ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ‘คุกนรกแอตติกา’ ปี 1971 ในสหรัฐอเมริกา นักโทษนับพันก่อจลาจล เพียงเพราะต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อ 53 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในเรือนจำแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ประเทศสุดยอดประชาธิปไตยของเหล่าบรรดาที่หลงไหลคลั่งไคล้ในอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริงเลยบนโลกใบนี้ แม้แต่ประเทศสหรัฐฯ เองก็ตามที ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เรือนจำแอตติกา (Attica) ในปี 1971

เรือนจำแอตติกาเป็นเรือนจำของมลรัฐในเมืองแอตติกา เทศมณฑลไวโอมิ่ง มลรัฐนิวยอร์ก แอตติกาเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีประชากรราว 8,000 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ต้องขังของเรือนจำความมั่นคงสูงแอตติกา และทัณฑสถานความมั่นคงระดับกลางไวโอมิง เจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำและครอบครัว เรือนจำแอตติกาเป็นเรือนจำที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งดำเนินการโดยกรมราชทัณฑ์และการควบคุมของมลรัฐนิวยอร์ก เรือนจำแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1930 เป็นเรือนำที่มีการติดตั้งระบบแก๊สน้ำตา (ก๊าซ CS : chlorobenzylidine malononitrile) อยู่ในโรงอาหารและพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อระงับความขัดแย้งในพื้นที่เหล่านี้ ปัจจุบันเรือนจำแห่งนี้คุมขังผู้ต้องขังจำนวนมากที่รับโทษหลายประเภท (ตั้งแต่ระยะสั้นจนถึงตลอดชีวิต) โดยมากผู้ต้องขังที่ถูกส่งมาที่เรือนจำแห่งนี้เนื่องจากมีปัญหาทางวินัยในเรือนจำอื่น ๆ โดยเรือนจำแห่งนี้เป็นเรือนจำที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด

เหตุการณ์จลาจลในเรือนจำแอตติกาเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Black Power และ การเคลื่อนไหว New Left ในสหรัฐฯ และการปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านี้โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นอดีตทหารผ่านศึก  ผู้ต้องขังในเรือนจำแอตติกาส่วนหนึ่งเข้าร่วมการจลาจล เพราะพวกเขาต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำแอตติกา ก่อนการจลาจลมีสภาพดังนี้ “นักโทษต้องใช้เวลา 14 ถึง 16 ชั่วโมงต่อวันในห้องขัง จดหมายของพวกเขาถูกอ่าน สื่อสิ่งพิมพ์ถูกจำกัด ญาติ ๆ ต้องเข้าเยี่ยมผ่านตะแกรงตาข่าย การดูแลรักษาทางการแพทย์ที่เลวร้าย ระบบทัณฑ์บนที่ไม่มีความเท่าเทียม มีการเหยียดเชื้อชาติทุกหนทุกแห่ง การแออัดยัดเยียดทำให้เกิดสภาพที่ย่ำแย่ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้นจาก 1,200 คน (ตามการออกแบบ) เป็น 2,243 คน”

นอกจากนี้ เช่นเดียวกับในเรือนจำของอเมริกาหลายแห่ง ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติยังมีอยู่ในเรือนจำแอตติกาอีกด้วย ในจำนวนประชากรในเรือนจำที่ถูกคุมขัง 54% เป็นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 9% เป็นชาวเปอร์โตริโก และ 37% เป็นคนผิวขาว เจ้าหน้าที่คุมขังทั้งหมดเป็นคนผิวขาว (มีเจ้าหน้าที่ควบคุมผิวสีเพียง 1 คน) เจ้าหน้าที่คุมขังมักจะทิ้งจดหมายที่เขียนเป็นภาษาสเปนที่ส่งถึงหรือมาจากนักโทษชาวเปอร์โตริโก และกักขังนักโทษผิวสีให้ทำงานที่มีรายได้ต่ำที่สุด และถูกคุกคามทางเชื้อชาติอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อีกด้วย โดยผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่มาจากเขตเมือง รวมถึงเขตมหานครนิวยอร์ก ในขณะที่เจ้าหน้าที่คุมขังส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคท้องถิ่น

ในวันที่ 9 กันยายน 1971 ผู้ต้องขัง 1,281 คน จากทั้งหมดประมาณ 2,200 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำแอตติกาได้ก่อจลาจลและเข้ายึดเรือนจำ โดยจับเจ้าหน้าที่ 42 นายไว้เป็นตัวประกัน โดยเจ้าหน้าที่นายหนึ่งถูกทุบตีจนเสียชีวิต ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน ตำรวจของมลรัฐนิวยอร์กได้ยึดเรือนจำคืนได้เกือบทั้งหมด แต่ผู้ต้องขัง 1,281 คน ได้เข้ายึดลานออกกำลังกายที่เรียกว่า D Yard ซึ่งพวกเขาจับเจ้าหน้าที่ 39 นายเป็นตัวประกันเป็นเวลา 4 วัน หลังจากการเจรจาหยุดชะงักลง Nelson Rockefeller ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กในขณะนั้น (หลังจากหารือกับประธานาธิบดี Richard M. Nixon แล้ว) ได้สั่งให้ตำรวจมลรัฐนิวยอร์กปฏิบัติการด้วยอาวุธเพื่อยึดเรือนจำคืน

ตอนเช้าขณะที่ฝนตกของวันจันทร์ที่ 13 กันยายน มีการยื่นคำขาดให้ผู้ต้องขัง โดยสั่งให้พวกเขามอบตัว ผู้ต้องขังได้ตอบโต้ด้วยการเอามีดจ่อคอตัวประกันเอาไว้ จนกระทั่งเวลา 9.46 น. เฮลิคอปเตอร์ได้บินผ่านลาน D Yard และเปิดฉากยิงแก๊สน้ำตา ขณะที่ตำรวจมลรัฐและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บุกเข้ามาพร้อมด้วยการยิงกระสุนจริงกว่า 3,000 นัดท่ามกลางหมอกควันแก๊สน้ำตา ทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตไป 29 ราย และตัวประกันอีก 10 ราย มีผู้บาดเจ็บอีก 89 ราย ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ถูกยิงจากการเปิดฉากยิงถล่มแบบไม่เลือกหน้าในตอนแรก แต่มีผู้ต้องขังอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งถูกยิงหรือเสียชีวิตหลังจากที่พวกเขายอมมอบตัวแล้ว ภายหลังการบุกจู่โจมจนกลายเป็นการนองเลือด เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ต้องขังได้สังหารตัวประกันที่เสียชีวิตด้วยการเชือดคอ ตัวประกันคนหนึ่งถูกตัดอวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม ผลการชันสูตรพลิกศพแสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเท็จ และตัวประกันทั้ง 10 คนล้วนแล้วแต่ถูกตำรวจที่บุกเข้าไปยิงเสียชีวิต ความพยายามปกปิดดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวอเมริกันต่างพากันประณามการบุกจู่โจมครั้งนี้มากขึ้น และกระตุ้นให้รัฐสภาดำเนินการสอบสวน

เหตุการณ์จลาจลที่แอตติกาถือเป็นเหตุการณ์จลาจลในเรือนจำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 43 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 39 รายจากการบุกของฝ่ายรัฐ และผู้ต้องขังอีก 3 รายถูกสังหารโดยนักโทษด้วยกันในช่วงต้นของการจลาจล และเจ้าหน้าที่ 1 รายเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากการบาดเจ็บที่ได้รับระหว่างการจลาจลครั้งแรก ในสัปดาห์แรกหลังจากเหตุการณ์สิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ใช้กำลังปราบปรามนักโทษอย่างรุนแรง โดยบังคับให้พวกเขาด้วยกระบองยาวและให้เปลือยกายคลานบนเศษกระจกแตก นอกจากนี้ ยังมีการทรมานนักโทษอีกหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บ และให้การรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานแก่นักโทษเหล่านั้น

ในเดือนมกราคม 2000 มลรัฐนิวยอร์กได้ยอมความในคดีความที่ผู้ต้องขังในเรือนจำแอตติกาฟ้องร้องเจ้าหน้าที่เรือนจำและมลรัฐนิวยอร์กในคดีนี้ ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปี โดยผู้ต้องขังทั้งในอดีตและปัจจุบันต้องทนทุกข์ทรมานจากการบุกเข้าตรวจค้นต่อมาอีกหลายสัปดาห์ โดยพวกเขายอมรับเงิน 8 ล้านดอลลาร์ (12 ล้านดอลลาร์หักค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย) เพื่อยุติคดี เพื่อชดเชยความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นและยุติคดี ในปี 2005 รัฐบาลมลรัฐนิวยอร์กได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่รอดชีวิตและครอบครัวของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ถูกสังหารเป็นเงิน 12 ล้านเหรียญ

ผลกระทบต่อระบบเรือนจำของรัฐนิวยอร์ก ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการจลาจลในเรือนจำแอตติกา กรมราชทัณฑ์ของมลรัฐนิวยอร์กได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึง :

-จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานมากขึ้น เช่น ห้องอาบน้ำ สบู่ การดูแลทางการแพทย์ และการเยี่ยมครอบครัวมากขึ้น
-แนะนำขั้นตอนการร้องเรียนซึ่งผู้ต้องขังสามารถรายงานการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดนโยบายที่เผยแพร่
-จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานซึ่งผู้ต้องขังเลือกตัวแทนเพื่อพูดแทนพวกเขาในการประชุมกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ
-จัดสรรเงินทุนให้กับ Prisoners Legal Services ซึ่งเป็นเครือข่ายทนายความทั่วทั้งมลรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขัง
-จัดให้มีการเข้าถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
-ให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ผู้ต้องขังมากขึ้น

แม้ว่าจะมีการปรับปรุงสภาพในเรือนจำในช่วงหลายปีหลังจากการลุกฮือทันที แต่ในช่วงยุค ‘การปราบปรามอาชญากรรมอย่างโหดร้าย’ ในทศวรรษ 1980 และ 1990 การปรับปรุงเหล่านี้หลายอย่างกลับถูกพลิกกลับ อาทิ ร่างกฎหมายอาชญากรรมปี 1994 ได้ยกเลิกเงินช่วยเหลือสำหรับนักโทษทั้งหมด ส่งผลให้มีการระงับการให้ทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยภายในเรือนจำ ส่งผลให้โปรแกรมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งหมดในเรือนจำสิ้นสุดลงโดยไม่มีทางเลือกด้านการศึกษาอื่นสำหรับผู้ต้องขัง ปัญหาความแออัดยัดเยียดเลวร้ายลง โดยประชากรในเรือนจำของนิวยอร์กเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 12,500 คนในช่วงที่เกิดการจลาจลแอตติกาในปี 1971 เป็น 72,600 คนในปี 1999

และในปี 2011 หลังจากชายคนหนึ่งที่ถูกคุมขังในเรือนจำแอตติกาถูกเจ้าหน้าที่คุมขังทุบตีอย่างโหดร้าย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมลรัฐนิวยอร์ก เจ้าหน้าที่คุมขังถูกตั้งข้อหาทางอาญาในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่คุมขังรับสารภาพผิดในข้อหาประพฤติมิชอบในปี 2015 เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุก ในข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ต้องขังทั้งในปัจจุบันและอดีตของเรือนจำแอตติกาได้รายงานว่าเรือนจำแห่งนี้ได้รับชื่อเสียงในฐานะ ‘สถานที่ที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กลุ่มเล็ก ๆ ลงโทษผู้ต้องขังอย่างรุนแรงโดยที่ไม่ต้องรับโทษใด ๆ’ และผู้ต้องขังยังได้เล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และการปฏิบัติที่รุนแรงของผู้คุม

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ระบบยุติธรรมในมลรัฐที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงสุดของสหรัฐฯ เอง ก็ยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย โดยชาวอเมริกัน 91% ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข สหรัฐฯ จึงสมควรที่จะดำเนินการปรับปรุง แก้ไข จัดการในปัญหาที่เกิดขี้นภายในประเทศของตนเองให้เรียบร้อย ถูกต้อง และเป็นธรรม ก่อนที่จะไปการก้าวก่าย แทรกแซง ในเรื่อง สิทธิมนุษยชน อิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ฯลฯ ของประเทศอื่น ๆ
 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล