Friday, 17 May 2024
ราคาพลังงาน

'รัสเซีย' เย้ย ตะวันตกจ่อยิงหัวตัวเอง หลังร่วมแบนน้ำมันรัสเซีย แต่ได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม

รัสเซียในวันพุธ (15 มิ.ย.) ระบุว่าตะวันตก "จ่อยิงศีรษะตนเอง" ด้วยการพยายามจำกัดนำเข้าพลังงานจากบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในไซบีเรีย สืบเนื่องจากความขัดแย้งในยูเครน สวนทางโดยสิ้นเชิงกับจีน ซึ่งเพิ่มนำเข้าพลังงานจากมอสโก

สงครามในยูเครน และความพยายามของตะวันตกที่หวังโดดเดี่ยวรัสเซีย ตอบโต้ปฏิบัติการรุกรานดังกล่าว ผลักให้ราคาธัญพืช น้ำมันประกอบอาหาร ปุ๋ยและราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ยุโรปประกาศลดพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า ความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับจีน สามารถต้านทานความพยายามหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความไม่ลงรอยของตะวันตก ในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับมอสโกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"อุปทานพลังงานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนรู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการและไม่ยิงเท้าตัวเอง ส่วนในฝั่งตะวันตกของมอสโก พวกเขายิงตัวเองที่ศีรษะ" ซาคาโรวาบอกกับผู้สื่อข่าว "ตะวันตกโดดเดี่ยวตัวเองจากเรา"

เธอให้คำจำกัดความมาตรการของสหภาพยุโรปว่าเป็น "การวางแผนฆ่าตัวตาย" ในความพยายามกระจายหนทางปลีกตัวเองออกจากพลังงานของรัสเซีย ซึ่งป้อนอุปทานแก่เยอรมนีมาตั้งแต่ช่วงตึงเครียดสุดของสงครามเย็น

รัสเซียเป็นชาติผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก

ซาคาโรวา บอกว่าทรัพยากรด้านการทูตของรัสเซีย ได้เบี่ยงเส้นทางเรียบร้อยแล้ว บ่ายหน้าจากยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา สู่เอเชีย แอฟริกาและอดีตสหภาพโซเวียต

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับจีนถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยกย่องความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ และมหาอำนาจยุโรป กล่าวโทษการตัดสินใจรุกรานยูเครนของปูติน ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962 ในนั้นรวมถึงการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่
 

เอาแล้ว!! ‘กรณ์’ ถาม รมว.พลังงาน ทำไม ปตท.บริจาคแค่ 3 พันล้าน ชี้ยังห่างไกลสัญญาที่ให้ไว้ 2.4 หมื่นล้านอีกหลายเท่า จี้ปรับโครงสร้างราคาแก้ปัญหาน้ำมันแพง

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เพซบุค ตั้งคำถามนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน ที่เคยอ้างว่าได้รับเงินบริจาคจากโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมัน 24,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงว่า อย่าหาว่าอะไรเลย แต่ ปตท. บริจาค 3,000 ล้านบาทนี่ นอกจากจะห่างไกล 24,000 ล้านบาทที่ท่านรัฐมนตรีฯ เคยอ้างว่าได้รับแล้ว การทำแค่นี้ ต้องไม่เป็นคำตอบสุดท้ายเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเพง อย่างไรก็ตามก็หวังว่า จะเป็นก้าวแรกสู่การปรับโครงสร้างราคา เพื่อลดภาระให้ประชาชน

การแก้เชิงโครงสร้างทำได้โดยลดค่าการกลั่น เพราะ ค่าการกลั่นยังสูงกว่าระดับที่ควรอยู่อย่างน้อย 3 บาท ต่อลิตร และ ค่าการตลาด เบนซินสูงกว่าระดับมาตรฐานอยู่เท่าตัว หากลดสองตัวนี้ได้ ประชาชนจะใช้น้ำมันถูกลงได้ทันที” หัวหน้าพรรคกล้ากล่าว

หนาวนี้สะท้าน!! หลังราคาก๊าซในยุโรปพุ่ง 30% เหตุรัสเซียปิดท่อ 'นอร์ดสตรีม 1' อย่างไม่มึกำหนด

ราคาก๊าซในสหภาพยุโรปพุ่งกระฉูด ภายหลังรัสเซียปิดท่อส่ง ‘นอร์ดสตรีม 1’ อย่างไม่มีกำหนด หลังรัสเซียแจ้งว่า เกิดการรั่วไหล่ในอุปกรณ์ท่อส่ง

ราคาก๊าซในอียูพุ่งขึ้นอีก 30% หลังรัสเซียบอกว่า ท่อส่งก๊าซหลักไปยุโรปตัวหนึ่งจะต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการขาดแคลนและการปันส่วนก๊าซในสหภาพยุโรปช่วงฤดูหนาว โดยราคาก๊าซพุ่งขึ้นเป็น 272 ยูโร หรือราว 9,881 บาทต่อ 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง ภายหลังรัสเซียแจ้งว่า เกิดการรั่วไหล่ในอุปกรณ์ท่อส่งนอร์ดสตรีม 1 ทำให้ต้องปิดท่อต่อไป หลังหยุดบำรุงรักษา 3 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ยุโรปกล่าวหารัสเซียใช้การส่งพลังงานเป็นอาวุธ ตอบโต้ชาติตะวันตกที่คว่ำบาตรรัสเซีย กรณีบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่รัสเซียบอกว่าชาติตะวันตกทำสงครามเศรษฐกิจและคว่ำบาตร เป็นตัวการขัดขวางปฏิบัติการท่อส่งก๊าซ

ทั้งนี้ ท่อส่งนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งส่งก๊าซไปเยอรมนี ในปริมาณก๊าซแค่ 20% ก่อนที่รัสเซียหยุดส่งชั่วคราว เพื่อบำรุงรักษาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การที่รัสเซียส่งก๊าซไปยุโรปลดลงทำให้อียูต้องแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือก เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีแผนฉุกเฉิน เพื่อนำไปสู่การปันส่วนพลังงาน และมีโอกาสสูงที่เข้าสู่ภาวะถดถอย

'เพื่อไทย' จี้ รัฐฯ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย กรรการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เร่งลดภาระของประชาชน ลดต้นทุนภาคธุรกิจจากภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงปัญหาราคาน้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าซ พลังงานแพงเป็นสาเหตุเงินเฟ้อสูง ต้องเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ล่าสุดผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ต้องเสียภาษีตัวอาคารสถานีบริการน้ำมัน อาคารค้าปลีก ห้องน้ำและอื่น ๆ อยู่แล้ว และได้ขอให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีบริเวณถนน ลาน รั้ว ซึ่งจะได้ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจได้บ้าง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากกรรมการภาษี และกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐเลือกที่จะจัดเก็บภาษีในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม สร้างภาระให้กับภาคธุรกิจ

นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ เรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะเรื่องราคาหน้าโรงกลั่นของไทย ที่มีราคาสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ และสูงกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นไทยส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการเอาเปรียบคนไทยที่ต้องซื้อราคาที่แพงกว่า ทั้งที่ต้นทุนการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางส่งมาไทยและส่งมาสิงคโปร์ก็เท่ากัน ประสิทธิภาพการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันของไทยกับสิงคโปร์ก็ใกล้เคียงกัน อีกทั้งโรงกลั่นไทยยังขยายการกลั่นเป็นแสน ๆ บาเรลต่อวันเพื่อส่งออก แสดงว่าราคาส่งออกก็ต้องกำไรมากแล้ว การคิดราคาหน้าโรงกลั่นไทยสูงกว่าราคาสิงคโปร์จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนไทยมากเกินไป 

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอปรับราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ลดค่าใช้จ่าย ปชช. พร้อมเปิดทางนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ในราคาที่เป็นธรรม-เหมาะสม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน

“ที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม ฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘ลดภาษี-อุดหนุนเงินเข้ากองทุน’ ทางออกปัญหา ‘พลังงานแพง’ ช่วยลดภาระ ปชช. ควบคู่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(6 ก.ย. 66) ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 6 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก ดร.พรายพล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

“สำหรับการจัดการเรื่องราคาน้ำมัน ทางเดียวที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุน จะทั้งทางลดภาษีสรรพสามิต หรือการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ทั้งนั้น อีกทั้งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ด้วย ที่พูดมานี้หมายถึงตัวน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีความจำเป็นในการขนส่ง รถโดยสาร”

ดร.พรายพล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้รัฐได้อุดหนุนน้ำมันดีเซลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยควบคุมให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น โดยอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 5.60 บาท แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละเกือบ 6 บาท ถ้าเทียบดูแล้ว ฟากที่รัฐเก็บเข้ามาและจ่ายออกไปก็พอ ๆ กัน โดยสรุปก็คือรัฐเก็บภาษีได้ไม่กี่สตางค์ต่อลิตร 

ส่วนทางด้านของน้ำมันเบนซิน ในขณะนี้มีการเก็บภาษีเต็มที่คือ 5 บาทกว่า ๆ ต่อลิตร และอุดหนุนเข้ากองทุนลิตรละประมาณ 2 บาทกว่า ๆ อาจจะฟังดูไม่เป็นธรรม แต่หากมองราคาที่หน้าปั๊มจะเห็นว่า ราคาขายปลีกของเบนซินสูงกว่าดีเซล

ดร.พรายพล กล่าวต่อว่า แนวคิดรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา จะมองว่าคนที่ใช้เบนซินจะเป็นคนที่มีกำลังจ่ายมากกว่าคนที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะการใช้น้ำมันดีเซลจะใช้ในรถบรรทุก ขนส่ง รถโดยสาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ จึงนำเงินมาช่วยอุดหนุนมากหน่อย แต่น้ำมันเบนซินใช้ในรถยนต์ส่วนตัว รถที่มีราคาแพง จึงมีการอุดหนุนที่น้อยกว่า 

เมื่อถามว่านอกเหนือจากภาษีที่ต้องจัดการ โครงสร้างราคาน้ำมันส่วนไหนที่สามารถจัดการได้อีกบ้าง เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง ดร.พรายพล กล่าวว่า จะต้องดูให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพลังงาน ส่วนเรื่องของค่าการกลั่นที่เคยเป็นประเด็นก็ควรจับตาดูด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการขยับขึ้นลงเสมอ ๆ และแม้ทั่วโลกจะมีค่าการกลั่นสูงเหมือนกันหมด แต่ก็น่าคิดว่าจะทำให้ค่าการกลั่นลดลงได้หรือไม่ สำหรับปีนี้ก็ลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่แนวโน้มในช่วง 10 ที่ผ่านมาก็ยังสูง แต่คิดว่าก็น่าจะมีแนวทางที่จะลดลงได้

ส่วนค่าการตลาดที่ผ่านมาถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วลิตรละ 2 บาท หากจะให้ลดลงอีกก็คงลดได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะก็ต้องมีช่องให้ผู้ประกอบการทำกำไรด้วย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้ ๆ กัน 

เมื่อถามว่าจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเสรีใช่หรือไม่?

ดร.พรายพล กล่าวว่า เท่าที่ผมทราบ ค่อนข้างเปิดกว้างและเสรี ยกเว้นแต่เพียงก๊าซหุงต้ม ส่วนที่เหลือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย การเสรีค้าในที่นี้หมายถึงเสรีภายใต้กรอบกฎหมาย และผู้นำเข้าจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปนำเข้ามาขาย เพราะก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะน้ำมันเป็นวัตถุอันตราย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เช่น หากเราไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูก ก็อาจจะโดนจับตามองจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะตอนนี้มีการคว่ำบาตรกันอยู่ 

สำหรับประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย ประชาชนซื้อราคาสูงมาก แต่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีซื้อในราคาถูก สามารถแก้เขาให้มีราคาเท่ากันได้หรือไม่? ดร.พรายพล กล่าวว่า การปรับราคาก๊าซธรรมชาติให้มีราคาถูกเท่ากันก็มีวิธีการทำให้เป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ขายแก๊สก็ต้องมีรายได้ลดลง และต้องเป็นการหารือระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ต้องเห็นใจให้เขาสามารถทำกำไรได้ด้วย

เมื่อถามว่าจะบริหารจัดการให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง? ดร.พรายพล กล่าวว่า ความมั่นคงในที่นี้คือการมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานอำนาจของรัฐ เช่น ด้านภาษี หรือกลไกของกองทุนน้ำมัน เพราะหากออกนโยบายที่กดดันทางผู้ประกอบการมากเกินไป ก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพในการให้บริการและไม่เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานตามมาได้

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะใช้มาตรการหรือวิธีการใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 

‘กระทรวงพลังงาน’ เกาะติดสถานการณ์สู้รบ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ หวั่นดันราคาพลังงานโลกพุ่ง ย้ำ ปริมาณสำรองของไทยยังมีพร้อม

(9 ต.ค. 66) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ได้มีการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

เนื่องจากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 57 และในส่วนของแอลเอ็นจีนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 33 จากหลากหลายแหล่ง

ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน

โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก ซึ่ง sentiment หรือสภาวะอารมณ์ของตลาดอาจจะมีผลทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้ แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ๆ แต่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด”

นายประเสริฐกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

เปิดใจ 'พีระพันธุ์' ทำไมเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ทันใจ เหตุ!! 'นายกฯ' ไฟเขียว!! ไม่ยอมให้ราคาแปรผันเหมือนตลาดหุ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 โดยมี ชุติมา พึ่งความสุข และ วีระ ธีรภัทร ดำเนินรายการ

เมื่อถามถึงบรรยากาศในการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "บรรยากาศดีครับเมื่อได้เข้าประชุม ครม. กับ ท่านนายกฯ ส่วนที่บอกว่าท่านไปต่างประเทศบ่อย ท่านก็ไปในช่วงที่ไม่มีประชุม ถ้าจำไม่ผิด ท่านลาประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเอง"

เมื่อถามถึงช่วงก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐมนตรีท่านอื่นถึงทำเรื่องลดราคาค่าครองชีพด้านพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟ? พีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนที่ผมรู้ว่าต้องรับหน้าที่นี้ ผมหนักใจมาก เพราะผมรู้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว จากที่ผมศึกษากฎหมายมา อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวหมด

"เมื่อตอนที่เราหาเสียง เราพูดถึงนโยบายไว้มาก เราหวังว่าเราจะเข้ามาทำให้ได้ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามารู้เบื้องหลัง ก็รู้สึกหนักใจ แต่ในเมื่อพูดไว้แล้ว และได้โอกาสเข้ามาทำแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็จะทำให้สำเร็จ ด้วยว่านิสัยผมเป็นคนแบบนี้ จะทำได้หรือไม่ได้ แต่จะลงมือเลย" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "และผมก็โชคดีที่ท่านนายกฯ ก็มุ่งทำนโยบายนี้เหมือนกัน ท่านประกาศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ผมก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าทำให้หลายเรื่องที่ผมกังวลว่าจะทำอย่างไร กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ผมแก้ปัญหาและดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่นดี"

"เมื่อผมได้ศึกษาปัญหาแล้ว เรื่องของไฟฟ้าประเด็นหลักคือ ก๊าซ ผมไม่เถียงว่าโครงสร้างมันผิด แต่ถ้ามัวแต่ไปแก้โครงสร้างให้ถูก ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงต้องกลับมาดูว่าภายใต้โครงสร้างแบบนี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมคิดแบบนี้นะ" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมมานั่งดูว่า โครงสร้างของไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ อย่างแรกเลยต้องลดก๊าซก่อน ถ้าไม่ลดก๊าซ ก็ไม่มีทางลดค่าใช้จ่ายได้เลย อย่างที่ 2 เมื่อดูจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขยายการชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผมขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่เลย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ผมได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาสุทธิต่ำกว่า 4 บาท ตอนแรกทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องนี้ต้องดู 2 ขา ขาแรกคือราคากลาง ขาที่ 2 คือการชำระหนี้ สำหรับการชำระหนี้ มันขึ้นตรงกับเราเลย (กฟผ.) ก็สามารถทำได้ก่อน ทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 4.50 บาท"

นายพีระพันธุ์ กล่าวเสริมว่า "แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกนะ เดินหน้าต่อในเรื่องก๊าซ (ปตท.) ก็ไปคุยกันจนได้มาเป็นราคาในปัจจุบันนี้ เพราะหากรอให้สะเด็ดน้ำทั้ง 2 ขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ทางท่านนายกฯ ก็ขอมาว่า ภายใน 1 อาทิตย์ จบปัญหาได้ไหม? ผมก็รับปาก และไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็ได้มาที่ราคา 3.99 บาท" 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ส่วนงวดต่อไป (ม.ค. - เม.ย.) ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า โครงสร้างพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องปรับนะ ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง ก็จะกลับมารูปแบบเดิม แต่ผมตั้งใจจะทำ และจะทำให้ได้ด้วย"

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าจะลด ก็ต้องลดในส่วนของภาครัฐ สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนะ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับของมาเลเซีย รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่มาเลเซียเขามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา แต่ผลลัพธ์คือรัฐเข้าไปช่วยอุดหนุนเหมือนกัน รัฐบาลมาเลเซียช่วยลิตรละ 10 กว่าบาท จนทำให้ราคาขายเหลือลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเข้าไปโอบอุ้มได้แบบนั้น แต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ารัฐอุดหนุน 2.50 บาท ราคาก็ปรับลงทันที"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "อย่างน้ำมันดีเซล เราลดราคาภาษีสรรพสามิต 2.50 บาท ทำให้ราคาลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท จากตอนแรกราคา 35 หรือ 32 บาท ตอนนี้รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าจะลดราคาให้ถึงธันวาคมนี้ (3 เดือน)"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ส่วนกรณีน้ำมันเบนซิน ซับซ้อนกว่าดีเซล เพราะมีหลากหลายชนิด ตอนที่เริ่มคุยกัน ก็ต้องศึกษาเยอะมาก ๆ จะให้ลดเหมือนกันหมดก็จะกลายเป็นภาระรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายผมจึงเสนอว่า เลือกมาเลย 1 ตัวที่จะลด เอาเป็นตัวที่คนใช้เยอะ คนใช้ทำมาหากิน จึงเลือกแก๊สโซฮอล์ 91 ลดราคาลงก่อน และใช้ตัวเลขเดียวกับดีเซลคือ 2.50 บาท และยังไม่คิดถึงตัวอื่นเลย เพราะแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ทำมาหากินกัน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ระหว่างศึกษาก็ติดขัดหลายเรื่อง แต่ก็บอกทุกคนว่าทำให้ได้นะ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเลย และพอผมมั่นใจแล้วว่าจะลด แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ผมก็รายงานท่านนายกฯ ท่านก็ดีใจ แต่พอไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ตอนลงรายละเอียด กระทรวงการคลังซึ่งดูแลกรมสรรพสามิตบอกว่า ทำไม่ได้ โดยบอกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไม่ได้แยก แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ถ้าลด 2.50 บาท เขาจะไปต่อไม่ได้ ทำให้ต้องลดภาษีฯ ลงได้แค่ 1 บาท แต่เราไม่อยากผิดคำพูดกับประชาชน จึงไปดึงเงินจากกองทุนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงมาอีก 1.50 บาท"

เมื่อถามว่า หาก รมว.คลังไม่ใช่ 'เศรษฐา' การดำเนินการลดน้ำมันจะยากกว่านี้หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยาก อย่างที่ผมเรียนไปว่า ตอนผมรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อำนาจเราคนเดียว แต่พอท่านนายกฯ ประกาศว่าจะทำเหมือนกัน ผมก็โล่งใจเลย เพราะพอประกาศออกมา ทุกคนก็พร้อมใจกันทำเลย"

เมื่อถามถึงในส่วนราคาพลังงานกลุ่มที่เหลืออย่าง NGV / LPG และ LNG จะมีทิศทางปรับลดอย่างไรต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ในส่วนของ NGV ผมกำลังศึกษาอยู่ รวมถึงเรื่องก๊าซทั้งระบบด้วย NGV เป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ ผมกำลังศึกษาโครงสร้างอยู่ว่าเขาวางระบบกันอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้มีการไล่ปิดปั๊มกันอยู่ ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมา เช่น กลุ่มแท็กซี่"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ผมมองว่า เป็นไปได้อย่างไร? ที่พลังงานคือชีวิตของคน แต่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลควรต้องทำได้ จะเสรีแบบใดก็ทำไป แต่ต้องมีขอบเขต มีการกำกับดูแลตามนโยบายที่ควรจะเป็น วันนี้ผมเป็น รมต.พลังงาน และมีท่านนายกฯ ด้วย แต่เรากำหนดอะไรไม่ได้เลย ถามว่าใครกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ทั้ง NGV / LPG เลยนะ ผมว่ามันต้องมีเครื่องมือรัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องตรงนี้ให้ได้ครับ"

"สำหรับก๊าซ LNG นั้น เพราะความต้องการใช้แก๊สมากขึ้น ที่เรามีในอ่าวไทยไม่เพียงพอแล้ว ผลิตได้แค่ครึ่งหนึ่งของความต้องการเอง ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกครึ่งหนึ่งต้องนำเข้า ซึ่งมาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก ผมเข้าใจในส่วนนี้นะ แต่ผมมองว่าเราในฐานะรัฐบาล จะมาเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร มันเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาจากตัวแปรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่น? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ประเด็นนี้ผิดทั้งหมด ต้องรื้อแก้ไขทั้งหมด ราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา บวกค่าการกลั่น ต่อจากนี้ผมจะไม่ให้เรียกว่าค่าการกลั่นแล้ว เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำน้ำมันดิบมากลั่น และคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งมันไม่ใช่นะ เพราะค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นของเขาแล้วนะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกลั่น สรุปคือจริง ๆ ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไร"

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ผิดที่ 2 คือราคาที่บอก ๆ กันอยู่นี่ ไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นราคาทิพย์ คิดมาจากสูตรอะไรไม่รู้ ผิดถูกก็มาโต้แย้งกัน หลังจากนั้นก็บวก ๆ และที่น่างงสุด ๆ เลยคือภาษีสรรพสามิต บวกภาษีท้องถิ่น บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกกองทุนน้ำมัน บวกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พอจะไปขายให้ปั๊ม ก็บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต่อมาก็คือค่าการตลาด และค่อยมาเป็นราคาที่ขายหน้าปั๊ม แต่ค่าการตลาดเอามาลบ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตรงนี้ถึงเอามาลบ"

"กลายเป็นว่าสุดท้ายปลายทาง เอาภาษี 7% (รอบ 2) มาลบกับราคาที่ขายหน้าปั๊ม ได้เท่าไหร่ก็บอกว่าเป็นค่าการตลาด แบบนี้มันไม่ใช่" นายพีระพันธุ์กล่าว

เมื่อถามถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ 'ยาก' และ 'ต้องใช้เวลา' จนอาจไม่ทันใจประชาชน? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก เพราะผมทำเอง เขียนเอง แต่เนื่องด้วยภาระเยอะ ผมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ผมก็จะมีคณะของผมยกร่างฯ เองเลย โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน"

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้!! ไทยต้องมีระบบสำรองน้ำมัน ลดปัญหาราคา 'ขึ้น-ลง' รายวัน ลั่น!! ถึงเวลาเดินหน้ารื้อโครงสร้างน้ำมันทั้งระบบ มั่นใจเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในรายการ Smart Energy โดยระบุว่า...

ขณะนี้ได้ศึกษาถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า สามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการศึกษาแล้ว จะเข้าสู่ระบบราชการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล และได้ทำการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ระบบรูปแบบราชการเสร็จแน่นอน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยค่าไฟฟ้า จะเข้าไปดูตั้งแต่ค่าก๊าซ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ส่วนหนึ่งก็คือการโยกค่าก๊าซ ที่เอาไปใช้ทําปิโตรเคมีในราคาถูก มาใส่ใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบสำรองก๊าซ พร้อมกับระบบสำรองน้ำมัน เพื่อจะได้มีก๊าซสำรอง ซึ่งจะทำให้มีอํานาจในการควบคุมราคาได้ ซึ่งเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าระบบสำรองน้ำมัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จึงจะเดินหน้าในส่วนของระบบสำรองน้ำมันก่อน

ส่วนในเรื่องน้ำมันนั้น จะจัดทำระบบที่เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีระบบสำรองน้ำมัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสำรองเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนเท่านั้น 

“หากต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน จำเป็นจะต้องรื้อทั้งระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปรับแค่โครงสร้างเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นราคาตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศและมาตรฐานสํารองเพื่อความมั่นคงของประเทศขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานสากล คือ 90 วัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการสำรองอยู่แค่ 20 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อระบบการสำรองน้ำมันของประเทศใหม่ทั้งหมด”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การรื้อทั้งระบบ จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้ทุกประเภท โดยจะพยายามทำในส่วนของหลักการให้เสร็จภายใน 2 - 3 เดือนนี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเป็นรูปธรรมทั้งหมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลดีจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องกังวลถึงภาวะที่ราคาน้ำมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการกำหนดราคาจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ โดยจะรื้อระบบกลับไปใช้เป็นราคาคงที่ เหมือนกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่ระบบลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน หากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น ทางรัฐบาลกับผู้ประกอบการจะจัดการกันเอง 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะเป็นหัวใจหลักสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันขึ้น-ลงรายวันอีกต่อไป

‘ก.พลังงาน’ ไฟเขียว!! ตรึง ‘ดีเซล-ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม’ ถึงสิงหาคม 67

(7 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอ 3 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 

1. การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. - 31 ก.ค. 2567
2. การขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 423 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัมไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 

3. การลดค่าไฟที่ 19.05 สตางค์ จาก 4.18 บาท เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในงวดเดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2567

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของผมได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมัน รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 - 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและได้รับการเห็นชอบในวันนี้ ถือว่า เป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ซึ่งผมกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top