หวั่นใจ!! 'คลังชาติ' ใต้ความพยายามครอบงำ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' การกระทำที่แม้แต่จอมเผด็จการตัวจริงของไทย 'ยังไม่เคยคิดจะทำ'

จากคำปราศรัยของ 'อุ๊งอิ๊ง' แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' จัดโดยพรรคเพื่อไทย โดยเธอกล่าวถึงปัญหา 3 เรื่องของธนาคารชาติคือ...

1. ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
2. กฎหมายที่กำหนดให้แบงก์ชาติเป็นอิสระเป็นต้นเหตุของปัญหา
3. หากแบงก์ชาติไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุที่ 'อุ๊งอิ๊ง' อ่านตามโพย จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า เธอพูดโดยไม่ได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของธนาคารชาติจริง ๆ แต่พูดตามที่มีคนเขียนบทให้ และทำให้คิดว่า พรรคเพื่อไทยใช้ 'อุ๊งอิ๊ง' และการปราศรัยในงานนี้ โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงท่าทีที่ไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ย และการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ ธนาคารกลาง หรือ ธนาคารชาติเป็นองค์กรอิสระที่มีความเฉพาะตัว โดยทั่วไป แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นองค์กรของรัฐ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และผู้ว่าการได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล แต่จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เพราะหากไม่เป็นอิสระแล้ว ก็จะเกิดความเสี่ยงร้ายแรงจากการบิดเบือนและการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่รออยู่อย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญให้เกิดภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างธนาคารชาติกับนโยบายของรัฐบาล มีข้อดีสำหรับทั้งสองฝ่าย 

***ในด้านหนึ่ง รัฐบาลสามารถได้รับประโยชน์จากคำแนะนำด้านเทคนิคจากธนาคารชาติ (ที่มีความเป็นอิสระ) ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางการเงินจากโครงการเศรษฐกิจและการคลังที่เสนอโดยรัฐบาล 

นอกจากนี้ ธนาคารชาติอาจอำนวยความสะดวกในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสม และธนาคารชาติยังสามารถช่วยเหลือรัฐบาลได้โดยใช้ชื่อเสียงในฐานะสถาบันอิสระเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของรัฐบาลในกรณีที่นโยบายทางเศรษฐกิจหรือการคลังที่รัฐบาลดำเนินการถูกมองว่าไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ 

ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานที่เป็นกลางและการดำเนินงานด้วยความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารชาติเป็นอิสระจากกระทรวงการคลัง ธนาคารชาติก็สามารถตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันทางการเมือง เพราะความเป็นอิสระนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

***ในอีกมุมหนึ่ง มีหลายสถานการณ์ที่ธนาคารชาติต้องการหรืออย่างน้อยก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเสริมของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินที่กำหนดสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น หากมีการใช้มาตรการทางการคลังและมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงินร่วมกับมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ 

สรุปแล้ว นโยบายการเงินและสินเชื่อสามารถช่วยเหลือรัฐบาลในการดำเนินโครงการของตนได้ แต่ถ้าธนาคารชาติมีความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลย่อมไม่เต็มใจที่จะให้ธนาคารชาติดำเนินการอย่างอิสระอีกต่อไป และอยากให้ธนาคารชาติอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลของตน

แน่นอนว่า แนวคิดและมุมมองเช่นนี้ แม้แต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้ที่สังคมไทยมองว่าเป็น ‘จอมเผด็จการ’ ตัวจริงของไทยยังไม่เคยทำเลย เพราะจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยเข้าไปวุ่นวายยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

ดังนั้นแนวคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยและเป็นกังวลในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของชาติในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES