Saturday, 4 May 2024
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

‘ดีอีเอส’ ชี้!! กรณี 9near โทษแรงส่อคุกได้ถึง 100 ปี แนะ!! ปชช.ต่อจากนี้ เลี่ยงตั้งรหัสด้วย ‘เลขบัตรฯ-วันเกิด’

จากกรณีที่แฮกเกอร์ 9near อ้างว่ามีข้อมูลคนไทยจำนวนกว่า 55 ล้านคน นั้น ในวันนี้ (7 เม.ย.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า... 

“เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถระบุตัวและชื่อของแฮกเกอร์ได้แล้ว อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัวและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม สำหรับสาเหตุการรั่วของข้อมูลอยู่ระหว่างการหาข้อเท็จจริง”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีกฎหมาย PDPA ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ถ้ามีคนร้ายขโมยข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดกฎหมายจะมีโทษ ขณะเดียวกันผู้ที่นำข้อมูลจากคนร้ายนำไปเผยแพร่หรือใช้ต่อจะมีโทษด้วย ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลตนเองกับผู้ที่ไม่รู้จัก

ขณะเดียวกันก็ควรระวังการตั้ง Username และ Password ซึ่งไม่ควรใช้เลขที่บัตรประชาชนและวันเดือนปีเกิดหรือเบอร์โทรศัพท์ และขอย้ำเตือนว่าเรามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและลงโทษแฮกเกอร์หลายฉบับ ผู้กระทำความผิดก็จะมีโทษหนัก

รัฐมนตรี ดีอีเอส กล่าว “กระทรวงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล และให้ทำการตรวจสอบและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูล ปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อดูแลข้อมูลประชาชนให้ได้มาตรฐานสูงสุด”

ด้านพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “สำหรับผู้กระทำความผิดกรณีนี้ เป็นทหาร ยศจ่าสิบโท ทั้งนี้ จากข้อมูลชี้ว่าแฮกเกอร์คนนี้เป็นคนมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์”

‘นพวรรณ’ เตือนระวังมิจฉาชีพ โทรเข้ามา ป้องกันโดนหลอก โอนเงินหรือล้วงข้อมูล

วันนี้(4 มิ.ย.2566)  น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น อดีตโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ฝ่ายการเมือง) ออกมาโพสต์เตือนมิจฉาชีพโทรหลอกลวง  โดยระบุว่า  ถ้าใครยังคงมีเบอร์แปลกๆที่ไม่รู้จัก หรือเบอร์โทรที่มีเครื่องหมายบวก (+) นำหน้าตามด้วยรหัสต่างประเทศโทรเข้ามาที่โทรศัพท์มือถือ  ให้ต้องสงสัยว่าอาจเป็นมิจฉาชีพโทรเข้ามาหลอกลวง เพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลธนาคารทางการเงิน  โดยมักจะอ้างว่ามีการโอนเงินผิด, มีพัสดุตกค้าง หรือพัสดุผิดกฎหมาย, อ้างว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล ฯลฯ ควรห้ามรับสายจะช่วยป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวงได้  โดยเราสามารถตรวจสอบเบอร์มิจฉาชีพ ดังนี้

1. นำเบอร์โทรศัพท์ หรือเบอร์แปลกที่โทรเข้ามาไปเช็กใน Google เพื่อตรวจสอบประวัติเบอร์ผู้ใช้
2. พิมพ์หมายเลขค้นหาใน Facebook หากเบอร์โทรนั้นเคยผูกกับบัญชีเฟซบุ๊ก คุณก็มีสิทธิ์จะพบเบอร์โทรดังกล่าว
3. เช็คเบอร์มิจฉาชีพ ค้นหาผ่านช่องทาง Line โดยกดช่อง “เพิ่มเพื่อน” จากนั้นเลือก “หมายเลขโทรศัพท์” ถ้าเบอร์โทรนั้นผูกกับไลน์ ก็มีสิทธิ์จะพบเบอร์โทรดังกล่าว
4. เช็คเบอร์มิจฉาชีพ แอปพลิเคชัน WHOSCALL เพื่อช่วยระบุตัวตนผู้โทรเข้าที่ไม่รู้จัก  ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรแปลก ๆ ที่โทรเข้ามา โดยแอปจะแจ้งเตือนที่หน้าจอว่าเบอร์ที่โทรเข้ามานั้นเป็นเบอร์ของใคร
5. เช็กเบอร์มิจฉาชีพ โดยเช็คผ่านทางเว็บไซต์
www.blacklistseller.com โดยผู้เสียหายที่เคยโดนหลอกลวงต่างๆจะโพสต์แจ้งข้อมูลเอาไว้ เพื่อไม่ให้คนอื่นๆหลงกลมิจฉาชีพเหล่านี้

‘ดีอีเอส’ – ‘ดีป้า’ แถลงผลสำเร็จโครงการ The Smart City Ambassadors รุ่นที่ 2 สร้าง 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

(วันนี้) 14 มิ.ย. 66 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมประกาศผลสำเร็จจากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ

และเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่สู่การเป็น 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม เผยช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแผน Smart City มากกว่า 120 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนตามแผนฯ ได้กว่า 66,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กัปตันเมืองท้องถิ่น และผู้นำเมืองร่วมขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ผลสำเร็จจาก "โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2" (The Smart City Ambassadors 2 (SCA#2)) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คณะผู้บริหาร ผู้นำเมือง และหน่วยงานพันธมิตรร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้คนในพื้นที่สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์การดำเนินชีวิต พร้อมยกระดับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่นผ่านโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

"โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กัปตันเมือง และผู้นำเมืองได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วยความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 446 คน จาก 170 หน่วยงาน 57 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็น 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม

"โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดแผน Smart City ใหม่ 126 พื้นที่ โดยได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นกว่า 50 พื้นที่ ประเมินมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามแผนฯ กว่า 66,000 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากกว่า 10 พื้นที่ สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 5,813 คน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 10,000 คน ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ว่าที่ รมว.ดีอีเอส ประกาศลั่น 100 วันแรกทำทันที ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Fake News

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (เท้ง) ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ประกาศวิสัยทัศน์ในฐานะแคนดิเดต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผ่านคลิปความยาวกว่า 8 นาทีบนเพจ เฟซบุ๊กก้าวไกล อารัมภบทวิสัยทัศน์และสิ่งที่อยากทำที่กระทรวงดีอีเอส โดยมีคำพูดขุดรากถอนโคนอย่าง “100 วันแรกทำทันที ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti–Fake News Center)” 

เมื่อผู้สื่อข่าว นำประเด็นนี้ไปพูดคุยกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ในฐานะผู้ที่ลุยทำงาน ปราบปรามเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ ที่หลอกลวงพี่น้องประชาชน โดยนายชัยวุฒิ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า   “จะยุบทำไม รัฐบาลมีหน้าที่ตรวจสอบและแจ้งให้ประชาชนทราบ ศูนย์เฟกนิวส์มีประโยชน์และอยู่มาได้ถึง 3 ปีแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ยุบ คนที่อยากยุบ คุณคิดว่าเป็นใครล่ะ ก็คนที่ปล่อยเฟกนิวส์ละมั้ง 5555” นายชัยวุฒิกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยท่าทีสุขุม

‘ชัยวุฒิ’ เร่งปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เดือน พ.ค. ระดมจับคนขายบัญชีม้า ซิมม้าแล้วกว่า 200 ราย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2566เพื่อเร่งรัดทุกหนว่ยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์

วันนี้ (23 มิถุนายน 2566) นายชัยวุฒิ รัฐมนตรีดีอีเอส พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์ สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.อ. ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.ต. เอก รักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ท. สุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการประจําสํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ นาวาโท ศักติพงษ์ สิบหมื่นเปี่ยม ผู้อํานวยการฝ่ายเฝ้า ระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สกมช. นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อํานวยการกองคดีเทคโนโลยี และสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย นายกฤษณ์ ไพโรจน์กีรติกุล ผู้อํานวยการฝ่ายอาวุโส บมจ. ธนาคารกรุงไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย นางสาวสุชา บุณยเนตร ผู้ช่วยเลขาธิการสํานักงาน ก.ล.ต. นางสาวอรวรี เจริญพร ผู้อํานวยการสํานักบริหาร จัดการหมายเลขโทรคมนาคม สํานักงาน กสทช. และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2/2566 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และพิจารณากระบวนการ ดําเนินงานที่เกี่ยวข้องในการระงับยับยั้งธุรกรรมที่ต้องสงสัยและช่องทางสําหรับให้บริการประชาชนอย่าง สะดวกและรวดเร็ว

ที่ผ่านมาหลัง พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดําเนินการ สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อเทียบก่อนและหลังออก พ.ร.ก. สถิติการเกิดคดีออนไลน์ ลดลง และสามารถอายัดบัญชีคนร้ายได้มากขึ้น ดังนี้

- สถิติคดีออนไลน์ - การอายัดบัญชีก่อน เฉลี่ย 790 เรื่อง/วัน หลัง เฉลี่ย 684 เรื่อง/วัน

(คดีลดลงเฉลี่ย 106 เรื่อง/วัน) ก่อน อายัดได้ทัน 6.5% (ขออายัด 1.35 พันล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท) หลัง อายัดได้ทัน 15.3% (ขออายัด 1.5 พันล้านบาท อายัดทัน 229 ล้านบาท) (อายัดได้ทันเพิ่มขึ้น 8.8%)

ผลการดําเนินงาน 4 ด้าน

1. บัญชีม้าซิมม้าแก๊งCallCenter-ปิดกั้นSMS/เบอร์โทรหลอกลวงรวม188,915รายการ (กสทช.) / ปิดกลุ่ม facebook ซื้อขายบัญชีม้า 19 กลุ่ม (กระทรวงดิจิทัลฯ) / อายัดบัญชี 101,904 บัญชี (สตช.) / - แจ้งรายชื่อบุคคล /เจ้าของบัญชีธนาคาร ที่ใช้กระทําความผิด 993 รายชื่อ (ปปง.) / ดําเนินคดี บัญชีม้า ซิมม้า 219 คดี ผู้ต้องหา 216 คน (ตํารวจ)

2. การหลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน-ดําเนินคดี740คดี/ผู้ต้องหา 762 ราย (ตํารวจ)

3. การพนันออนไลน์-ดําเนินคดี662คดี/ผู้ต้องหา774ราย(ตํารวจ)/ปิดกั้น2,334เว็บไซต์ (กระทรวงดิจิทัลฯ)

4. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ - ดําเนินคดี 331 คดี / ผู้ต้องหา 347 ราย (ตํารวจ)

ที่ประชุมไดพ้ ิจารณาประเด็นที่สําคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 7 เรื่อง

1. เหตุอันควรสงสัยของสถาบันการเงินโดยได้กําหนดเหตุอันควรสงสัยของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเป็น การดําเนินการของมิจฉาชีพ 18 ข้อ

2. เหตุอันควรสงสัยของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่อาจเป็นการดําเนินการของมิจฉาชีพ10ข้อ

3. ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ ระหว่าง สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ

กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล ITMX ซึ่งที่ ประชุมมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศและสมาคมธนาคารไทยเร่งรัดการจัดทําระบบแลกเปลี่ยน ข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

4. ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่าง ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้สํานักงาน กสทช เร่งพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์

5. วิธีการและช่องทางในการแจ้งเหตุอันควรสงสัย และรับส่งข้อมูล ของสถาบันการเงินฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตํารวจจะพัฒนาระบบ Banking เชื่อมต่อกับระบบ ITMX ของสถาบันการเงินเพื่อเป็น ช่องทางรับแจ้งเหตุอันควรสงสัย และให้ ปปง. และ DSI พิจารณาช่องทางในการรับแจ้งเหตุอันควร สงสัยและการรับส่งข้อมูลกับสถาบันการเงินด้วย

6. วิธีการและช่องทางในการแจ้งเหตุอันควรสงสัย และรับส่งข้อมูล ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบบ banking ของตํารวจจะเชื่อมต่อกับระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของ

กสทช. ด้วยเพื่อรับแจ้งเหตุอันควรสงสัย

7. วิธีการและช่องทาง ของสถาบันการเงินฯ ในการรับแจ้งจากผู้เสียหาย โดยหน่วยงานได้ ร่วมกัน ดําเนินงานตาม พรก อย่างจริง

8. มาตรการอื่นๆได้แก่การควบคุมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยน และฟอกเงิน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรัฐร่วมเอกชน แนวทางการป้องกันและปราบปรามบัญชีม้าและ ซิมม้า แนวทางในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้แก่ประชาชน มาตรการในการป้องกันปราบปรามคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภท แอปพลิเคชันดูดเงิน

รัฐมนตรีชัยวุฒิฯ แจ้งว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางตามที่เสนอและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นําไปดําเนินการ อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วต่อไป และขอขอบคุณทุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขานรับและตั้งใจร่วมกันในการดําเนินงานแก้ไขปัญหาลดความเสียหายและอาชญากรรมที่ เกิดขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จับกุมผู้กระทําความผิด และดําเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า และซิมม้ามาลงโทษ ซึ่งจะสามารถบรรเทาการสูญเสียทรัพย์ได้แน่นอน

ดีอีเอส-ETDA เปิด Public Hearing ‘คู่มือการลงทะเบียนผู้ใช้งาน’ ภายใต้กฎหมาย DPS

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยัน ตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ” พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นต่อแนวทางการออกเครื่องหมาย แสดงการรับรอง ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services เพื่อเป็นกลไกเสริมในการลด ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดูแลผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้ ดีอีเอส ผ่านการดำเนินงานของ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงได้เดินหน้าศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้กฎหมาย DPS หลังจากนั้นจึงได้มี กระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัด Focus Group สำหรับร่างกฎหมายลำดับรอง จากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ทั้งจากภาครัฐ เอกชน regulator ตลอดจน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ที่ได้มาจัดทำและปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรองให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มี การนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการพิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ ภายใต้กฎหมาย DPS มีความชัดเจน โปร่งใส สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ที่ผ่านมา ETDA จึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing ต่อร่างกฎหมายลำดับรองไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 9 ฉบับ ผ่านระบบการประชุมทางออนไลน์ และผ่านระบบกลางทางกฎหมาย โดยวันนี้ (26 มิถุนายน 2566) จะเป็นกิจกรรม Public Hearing ครั้งที่ 4 เพื่อรับฟัง

ความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ เพื่อเป็น แนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้งานที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงจาก การฉ้อโกงออนไลน์ โดยเนื้อหาของ (ร่าง) คู่มือฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการจัดประเภทผู้ใช้บริการที่ควร พิสูจน์และยืนยันตัวตน การกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รายการของ ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล และการแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่า ผู้ใช้บริการรายนั้นได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมการ ระดมความเห็นต่อ “แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง” เพื่อนำไปเสริมเป็นแนวคิด ในการจัดทำประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง พ.ศ. .... ภายใต้มาตรา 27 ของ กฎหมาย DPS เพื่อเป็นกลไกช่วยผู้ใช้บริการประกอบการตัดสินใจ เลือกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับเครื่องหมายรับรองนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ ประกอบธุรกิจ DPS เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจาก ผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นและการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูก นำไปเป็นข้อเสนอแนะและข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความครบถ้วน ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้จริง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ คนทำงานบน แพลตฟอร์ม ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ พัฒนาคู่มือและแนวทางทั้งสองเรื่องให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถร่วมแสดงความ คิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และ แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรองได้ที่ระบบกลางทางกฎหมาย หรือ ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/Public-Hearing-DP.aspx ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2566

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ พ.ร.ก. ช่วยลดอาญชากรรมไซเบอร์ วอนสภาฯ อนุมัติ ช่วย ปชช. ตกเป็นเหยื่อ

(3 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยระบุถึงเหตุผลและความจำเป็น ว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงหลอกลวง ทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ซิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทัน เป็นสำคัญ

นายชัยวุฒิ ได้สรุปถึงสาระสำคัญของพระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวด้วยว่า พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ มีหน้าที่เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน  เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายชัยวุฒิ ได้ให้นำเสนอข้อมูลสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปรียบเทียบระหว่าง ก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) กับหลังจากวันที่มีผลบังคับใช้ ในด้านที่สำคัญ ว่า

- ต้นปี 2566 ถึงก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66) เกิดเฉลี่ย 790 คดี/วัน
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) เกิดรวม 74,280 คดี เฉลี่ย 603 คดี/วัน
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 187 คดี/วัน

ขณะที่การขออายัดบัญชีนั้น พบว่า

- ในช่วงระยเวลาก่อนวันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 ม.ค.66 - 16 มี.ค.66)  มีการขออายัดบัญชี จำนวน 1,346 ล้านบาทเศษ อายัดได้ทัน 87 ล้านบาท (คิดเป็น 6.5 %)
- ตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 17 มี.ค.66) ถึงวันที่ 17 ก.ค.66 (121 วัน) มีการขออายัดบัญชี จำนวน 2,400 ล้านบาท อายัดได้ทัน 256 ล้านบาท (คิดเป็น 10.3 %)  
- พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่ พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มมากขึ้น

ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า โดยมีผลการจับกุม ใน 4 ข้อหา รวม 336 ราย ดังนี้

- ข้อหาเปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน (บัญชีม้า) รวม 245 ราย
- ข้อหายินยอมให้ผู้อื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน (ซิมม้า) รวม 36 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายบัญชี (ประกาศขายบัญชีม้า) รวม 7 ราย
- ข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว ให้มีการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ (ประกาศขายซิมม้า) รวม 48 ราย

นายชัยวุฒิ ยังย้ำด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

“กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น” นายชัยวุฒิ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยที่บทบัญญัติมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดสำหรับการตราพระราชกำหนดทั่วไปว่า “มาตรา 172 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

‘ชัยวุฒิ’ ขีดเส้น 1 เดือน ปิดกั้น ‘เฟซบุ๊ก’ ไม่ให้บริการในไทย หลังตรวจพบ ‘รับเงินยิงโฆษณา’ จากเพจหลอกลวง ปชช.

(21 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส จะดำเนินการฟ้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งปิดกั้นแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไม่ให้บริการในไทย หลังจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้มีการรับเงินโฆษณาจากเพจปลอมเพื่อเป็นสปอนเซอร์ที่หลอกชักชวนลงทุน จนเกิดความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยจากสถิติการหลอกลวงลงทุนผ่านโซเซียลมีเดียกว่า 70% เป็นการหลอกลวงผ่าน เฟซบุ๊ก และจำนวน 90% เป็นการหลอกขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก

“ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีการรับเงินจากเพจเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ และสกรีน ว่าเป็นเพจที่หลอกลวงหรือไม่ แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้มาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิดแต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการแนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มด้วย ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ขณะที่ทางดีอีเอสจะประสานกับทางตำรวจทำการรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องต่อศาลเพื่อปิดกั้นแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ให้บริการในไทย เนื่องจากผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการสมคบกับผู้กระทำผิด โดยการรับเงินโฆษณาจากมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งจะขออำนาจศาลปิดภายใน 1 เดือน 

“เป็นการทำตามหน้าที่ ที่ต้องเสนอปิดกั้น ที่ผ่านมาพบการซื้อโฆษณามาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก โดยจะดำเนินการภายในเดือนนี้ แล้วก็มีดุลยพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งปิดกั้นหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล และแพลตฟอร์มก็มีสิทธิร้องคัดค้าน ส่วนจะเป็นการกระทบสิทธิของผู้ใช้งานทั่วไปหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา และก็ไม่กลัวทัวร์ลง โดยตนจะขอทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ฟ้องเฟซบุ๊กเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง”

ด้าน พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า สกมช.ได้ทำการสำรวจ เรื่อง เฟก แอด ในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวง พบว่า คนไทยกว่า 70% พบโฆษณาหลอกลวง บนโซเซียลมีเดีย มากกว่า 50% ของโฆษณาทั้งหมดในแต่ละวัน โดยโฆษณาหลอกลวง ที่พบมากที่สุดเป็นเรื่อง หลอกให้ลงทุนกว่า 52% รองลงมา ชักชวนเล่นพนัน 43% หลอกขายของถูกเกินจริง 40% หลอกทำงาน 24% และอื่น ๆ 14%

ปัจจุบันมีโฆษณาหลอกลวงบนโซเซียลมีเดียจำนวนมาก ทั้งที่ซื้อโฆษณา และที่โฆษณาแฝง เช่น ชักชวนเล่นพนัน และหลอกลวงลงทุน จึงอยากเตือนประชาชน ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของโฆษณาต่าง ๆ บนโซเซียล มีเดีย อย่าหลงเชื่อง่าย ๆ และหากพบเห็นขอให้ช่วยรายงาน ไปที่ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ให้บริการในไทย ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ และทำการแก้ไข ระงับ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาเหล่านี้

‘ชัยวุฒิ’ อำลา ก.ดิจิทัลฯ ขอบคุณ ‘ลุงตู่-ลุงป้อม’ ที่ให้โอกาส ลั่น!! ถึงแม้จะเป็นแค่คนธรรมดา ก็ขอทำงานเพื่อบ้านเมืองต่อไป

(1 ก.ย. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนทุกท่าน ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบคุณพรรคพลังประชารัฐ ท่าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างสูง ที่ไว้วางใจให้ผมทำงานเพื่อบ้านเมือง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกคนที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในชีวิต 

และในฐานะนักการเมือง ซึ่งผมเริ่มงานการเมืองเป็น สส.สิงห์บุรี มาตั้งเเต่อายุ 29 ปี เเน่นอนครับ ผมจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน และชาวสิงห์บุรีบ้านของผม ขอขอบคุณที่รักในความเป็นชัยวุฒิ ทำให้ผมมีวันนี้ วันที่ผมได้เรียนรู้ในบทบาทของผู้บริหารบ้านเมือง สิ่งสำคัญ ไม่ง่าย เพราะเราต้องทำจริง ไม่ใช่เเค่พูด และผมคงไม่สามารถ ทำงานได้หากขาดกลไกของการขับเคลื่อน และความร่วมมือจากทุก ๆ คนที่มาทำงานร่วมกัน

ผมขอขอบคุณ ข้าราชการ พนักงาน ผู้บริหาร ทั้งหน่วยงานองค์กรในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงดีอีเอส อันเป็นที่รัก หลายคนเป็นเหมือน เพื่อน พี่ และผู้ใหญ่ ที่คอยแนะนำช่วยเหลือ ผมดีใจที่ได้ร่วมกันทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมมีความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ภารกิจของพวกเราที่ทำร่วมกันประสบความสำเร็จ และนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ทำงานร่วมกันกับพวกท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เราได้ทำงานร่วมกันมาจะอยู่ในความทรงจำของผมเสมอครับ

ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านอีกครั้ง ที่ให้โอกาสผมทำงานรับใช้ ถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่ผมได้รับ และผมจะรักษาไว้ตลอดไป ผมขอฝากรัฐมนตรีดีอีเอสท่านใหม่ เข้ามาเเก้ไขปัญหากลโกงและการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ต้องรู้เท่าทัน ความเสียหายประชาชนเกิดขึ้นทุกวัน เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ สิ่งนี้คือความหวัง เป็นกำลังใจให้ครับ 

สำหรับผม ภายหลังจากนี้ ผมขอยืนยันว่าไม่ว่าจะมีตำแหน่ง หรือ เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา ผมก็จะเดินหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนต่อไป

สดช. เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ ‘กองทุนดีอี’ พร้อมโชว์ 10 โครงการเด่น ยกระดับดิจิทัลเพื่อสังคม

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น 

(25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า
ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่

1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 

(1) แสดงบัตรประชาชน 
(2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 
(3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 
(4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 
ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน และแพลทฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 

“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด-19 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top