9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ พร้อมกำหนดให้วันนี้ในทุกๆ ปีเป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2464 กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารบกเป็น 'กรมอากาศยาน' และเป็น 'กรมทหารอากาศ' ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลง เครื่องแบบจากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2479 ตราไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในมาตรา 9 ได้กำหนดผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศไว้ว่า ‘กองทัพอากาศ มีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชาดำเนินกิจการ’ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กองทัพอากาศ ได้ออกประกาศกองทัพอากาศ เรื่อง วันที่ระลึกกองทัพอากาศ และวันกองทัพอากาศ โดยได้กำหนดให้ วันที่ 27 มีนาคม เป็น ‘วันที่ระลึกกองทัพอากาศ’ และวันที่ 9 เมษายน เป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทย เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองทัพอากาศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกองทัพอากาศหน่วยแรกของโลกเพียง 4 ปีเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นกองทัพอากาศที่ก่อตั้งเป็นลำดับแรก ๆ ของเอเชีย และมีวีรกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นมากมายในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ปัจจุบันมีกองบัญชาการอยู่ที่เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในปี พ.ศ. 2554 หลังจากได้รับมอบฝูงบิน Gripen กับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศจากบริษัท Saab และการปรับปรุงครึ่งชีวิตให้กับฝูงบิน F-16A/B ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับรุ่น C/D กองทัพอากาศไทยจะมีอิทธิพลทางอากาศมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ในแง่ของขีดความสามารถและความทันสมัยของอากาศยาน

โดย ภารกิจของกองทัพอากาศนั้น มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ