‘อ.เจษฎา’ ตัดมุมความเชื่อ เปิดมุมวิทยาศาสตร์  ทำไม ‘รถเทสลา’ ถึงตรวจเห็น ‘ผี’ ในสุสานได้

(17 ต.ค. 66) ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองทางวิทยาศาสตร์ ถึงไวรัลในโลกออนไลน์ ผ่านทางเพจ ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์’ ความว่า “ทำไมรถเทสลา ถึงตรวจเห็น ‘ผี’ ในสุสานได้?”

มีรายงานข่าวถึงคลิปติ๊กต๊อกที่กำลังเป็นไวรัล จากการที่มีคนไปขับรถยนต์ไฟฟ้า ยี่ห้อ Tesla วิ่งวนรอบเมรุเผาศพ แล้วเซ็นเซอร์ของรถตรวจเจอ ‘วัตถุบางอย่าง’ ลักษณะคล้ายคน ปรากฏอยู่ข้างๆ ตัวรถ !?… มันเป็นผี หรือเป็นความผิดปรกติของรถกันแน่ครับ?

โดยผู้ใช้ติ๊กต็อก ชื่อว่า @aunnyc โพสต์คลิป ‘Tesล่าท้าผี’ โดยเธอขับเก๋งไฟฟ้าเทสล่า เข้าไปวนรอบเมรุ ณ วัดแห่งหนึ่ง จากคลิปจะเห็นว่า ระบบ Tesla Vision เทคโนโลยีเฉพาะรถยนต์เทสล่า ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุรอบคันรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ขึ้นโชว์ว่ามี ‘วัตถุบางอย่าง’ ลักษณะคล้ายคน ปรากฏอยู่ข้างๆ ตัวรถ ซึ่งเธอยืนยันว่า ไม่มีคนอยู่บริเวณนั้น และไม่มีการจัดฉากใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง “‘รถเทสลา’ ตรวจจับวัตถุคล้ายคนได้ ทั้งที่ไม่ได้มีคนยืนอยู่ตรงนั้น” แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวและคลิปวิดีโอทำนองนี้ในต่างประเทศมาหลายครั้งแล้ว และหลายปีแล้วด้วยตั้งแต่ที่รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเทสลากลายเป็นที่นิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และก็มีคนเอาไปลองวิ่งตามสุสาน ตามสถานที่แปลกๆ เผื่อจะตรวจจับ ‘วัตถุลึกลับคล้ายคน’ กันได้

ที่เป็นเช่นนี้ได้นั้น ถ้าตัดความเชื่อเรื่องที่ ‘มีผีวิญญาณเฝ้าสุสาน แล้วรถเทสลามีตาทิพย์มองเห็นได้’ ออกไปแล้วนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่ารถคันนั้นมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับระบบ Tesla Vision ของรถ ซึ่งประกอบด้วยกล้อง 8 ตัวและเซนเซอร์อัลตราโซนิก 12 ตัว

อาจมีอะไรเสียแล้วทำงานผิดพลาด หรือถ้าเซนเซอร์ปกติดี อาจเกิดจากตัวของโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ประกอบนั้น เกิดความผิดพลาดในการตรวจจับขึ้นได้

และคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มาก ก็คือ ปัญหา ‘ผลบวกปลอม’ หรือ ‘ฟอลส์โพสิทีพ’ (False Positive) ซึ่งหมายถึงการที่รถตรวจเจอสิ่งกีดขวางอันตรายทั้งที่มันไม่ได้มีอยู่ รถอาจจะตรวจจับวัตถุอะไรแถวนั้นที่กล้องมองเห็น เช่น ดอกไม้ พุ่มไม้ ป้ายหลุมศพ ฯลฯ แล้วตีความว่าเป็นสิ่งกีดขวางอันตราย

ระบบป้องกันการชนของรถเทสลานั้น ทำงานด้วยการใช้ทั้งเซนเซอร์และกล้องร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอะไรอยู่รอบรถบ้าง ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังจอภาพในห้องโดยสาร ซึ่งจะแสดงเป็นภาพกราฟิกขึ้นมา แต่ไม่ใช้ภาพวิดีโอของสิ่งที่กล้องเห็นจริง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในการแสดงผล เช่น แสดงหลุมศพ ด้วยภาพกราฟิกของ ‘คนเดินถนน’

ในคู่มือผู้ใช้ของรถเทสลาเอง ก็มีการแนะนำไว้เกี่ยวกับระบบป้องกันการชนของรถว่า “มีหลายปัจจัยที่สามารถลดประสิทธิภาพของระบบหรือทำให้ระบบผิดพลาดได้ และนำไปสู่การเตือนการชน ทั้งแบบที่ไม่จำเป็น เตือนผิด หรือไม่แม่นยำ”

ซึ่งในแง่ของ ‘ความปลอดภัย’ แล้ว การที่รถที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ (Auto pilot) อย่าง เทสลา นั้น แสดงผลการตรวจจับผิดปรกติแบบ ‘ผลบวกปลอม’ ย่อมดีกว่าการที่มันแสดงผลแบบ ‘ผลลบปลอม’ (หมายถึง รถตรวจไม่เจอสิ่งกีดขวางอันตราย ทั้งที่มันมีอยู่จริง)

ตัวอย่างเช่น มันย่อมจะดีกว่า ที่จะเตือนผิดว่ามีเด็กวิ่งลงมาที่ถนน (ทั้งที่ไม่มี) ดีกว่าที่จะตรวจไม่เจอว่าจริงๆ แล้วมีเด็กอยู่บนถนน

ดังนั้น ‘อัลกอริทึม’ (algorithm) ของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในรถ จึงมีแนวโน้มที่จะทำการตรวจจับแบบเซนซิทีฟให้มากไว้ก่อน ยอมที่จะตรวจผิดแบบเจอผลบวกปลอม ดีกว่าจะผิดแบบผลลบปลอม

แต่การที่รถมีผลบวกปลอม ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะมันจะเกิดปัญหาอันตรายตามมา กับรถที่สามารถ ‘เบรกเองได้’ อย่างไม่คาดคิดและทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันได้ อย่างที่บริษัทเทสลาเอง โดนฟ้องร้องต่อศาล ที่รัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากข้อหาที่ว่ารถมีความผิดปรกติ จนทำให้เกิดการเตือนการชนด้านหน้า ‘แบบผลบวกปลอม’ ขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่อันตรายได้ และก็ทำให้เทสลาเคยเรียกรถบางคันคืนไปแก้ อันเนื่องจากมันเซนซิทีฟเกินไปจนเกิดปัญหา ‘เบรกเอง จากผลบวกปลอม’ ขึ้น

ถ้าผู้ใช้รถเทสลาท่านใด เจออาการผิดปกติแบบ ‘ตรวจเจอผี’ เช่นนี้ ควรเอารถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรถของท่านว่ามีอะไรผิดปกติกับระบบเซ็นเซอร์ของรถหรือไม่ หรืออาจใช้วิธี ‘การรีบูต’ (Reboot) ซอฟต์แวร์ระบบออโต้ไพล็อตของรถ เผื่อสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ (รถเทสลาบางรุ่น เช่น Model X และ Model S จะใช้วิธีกดปุ่ม Scroll wheel ทั้งสองอันบนพวงมาลัย ค้างไว้ เพื่อรีบูต ซึ่งจะทำให้จอทัชสกรีนของรถดับลง แล้วสตาร์ตใหม่ในไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น)

สรุปก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น การที่รถสมัยใหม่ที่มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางอันตราย อย่างเทสลา แจ้งเตือน ‘ผี’ ได้ เป็นผลจากความผิดปกติของระบบเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่มีแนวโน้มจะเซนซิทีฟและให้ ‘ผลบวกปลอม’ ได้ ทั้งที่ไม่มีคนอยู่บริเวณ… แต่ต้องระวังปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น การเบรกเองอัตโนมัติเนื่องจากตรวจจับผิดพลาด