‘พีระพันธุ์’ ปัด!! กฤษฎีกาท้วง ตรึงราคาพลังงาน  ย้อนถาม!! ทำเพื่อประชาชนจะไม่ดีตรงไหน 

(8 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเป็นห่วงมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบได้ในระยะยาว ว่า “ไม่มี ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน ตนนั่งประชุมอยู่ในที่ประชุมครม.ก็ไม่มี” 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเอกสารมีความเห็นของกฤษฎีกาว่า ถ้าไปอุดหนุนบ่อยครั้ง จะเป็นการบิดเบือนราคาได้? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “อันนี้ไม่เห็น” 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าการช่วยเหลือประชาชนต้องเดินหน้าต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวย้อนว่า “การช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน” ส่วนข้อกังวลของหน่วยงานตนยังไม่เห็น 

เมื่อถามว่าสมาคมขนส่งมีข้อกังวลว่าหากปรับราคาดีเซลขึ้นไป 33 บาทต่อลิตร อาจจะกระทบภาคขนส่ง? รมว.พลังงาน กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาให้มาตลอด แต่ก็ได้รับการร้องเรียนมาเหมือนกันว่า เวลาที่ลดราคาทำไมภาคขนส่งไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง”

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลจะตรึงราคาอยู่แค่ 33 บาทต่อลิตร จะไม่ขยายไปกว่านี้ใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาเท่าที่ตรึงได้ ที่ผ่านมาตรึงราคาได้ที่ 30 บาทต่อลิตร ก็ตรึงไว้ที่ 30 แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา 50 กว่าปี ใช้วิธีตรึงราคาด้วยเงิน ราคาจึงอยู่ที่เงินในกระเป๋าของรัฐ ถ้ามีเงินมากก็ตรึงได้มาก ถ้ามีน้อยก็ตรึงได้น้อย ตอนนี้เงินน้อยก็ตรึงน้อย ถ้าเก็บเงินได้ใหม่ก็ตรึงได้อีก”

“ระบบวิธีใช้เงินไปตรึงราคานี้ ผมพูดมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย ต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังทำอยู่ โดยตอนนี้ผมได้เขียนกฎหมายใหม่และจะใช้เวลาไม่นานเพราะเขียนไประดับหนึ่งแล้ว” รมว.พลังงาน เสริม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทุนน้ำมันยังช่วยดูแลราคาไปได้อีกนานหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา

…ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน…อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือ กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนฯ ออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนฯ จึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบ เป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนฯ ไม่มีแล้ว ทั้งนี้ผมได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนฯ ที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข”

เมื่อถามว่า หมายถึงจะเอาอำนาจการกำหนดเพดานภาษีกลับมาอยู่กับกระทรวงพลังงานใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ก็ควรต้องกลับมาเป็นแบบเดิม โดยอำนาจในการเก็บภาษีไม่ใช่อำนาจของกระทรวงพลังงาน แต่สินค้าตัวนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแล ฉะนั้นอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี ควรจะอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วกระทรวงการคลังจะเก็บเท่าไหร่ ก็ไปดำเนินการ”