ บรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างกว้างขวาง ทรงจัดวางแนวทางหลักสูตรการศึกษา โรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง ‘พงศาวดารยุทธศิลปะ’ และเอกสารอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2460 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในการปรับปรุงให้ราชการทหารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถจัดส่งทหารอากาศไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ผลตามพระราชประสงค์ทุกประการ ในปี พ.ศ. 2461 ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2462 ได้โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์ไปเมืองจันทบุรี และบินแสดงให้ประชาชนจังหวัดนั้นชมได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีพระราชดำรัสเป็นการสนับสนุนการบินอย่างเต็มที่ว่า "กำลังในอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียวที่จะป้องกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังประโยชน์อย่างยิ่งในการคมนาคมปกติ" นับว่าพระองค์ ทรงวางรากฐานบนแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในทุกวันนี้

จากพระประวัติโดยสังเขปของพระองค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลม ทั้งด้านการศึกษา และด้านรับราชการ ทรงรับผิดชอบการงานต่างๆ อย่างมากมาย และต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ยากที่จะหาเวลาพักผ่อนได้อย่างพอเพียง จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2463 พระองค์ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปพักผ่อนพระวรกาย พระองค์พร้อมพระชายาและพระโอรส จึงได้เสด็จไปประพาสทางฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แต่เสด็จไปได้เพียง 1 วัน ก็ประชวรไข้ไปตลอดทางจนวันที่ 8 มิถุนายน ถึงสิงคโปร์ พระอาการประชวรยิ่งกำเริบหนักขึ้น จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เวลา 13 นาฬิกา 50 นาที พระองค์ได้เสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ 38 ชันษา 3 เดือน 10 วัน

9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ พร้อมกำหนดให้วันนี้ในทุกๆ ปีเป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2464 กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารบกเป็น 'กรมอากาศยาน' และเป็น 'กรมทหารอากาศ' ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลง เครื่องแบบจากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2479 ตราไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในมาตรา 9 ได้กำหนดผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศไว้ว่า ‘กองทัพอากาศ มีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชาดำเนินกิจการ’ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กองทัพอากาศ ได้ออกประกาศกองทัพอากาศ เรื่อง วันที่ระลึกกองทัพอากาศ และวันกองทัพอากาศ โดยได้กำหนดให้ วันที่ 27 มีนาคม เป็น ‘วันที่ระลึกกองทัพอากาศ’ และวันที่ 9 เมษายน เป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทย เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองทัพอากาศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกองทัพอากาศหน่วยแรกของโลกเพียง 4 ปีเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นกองทัพอากาศที่ก่อตั้งเป็นลำดับแรก ๆ ของเอเชีย และมีวีรกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นมากมายในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ปัจจุบันมีกองบัญชาการอยู่ที่เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในปี พ.ศ. 2554 หลังจากได้รับมอบฝูงบิน Gripen กับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศจากบริษัท Saab และการปรับปรุงครึ่งชีวิตให้กับฝูงบิน F-16A/B ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับรุ่น C/D กองทัพอากาศไทยจะมีอิทธิพลทางอากาศมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ในแง่ของขีดความสามารถและความทันสมัยของอากาศยาน

โดย ภารกิจของกองทัพอากาศนั้น มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top