‘ดร.สุวินัย’ เผย ถึงเวลาโละทุกระบบ รับมือความเปลี่ยนผันสู่ ‘ยุคดาต้านิยม’ ชี้!! ปัญญา-กลยุทธ์ของ ‘ผู้นำวิถีปราชญ์’ คือหัวใจหลัก พาสังคมฝ่ามหาวิกฤติ

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ในหัวข้อ ‘ทบทวน The Great Reset : ใครรู้ทันและเตรียมพร้อม คนนั้นรอด’ โดยระบุว่า…

‘The Great Reset’ หมายถึง การ ‘โละ’ ระบบทุกอย่างในโลกใบนี้ ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเข้าสู่ยุคดาต้านิยม (Dataism) เต็มตัว

ที่ผ่านมา โลกได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 4 ครั้ง

๐ ครั้งที่ 1 อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1760-1840 เป็น ‘การปฏิวัติใช้เครื่องจักรไอน้ำ’ ในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การผงาดขึ้นของยุคทุนนิยมช่วงต้น

๐ ครั้งที่ 2 อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1820-1925 เป็น ‘การปฏิวัติใช้ไฟฟ้า’ ในทุกอุตสาหกรรม เริ่มมีการใช้สายพานในการผลิต ทำให้เกิดการผลิตแบบแมส  (Mass Production) ในระบบทุนนิยม ตามมาด้วยการเกิดชนชั้นกลาง (Middle Class) ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคหลักของเศรษฐกิจทุนนิยม

๐ ครั้งที่ 3 อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1969-2010 เป็น ‘การปฏิวัติใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต’ มาใช้ในทุกอุตสาหกรรมในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่เป็นยุคทุนนิยมช่วงปลายๆ ที่งอมแล้ว (Mature Capitalism)

๐ ครั้งที่ 4 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา เป็น ‘การปฏิวัติใช้อัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์’ ในทุกอุตสาหกรรม ทะยานจากยุคเก่า (หรือทุนนิยม) เข้าสู่ยุคใหม่ หรือ ‘ยุคดาต้านิยม’ (Dataism) แทน

เพราะเหตุนี้เอง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงเป็นการ ‘โละระบบ’ ครั้งใหญ่สุดในรอบ 100 ปีที่คนในโลกไม่เคยเจอมาก่อน

ชาวโลกส่วนใหญ่จึงมองไม่ออกว่า อนาคตจะเป็นยังไงต่อไป…

แต่ที่แน่ๆ อาชีพเก่าๆ จะหายไปมากกว่าครึ่ง โดยจะมีอาชีพใหม่เข้ามาแทน รายได้ของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ปรับตัวจะลดลง คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำอาชีพใหม่ที่สร้างเงินดีๆ ได้ มีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถปรับตัว โดยการ Reskill ได้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวีความรุนแรง รวมทั้งปัญหาทางสังคม ระบบราชการ หากไม่ปรับตัวจะอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนจะกดดันผ่านเครือข่ายโซเชียล ขณะเดียวกัน ปัญหาต่างๆ จะถาโถมกดดันรัฐบาลไม่หยุดหย่อน

คนไทยควรตระหนักให้ดีว่า… ประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับโลกที่ไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป

ผู้ที่จะนำพาองค์กร นำพาสังคม นำพาบ้านเมืองให้ฝ่าผ่านวิกฤตโละระบบทั้งหมด (Great Reset) นี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่สามารถ ‘คิดเชิงระบบ’ (Systems Thinking) อย่างเป็นนักยุทธศาสตร์ ได้เท่านั้น

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีในยุคดาต้านิยม โดยเฉพาะอัลกอริทึมคือ มันทำให้คนเรา ‘มีความเป็นมนุษย์น้อยลง’ (Downgrading Humans)

ผลที่ตามมาคือมันกำลังทำลาย ‘สังคม’ แบบที่มนุษย์ควรจะมี กลายเป็น ‘สังคมเสมือน’ ที่แตกแยก แตกร้าวเกินเยียวยา และช่วงชิงความใส่ใจเพื่อนมนุษย์ (Human Attention) ที่เราควรมีให้กับมนุษย์ด้วยกันที่อยู่ตรงหน้าหรือรอบข้าง ให้ไปอยู่ที่หน้าจอมือถือของแต่ละคนแทน

ผู้นำประเทศหรือนักการเมืองที่คิดเชิงระบบไม่ได้ หรือไม่สามารถเห็นผลกระทบเชิงลบที่ระบบย่อยต่างๆ ส่งผลต่อระบบใหญ่องค์รวม หรือ ‘โลกกาย่า’ (Gaia) ใบนี้ได้… ย่อมนำพาประเทศของตัวเองไปสู่หายนะ

เพราะผู้นำแบบนี้ย่อมไม่สามารถทำให้ประชาชนของตนตื่นรู้ และตระหนักถึงผลรวมแห่งการกระทำของแต่ละคน และชี้ทางออก-ทางสว่างที่เป็นความหวังให้แก่คนทั้งประเทศได้

ผู้นำที่คิดเชิงระบบอย่างนักยุทธศาสตร์ได้ ย่อมสามารถจัดการวิกฤติระบบที่เป็นปัญหา Complexity ได้ เพราะ The Great Reset คือรูปแบบหนึ่งของปัญหา Complexity เชิงระบบนั่นเอง

นิยามของผู้นำ (Leader) ในยุควิกฤติ คือ ผู้ที่สามารถนำพาผู้คนก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งปวงได้

ภูมิปัญญากลยุทธ์ของผู้นำและวิถีปราชญ์ผู้นำ คือหนึ่งในหัวข้อหลักที่คนไทยต้องติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ตัวเอง ในช่วงวิกฤติใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะมันสามารถเปลี่ยนอนาคตของประเทศไทยไปอย่างไม่หวนกลับได้

เหตุการณ์วันนี้และและการตัดสินใจของปัจเจกซึ่งเป็นตัวละครหลักในประวัติศาสตร์หน้านี้ มันจะกลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ในวันข้างหน้า โดยที่มันจะมีส่วนกำหนดเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยต่อจากนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเส้นทางผ่านวิกฤติทั้งหลาย โดยตัวมันเองจึงหามี ‘จุดจบอันงดงาม’ ทางประวัติศาสตร์เสมอไปไม่

สถานการณ์โลกที่กำลังจะบานปลายจากวิกฤติโควิด ไปเป็นมหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และสงครามครั้งใหญ่ที่ใกล้จะเกิด

เครือข่ายมันสมองของประเทศนี้จากทุกฝ่ายทุกวงการ ต้องเข้ามาช่วยกันระดมความคิด ระดมสมอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติระดับโลกจากทุกความเป็นไปได้ที่มี หรือมีทางที่เป็นไปได้มากกว่านั้น ขณะที่คนจำนวนมากรวมทั้งนักการเมืองส่วนใหญ่ ยังไม่ทันได้ตั้งตัวต่อทุกเหตุการณ์ที่โหมกระหน่ำเข้ามา

ภูมิปัญญากลยุทธ์เพื่อฝ่าวิกฤติของผู้นำจึงสำคัญมากถึงมากที่สุด

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับมหาวิกฤติที่เหนือความคาดหมายสำหรับคนทั่วไป โดยปกติมักเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

เพราะการตัดสินใจเป็นเรื่องของ ‘การตัดสินด้วยใจของผู้นำ’

ดังนั้น ผู้นำจึงต้องมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธานในที่ประชุม เมื่อวิกฤติรอบด้านพากันมาชุมนุม คนเป็นผู้นำจึงต้องกุมสภาพจิตให้มั่นและต้องใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจ

การตัดสินใจที่ถูกที่ถูกเวลา คือ ยอดแห่งกลยุทธ์ทั้งปวง

ผู้นำที่เป็นจอมปราชญ์ คือ ผู้ที่ผ่านการฝึกตนจนชำนาญ ถึงขั้นที่สามารถหยั่งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ จึงย่อมนำพาตนเองและคนอื่นออกจากภยันตราย โดยไม่รอให้ภัยมาถึงตัวก่อน

จอมปราชญ์จึงเป็นผู้มีสายตายาวไกล ผู้ผสานคัมภีร์หลากหลาย ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต
ปราชญ์ที่แท้ต้องเสนอ ‘ทางเลือก’ เพื่อพาสังคมออกจากมหาวิกฤติ

จะเห็นได้ว่า ปัญญาฝ่าวิกฤติของปราชญ์ คือ ‘หฤทัยแห่งพิชัยสงคราม’ ในทุกสมัย ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทองใดๆ ในช่วงเผชิญกับวิกฤติในสมรภูมิชีวิต

มหาวิกฤตินี้จะมาในรูปของ ‘The Great Reset’ ซึ่งเป็นบททดสอบใหญ่ ที่ผู้คนทั้งประเทศจะได้เรียนรู้ร่วมกันครั้งใหญ่อีกครั้ง จากของจริงด้วยประสบการณ์จริง หลังจากวิกฤติโควิดหมดไปแล้ว 
ตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่โหมดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกกับสงครามใหญ่

สุวินัย ภรณวลัย