‘อังกฤษ’ เมินคำสั่งศาล เตรียมส่งตัวผู้ลี้ภัยไปอยู่ ‘รวันดา’ เชื่อ เป็นประเทศปลอดภัย-น่าอยู่ ยัน!! ไม่ส่งกลับบ้านเกิดแน่

‘อังกฤษ’ เป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปยุโรปที่มีปัญหาเรื่องการรับผู้ลี้ภัยต่างชาติมานาน จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในสังคมอย่างมาก ซึ่งชาวอังกฤษแท้ๆ จำนวนไม่น้อยต่างสุดจะทน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย และผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายล้นเมืองโดยด่วน

แต่วันนี้ รัฐบาลอังกฤษค้นพบวิธีแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้แล้ว ด้วยการส่งผู้อพยพทั้งหมดไปอยู่ ‘ประเทศรวันดา’ ในทวีปแอฟริกาตะวันออกแทน

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 66 ‘เจมส์ เคลฟเวอร์ลี’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ได้เซ็นข้อตกลงร่วมฉบับใหม่กับรัฐบาลรวันดา ที่มีชื่อว่า ‘UK and Rwanda Migration and Economic Partnership’ หรือรู้จักกันทั่วไปว่า ‘แผนผู้ลี้ภัยรวันดา’ ณ กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเลี่ยงข้อกฏหมายที่ศาลฎีกาอังกฤษได้เคยตัดสินว่า ‘การส่งตัวผู้ลี้ภัยมารวันดาเข้าข่ายผิดกฏหมายระหว่างประเทศ’

ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษสามารถส่งตัวผู้อพยพ ที่อยู่ในผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือ ‘กลุ่มผู้แสวงหาที่ลี้ภัย’ (Asylum Seeker) ทั้งหมดมาไว้ที่รวันดาก่อนได้ จนกว่าคำร้องขอลี้ภัยจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษ ถึงสามารถเดินทางจากรวันดา กลับมาอังกฤษได้

แต่ถ้าคำร้องถูกปฏิเสธ ผู้ลี้ภัยคนนั้นก็จะต้องอยู่ในรวันดาแทน โดยรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่าจะไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยเหล่านั้นไปยังประเทศที่ 3 หรือส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

หลังจากที่บรรลุข้อตกลงเรื่องแผนการย้ายผู้ลี้ภัยแล้ว เจมส์ เคลฟเวอร์ลี กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษพร้อมเดินหน้าส่งตัวกลุ่มผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย หรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย บินข้ามมาที่รวันดาได้ทันที ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป และเขาไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดๆ ในการคัดค้านแผนการย้ายผู้ลี้ภัยของอังกฤษในครั้งนี้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของ ‘นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค’ ที่จะลดจำนวนผู้อพยพเข้าเมืองของอังกฤษอีกด้วย

แม้ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาของอังกฤษได้ตัดสินว่า นโยบายส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังรวันดาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกฏหมายระหว่างประเทศ โดยชี้ประเด็นถึงความเสี่ยงที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศบ้านเกิดที่พวกเขาหนีมาเพราะภัยสงคราม หรือสภาวะที่ทนทุกข์ทรมาน และตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของประเทศรวันดา

ด้าน เจมส์ เคลฟเวอร์ลี ก็กล่าวหนักแน่นว่า “รัฐบาลรวันดามีความใส่ใจอย่างยิ่งต่อสิทธิผู้ลี้ภัย และยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลอังกฤษ ในการรับมือกับปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในระดับสากล”

ในขณะเดียวกัน ‘อเลน มุคุราลินดา’ รองโฆษกรัฐบาลรวันดา กล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดถูกส่งตัวกลับประเทศของตนอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้คณะทำงานของทั้งสองประเทศต้องผ่านการพิจารณาในสภาอย่างโปร่งใส

และทันทีที่ผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว รัฐบาลอังกฤษเตรียมที่จะส่งกลุ่มผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายชุดแรกหลายพันคนไปที่รวันดา โดยรัฐบาลอังกฤษจะสนับสนุนเงินให้แก่รัฐบาลรวันดาก้อนแรกเป็นเงิน 140 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6140 ล้านบาท) ในการดูแลผู้ลี้ภัยของอังกฤษชุดนี้ จนกว่าผลวีซ่าจะออก

แผนผู้ลี้ภัยรวันดาครั้งนี้ เกิดจากแรงกดดันของชาวอังกฤษให้นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค ผู้นำของอังกฤษ ลดจำนวนคนเข้าเมืองที่ทำสถิติสูงสุด 7.45 แสนคน เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาผู้ลี้ภัยที่ลักลอบเข้ามาผ่านทางช่องแคบอังกฤษด้วยเรือลำเล็ก จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมหลายครั้ง และเพื่อแผนการนี้ รัฐบาลอังกฤษก็ได้เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับเร่งด่วนที่จะระบุให้รวันดาเป็น ‘ประเทศที่ปลอดภัย’ อีกด้วย

อันเนื่องจากประเทศรวันดา เคยเป็นที่รู้จักของชาวโลกจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนเผ่าทุตซี เมื่อช่วงปี 2537 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 8 แสนคนมาแล้ว แต่วันนี้ รัฐบาลอังกฤษออกมาการันตีว่า “รวันดาเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับเดินทางและเริ่มต้นชีวิตใหม่”

แต่สำหรับผู้ลี้ภัยที่ตั้งใจมาอยู่ที่อังกฤษอาจต้องคิดหนัก เพราะสุดท้ายต้องมาจบลงที่แอฟริกาแทน พร้อมตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวจากรัฐบาลอังกฤษบินตรงจากลอนดอนถึงรวันดา และที่พักฟรีระหว่างรอฟังผลวีซ่า

และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะกลายเป็นโมเดลนำร่องให้แก่ประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาผู้ลี้ภัยล้นเมือง และต้องการลดปริมาณชาวโรบินฮู้ดที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฏหมายก็เป็นได้


เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Sky News / Aljazeera / BBC