พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บุคคลแห่งสยาม

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น ‘องคมนตรี’ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับเส้นทางทางการเมืองของ ‘ลุงตู่’ นั้น ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่า ‘ตั้งใจ’ เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยมุ่งมั่นทำงาน ทุ่มเททั้งแรงกายและหยาดเหงื่อ สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ในฐานะ ‘ผู้นำประเทศ’

และนี่คือ 9 เรื่องดี ๆ ที่ ‘ลุงตู่’ ได้ฝากไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

1. กำหนด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ 

2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

3. สร้างความพร้อมเรื่อง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ และ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G - Data center - Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ  

4. กำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

5. สร้างกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ได้แก่ 

-‘น้ำ’ ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ 

-‘ดิน’ ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร 

-‘ป่า’ ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

6. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกในอนาคต

7. ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก 

8. ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย - สะดวก - โปร่งใส เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ และ UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น

9. สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารประเทศของ ‘ลุงตู่’ และแม้การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จะไม่ได้ราบรื่น หรือง่ายดาย ซ้ำยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวนแปรปรวน

ก็ต้องบอกว่า ‘ประเทศไทย’ นับจากวันนี้ จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างมานั้นได้รับการ ‘ต่อยอด’ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ ‘เส้นชัย’ ได้เร็ววันยิ่งขึ้น

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”