‘ผู้เชี่ยวชาญ’ แนะ ‘แอร์ไลน์’ เร่งใช้ SAF ลดปริมาณคาร์บอน หลังการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ชี้!! เป็นทางเลือกที่ทำได้เร็วที่สุด

(24 พ.ย.66) เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Pioneering Sustainable Aerospace: พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน’ ในงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ‘Regenerative Fuels: Sustainable Mobility’ จัดโดยกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า…

ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของโลก ถึงแม้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา การบินชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอโควิดคลี่คลายกลับเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ฟื้น หรือเติบโตเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาอินเดียมีการสั่งเครื่องบินไปแล้วกว่า 500 ลำ ซึ่งจะส่งมอบประมาณปี 2030

“ผมมองว่าทิศทางของธุรกิจการบินจะเติบโตไปเรื่อย ๆ และมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจการบินมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ซึ่งทางออกที่น่าจะเป็นไปได้และทำได้ทันทีคือการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)”

ด้านนายยงยุทธ ลุจินตานนท์ Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar กล่าวเสริมว่า “IATA เราทำงานร่วมกับสายการบินในการพัฒนาธุรกิจการบินให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเรามีสมาชิกกว่า 318 การบิน การเดินทางของผู้คนในปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิดเมื่อปี 2019 มีการเติบโตถึง 80% แม้จำนวนการเดินทางจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จากการคาดการณ์พบว่าตัวเลขการเดินทางจะกลับมาเป็นปกติก่อนช่วงเกิดโควิดจะอยู่ที่ปี 2025 และหากเทียบสัดส่วนอีก 20 ปีข้างหน้า การเดินทางไปยุโรปจะโตระดับ 700 ล้านคน ขณะที่สหรัฐโต 500 ล้านคน

“ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกตัวเลขอาจจะโตขึ้นมีจำนวนมากถึง 2,800 ล้านคน แปลว่าจะเห็นจำนวนประชากรที่เดินทางอย่างมากมายมหาศาล และหากมีการเดินทางมากขึ้น ความท้าทายคือ ธุรกิจการบินจะเพิ่มเที่ยวบินอย่างไร และจะผลิตเครื่องบินทันหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการทางอากาศจะทำอย่างไรบ้าง

“นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI จะมีบทบาทสำคัญกับภาคการบิน เพราะเมื่อการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยจึงต้องมาควบคู่กัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอน ถึงแม้ว่าธุรกิจการบินจะมีการปลดปล่อยคาร์บอนคิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เมื่อดูปริมาณการปลดปล่อยก็ถือว่ามีปริมาณมหาศาล ดังนั้น ผมมองว่าการที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการใช้ SAF จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานี้”

ด้านนายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญนอกจากการบินจะนำ SAF มาใช้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ ผู้ใช้บริการรับรู้ และทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเรียกร้องว่า ทำอย่างไรให้สายการบินมีเที่ยวบินที่รักโลก และมีราคาที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน การเดินทางแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องไก่กับไข่ที่กฎหมายจะนำหรือความต้องการจะนำ ดังนั้น ทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์ นักธุรกิจ และผู้บริโภคจะต้องวิน-วินด้วยกัน เพราะคนทำธุรกิจจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม