Saturday, 11 May 2024
กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ - นิพนธ์ เติมเสบียงตู้ปันสุขในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใย สู้ภัยโควิด-19”

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใย สู้ภัยโควิด-19” นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มาเติมเต็มเสบียงที่ตู้ปันสุข

นำอาหารปรุงสุกแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมจัดทำข้าวกล่องแจกฟรีให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ตกงาน วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ คนที่หาเช้ากินค่ำ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 200 กล่องต่อวัน โดยเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะแจกต่อเนื่องไป 10 วันทำการซึ่งเป็นการสนับสนุนอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานจากร้านค้าบริเวณรอบกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินให้สะพัดในชุมชนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลายความทุกข์ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

สำหรับกิจกรรมนี้ กรมการปกครองได้จัดกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและกำกับดูแลแถวตามมาตรการ “D-M-H-T-T-A ป้องกันโควิด - 19” Distancing เว้นระยะห่างทางสังคม Mask wearing สวมหน้ากาก Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ และ Testing ตรวจวัดอุณหภูมิ และ Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เพื่อเป็นไปตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

กรุงเทพฯ - สภากาชาดไทยผนึกกำลัง - รัฐ - เอกชน ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation)

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทำให้การบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เปิดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation: HI) แต่เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ทำให้พบว่ายังคงมีบางส่วนที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ป่วยบางส่วนที่รอการติดต่อเป็นระยะเวลานาน กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง และบางส่วนก็เสียชีวิตแล้ว

สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงประสานความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย ศูนย์เอราวัณ แพทยสภา กรุงเทพมหานคร และทีมอาสาสมัครภาคเอกชน ผนึกกำลังร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) หลังลงทะเบียนในระบบ Home Isolation ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ Home Isolation กับ สปสช.

ทั้งนี้ สปสช. สภากาชาดไทย ร่วมกับทีมงานจิตอาสา เช่น Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทยเอง ได้รับผู้ป่วยมาอยู่ในการดูแลในเบื้องต้น จำนวน 3,163 ราย ซึ่งผู้ป่วยจำนวนดังกล่าว ได้ลงทะเบียนในระบบ Home Isolation แล้ว โดยมีสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม กรุงเทพฯ เป็นผู้ประสานงานหลักกับ สปสช. ในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ซึ่งหลังจากผู้ป่วยผ่านการติดต่อประสานงาน ประเมินและคัดกรองอาการแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) อาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยา Favipiravir ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่น ๆ โดยด่วน

ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ตามการประเมินและคัดกรองอาการของผู้ป่วยดังนี้

1. ลงทะเบียนผู้ป่วยและรับเข้าระบบรักษาพยาบาล จำนวน 3,163 ราย

2. ประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) โดยทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัคร จาก Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทย จำนวน 2,778 ราย

3. ส่งชุดอาหารพร้อมรับประทาน จำนวน 1,600 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นก่อนที่จะได้รับอาหารกล่อง

4. ส่งอาหารกล่อง 3 มื้อ  จำนวน 1,383 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา Home Isolation

5. ส่งปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล  จำนวน 1,012 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

6. ส่งเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว  จำนวน 868 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

7. ส่งยา Favipiravir และยาอื่น ๆ จำนวน 1,400 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

โดยมีอาสาสมัครจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสภากาชาดไทย ได้ให้การสนับสนุนงานด้าน Telemedicine โทรศัพท์คัดกรองข้อมูลผู้ป่วย และจัดส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการติอต่อ ดูแล และรักษาพยาบาลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID – 19 ให้แก่ประชาชน พร้อมเปิดจองวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ที่เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล

วันนี้ (18 สิงหาคม 2564 ) กองทัพเรือ โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID – 19  ในการนี้กำลังพลจิตอาสา 904 สังกัดกองทัพเรือ ได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน ป้องกัน COVID – 19 ณ อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพฯ โดยประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ป้องกัน COVID – 19 ในครั้งนี้ เป็นผู้อาศัยในพื้นที่เขตบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี ซึ่งมีโรคประจำตัว รวมถึงสตรีมีครรภ์ ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป

ในขณะที่ หมอพลอย แพทย์จีน ปรียาดา บัวสมบุญ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขอเชิญผู้ป่วยของโรงพยาบาล อายุระหว่าง 12 ถึง 18 ปีที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ เข็มที่ 1 โดยสามารถโทรศัพท์ ลงทะเบียน เพื่อจองคิว ได้ที่ Call Center วัคซีนโควิด หมายเลขโทรศัพท์ 02 460 0216 9 ตั้งแต่วันที่ 19-20 สิงหาคม เวลา 09.00 นถึง 15.00 น จนกว่าคิวจะเต็ม  ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะ จัดให้มีการฉีดวัคซีน ให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนในวันอังคารที่ 24 และ วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม  256 4 ระหว่างเวลา 08.00 น. ถึง 12.00 น.

ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนไฟเซอร์ ดังกล่าวมีจำนวนจำกัด ในกรณีเด็กป่วยต้องมีโรคตรงตามข้อกำหนดเท่านั้น โดยกลุ่มโรคเสี่ยง ที่กำหนดประกอบด้วย

1.โรคอ้วน หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น

2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรังหรือโรคหอบหืด

3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

4. โรคไตวายเรื้อรัง

5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

6. โรคเบาหวาน

7.กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์และภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง

 

กรุงเทพฯ - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดอาหารกล่อง From The Sea ครัวเรือรบ ต้านภัยโควิด พร้อมน้ำดื่ม สนับสนุนให้แก่ครัวสนามในโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” ถวายเป็นพระราชกุศล

ในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 11.00 น. พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มอบหมายให้ พลเรือตรี อภิชัย  สมพลกรัง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมด้วย พลเรือตรี ชวิน เวียงวิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ช่วยปฏิบัติราชการทัพเรือภาคที่ 1 เดินทางไปส่งมอบอาหารกล่อง From The Sea ครัวเรือรบ ต้านภัยโควิด พร้อมน้ำดื่ม จำนวน 690 ชุด สนับสนุนให้แก่ครัวสนามในโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ ลานจอดรถอาคารนันทอุทยานสโมสร ฐานทัพเรือกรุงเทพ โดยในวันนี้มีผู้แทนชุมชนได้แก่ ชุมชนวัดมะลิ 1 ชุมชนวัดมะลิ 2 เขตบางกอกน้อย และ ชุมชนแก้วฟ้า ชุมชนจรัล 4 เขตบางกอกใหญ่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 ชุมชน เดินทางมารับมอบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนดังกล่าว ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ทัพเรือภาคที่ 1 จะยังคงจัดอาหารกล่อง From The Sea ครัวเรือรบ ต้านภัยโควิด พร้อมน้ำดื่ม สนับสนุนให้แก่โครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” เช่นนี้ จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2564


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กรุงเทพฯ - มูลนิธิมาดามแป้ง ร่วมกับ เมืองไทยประกันภัย ส่งกล่องน้ำใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 HI ในชุมชนคลองเตย และ20 จังหวัดทั่วประเทศ

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 มูลนิธิมาดามแป้ง ร่วมกับ บมจ. เมืองไทยประกันภัย ส่งมอบกล่องน้ำใจมูลนิธิมาดามแป้ง #ส่งต่อน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้แก่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 เพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่พักรักษาตัวแบบ HI : Home Isolation ในเขตคลองเตย 450 กล่อง โดยมีนางกอบกุล จันทร์ตระกูล หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลและบริหารทั่วไป เป็นตัวแทนผู้รับมอบ และอีก 50 กล่อง ได้มอบให้กับผู้ป่วยที่เดือดร้อนในต่างจังหวัดใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุพรรณบุรี สงขลา ฯลฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 200,000 บาท โดยกระจายไปอย่างทั่วถึงผ่านกลุ่มอาสากล้าใหม่มูลนิธิมาดามแป้ง

“มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง กล่าวว่า “ในสถานการณ์เช่นนี้ยอมรับได้ว่าทุกพื้นที่ต่างก็ได้รับผลกระทบ ในฐานะที่ทำงานกับคนในชุมชนคลองเตยใกล้ชิดตลอด 7 ปี ซึ่งได้ส่งความห่วงใยไปถึงทุกคนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงได้จัดทำกล่องน้ำใจ #ส่งต่อน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ขึ้น ซึ่งของใช้ด้านในนอกจากเป็นของจำเป็นที่เราคัดสรรอย่างดีแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนมาจากภาคเอกชน และเงินบริจาคของประชาชนที่กรุณาร่วมบุญกับเรามาตลอดด้วย นับเป็นการส่งต่อน้ำใจจากทุกโมเลกุลของสังคมอย่างแท้จริง”

“สำหรับของภายในกล่องน้ำใจนั้น ประกอบด้วย ยาสามัญประจำบ้าน อาหารแห้ง อย่างข้าวสาร ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอลล์ ฯลฯ ซึ่งเรายังได้วางแผนให้ความช่วยเหลือสังคมกระจายออกไปมากที่สุดและอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” มาดามแป้ง กล่าวเพิ่มเติม

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ สามารถบริจาคและสมทบทุนได้ที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย บัญชีเลขที่ 092-2-61340-0 ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้ หรือร่วมสมัครเป็นทีมอาสากล้าใหม่กับเราได้ที่ http://bitly.ws/dsfM

กรุงเทพฯ - ผบ.ทร.มอบเสื้อเบลเซอร์ให้ "น้องแต้ว" ส่งเรียนหลักสูตรนายทหารสัญาบัตร จ่อติดยศเรือตรี

พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ของกองทัพเรือ(เสื้อเบลเซอร์)ประจำปี 2564 พร้อม ส่งเข้าอบรมหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้วจึงจะสามารถเข้ารับการ ประดับยศเรือตรี และยังมอบเงินรางวัลพิเศษ ให้แก่ "น้องแต้ว"อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬาเหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 เป็นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.64 พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายความสามารถการกีฬาของกองทัพเรือ ประจำปี 2564 พร้อมเงินรางวัลพิเศษ ให้แก่ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากลหญิงทีมชาติไทย เป็นกรณีพิเศษ ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ/ประธานกรรมการบริหารสวัสดิการกีฬากองทัพเรือ พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

พลตำรวจโท ชัยวัฒน์ โชติมา เลขาธิการสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อุปนายกสมาคม/ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค/ผู้จัดการทีม พลเรือตรี ดุลยพัฒน์ ลอยรัตน์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ/ ประธานกรรมการกีฬามวยกองทัพเรือ และ พลเรือตรี ธวัชชัย ม่วงคำ หัวหน้าสำนักงานบริหารสวัสดิการกีฬากองทัพเรือ ร่วมพิธี เพื่อเป็นเกียรติและขวัญกำลังใจแก่น้องแต้ว ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง มวยสากลหญิง รุ่นน้ำหนัก 60 กิโลกรัม จากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬากีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 

โอกาสนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้สวมเสื้อเบลเซอร์  ให้แก่ น้องแต้ว ซึ่งตามระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ประเภทนักกีฬาชั้น 1 นั้น นักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะได้รับเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ประเภทนักกีฬาชั้น 1 (เสื้อเบลเซอร์) ซึ่งเป็นเครื่องหมายความสามารถสูงสุดด้านกีฬาของกองทัพเรือ นับได้ว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งของนักกีฬา ในสังกัดกองทัพเรือ ในการที่ได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้แก่กองทัพเรือ และประเทศชาติ

นอกจากนั้นในส่วนของเงินรางวัลที่มอบให้แก่อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ ในครั้งนี้ประกอบด้วย เงินรางวัล 40,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขอเลื่อนยศและการให้รางวัลพิเศษแก่นักกีฬากองทัพเรือเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กองทัพเรืออนุมัติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550  ที่ระบุไว้ว่า " ในส่วนของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญทองแดงจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะได้รับเงินรางวัลจากสวัสดิการกองทัพเรือ จำนวน 40,000 บาท และเงินค่าตอบแทนรายเดือนจากกองทุนพัฒนากีฬากองทัพเรือ เดือน 5,000 บาท จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ บำเหน็จ 2 ขั้นและการเลื่อนยศ" ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวชื่นชมในความสำเร็จของแต้ว ซึ่งนับเป็นการสร้างชื่อเสียง รวมถึงเกียรติประวัติให้แก่ครอบครัว ประเทศชาติ และกองทัพเรือ เป็นอย่างมาก โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

"กีฬาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพัฒนาคนให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีสมรรถภาพทางกายและทางจิตใจที่เข้มแข็งสมบูรณ์ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 ที่ผ่านมานี้ นักกีฬาทีมชาติไทยได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม ในการแสดงออกถึงความเป็นนักสู้ ผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและมีความสำคัญยิ่งกว่าผลของการแข่งขัน ผมขอชื่นชมน้องแต้ว และนักกีฬาทุกท่าน ที่เสียสละเวลาและความสุขสบายส่วนตนตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจเหล่านั้น ทำให้ท่านทั้งหลายได้ก้าวสู่ความสำเร็จ ในการนำชื่อเสียงและเกียรติประวัติ มาสู่ประเทศชาติและราชนาวี  ทั้งจะเป็นแรงผลักดันให้ท่านตั้งใจฝึกซ้อมพัฒนาทักษะทางการกีฬาของตนเองต่อไป"

ขณะที่ความคืบหน้าการบรรจุ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ เพื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือตามข่าวที่เคยออกมาก่อนหน้านั้น พลเรือเอก วศินสรรพ์ฯ เผยว่า อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย และกำลังรออนุมัติการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จากคณะศึกษาศาสตร์ เอกสังคมศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาลัยทองสุข ซึ่งตามหลักเกณฑ์การขอเลื่อนยศและเลื่อนฐานะตามลำดับชั้นนั้น  ในส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ให้เสนอขอปรับวุฒิ และแต่งตั้งยศตามคุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะเสนอเข้ารับการบรรจุในระดับสัญญาบัตร ได้รับการแต่งตั้งยศเป็น “เรือตรี” โดยในขณะนี้กองทัพเรือ ได้บรรจุ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ ในตำแหน่ง “อาจารย์พละศึกษา แผนกปกครอง วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ” โดยในขณะนี้ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ อยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้วจึงจะสามารถเข้ารับการ ประดับยศ เรือตรี ต่อไป

ด้าน อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ กล่าวว่า “ความสำเร็จของแต้วในวันนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งสมาคมมวยสากลฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพเรือ ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตการรับราชการ และได้เปิดโอกาสให้แต้วได้ทำตามความฝัน ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามความฝันในครั้งนี้ แต่อีกฝันหนึ่งของแต้ว ที่กำลังจะกลายเป็นความจริง ก็คือการได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ

สุดท้ายนี้ แต้วต้องขอขอบคุณ ท่านผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ให้การสนับสนุนและให้รางวัลด้วย การให้บรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารเรือเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยในขณะนี้แต้วกำลังเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร รุ่นที่ 34 ร่วมกับเพื่อน ๆ อีกเกือบ 50 คน โดยในช่วงแรกจะเป็นการเรียนออนไลน์ และช่วงหลังจะเป็นการฝึกที่โรงเรียนนายเรือ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีความเป็นทหารทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงได้รับความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ จากครูผู้สอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอสัญญาว่าพร้อมที่จะสู้ใหม่อีกครั้งในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส อย่างแน่นอน”

กรุงเทพฯ - พม. ดึงภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” ป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก

วันนี้ (30 ส.ค. 64) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย

1) นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน

2) พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

3) นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร

4) แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

5) ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ

6) นางวราภรณ์ สุวรรณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้นทุนและการกำหนดราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กทม.

นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมทั้งปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาความกดดันต่าง ๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ในการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวทั้งที่เด็กสมัครใจและถูกบังคับ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจน เป็นต้น อีกทั้งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาที่สูงมาก จากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ  และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 – 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัวในเดือนที่ผ่านมา เด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในแต่ละวัน หรือประมาณ 2 คนในหนึ่งชั่วโมง อีกทั้งจากสถิติผู้ใช้บริการสายด่วน 1300 กระทรวง พม. ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - เดือนกันยายน 2562 มีการรายงานเคสความรุนแรงต่อเด็กหรือเยาวชนเฉลี่ย 5 เคสต่อวัน โดยจำนวน 3 ใน 5 เคส เป็นกรณีการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน พบบ่อยที่สุดคือความรุนแรงจากพ่อหรือแม่ที่กระทำต่อเด็ก และจากข้อมูลของ National Working Children Survey of 2018 พบเด็กประมาณ 177,000 คน ที่ทำงานใช้แรงงานเด็ก ในจำนวนนี้ มี 133,000 คน อยู่ในงานที่เสี่ยงอันตราย สำหรับประเทศไทยรวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านถูกแสวงการประโยชน์จากการค้าประเวณีเชิงพาณิชย์ในร้านอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และในที่พักส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการล่อลวงออนไลน์ทางสื่อโซเชียลและห้องแชทต่าง ๆ เพื่อบังคับเด็กมาผลิตสื่อลามกหรือมีเพศสัมพันธ์

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ทำงานเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ เราต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง  ตนทราบถึงปัญหาและได้ผนึกกำลังกันกับหลายกระทรวง  เพื่อเปลี่ยนมิติจากการปราบปราม เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อสร้างอนาคต สร้างวิถีชีวิตใหม่ ที่สามารถให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทาง วิธีการที่จะสร้างอนาคต และเราจะมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ผู้ประกอบการสินค้าแปลก ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ทำเอง ขายเอง ในขณะเดียวกันเราใช้เมตตา โอกาส และความสร้างสรรค์ แต่เรามีกฎหมายตีกรอบว่า ถ้าเกิดมีการใช้ประโยชน์จากเด็กเยาวชนโดยไม่ชอบ ก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ครอบครัวไหนที่มีความจำเป็นอยากจะประกอบอาชีพ เรามีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงดีอีเอส กระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คอยช่วยเหลืออยู่ด้วยความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้เดินหน้าไปด้วยกัน

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เราพยายามเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และกระทรวง พม. ได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ เรายังได้ผนึกกำลังกับสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 โดยกระทรวง พม. จะมีเจ้าหน้าที่เพิ่มให้ครบทั้ง 50 เขต คอยดูแลปัญหาเหล่านี้และพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีความยั่งยืนได้พ้นจากปัญหาที่ประสบอยู่ ในขณะเดียวกันเราให้ทั้งโอกาสและใครก็ตามที่มาใช้โอกาสโดยไม่ชอบก็ต้องจัดการ หากประชาชนเกิดปัญหาสามารถติดต่อ สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะมีเยาวชนที่เข้าใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราได้รับการฝึกจิตวิทยา และเราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ โดยเราเชื่อว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ถูกหลอกใช้

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้และเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทุกปัญหา ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีภารกิจสำคัญในการดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง ภายใต้การดำเนินงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานสงเคราะห์สำหรับรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานช่วยเหลือเด็กในทุกมิติ ได้แก่

1) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 

2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเรื่องชี้แจงกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง กรณีปล่อยปละละเลยรู้เห็นเป็นใจหรือแสวงประโยชน์จากเด็ก ตามบทลงโทษตามกฎหมาย

3) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดำเนินกระบวนการช่วยเหลือเด็ก โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่และศูนย์สร้างโอกาส ทั้งหมด 7 แห่ง

4) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้ความรู้ การให้คำแนะนำแก่เด็ก พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ และการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในครอบครัว อีกทั้งติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย หากเกิดพฤติกรรมซ้ำ จะประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย

5) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการทุกวัย โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมสำหรับเด็กและครอบครัว และ

6) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการส่งเสริมกิจการด้านการตลาด สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่เด็กและครอบครัว จาก on ground to online

กรุงเทพฯ - สโมสรลูกเสือนาวี ร่วมบริจาคชุด PAPR ประสิทธิภาพสูง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตามที่สโมสร​ลูกเสือ​นาวี​ ได้เชิญชวนให้สมาชิกฯ ร่วมบริจาคเงินกับมูลนิธิ​ราชประชานุเคราะห์​ ใน​พระ​บรมราชูปถัมภ์​ เพื่อจัดทำโครงการจัดหาชุดป้องกันเชื้อโรค แบบคลุมศรีษะ​พร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพ​สูง (ชุด PAPR)​ โดย ได้รวบรวมเงินที่ได้ร่วมบริจาค มอบให้มูลนิธิฯ จำนวน 44 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 87,750 บาท และ ดร.แสวง - คุณนิตยา บุญ​ญา​สุวัฒน์​ ร่วมสมทบรวมเป็นเงิน 100,000 บาท

สโมสร​ลูกเสือ​นาวี​ พร้อมสมาชิก ได้แก่ พล.ร.อ.ศุภพง​ษ์​ ศิริ​สนธิ พล.ร.อ.ทักษิณ ฤกษ์​สังเกตุ ดร.แสวง บุญ​ญา​สุวัฒน์ อ.เสาวลักษณ์​ พากเพียร​ทรัพย์​ คุณส่วน ดวงจันทร์ และคุณฐิติมา หาญวิวัฒน์​กุล ร่วมเป็นตัวแทนผู้บริจาคเงิน ร่วมมอบให้กับ ท่านองคมนตรี​ พลเรือเอก​ พงษ์​เทพ​ หนู​เทพ​ ประธาน​กรรมการบริหารมูลนิธิ​ฯ และพลเรือเอก​ ปวิตร รุจิเทศ รองประธานมูลนิธิฯ ​ณ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์​ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สะพานขาว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 เวลา 11.00 น.


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กรุงเทพฯ - วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต แจกถุงยังชีพให้กับ วินมอเตอร์ไซด์พื้นที่ท่าแร้ง เขตบางเขน จำนวน 1,500 ชุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ถนนรามอินทรา ซอยวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ สืบสานต่อยอดบูรพาจารย์ ผู้ก่อตั้งวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต หลวงพ่อใหญ่ พระครูภาวนาภิธาน วิ. แจกถุงยังชีพให้กับ วินมอเตอร์ไซด์พื้นที่ท่าแร้ง เขตบางเขน จำนวน 1,500 ชุด ซึ่งมีพระครูใบฎีกาสันติ กิตฺติโสภโน ผู้สนองงานเจ้าอาวาสฝ่ายเผยแพร่พระพุทธศาสนา  พร้อมด้วยคณะลูกศิษย์ และชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย กรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดโรงทานวัดห่วงใย วินมอเตอร์ไซด์ สายใยศรัทธา เพื่อปวงประชาเป็นสุข 

เนื่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวัน และฐานะทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความยากลำบากในหมู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องปรับรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างกะทันหัน และส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม เนื่องจากหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุด ต้องปิด ไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ  ทางวัดและประชาชนที่มีจิตศรัทธา ร่วมกันแจกถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย ยารักษาทั่วไป  และบทสวดมนต์ ให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส และยังสามารถดำรงชีพต่อไปได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ สำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธา สามารถร่วมบุญได้ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต


ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย รายงาน

กรุงเทพฯ - “สิงห์” มอบเงินพิเศษทัพพาราไทย 15.4 ล้าน ให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ขอบคุณทุกความพยายาม สร้างความสุขให้คนไทย

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของทุกสมาคมกีฬาคนพิการ มอบเงินรางวัลพิเศษ อีก 15.4 ล้าน ให้ทัพนักกีฬาพาราไทยทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แทนคำขอบคุณหลังจากทำผลงานยอดเยี่ยมคว้า 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง จากการแข่งขัน "พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ณ ศูนย์กีฬาบอคเซีย การกีฬาแห่งประเทศไทย (หัวหมาก) เมื่อ 23 ก.ย.6 4

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า ความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักกีฬา โค้ช และเจ้าหน้าที่ทุกคน สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทย วันนี้การแข่งขันพาราลิมปิกเป็นที่รู้จัก นักกีฬาคนพิการเป็นที่ยอมรับของคนไทยมากขึ้น ทำให้คนไทยทั้งประเทศภูมิใจ นักกีฬาฯทุกคนเป็นตัวอย่างที่ดีของความไม่ยอมแพ้ ผมภูมิใจในตัวนักกีฬาทุกคน

"การมอบเงินพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณนักกีฬาพาราไทยทุก ๆ ท่าน ตลอดจนโค้ชและเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทย สร้างความสุขให้กับคนไทย โดยบริษัทฯจะมอบเงินพิเศษ ให้นักกีฬา โค้ช เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปแข่งขันพาราลิมปิกที่โตเกียว คนละ 40,000 บาท และเงินพิเศษสำหรับผู้ทำเหรียญทอง เหรียญละ 1 ล้านบาท เหรียญเงิน เหรียญละ 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง เหรียญละ 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 15,420,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการมา ตั้งแต่ปี 2548 และยังคงสนับสนุนต่อไป เพื่อสร้างนักกีฬาพาราไทยให้สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง"

นายจุตินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาคนพิการขึ้นมาสูงมาก ทำผลงานได้ดีทำให้จำนวนเหรียญรางวัลกระจายไปสู่หลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ถึงแม้จะยังเป็นอันดับ 1 แต่จำนวนเหรียญทองลดลง ส่วนสหราชอาณาจักรแม้จะคงเป็นอันดับ 2 เหมือนเดิม แต่จำนวนเหรียญทองลดลงถึง 24 เหรียญ ไทย ทำได้ 18 เหรียญ เท่ากับที่ริโอ เกมส์ 2016 ซึ่งเหรียญทอง เหรียญเงิน ลดลงอย่างละ 1 เหรียญ แต่มองในแง่ของอันดับไทยอยู่ที่อันดับ 25 ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา เป็นที่ 1 ของอาเซี่ยนอยู่ และยังเป็นแถวหน้าของเอเชีย ถือว่าทำได้ดี ซึ่งแน่นอนว่านักกีฬาพาราไทยจะไม่หยุดแค่นี้

“พาราลิมปิกครั้งหน้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คงไม่สามารถวัดความสำเร็จจากจำนวนเหรียญรางวัลได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ รายการแข่งขันของกีฬาคนพิการจะมีการปรับลด-เพิ่มตลอดเวลา ทำให้โอกาสในการทำเหรียญเปลี่ยนไปตามรายการแข่งขันที่ถูกตัดออกหรือเพิ่มเข้ามาตลอด อีกประการหนึ่งคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลเน้นที่การมีส่วนร่วม ไม่ใช่การสร้างหรือทำลายสถิติ จึงพยายามปรับเปลี่ยนทุกชนิดกีฬา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในเกมส์มากขึ้น แต่ก็ยังเชื่อว่านักกีฬาไทยจะยังทำผลงานได้ดีอันดับคงอยู่ใกล้เคียงเดิม ไทยน่าจะยังคงเป็นที่หนึ่งของอาเซี่ยน และยังคงเป็นแถวหน้าของเอเซีย แต่การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นมาก ส่วนอันดับในพาราลิมปิกน่าจะยังคงรักษาระดับเดิมไว้ได้ ไม่น่าจะต่ำกว่าอันดับที่ 30 การเตรียมทีมเพื่อเดินหน้าสู่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งหน้าที่ปารีส การสนับสนุนที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จะยังคงให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการ ตลอดจน คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยต่อไป เพื่อยืนยันถึงการเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของกีฬาคนพิการไทย”

ด้าน “กร” พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของ 3 เหรียญทอง  พาราลิมปิกเกมส์ 2020 กล่าวว่า ในนามตัวแทนนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ขอบคุณ สิงห์ และ คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ที่ให้การสนับสนุนมานักกีฬาพาราไทย มาโดยตลอด พร้อมกับอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาในครั้งนี้ ตลอดจนรวมไปถึงในการแข่งขันหลายทุกรายการที่ผ่านมา และพวกเราหวังว่า สิงห์ จะอยู่เบื้องหลังและคอยให้การสนับสนุนพวกเราแบบนี้ตลอดไป

“ส่วนในอีก 3 ปี ข้างหน้าในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ ประเทศฝรั่งเศส และมีงานเลี้ยงและงานฉลองความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อีก ขอบคุณครับ”  พงศกร แปยอ กล่าว

 

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top