'เรือสำราญ' แหล่งรายได้มหาศาล ที่เดินทางมากับเรือลำยักษ์ ไทยควรเร่งสร้างท่าเรือสำราญในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ

ปัจจุบันการท่องเที่ยว โดยการโดยสารเรือสำราญขนาดใหญ่ เป็นที่นิยม ในหมู่นักเดินทางที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และที่สำคัญประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งง่ายต่อการเชิญชวนให้สายการเดินเรือต่าง ๆ เข้ามาเปิดสาขาได้ โดยงานในเงื่อนไขที่หากเรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างสมบูรณ์

ซึ่งการที่เราจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ...

1. รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ลงจากเรือสำราญมาเที่ยว (นักท่องเที่ยวที่เดิน เรือสำราญ และลงจากเรือมาเที่ยววันเดย์ทริป ตามสถานที่ต่าง ๆ) ความเหมาะสมของประเทศไทยคือประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถเข้าถึงจากเรือสำราญได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ ที่สามารถเดินทางจากท่าเรือคลองเตยได้ในระยะทางไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือแม้กระทั่งเดินทางไป อยุธยาจากท่าเรือคลองเตยก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงไม่เกิน 

2.รายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทาง มาใช้บริการท่าเทียบเรือสำราญ (นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ และเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ประเทศ ไทย เพื่อที่จะลงเรือ) เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาโดยเครื่องบินแล้วส่วนใหญ่ก็จะมีการ พักค้างคืนอย่างน้อยก็ 1 ถึง 2 คืนก่อนลงเรือ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดรายได้ในส่วนตรงนี้ และที่สำคัญการเตรียมเรือ อาหารการกินต่าง ๆ วัตถุดิบต่าง ๆ ก็ต้องโหลดจากประเทศไทย ซึ่งอันนี้ก็เป็นการกระจายรายได้ในอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน

โดยปกติแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญ มีการ เดินทางลงมาเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของแต่ละพื้นที่ ในรูปแบบวันเดย์ทริป ซึ่งก็คือ เที่ยวในช่วงกลางวันและกลางคืนกลับไปนอนบนเรือสำราญ ดังนั้นการลงเรือสำราญ เพื่อที่จะมาเที่ยวนั้น จึงมีรูปแบบด้วยกัน สอง รูปแบบคือ...

- หนึ่ง ต่อเรือเล็ก จากเรือใหญ่เข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยว 
- สอง เรือใหญ่เข้าเทียบท่าแล้วนักท่องเที่ยว สามารถเดินขึ้นบกได้ อย่างสะดวกสบาย ซึ่ง ท่าเรือเหล่านี้เรียกว่า Port of call 

ซึ่งข้อแตกต่างในการลงเรือของทั้งสองประเภท นั่นก็คือ การต่อเรือเล็กจะได้รับความนิยมน้อยกว่า การขึ้นบกโดยตรง เพราะมีความยุ่งยากมากกว่า และนักท่องเที่ยวหลายๆ คน อาจจะไม่ชอบความยุ่งยากเหล่านี้ จึงทำให้การตัดสินใจลงมาเที่ยว น้อยลงเพราะบางคน แค่เพียงพักผ่อนอยู่บนเรือก็เพียงพอแล้ว

ดังนั้น จึงควรมีการสร้างท่าเรือสำราญในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิเช่น ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือสมุย, ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือภูเก็ต เป็นต้น 

การที่มีท่าเรือสำราญนั้นในท่าเรือใหญ่ ๆ จะต้องมีท่าเรือแบบ Home port ซึ่งจะใช้ในการเตรียมตัวเดินทาง พร้อมการซ่อมบำรุงเบื้องต้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ควรมี Port of call หรือท่าเรือจุดแวะพักระหว่างทาง

โดย Home port เปิดให้บริการ ใกล้กับสนามบิน อย่างเช่นท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือภูเก็ต เป็นต้น ส่วน Port of call จะเปิดให้บริการ ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเช่น เกาะสมุย, เกาะพงัน, พัทยา, หัวหิน, สงขลา เป็นต้น 

ซึ่งการที่มีท่าสำหรับจอดเรือสำราญนั้น สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเพราะว่า เรือสำราญในปัจจุบันแต่ละลำสามารถบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ จำนวนหลายพันคนต่อเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นเรือ Ovation of the Sea ของบริษัท Royal Caribbean หนึ่งลำสามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 4,500 คน ซึ่งหากเรือลำนี้เทียบท่ารับนักท่องเที่ยวขึ้นเรือ (Home port) แหลมฉบัง หรือ คลองเตย อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ย่อมจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 18,000 คนต่อเดือน หรือ 216,000 คนต่อปี และถ้าหากมีเรือแบบนี้ 20 ลำต่อเดือน ซึ่งถ้ากระจายไปยังท่าเรือต่าง ๆ แล้วไม่ถือเยอะ แต่เราจะได้นักท่องเที่ยวจากอุตสาหกรรมนี้ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อปี 

ที่สำคัญกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เพราะฉะนั้น เมื่อมีการแวะพัก เที่ยวตามจุดแวะพักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คลองเตย เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, เกาะช้าง, เกาะพีพี,  พัทยา, หัวหิน, จันทบุรี, ปัตตานี, สงขลา, นครศรีธรรมราช ย่อมจะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมหาศาล 

หวังว่าบทความนี้ จะชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ สำหรับคนที่ได้อ่านนะครับ และสักวันหนึ่ง ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของสายการเดินเรือสำราญ ที่ทุกบริษัทแวะเข้ามาท่องเที่ยว หรือใช้เป็นศูนย์กลางในการโหลดนักท่องเที่ยวลงเรือ เพื่อที่จะเดินทางไปยังท่าเรือในแต่ละประเทศต่าง ๆ ต่อไป