ย้อน 3 ไทม์ไลน์ แนวทางกู้วิกฤต PM 2.5 ของ ‘พลเอกประยุทธ์’ ‘ขอความร่วมมือเพื่อนบ้าน-เร่งคุมปัญหาในประเทศ-ชู EV ปรับสมดุล’

>> เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 66 ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่

แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย...

1.) ภายในประเทศ รัฐบาลได้ขับเคลื่อน ‘แม่แจ่มโมเดล’ ที่บูรณาการทุกภาคส่วน ในทุกระดับ อย่างครบวงจร และขยายผลไปในทุกพื้นที่ของภาคเหนือต่อไป 

2.) ภายนอกประเทศ รัฐบาลได้ใช้การเจรจาและขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการจำกัดปัญหาหมอกควันนี้ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองเชียงใหม่ สายโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งการส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามทิศทางของโลก แต่เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทยในศตวรรษหน้าอีกด้วย 

>> เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 สั่งการ ครม.แก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (28 มี.ค. 66) ได้มีการหารือ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยผมขอให้กำกับดูแลลงในรายละเอียดมากขึ้น เน้นแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ ได้แก่...

1.) การเผาป่า/ไฟป่า ‘นอกประเทศ’ ที่เป็นสาเหตุหลักในปัจจุบัน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ พบจุดความร้อนสะสมสูงถึง 25,209 จุด ทั้งนี้ผมได้ใช้ทั้งช่องทางการทูตและช่องทางส่วนตัว หารือ/ขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในการควบคุมการเผาต่างๆ เพื่อลดผลกระทบร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ 

2.) การควบคุมและดับไฟป่า ‘ในประเทศ’ ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน โดยผมได้สั่งการให้บูรณาการเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ และแผนงานจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า, เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า, การทำฝนหลวง, การสร้างแนวกันไฟ ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง-ฝ่ายทหาร เพื่อลดปัญหาเป็นการเร่งด่วนด้วย

3.) การกำกับดูแลการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ‘ในประเทศ’ ซึ่งผมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใช้กลไกที่มีอยู่ในทุกระดับ ขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อลดการเผาลงให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  

4.) การให้คำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น ลดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอก ฯลฯ ขอให้เข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้บ้านในทันทีได้ทุกแห่ง

ทั้งนี้ ผมได้ติดตามและได้รับรายงานการป้องกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้ว คนไทยเป็นผู้มีน้ำใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นหากได้รับทราบข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทำให้ทุกปัญหาของบ้านเมืองคลี่คลายลงไปได้ ในทางที่ดีเสมอครับ

>> เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 66 มีการประชุม 3 ฝ่าย (ไทย-ลาว-เมียนมา) เพื่อร่วมแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

สุขภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ผมและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากการติดตามประเมินผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หลายมาตรการประเทศไทยเราสามารถควบคุมและจำกัดปัญหา PM 2.5 ได้เองเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดนนั้น จำเป็นจะต้องกระชับความร่วมมือกับประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ผมได้ริเริ่มให้มีการประชุมสามฝ่าย ผ่านระบบ Video Conference เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน กับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่เห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่…

1.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมที่ต้นเหตุของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริการจัดการของเสีย-ซากพืชผลทางการเกษตร โดยแปรให้เป็นพลังงาน เช่น (1) การทำโรงไฟฟ้า BCG ที่เปลี่ยนของเสียให้เป็นปุ๋ย, พลังงานไฟฟ้า หรือน้ำมันดีเซล (2) การทำโรงงานไบโอก๊าซขนาดเล็ก ตามชุมชนขนาดเล็ก และ (3) การแปรรูปเศษซากที่เหลือจากการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้ เป็นต้น   

2.) การใช้ประโยชน์กลไกทุกระดับ ในรูปแบบทวิภาคี เช่น คณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เพื่อให้ผู้นำอาเซียน ได้ร่วมกันพิจารณาสั่งการ และเร่งรัดการปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมและรอบด้าน 

3.) การจัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ, การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่ เพื่อลดจุดความร้อนและควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

ซึ่งมาตรการทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำแผนร่วมกันในรายละเอียด และขับเคลื่อนในทุกระดับต่อไป โดยบรรยากาศการประชุมสามฝ่ายในวันนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นและเต็มเปี่ยมด้วยมิตรภาพ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นพลังแห่งความร่วมมือระหว่างกัน ที่จะนำมาสู่การคลี่คลายปัญหานี้ได้ โดยเร็ววันครับ