Sunday, 12 May 2024
กองทัพอากาศ

โฆษก ทอ.เผย การจัดหาเครื่องบินขับไล่ ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.พล.อ.ต. ประภาส  สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน เพื่อรองรับภารกิจการบินรบในอากาศ การโจมตีทางอากาศ การปฏิบัติการเชิงรุกที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม และการปฏิบัติการรวมทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับเหล่าทัพอื่น 

โดยคณะกรรมการศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ได้กำหนดแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีเบื้องต้นที่ควรได้รับจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ประกอบด้วย

1. มีข้อเสนอให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศไทยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จำนวนที่เหมาะสม เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ และส่งเสริมการพัฒนาประเทศในภาพรวม 

2. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีขีดความสามารถในการทดสอบการใช้งาน การติดตามผลการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนของการออกแบบอากาศยานที่สามารถซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) ทั้งในส่วนการออกแบบอากาศยาน (Aircraft Design) การออกแบบพื้นผิววัสดุของอากาศยาน (Material Design) และการซ่อมบำรุงการซ่อนพราง 

4. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในระบบบัญชาการและควบคุม ในการพิจารณาภัยคุกคาม (Threat Assessment & Analysis) เพื่อให้ระบบบัญชาการและควบคุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

5. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านงานส่งกำลังบำรุงแบบบูรณาการในการติดตามระบบส่งกำลังบำรุง ระบบการจัดการ, การซ่อมบำรุงพัสดุ ในแบบ Realtime และสามารถนำมาพิจารณาแนวโน้มความต้องการพัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงรักษาได้ 

6. การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการบินทดสอบอากาศยานที่ทันสมัย และการบินทดสอบอากาศยานไร้คนขับในลักษณะ Manned-Unmanned Teaming (MUM-T) ให้แก่นักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบสมรรถนะ หรือการทำงานของอากาศยาน 

7. การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ในด้านวิเคราะห์และเลือกใช้อาวุธ (Target Weaponeering) 

และ 8. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) รวมถึงการได้รับการเข้าถึงบัญชีความถี่ (EW Library) 

กล่าวได้ว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต โดยคำนึงถึงคุณภาพของกำลังทางอากาศและขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และรักษาความมั่นคงของชาติ 

“กองทัพอากาศยังคงดำรงเจตนารมณ์เช่นเดิมในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่การดำเนินการที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในขั้นตอนต่อไป ภายหลังจากการเจรจากับประเทศผู้ขาย (ขอเวลาให้ คณะกรรมการฯ ดำเนินการ พิจารณาเลือกแบบเครื่องบินที่เหมาะสม ดำเนินการด้วยความรอบคอบก่อน)”พล.อ.ต.ประภาส กล่าว และว่า 

เชียงใหม่ - กองพันสีขาว สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด กองบิน ๔๑

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ กองบิน ๔๑ จัดกิจกรรมโครงการกองพันสีขาว สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด กองบิน ๔๑ โดยมี นาวาอากาศเอก วัฒนา บัวชุม รองผู้บังคับการกองบิน ๔๑ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นาวาอากาศโท ภูมิพัฒน์ เลิศวัฒนาสิรภัทร ผู้บังคับกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน ๔๑, ข้าราชการกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน ๔๑ และทหารกองประจำการ กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน ๔๑ ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน ๔๑

ทอ. ส่ง ALPHA JET ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง พุ่งเป้าโจมตีก้อนเมฆ สยบพายุลูกเห็บในภาคเหนือ

ทอ.ส่งเครื่องบิน ALPHA JET ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โจมตีก้อนเมฆ “ด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์” บรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ในห้วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนัก และพบลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ที่มักจะเกิดพายุลูกเห็บทุกปี

ซึ่งในส่วนของกองทัพอากาศ ได้สนับสนุนเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรือ Alpha Jet ฝูงบิน 231 กองบิน 23 ร่วมปฏิบัติภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้วางกำลัง ณ ฐานปฏิบัติการฝนหลวงกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565

‘ผบ.ทอ.’ วอน กมธ.งบฯ ผ่านงบซื้อ F-35 ย้ำจัดซื้อโปร่งใส - มีไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ

‘ผบ.ทอ.’ วอน กมธ.งบฯ ผ่านงบ F-35 จำนวน 2 ลำ ย้ำจัดซื้อ โปร่งใส ไม่มีนอก-มีใน ยอมรับ ผ่าน ‘คองเกรส’ ไม่ง่าย แต่มีโอกาสลุ้น เผย ทอ.สหรัฐฯ หนุนเต็มที่

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 2 ส.ค.ที่กองบิน 41 กองทัพอากาศ จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อจัดหาโครงการเครื่องบิน F-35 หลังถูกคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ตัดออกจากงบงบประมาณประจำปี 2566 และได้ยื่นเรื่องอุทรณ์ซึ่งจะเข้า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวันนี้ว่า 

ประชาชนมุ่งหวังเห็นสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ 
1. กองทัพซื้อของดีมีประสิทธิภาพใช้งานได้นาน คุ้มค่า คุ้มราคากับภาษีของประชาชน 
2. การซื้อต้องไม่มีการคอร์รัปชัน หมายถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้นำเหล่าทัพไม่มีผลประโยชน์ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องใช้อย่างคุ้มค่ากับโครงการเท่านั้น 
และ 3. การจัดซื้อจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างเต็มที่ทั้งทางตรง ก่อให้เกิดความมั่นคงของชาติ และทางอ้อมคือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน พัฒนาองค์ ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ 

ทั้งนี้โครงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A ที่กองทัพอากาศเสนอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ เพราะถูกตัดงบประมาณ และเครื่องบิน F-35 A ถือเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลก สามารถใช้กับอาวุธได้หลายอย่าง รวมถึงอาวุธที่กองทัพอากาศมีใช้ในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้ออาวุธเพิ่มเติม อีกทั้งการซื้อเครื่องบินก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณ และในอนาคตหากมีอาวุธใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพก็สามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ โดย F-35 ถูกออกแบบมาให้รองรับกับอาวุธใหม่ ๆ

พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวต่อว่า กองทัพอากาศจัดซื้อโดยแบบวิธีความช่วยเหลือทางการทหาร ( FMS) ซึ่งเป็นการจัดซื้อเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล จึงมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น นับว่าเป็นกระบวนการจัดซื้อที่เป็นแบบอย่างที่ประชาชนต้องการ ทั้งนี้ การไปเจรจา รัฐบาลไม่สามารถไปแบบมือเปล่าได้จะต้องมีความพร้อมเรื่องงบประมาณและแผนการดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ขายเห็นความพร้อม

‘พูดง่าย ๆ เราไม่สามารถเดินตัวเปล่าเข้าไปซื้อ ได้และกองทัพอากาศ เคยจัดซื้อในรูปแบบดังกล่าวมาแล้ว คือเครื่องบิน F-16 ซึ่งอยู่ยงคงกระพันใช้งานมาเกือบ 40 ปี และเป็นเครื่องบินรบหลักของกองทัพอากาศ ดังนั้นหากเครื่องบิน F-35 A ผ่านการอนุมัติ เราใช้งานไปอีก 35-40 ปีเช่นเดียวกัน ย้ำว่า  F-35 A เป็นเครื่องบินล้ำสมัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่เราไม่เคยมีมาก่อน ก็จะเกิดการศึกษาเรียนรู้ การถ่ายโอนเทคโนโลยีเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนและงาน รวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จะเล็งเห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่ได้กล่าวมา และกรุณาสนับสนุนโครงการสำคัญนี้ของกองทัพอากาศด้วย ย้ำว่าขอให้ประชาชนมีความเชื่อใจ ในความซื่อสัตย์และซื่อตรงและกองทัพอากาศ ได้ทำตามภาระหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ‘พล.อ.อ.นภาเดช  กล่าว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีใน ฐานะรมว.กลาโหม ได้เห็นชอบในการจัดซื้อ F-35 อย่างไรบ้าง พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวว่า เรามีผู้บังคับบัญชาที่ดีมาก ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ในสภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่กองทัพอากาศได้ใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อไม่ได้ขอเพิ่ม จากที่รัฐบาลได้ตั้งกรอบเอาไว้ให้ ส่วนที่จัดซื้อเพียง 2 เครื่อง และจะทยอยซื้อในระยะที่ 2 และ 3 เพิ่มเติมโดยใช้เวลา 10 ปี ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ในปี 2575 กองทัพอากาศจะมีเครื่องบิน F-35 ประจำการจำนวน 12 เครื่อง และพร้อมที่จะปฏิบัติการรบในปี 2576 ภายหลังเตรียมการในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่มองกันว่าการจัดซื้อเพียง 2 เครื่องน้อยเกินไปนั้น เราได้ศึกษา จากกองทัพอากาศต่างประเทศ ซึ่งทยอยจัดซื้อเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือปานกลาง ก็มีวิธีการจัดซื้อที่แตกต่างกันไป บางประเทศซื้อเพียง 1 เครื่อง หรือ 2 เครื่องหรือ 4 เครื่อง และที่จัดซื้อครั้งเดียวครบฝูงมีน้อยมาก 

เมื่อถามว่าหากผ่านขั้นตอนทางสภาของไทยแล้วแนวโน้มที่จะผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมากน้อยเพียงใด 

‘ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยาก และโอกาสที่เราจะได้นั้น ก็อยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส เรายังมีโอกาส แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราได้รับการสนับสนุน เห็นพ้องต้องกัน เป็นหนึ่งเดียว เพราะโครงการนี้มีประโยชน์ ไม่มีสิ่งที่เป็นโทษ ไม่มีการทุจริต และไม่ได้ซื้อของไม่ดี และเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชน ผมก็เชื่อว่าเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จจะมีสูงอย่างมาก ‘

กองทัพอากาศ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จัดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ Out of the Box และโครงการ Clip You Life Click Your Future

เมื่อวันพุธที่ (21 กันยายน 2565) เวลา 09.00 น. กองทัพอากาศ โดย พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อําไพ รองเสนาธิการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จัดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ Out of the Box และโครงการ Clip You Life Click Your Future ณ ห้องรับรองกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ

กิจกรรมการประกวดทั้ง 2 โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมด้านกำลังความคิดในการผลิตสื่อที่ทันสมัย เป็นต้นแบบนักสื่อสารที่ดี ปลูกจิตสำนึกด้านผลิตสื่อที่ปลอดภัย รู้เท่าทันสื่อ เลือกบริโภคสื่ออย่างถูกต้อง พัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเป็นแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียนของโรงเรียนเอกชน และสร้างเครือข่ายเยาวชนในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้านความมั่นคง และภารกิจของกองทัพอากาศในอนาคต  

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายที่สำคัญนอกจากประกาศเกียรติคุณให้กับนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ยังเป็นการส่งเสริมขวัญและกำลังใจ เผยแพร่เกียรติประวัติเกียรติคุณ ส่งเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียนที่ได้รับการยกย่องให้สังคมโดยทั่วไปได้รู้จัก และมุ่งประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีงามอันจะส่งผลให้โรงเรียน ชุมชน ประเทศชาติ เป็นสังคมที่มีคุณภาพต่อไป

'กองทัพอากาศ' จัดพิธีมอบเครื่องหมายแสดงความสามารถด้านกีฬาให้แก่ผู้ฝึกสอน และนักกีฬาในสังกัดกองทัพอากาศ

พลอากาศเอก ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายแสดงความสามารถด้านกีฬา ให้แก่ คณะกรรมการกีฬา ผู้ฝึกสอน และนักกีฬากองทัพอากาศ ณ ห้องรับรองกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรด้านการกีฬาของกองทัพอากาศ ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งจะต้องสั่งสมประสบการณ์จากสนามแข่งขันต่าง ๆ จนเกิดเป็นทักษะในกีฬาประเภทนั้น ๆ อีกทั้งต้องมีความเสียสละ มีระเบียบวินัยในตนเอง อดทน ขยันหมั่นเพียร และทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาในการฝึกซ้อมจนประสบความสำเร็จในหลายประเภทกีฬา

โดยมีผู้ได้รับเครื่องหมายแสดงความสามารถด้านกีฬาในครั้งนี้ จำนวน 43 คน แบ่งเป็น 
- เครื่องหมายแสดงความสามารถชั้นกิตติมศักดิ์ จำนวน 2 คน
- เครื่องหมายแสดงความสามารถ ชั้นหนึ่ง จำนวน 20 คน
- เครื่องหมายแสดงความสามารถ ชั้นสอง จำนวน 21 คน

พิธีเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพอากาศ (พสบ.ทอ.) รุ่นที่ 17

วันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพอากาศ (พสบ.ทอ.) รุ่นที่ 17 ณ ห้องรับรองกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 60 คน ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารองค์กรรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน 

โครงการฝึกอบรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพอากาศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 มกราคม ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2566  มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างข้าราชการของกองทัพอากาศ เหล่าทัพ และผู้บริหารองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคเอกชน ให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นพลังที่สำคัญในการตอบสนองภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และพัฒนาประเทศชาติต่อไป 

'กองทัพอากาศ' จัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2566

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค. 66) พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2566 ในส่วนของกองทัพอากาศ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช โดยกองทัพอากาศได้จัดกำลังพลสวนสนาม จำนวน 5 กองพัน ได้แก่
1. กองพันนักเรียนนายเรืออากาศ กรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
2. กองพันนักเรียนจ่าอากาศ โรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
3. กองพันทหารอากาศโยธิน กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
4. กองพันทหารต่อสู้อากาศยาน กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
5. กองพันปฏิบัติการพิเศษ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน 

พร้อมทั้งจัดเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19/ก (F-16) จากฝูงบิน 103 กองบิน 1 และเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ 2 (AU-23) จากฝูงบิน 501 กองบิน 5 บินผ่านบริเวณพิธี นอกจากนี้ นายทหารชั้นสัญญาบัตร นายทหารชั้นประทวน และทหารกองประจำการ ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมพิธีฯ ได้เข้าปฏิญาณตนในพิธีครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บุคคลซึ่งเข้ามารับราชการทหารจะต้องเข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล จึงจะถือว่าเป็นทหารโดยสมบูรณ์ ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้อ่านโอวาทของ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องในวันกองทัพไทย ความตอนหนึ่งว่า “วันกองทัพไทย เป็นวันสำคัญของคนไทย ได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถึงวีรกรรมความกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ได้รับชัยชนะประกาศอิสรภาพ มีเอกราชในราชอาณาจักรจนเป็นผืนแผ่นดินประเทศไทยมาถึงจวบจนทุกวันนี้ 

ในวันนี้ทหารทุกเหล่าทัพ จะต้องเข้าร่วมการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล อันถือเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ และเป็นหลักชัยอยู่ท่ามกลางทหารทั้งปวง ขอให้ทหารทุกท่านจงยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ให้ไว้โดยเคร่งครัดและมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบอย่างดีที่สุด กองทัพไทยมีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นปัจจัยสำคัญของบ้านเมืองที่ทหารจักต้องรักษาไว้เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ ต้องดูแลช่วยเหลือประชาชน พัฒนา และแก้ไขปัญหาของชาติ เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้มีความถูกต้อง ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ มีความรักสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีระเบียบวินัย และมีจิตอาสาในการทำความดี พร้อมทั้งพัฒนาตนเอง ให้มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีศักยภาพ พร้อมสนับสนุนการดำเนินภารกิจของกองทัพไทยให้บรรลุความสำเร็จ และสร้างเสริมประเทศชาติให้มีความผาสุก ร่มเย็น สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป”

'กองทัพอากาศ' จัดเครื่องบิน Airbus 340-500 นำส่งสิ่งของพระราชทานไปยัง 'สาธารณรัฐตุรกี'

พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย นาวาอากาศเอกหญิง พรรณประภา วัณณรถ นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และ นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ รับฟังการบรรยายสรุปแผนการบิน พร้อมให้กำลังใจนักบินและเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติภารกิจบินนำส่งสิ่งของพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปยังสาธารณรัฐตุรกี เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21.30 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง

ทั้งนี้ กองทัพอากาศ จัดเที่ยวบินพิเศษ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (Airbus 340-500) ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ในคืนวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 23.20 น. ไปยังสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรกี ใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมง 15 นาที โดยปฏิบัติภารกิจบินนำส่งสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เครื่องปั่นไฟขนาดเล็กซึ่งมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ถุงนอนกันหนาวที่กันความเย็นได้ถึงอุณหภูมิติดลบ 24 องศาเซลเซียส เต็นท์นอนขนาดใหญ่ สำหรับ 5 - 6 คน ผ้านวมกันหนาว อาหารแห้ง นม และน้ำดื่ม 

โดยในเที่ยวบินขากลับ จะรับคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่ามีจำนวน 38 คน และลำเลียงร่างผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ร่าง โดยมีกำหนดออกเดินทางจากสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรกี ในวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่น) และเดินทางถึง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ในเวลา 21.10 น. (เวลาประเทศไทย)

เครื่องบิน 'กองทัพอากาศ' เดินทางถึงตุรเคียแล้ว ส่งมอบสิ่งของพระราชทาน พร้อมรับคนไทยกลับประเทศ

เครื่องบิน AIRBUS 340-500 เที่ยวบินที่ RTAF 230 ของกองทัพอากาศ เดินทางถึงสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรเคียแล้ว เมื่อเช้าวันนี้ ในภารกิจส่งมอบสิ่งของพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว พร้อมรับคนไทยกลับสู่มาตุภูมิ

(16 ก.พ. 66) นาวาอากาศเอกอนุรักษ์ รมณารักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและอพยพคนไทย จากเหตุแผ่นดินไหว ณ สาธารณรัฐตุรเคีย (ส่วนของกองทัพอากาศ) และคณะ เดินทางถึงสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรเคียแล้ว ด้วยเครื่องบิน AIRBUS 340-500 ของกองทัพอากาศ เที่ยวบินที่ RTAF 230 เมื่อเช้าวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 05.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 09.20 น. ตามเวลาประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top