Sunday, 12 May 2024
กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ - "ลุงตู่" เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีดทั่วกรุง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง พร้อมกำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีด 45 จุด ทั่วกรุง เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายสำนักงานประกันสังคม บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย และสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายออกสู่วงกว้างทั้งในโรงงาน และสถานประกอบการ

ในเบื้องต้นได้กำหนดจัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7 - 26 มิ.ย.64 ซึ่งวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส จะฉีดให้กับผู้ประกันตนที่แจ้งความประสงค์ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 กับนายจ้าง และบันทึกลงระบบ e-service ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำการสำรวจตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดลำดับคิวการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยตามลำดับที่นายจ้างได้แจ้งความประสงค์ผ่านระบบ และได้ประสานนายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากสถานประกอบการจำนวน  24,568 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคารซันทาวเวอร์ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน

และตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการที่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทำงานอยู่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 ได้จัดเตรียมสถานที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อุปกรณ์ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 23 แห่ง โดยมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คน ซึ่งทุกศูนย์ให้บริการระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น.

นายสุชาติ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนทุกคนมั่นใจ กระทรวงแรงงานพร้อมดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการวัคซีนโควิด-19 อย่างแน่นอน สำหรับผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว  แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมายให้เข้ารับการฉีดวัคซีนในล็อตแรก หากสำนักงานประกันสังคมได้รับการจัดสรรวัคซีน จะนัดหมายให้เข้ารับการฉีดในล็อตถัดไป เรียงตามลำดับการลงทะเบียน ทั้งนี้ หากท่านไม่มาตามกำหนดเวลา จะถือว่าสละสิทธิ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 รวมถึงการเข้ารับการรักษา ติดต่อสายด่วน 1506 กด 6 และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

กรุงเทพฯ - ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงถูกปล้นบนสะพานลอย

กองเรือทุ่นระเบิดกองเรือยุทธการ ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกปล้นทรัพย์บนสะพานลอย

วันที่ 8 มิ.ย. 64 พล.ร.ต.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ได้ประกาศเกียรติคุณ แก่ จ.อ.อริย น้อยมี จ่าพยาบาลเรือหลวงท่าดินแดง ที่ได้ให้การช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกชิงทรัพย์ได้รับบาดเจ็บบนสะพานลอย หน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ จนได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและทรัพย์สิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา

โดยผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กล่าวแสดงความชื่นชมว่า จ.อ.อริย น้อยมี ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กองทัพเรือ กองเรือยุทธการ และกองเรือทุ่นระเบิดเป็นอย่างยิ่ง ที่ จ.อ.อริย ได้เสียสละแสดงถึงความกล้าหาญ ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งได้มอบเหรียญพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เขาชีจรรย์ วัดญาณสังวราราม พ.ศ.2538

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2538 เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการทำความดี การแสดงความจงรักภักดี และเป็นสิริมงคลแก่ จ่าเอก อริย น้อยมี และครอบครัวต่อไป

สำหรับ จ.อ.อริย เป็นจ่าพยาบาล โดยก่อนหน้านี้เคยประจำการอยู่ที่ ศูนย์กู้ชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก่อนจะย้ายไปสังกัด กองร้อยพยาบาล กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน โดยปัจจุบันเป็นจ่าพยาบาล สังกัด เรือหลวงท่าดินแดง กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ


ภาพ/ข่าว สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ เปิดฌาปนสถานกองทัพเรือพื้นที่แห่งใหม่ วัดสารอด เขตราษฏร์บูรณะ

วันนี้ (10 มิถุนายน 2564) พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพฯ (วัดสารอด) ณ วัดสารอดเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ปลูกต้นพระเจ้าห้าพระองค์  เป็นที่ระลึก

จากนโยบายของ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ 2564 ด้านการสวัสดิการ ให้กองทัพเรือดำเนินการพัฒนาด้านสวัสดิการเพิ่มเติม เพื่อให้กำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัวมีสวัสดิการที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายประการหนึ่งคือ การจัดหาฌาปนสถานกองทัพเรือ เพิ่มอีก 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัวในทุกระดับ โดยมีสวัสดิการฌาปนสถานกองทัพเรือ และกรมสวัสดิการทหารเรือ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

จากการดำเนินการของหน่วยรับผิดชอบตามที่กล่าวข้างต้น กองทัพเรือได้รับความเมตตาจากพระศรีธีรพงศ์ เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสารอด และคณะสงฆ์วัดสารอด ให้กองทัพเรือได้ใช้พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และฌาปนสถานของวัดสารอด เพื่อจัดสวัสดิการด้านการฌาปนสถานของกองทัพเรือ และจัดตั้งสำนักงานฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพ ณ วัดสารอด แห่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ และวัดสารอดในการร่วมพัฒนาพื้นที่ และการฌาปนสถาน อันเป็นประโยชน์แก่กำลังพลกองทัพเรือ ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ต่อไป โดยฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพ (วัดสารอด) โดยได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นมา และเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพเรือในช่วงแรกของการให้บริการ ได้จัดให้มีโครงการ “กองทัพเรือร่วมไว้อาลัย จ่ายให้ในคืนแรก”  โดยจะสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าใช้จ่ายหลักให้กับเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมคืนแรก ประกอบด้วย ค่าศาลา ค่าเครื่องไทยธรรม และปัจจัยถวายพระสงฆ์ รวมทั้งส่วนลดค่าหีบศพ และดอกไม้ประดับหน้าหีบศพ จากผู้ประกอบการ ที่กำหนดถึงวันที่ 30 กันยายน 2564  

วัดสารอด ตั้งอยู่ในซอยสุขสวัสดิ์ 44 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร มีระยะห่างจากอาคารที่พักส่วนกลาง พื้นที่สุขสวัสดิ์ 26 เพียง 3.4 กิโลเมตร  และมีระยะทางที่ไม่ห่างจากกองบัญชาการกองทัพเรือ และหน่วยงานกองทัพเรือส่วนกลางในพื้นที่กรุงเทพมากนัก การเดินทางสะดวกสามารถเข้า - ออก ได้ 2 เส้นทาง คือ ทางถนนสุขสวัสดิ์ และ ถนนประชาอุทิศ สำหรับรายละเอียดในการขอรับบริการสามารถติดต่อได้ที่ สวัสดิการฌาปนสถานกองทัพเรือพื้นที่กรุงเทพ หมายเลขโทรศัพท์ 0898936912 หรือหมายเลขโทรศัพท์กองทัพเรือ 024753219 และ 024755162 


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์

สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กรุงเทพฯ - “อนุทิน” ตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยที่กรมวิทย์ฯ ผลิตพันธุ์กัญชาต้นแบบคุณภาพดี

วันนี้ (21 มิถุนายน 2564) จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดเป็นช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยที่ปลูกโดยสถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้ขออนุญาตการปลูกกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ คือ หางกระรอกภูพานเอสที 1 หางเสือสกลนครทีที 1 ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 และตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 เพื่อการศึกษาวิจัยและใช้เป็นต้นแบบ โดยปลูกในโรงเรือนแบบ Greenhouse มีระบบการจัดการปลูกพืชในวัสดุทดแทนดิน (substrate culture) มีการให้น้ำและธาตุอาหารโดยใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งการพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะนำพันธุ์ที่ได้ไปขยายให้กับเครือข่ายที่ทำการวิจัยร่วมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร เพราะแต่ละพันธุ์มีสาร THC และ CBD ที่แตกต่างกัน ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ที่จะนำไปใช้ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สามารถพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนากัญชาพันธุ์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนของกัญชาพันธุ์ไทยทั้ง 4 พันธุ์กับทางกรมวิชาการเกษตร โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2564 นี้

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการศึกษาวิจัยกัญชาพันธุ์ไทยที่ครอบคลุมทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (phenotype)  ทางด้านเคมี (chemical profile) และข้อมูลของสารพันธุกรรม (genetic profile) พบว่า กัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ 

- แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สาร THC สูง  ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 และกัญชาพันธุ์ตะนาวศรี ก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 
- แบบที่ 2 กัญชาที่ให้สาร THC และ CBD (THC : CBD = 1 : 1) ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ กัญชาพันธุ์ หางกระรอกภูพานเอสที 1 
- แบบที่ 3 กัญชาที่ให้สาร CBD สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

“กัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะของต้น ใบ ช่อดอก และกลิ่นมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้จากการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพันธุ์กัญชาแต่ละพันธุ์ พบว่า กัญชาไทยทั้ง 4 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้นไม่ได้พบได้ทั่วไป เป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาแต่ละพันธุ์ของไทยมีสารสำคัญ ในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงมีประโยชน์ต่อการบ่งใช้ในการรักษาโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สาระสำคัญคงที่ในการปลูก ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป”นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว


ภาพ/ข่าว  สมัย นิกูลรัมย์

กรุงเทพฯ - สวธ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุมหารือแนวทางการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ลงพื้นที่ร่วมประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายผ้าไทย  ผู้ประกอบการ และตัวแทนจากสถาบันการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) และเป็นประธานในงานเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้จากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022) และการชี้แจงแนวทางประกวดออกแบบลายผ้าไทย ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินงานโครงการร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการใช้สีธรรมชาติ อาทิ คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คุณศิริชัย ทหรานนท์ คุณสธน ตันตราภรณ์ และ คุณเปรมฤดี กุลสุ  ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน โดยมีผู้ประกอบการ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และประชาชนผู้สนใจร่วมรับฟังรายละเอียดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จำนวนกว่า 40 คน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ด้วยการรักษาระยะห่าง วัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน และมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริการตลอดทั้งงาน ณ ดินคาเฟ่ (Din Cafe) อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


ภาพ/ข่าว  เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ จัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งครัวสนามเคลื่อนที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน”

กองทัพเรือ จัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในค่าครองชีพ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกองทัพเรือจัดรถครัวสนาม จัดทำอาหารกล่อง และน้ำดื่ม วันละ 690 ชุด พร้อมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค นำไปมอบให้แก่ประชาชน ในทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564 โดยกำหนดให้การช่วยเหลือประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมทั้งจัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ โดย ฐานทัพเรือกรุงเทพ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

“กองทัพเรือเพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19 ถวายเป็นพระราชกุศล” จะปฏิบัติภารกิจในการประกอบอาหารช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ จะคลี่คลาย โดยในวันนี้ 21 มิ.ย. 64 เวลา 16.30 น. พล.ร.ท.มนตรี รอดวิเศษ ผทค.พิเศษ ทร. และ พล.ร.ต.ณพ พรรณเชษฐ์ รอง ปช.ทร. ผู้แทน ทร. ร่วมด้วย เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมมอบอาหารให้แก่ประชาชน ณ บริเวณลานจอดรถ นันทอุทยานสโมสร กรุงเทพฯ


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

กรุงเทพฯ - “มูลนิธิมาดามแป้ง” เยียวยาครอบครัวอาสาดับเพลิงเสียชีวิต-เจ็บสาหัส พร้อมตั้งครัวช่วยผู้ประสบภัย โรงงานกิ่งแก้วระเบิด

“มูลนิธิมาดามแป้ง” ยื่นมือช่วยเหลือครอบครัวอาสาดับเพลิงที่เสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส พร้อมตั้งครัวมาดาม ส่งอาหารบรรเทาความเดือนร้อนผู้อพยพ และเจ้าหน้าที่ เหตุโรงงานระเบิด ซอยกิ่งแก้ว 21 ตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน

จากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถ.กิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จนมีอาสาดับเพลิงเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย อีกทั้ง พื้นที่โดยรอบยังถูกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องอพยพประชาชนโดยรอบออกจากพื้นที่จำนวนมาก

“มูลนิธิมาดามแป้ง” โดย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งเห็นถึงความยากลำบากและความเสียสละของคนทำงานอาสายามเกิดภัย จึงตั้งใจมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวของ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ หรือ น้องพอส อาสาสมัครดับเพลิงวัย 19 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการทำหน้าที่ จำนวน 50,000 บาท อีกทั้งมอบเงินช่วยเหลืออาสาดับเพลิงที่บาดเจ็บสาหัส 2 รายที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล คือ นายกฤษณะ นุชสุวรรณ และ นายนันทปรีชา มีแสง คนละ 20,000 บาท รวม 40,000 บาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 90,000 บาท

ด้าน "มาดามแป้ง" กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ครอบครัวน้องพอส รวมถึงผู้ที่บาดเจ็บทุกท่าน บ่อยครั้งที่เราต้องสูญเสียผู้ที่มีหัวใจอาสาแบบนี้ไปอย่างน่าเสียใจ มูลนิธิฯ เล็ก ๆ ของเราขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวน้องพอส เงินจำนวนนี้คงเทียบไม่ได้กับชีวิตที่สูญเสีย แต่ขอให้รู้ว่าน้องคือผู้เสียสละที่แท้จริง และขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และคนในพื้นที่ให้ผ่านเหตุการณ์ไปโดยเร็ว ทุกอย่างมาจากความตั้งใจของเราทุกคน ที่อยากให้สถานการณ์นี้ผ่านไปได้โดยเร็ว”

นอกจากนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ยังตั้ง "ครัวมาดาม" ทันทีตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน เพื่อส่งมอบข้าวกล่องพร้อมสิ่งของที่จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ วัดบางพลีใหญ่ใน, อบต.บางพลีใหญ่, รร.เตรียมปริญญานุสรณ์, รร.คลองบางกระบือ และวัดบางโฉลงใน กว่า 1,500 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ณ ศูนย์บัญชาการกลาง ทั้งนี้ มูลนิธิมาดามแป้งยังมีแผนสนับสนุนความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามสถานการณ์ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุต่อไป เพื่อส่งต่อน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน

กรุงเทพฯ - “มูลนิธิมาดามแป้ง” มอบชุดตรวจ Antigen Test Kit แก่ รพ.รามาธิบดี เพื่อหนุน Community Isolation แบ่งเบาแพทย์ พยาบาล

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิ ขอร่วมแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองประชาชน และลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการมอบชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3,000 ชุด มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งต่อไปยังประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนภารกิจ Community Isolation ของโรงพยาบาล

ด้านมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า “ในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ มูลนิธิมาดามแป้งพยายามบูรณาการการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ ซึ่งพบว่าปัญหาหลักในปัจจุบัน คือผู้มีความเสี่ยงสูงมีจำนวนมากกว่าศูนย์บริการตรวจ RT-PCR จะรองรับได้ ส่งผลให้ยังไม่ได้รับการตรวจ นั่นอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมากขึ้นด้วย”

“การอนุมัติใช้ Antigen Test Kit ตรวจด้วยตัวเองได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุดตอนนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนน้ำใจจากการบริจาคของประชาชน จึงขอร่วมสนับสนุนชุดตรวจแก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อโครงการ Community Isolation เราเชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล อาสาสมัคร ที่ทำงานหนักมาตลอด อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ลดโอกาสติด ปิดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้านอีกด้วย” นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติม

มูลนิธิมาดามแป้ง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในยามวิกฤตของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ ร่วมจิตอาสา ศิลปิน และอส.ภาคประชาชน อัญเชิญสิ่งของพระราชทาน มอบผู้นำชุมชนส่งให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ร่วมกับศิลปิน ฝันเด่น จรรยาธนากร อาสาสมัครภาคประชาชน กลุ่มใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง น้ำดื่ม จำนวน 1,400 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ นันทอุทยานสโมสร ฐานทัพเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 เวลา 11.00 น.     

และในวันเดียวกันช่วงเวลา 12.00 น. พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง เครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 300 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนมัสยิดสวนพลู เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ  มัสยิดสวนพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

สำหรับกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล โดยตั้งครัวสนามเคลื่อนที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 นี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคล ห้วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

กองทัพเรือ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดย กองทัพเรือ ได้จัดรถครัวสนาม เพื่อจัดทำอาหารกล่อง และน้ำดื่ม ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค นำไปมอบให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

กรุงเทพฯ - กองทัพบก นำเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 มาเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด19 ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้นำขีดความสามารถและทรัพยากรที่กองทัพบกมี มาช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 สั่งการเพิ่มเติมให้นำอากาศยานของกองทัพบก คือ “เครื่องบินลำเลียงแบบ 295” มาเป็นยานพาหนะในการเคลื่อนย้าย ส่งผู้ป่วยไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ

ล่าสุดในวันนี้ ทีมลำเลียงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศกองทัพบก จากกรมการขนส่งทหารบก พร้อมด้วยแพทย์เวชศาสตร์การบินจากกรมแพทย์ทหารบก ได้นำ "เครื่องบินลำเลียงแบบ 295" ที่ดัดแปลงเป็นยานพาหนะส่งป่วยขึ้นบินทดสอบระบบ และซักซ้อมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตั้งแต่การรับและนำผู้ป่วยขึ้นเครื่องอากาศยานและกระบวนการบริหารจัดการผู้ป่วยมีความพร้อมรองรับภารกิจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะกลับไปรักษายังภูมิลำเนาสามารถ ประสานไปยังศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก (กทม.) โทร. 02-270-5685-9 กองทัพบก , ยุทโธปกรณ์ , ทหาร เป็นที่พึ่งของประชาชนทุกโอกาส


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top