Friday, 17 May 2024
พลังงานไทย

‘พีระพันธุ์’ เล็ง ‘รื้อระบบพลังงานไทย’ หลังวางแผนผิดมาหลาย 10 ปี

อยากรู้ อยากเคลียร์เบื้องลึก ว่าทำไม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงกล้าที่จะประกาศ ‘รื้อ’ โครงสร้างพลังงานทั้งระบบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!! ติดตามต่อเต็ม ๆ ได้ที่ >> ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ 👉 https://youtu.be/WoVPPtVOM0c 

‘รมว.พีระพันธุ์’ เล็งแก้ กม. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทยและประชาชน

(7 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ เพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ โดยมีนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนา และผู้บริหาร พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่ประเทศไทยมีการสำรองและควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซโดยเอกชนมากว่า 40 ปี และราคาขึ้นลงเหมือนหุ้น ทำให้ไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศและประชาชน จากนี้ไป คกก.ชุดนี้จะเร่งศึกษาและเร่งทำงานเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นธรรมให้ทุกฝ่าย เช่น เปิดการค้าน้ำมันเสรี การสำรองน้ำมันด้วยน้ำมัน และแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้!! ไทยต้องมีระบบสำรองน้ำมัน ลดปัญหาราคา 'ขึ้น-ลง' รายวัน ลั่น!! ถึงเวลาเดินหน้ารื้อโครงสร้างน้ำมันทั้งระบบ มั่นใจเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในรายการ Smart Energy โดยระบุว่า...

ขณะนี้ได้ศึกษาถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า สามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการศึกษาแล้ว จะเข้าสู่ระบบราชการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล และได้ทำการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ระบบรูปแบบราชการเสร็จแน่นอน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยค่าไฟฟ้า จะเข้าไปดูตั้งแต่ค่าก๊าซ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ส่วนหนึ่งก็คือการโยกค่าก๊าซ ที่เอาไปใช้ทําปิโตรเคมีในราคาถูก มาใส่ใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบสำรองก๊าซ พร้อมกับระบบสำรองน้ำมัน เพื่อจะได้มีก๊าซสำรอง ซึ่งจะทำให้มีอํานาจในการควบคุมราคาได้ ซึ่งเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าระบบสำรองน้ำมัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จึงจะเดินหน้าในส่วนของระบบสำรองน้ำมันก่อน

ส่วนในเรื่องน้ำมันนั้น จะจัดทำระบบที่เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีระบบสำรองน้ำมัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสำรองเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนเท่านั้น 

“หากต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน จำเป็นจะต้องรื้อทั้งระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปรับแค่โครงสร้างเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นราคาตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศและมาตรฐานสํารองเพื่อความมั่นคงของประเทศขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานสากล คือ 90 วัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการสำรองอยู่แค่ 20 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อระบบการสำรองน้ำมันของประเทศใหม่ทั้งหมด”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การรื้อทั้งระบบ จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้ทุกประเภท โดยจะพยายามทำในส่วนของหลักการให้เสร็จภายใน 2 - 3 เดือนนี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเป็นรูปธรรมทั้งหมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลดีจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องกังวลถึงภาวะที่ราคาน้ำมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการกำหนดราคาจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ โดยจะรื้อระบบกลับไปใช้เป็นราคาคงที่ เหมือนกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่ระบบลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน หากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น ทางรัฐบาลกับผู้ประกอบการจะจัดการกันเอง 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะเป็นหัวใจหลักสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันขึ้น-ลงรายวันอีกต่อไป

‘ปตท.’ ผนึก ‘กฟผ.’ ร่วมทุนโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 หนุนนโยบายรัฐ ‘เสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ’ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ PTTLNG, นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) ประกาศความสำเร็จการร่วมทุนใน บริษัท พีอี แอลเอ็นจี จำกัด (PE LNG) เพื่อดำเนินโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 (LMPT2) ระหว่าง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

โดย PTTLNG และ กฟผ. จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน (50:50) พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เสริมความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ปัด!! กฤษฎีกาท้วง ตรึงราคาพลังงาน  ย้อนถาม!! ทำเพื่อประชาชนจะไม่ดีตรงไหน 

(8 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเป็นห่วงมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบได้ในระยะยาว ว่า “ไม่มี ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน ตนนั่งประชุมอยู่ในที่ประชุมครม.ก็ไม่มี” 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเอกสารมีความเห็นของกฤษฎีกาว่า ถ้าไปอุดหนุนบ่อยครั้ง จะเป็นการบิดเบือนราคาได้? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “อันนี้ไม่เห็น” 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าการช่วยเหลือประชาชนต้องเดินหน้าต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวย้อนว่า “การช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน” ส่วนข้อกังวลของหน่วยงานตนยังไม่เห็น 

เมื่อถามว่าสมาคมขนส่งมีข้อกังวลว่าหากปรับราคาดีเซลขึ้นไป 33 บาทต่อลิตร อาจจะกระทบภาคขนส่ง? รมว.พลังงาน กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาให้มาตลอด แต่ก็ได้รับการร้องเรียนมาเหมือนกันว่า เวลาที่ลดราคาทำไมภาคขนส่งไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง”

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลจะตรึงราคาอยู่แค่ 33 บาทต่อลิตร จะไม่ขยายไปกว่านี้ใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาเท่าที่ตรึงได้ ที่ผ่านมาตรึงราคาได้ที่ 30 บาทต่อลิตร ก็ตรึงไว้ที่ 30 แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา 50 กว่าปี ใช้วิธีตรึงราคาด้วยเงิน ราคาจึงอยู่ที่เงินในกระเป๋าของรัฐ ถ้ามีเงินมากก็ตรึงได้มาก ถ้ามีน้อยก็ตรึงได้น้อย ตอนนี้เงินน้อยก็ตรึงน้อย ถ้าเก็บเงินได้ใหม่ก็ตรึงได้อีก”

“ระบบวิธีใช้เงินไปตรึงราคานี้ ผมพูดมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย ต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังทำอยู่ โดยตอนนี้ผมได้เขียนกฎหมายใหม่และจะใช้เวลาไม่นานเพราะเขียนไประดับหนึ่งแล้ว” รมว.พลังงาน เสริม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทุนน้ำมันยังช่วยดูแลราคาไปได้อีกนานหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา

…ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน…อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือ กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนฯ ออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนฯ จึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบ เป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนฯ ไม่มีแล้ว ทั้งนี้ผมได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนฯ ที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข”

เมื่อถามว่า หมายถึงจะเอาอำนาจการกำหนดเพดานภาษีกลับมาอยู่กับกระทรวงพลังงานใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ก็ควรต้องกลับมาเป็นแบบเดิม โดยอำนาจในการเก็บภาษีไม่ใช่อำนาจของกระทรวงพลังงาน แต่สินค้าตัวนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแล ฉะนั้นอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี ควรจะอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วกระทรวงการคลังจะเก็บเท่าไหร่ ก็ไปดำเนินการ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top