'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เดินหน้าป่าชุมชนยั่งยืนลดโลกร้อนมอบ 'อลงกรณ์-ปรพล' ถอดรหัส สระบุรี แซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบก่อนขยายผลทั่วประเทศ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมทและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาเวิร์คช็อป พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3 หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน' ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อชุมชนและนโยบายลดโลกร้อนโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2050และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี2565ถือเป็นนโยบายเรือธงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
การประชุมผนึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเจตนารมย์ร่วมกันให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ 'เมืองคาร์บอนต่ำ' หรือ 'SARABURI LOW CARBON CITY' โดยเน้นใน 5 ภาคส่วน คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคการกำจัดขยะของเสีย ภาคเกษตรกรรม และภาคการเพิ่มพื้นที่สีเขียวถือเป็นตัวอย่างต้นแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาป่าชุมชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Forests for the Sustainable Future)จำนวน 45 แห่งในจังหวัดสระบุรี
ภายใต้เครือข่ายคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแห่งละ 15 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 675 คนและขยายความร่วมมือกับอาสาสมัครของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อีกราว 2,000 คน เครือข่ายที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และที่ปรึกษาเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 100 คนจะเป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังสู่ความสำเร็จด้วยการบูรณาการของภาคีภาคส่วนต่างๆรวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สระบุรี สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 สระบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 สระบุรี
ป่าชุมชนนอกจากมีอรรถประโยชน์ใช้สอยเพื่อชุมชนแล้วยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity)เพื่อเดินหน้าสู่ไบโอเครดิต(Bio Credit)ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน(Community Food Bank)และสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งสามารถดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย
”จากผลการประชุมในวันนี้จะถอดรหัส สระบุรี แซนด์ บ็อกซ์(Saraburi Sandbox) เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบโดยจะนำเสนอต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. พิจารณาขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด
ในการสัมมนาเวิร์คช็อปครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วยมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีเเละหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสระบุรีเข้าประชุมงานสัมมนาเวิร์คช็อป 'พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3' หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน'
จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์เมื่อวันที่11 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ลีลาวดีรีสอร์ต อ.เมือง จ.สระบุรีร่วมกับนายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ กพร. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายบุญมี สรรพคุณ หนึ่งในผู้ริเริ่มสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ นายเสกสรร กวยะปาณิก รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้และภาคีภาคส่วนต่างๆเช่นจังหวัดสระบุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ. )องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.BEDOThailand) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงงานและบริษัทต่างๆในพื้นที่เช่น เอสซีจี. เคมีแมน สยามฟูรูกาว่า ซีพีเมจิ ทีพีไอโพลีน เบทาโก เป็นต้นและเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ( SARABURI LOW CARBON CITY )ภายใต้แนวทางOpen Gov. for SRI สระบุรี เเซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)ด้วยโครงการ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน'
ข้อมูลประกอบ:
ประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่กรมป่าไม้ 12,231 แห่ง เนื้อที่ 6,308,712 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีป่าชุมชนในพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนจะถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีเงินทุนสนับสนุน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตจำนวนหนึ่ง
ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน โดยเป็นป่าชุมชน (ป่าบก) 129 แห่ง ป่าชุมชนชายเลน 82 แห่ง รวมปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอน ประมาณ 1,904,463 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ข้อมูลในปี 2564 ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ รวมเนื้อที่ 177.94 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2580 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.60 รวมเนื้อที่ 128.12 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประมาณ 49.82 ล้านไร่