Thursday, 16 May 2024
เจษฎาเด่นดวงบริพันธ์

ไวรัลเงา ‘พระธาตุดอยสุเทพ’ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า  ‘อ.เจษฎ์’ เฉลยแล้ว ไม่ใช่ปาฏิหาริย์

กลายเป็นภาพไวรัลที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wiradej Thongsuwan ได้โพสต์ภาพลงในกลุ่ม ชมรมคนรักมวลเมฆ จนเป็นฮือฮา บ้างก็ว่าปาฏิหาริย์ บ้างก็ว่าตัดต่อ

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายข้อเท็จจริงผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์' ระบุว่า

"รูปพระธาตุดอยสุเทพ ลอยกลางท้องฟ้า ไม่ใช่ภาพปาฏิหาริย์อะไรนะครับ แต่เป็นเงาของตัวพระธาตุ ที่โดนแสงสปอตไลต์ ส่องไปกระทบกับเมฆที่ลอยต่ำอยู่เหนือท้องฟ้าเชียงใหม่ เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง โดยไม่ได้มีการตัดต่ออะไรภายหลัง

โดยภาพนี้เป็นเป็นฝีมือการถ่ายภาพของ รศ.ดร. วีระเดช ทองสุวรรณ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำไปโพสต์ไว้ที่เพจ facebook ของชมรมคนรักมวลเมฆ 

‘อ.เจษฎ์’ คาดต้นเหตุสลด โรงเรียนดังย่านนางเลิ้ง ขณะซ้อมดับเพลิง บรรจุแก๊สเพิ่ม-วางตากแดด-ไม่มีวาล์วเซฟตี้

กรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เวลา 11.22 น. เกิดเหตุระเบิดในโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ย่านนางเลิ้ง เบื้องต้นมีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

โดยมีรายงานว่า ทางโรงเรียนได้เชิญเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามเสนมา ทำการซักซ้อมการควบคุมเพลิง พร้อมวิธีการอพยพให้กับเด็กนักเรียน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เปิดแก๊สถังขนาด 20 กก. และทำการจุดไฟเพื่อสาธิตวิธีการดับไฟเบื้องต้น แก๊สได้รั่วไหลออกมาจนเป็นเหตุให้ระเบิดจนทำให้ผู้เสียชีวิตกระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากร ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน

ต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของเหตุถังดับเพลิงระเบิด คาดว่า เป็นเพราะถังดังกล่าวถูกนำไปบรรจุแก๊สเพิ่ม และวางตากแดดเป็นเวลานานจนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงดันขยายตัวและระเบิด เนื่องจากไม่มีวาล์วเซฟตี้ติดตั้งอยู่ครับ
พร้อมแนะนำเรื่องการเก็บรักษาดูแลถังดับเพลิง ดังนี้

หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง
ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์(สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ

หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ5-6ครั้ง ทุกๆ3-6เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน
เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็คสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่

ถ้าแรงดันในถังเกิน (OVERCHARGE) สูงกว่าแรงดันปกติ (195 psi)สภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออก หากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หมายเหตุ:
เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าซ ภายในถังได้โดย วิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าสภายในถังลดลงต่ำกว่า80 % ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที

‘อ.เจษฎา’ ตัดมุมความเชื่อ เปิดมุมวิทยาศาสตร์  ทำไม ‘รถเทสลา’ ถึงตรวจเห็น ‘ผี’ ในสุสานได้

(17 ต.ค. 66) ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองทางวิทยาศาสตร์ ถึงไวรัลในโลกออนไลน์ ผ่านทางเพจ ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์’ ความว่า “ทำไมรถเทสลา ถึงตรวจเห็น ‘ผี’ ในสุสานได้?”

มีรายงานข่าวถึงคลิปติ๊กต๊อกที่กำลังเป็นไวรัล จากการที่มีคนไปขับรถยนต์ไฟฟ้า ยี่ห้อ Tesla วิ่งวนรอบเมรุเผาศพ แล้วเซ็นเซอร์ของรถตรวจเจอ ‘วัตถุบางอย่าง’ ลักษณะคล้ายคน ปรากฏอยู่ข้างๆ ตัวรถ !?… มันเป็นผี หรือเป็นความผิดปรกติของรถกันแน่ครับ?

โดยผู้ใช้ติ๊กต็อก ชื่อว่า @aunnyc โพสต์คลิป ‘Tesล่าท้าผี’ โดยเธอขับเก๋งไฟฟ้าเทสล่า เข้าไปวนรอบเมรุ ณ วัดแห่งหนึ่ง จากคลิปจะเห็นว่า ระบบ Tesla Vision เทคโนโลยีเฉพาะรถยนต์เทสล่า ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุรอบคันรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ขึ้นโชว์ว่ามี ‘วัตถุบางอย่าง’ ลักษณะคล้ายคน ปรากฏอยู่ข้างๆ ตัวรถ ซึ่งเธอยืนยันว่า ไม่มีคนอยู่บริเวณนั้น และไม่มีการจัดฉากใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง “‘รถเทสลา’ ตรวจจับวัตถุคล้ายคนได้ ทั้งที่ไม่ได้มีคนยืนอยู่ตรงนั้น” แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวและคลิปวิดีโอทำนองนี้ในต่างประเทศมาหลายครั้งแล้ว และหลายปีแล้วด้วยตั้งแต่ที่รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเทสลากลายเป็นที่นิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และก็มีคนเอาไปลองวิ่งตามสุสาน ตามสถานที่แปลกๆ เผื่อจะตรวจจับ ‘วัตถุลึกลับคล้ายคน’ กันได้

ที่เป็นเช่นนี้ได้นั้น ถ้าตัดความเชื่อเรื่องที่ ‘มีผีวิญญาณเฝ้าสุสาน แล้วรถเทสลามีตาทิพย์มองเห็นได้’ ออกไปแล้วนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่ารถคันนั้นมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับระบบ Tesla Vision ของรถ ซึ่งประกอบด้วยกล้อง 8 ตัวและเซนเซอร์อัลตราโซนิก 12 ตัว

อาจมีอะไรเสียแล้วทำงานผิดพลาด หรือถ้าเซนเซอร์ปกติดี อาจเกิดจากตัวของโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ประกอบนั้น เกิดความผิดพลาดในการตรวจจับขึ้นได้

และคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มาก ก็คือ ปัญหา ‘ผลบวกปลอม’ หรือ ‘ฟอลส์โพสิทีพ’ (False Positive) ซึ่งหมายถึงการที่รถตรวจเจอสิ่งกีดขวางอันตรายทั้งที่มันไม่ได้มีอยู่ รถอาจจะตรวจจับวัตถุอะไรแถวนั้นที่กล้องมองเห็น เช่น ดอกไม้ พุ่มไม้ ป้ายหลุมศพ ฯลฯ แล้วตีความว่าเป็นสิ่งกีดขวางอันตราย

ระบบป้องกันการชนของรถเทสลานั้น ทำงานด้วยการใช้ทั้งเซนเซอร์และกล้องร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอะไรอยู่รอบรถบ้าง ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังจอภาพในห้องโดยสาร ซึ่งจะแสดงเป็นภาพกราฟิกขึ้นมา แต่ไม่ใช้ภาพวิดีโอของสิ่งที่กล้องเห็นจริง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในการแสดงผล เช่น แสดงหลุมศพ ด้วยภาพกราฟิกของ ‘คนเดินถนน’

ในคู่มือผู้ใช้ของรถเทสลาเอง ก็มีการแนะนำไว้เกี่ยวกับระบบป้องกันการชนของรถว่า “มีหลายปัจจัยที่สามารถลดประสิทธิภาพของระบบหรือทำให้ระบบผิดพลาดได้ และนำไปสู่การเตือนการชน ทั้งแบบที่ไม่จำเป็น เตือนผิด หรือไม่แม่นยำ”

ซึ่งในแง่ของ ‘ความปลอดภัย’ แล้ว การที่รถที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ (Auto pilot) อย่าง เทสลา นั้น แสดงผลการตรวจจับผิดปรกติแบบ ‘ผลบวกปลอม’ ย่อมดีกว่าการที่มันแสดงผลแบบ ‘ผลลบปลอม’ (หมายถึง รถตรวจไม่เจอสิ่งกีดขวางอันตราย ทั้งที่มันมีอยู่จริง)

ตัวอย่างเช่น มันย่อมจะดีกว่า ที่จะเตือนผิดว่ามีเด็กวิ่งลงมาที่ถนน (ทั้งที่ไม่มี) ดีกว่าที่จะตรวจไม่เจอว่าจริงๆ แล้วมีเด็กอยู่บนถนน

ดังนั้น ‘อัลกอริทึม’ (algorithm) ของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในรถ จึงมีแนวโน้มที่จะทำการตรวจจับแบบเซนซิทีฟให้มากไว้ก่อน ยอมที่จะตรวจผิดแบบเจอผลบวกปลอม ดีกว่าจะผิดแบบผลลบปลอม

แต่การที่รถมีผลบวกปลอม ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะมันจะเกิดปัญหาอันตรายตามมา กับรถที่สามารถ ‘เบรกเองได้’ อย่างไม่คาดคิดและทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันได้ อย่างที่บริษัทเทสลาเอง โดนฟ้องร้องต่อศาล ที่รัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากข้อหาที่ว่ารถมีความผิดปรกติ จนทำให้เกิดการเตือนการชนด้านหน้า ‘แบบผลบวกปลอม’ ขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่อันตรายได้ และก็ทำให้เทสลาเคยเรียกรถบางคันคืนไปแก้ อันเนื่องจากมันเซนซิทีฟเกินไปจนเกิดปัญหา ‘เบรกเอง จากผลบวกปลอม’ ขึ้น

ถ้าผู้ใช้รถเทสลาท่านใด เจออาการผิดปกติแบบ ‘ตรวจเจอผี’ เช่นนี้ ควรเอารถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรถของท่านว่ามีอะไรผิดปกติกับระบบเซ็นเซอร์ของรถหรือไม่ หรืออาจใช้วิธี ‘การรีบูต’ (Reboot) ซอฟต์แวร์ระบบออโต้ไพล็อตของรถ เผื่อสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ (รถเทสลาบางรุ่น เช่น Model X และ Model S จะใช้วิธีกดปุ่ม Scroll wheel ทั้งสองอันบนพวงมาลัย ค้างไว้ เพื่อรีบูต ซึ่งจะทำให้จอทัชสกรีนของรถดับลง แล้วสตาร์ตใหม่ในไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น)

สรุปก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น การที่รถสมัยใหม่ที่มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางอันตราย อย่างเทสลา แจ้งเตือน ‘ผี’ ได้ เป็นผลจากความผิดปกติของระบบเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่มีแนวโน้มจะเซนซิทีฟและให้ ‘ผลบวกปลอม’ ได้ ทั้งที่ไม่มีคนอยู่บริเวณ… แต่ต้องระวังปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น การเบรกเองอัตโนมัติเนื่องจากตรวจจับผิดพลาด

‘อ.เจษฎา’ ท้าพิสูจน์ ‘บั้งไฟพญานาค’ แต่ไม่ต้องวางเดิมพันเงินล้าน พร้อมแนะวิธีล่าความจริงด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ลั่น!! โทรมานัดได้เลย

(1 พ.ย. 66) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ถึงข้อถกเถียงเรื่อง ‘บั้งไฟพญานาค’ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ดังนี้…

“ผมชอบไอเดียวิธีการพิสูจน์ ‘บั้งไฟพญานาค’ ของเค้านะ แต่ไม่ต้องวางเดิมพันเงินรางวัลอะไรกันหรอกครับ (ผมข้าราชการขั้นผู้น้อย ไม่มีเงินไปวางกับท่านคหบดี บุญมา เค้าด้วย)

แค่ปีหน้า ท้องถิ่นมาช่วยกันจัดพิสูจน์เป็นเรื่องเป็นราว เชิญกองทัพสื่อทุกช่อง และผู้สนใจ ไปตั้งกล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ กันเยอะๆ ดีกว่า

ผมว่า ถ้าไปบึงกาฬอาจจะไม่ค่อยเห็น ก็เลือกเอาที่จุดไหนที่ลูกไฟขึ้นเยอะๆ ให้ชัวร์ๆ ว่าไปแล้วน่าจะได้เจอ (เช่น ที่ลานพญานาค รัตนวาปี)  แบ่งครึ่งหนึ่งถ่ายฝั่งไทย อีกครึ่งข้ามไปถ่ายฝั่งลาว เอาโดรนบินตรงกลางขึ้นฟ้าไปด้วย เริ่มจัดซักปี 2 ปี ก็น่าจะได้ข้อมูล ‘ทางวิทยาศาสตร์’ ให้ไปศึกษาต่อกันได้อีกเยอะครับ

ป.ล. ปีหน้า โทรมานัด ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นะครับ

(รายงานข่าว) โต้เดือด! บึงกาฬ แถลงยัน บั้งไฟพญานาคขึ้น ท้าเดิมพัน ‘อ.เจษฎา’ 1 ล้าน มาพิสูจน์ด้วยกัน

นายบุญมา พันดวง คหบดีในบึงกาฬ กล่าวว่า ขอท้า ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศไทยมาพิสูจน์ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ กรณีเกิดบั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา ที่ท่านบอกว่าเป็นการยิงกระสุนส่องสว่างจากอาวุธปืนเอสเคจากฝั่งลาวขึ้นฟ้า ทำให้คนไทยเชื่อว่าเป็น “บั้งไฟพญานาค” ตามความเชื่อของคนไทยและลาวริมฝั่งโขง ซึ่งเคยยืนยันเรื่องนี้มามากกว่า 10-15 ปีแล้ว ปัจจุบัน ดร.เจษฎา ก็ยังยืนยันคำเดิม

บุญมา กล่าวต่อว่า ดร.เจษฎา ไม่ต้องไปจับคนลาวที่ยิงปืนมาพิสูจน์ให้คนไทยดูก็ได้หรอก แต่ให้มานั่งดูที่ริมฝั่งโขงในเขต อ.ปากคาด ด้วยกัน โดยเชิญสื่อมวลชนส่วนกลางมาบันทึกภาพเป็นสักขีพยานด้วย เก็บภาพทุกมุม ทั้งยิงกล้องมาทางฝั่งลาวด้วย ขอร้องประชาชนหรือนักท่องเที่ยวห้ามส่งเสียงช่วงพิสูจน์ด้วยกันทั้งฝั่งและลาว จะได้รู้ดำรู้แดงให้มันจบๆ ในยุคเรา

“ขอเดิมพัน 1 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามที่ ดร.เจษฎา วิเคราะห์หรือพิสูจน์มา แต่ถ้าเป็นไปตามความเชื่อของคนหนองคายและบึงกาฬ ดร.เจษฎา ต้องยอมจ่าย 1 ล้านบาท และยินดีจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางพร้อมอาหารที่พักให้ด้วย ถ้าตกลงตามคำท้า ขอโทรมาที่เบอร์ 09-8096-7105” นายบุญมา กล่าว ....”

อวสาน ‘ไททันยักษ์’ บนยอดเขาประเทศลาว หลังหมอกจาง ท้องฟ้าโปร่ง ก็คนดีๆ นี่เอง

(8 ธ.ค. 66) จากกรณี ‘ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ไขข้อข้องใจคลิป ‘ไททันยักษ์’ บนยอดเขาประเทศลาว ตามที่ได้รายงานข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยคลิปวิดีโอ จากมุมเดียวกันของเขาลูกดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีเมฆหมอกแต่อย่างใด โดยได้มีคนไปยืนอยู่จุดเดียวกับที่พบไททันยักษ์ ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ก็ปรากฏว่า ขนาดของคนที่ยืนนั้น ก็ได้เท่ากับตัวของไททันยักษ์ จึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ที่เห็นในคลิป เป็นคนอย่างแน่นอน

ด้าน อ.เจษฎ์ ก็ได้ระบุข้อความว่า วันก่อน ‘ไททันยักษ์’, ‘คิงคอง’ แอบมาปรากฏตัวให้คนแตกตื่นอยู่บนยอดเขาประเทศลาว ท่ามกลางม่านเมฆหมอก มองไม่ค่อยชัดเลย

วันนี้ ไม่มีเมฆ ไม่มีหมอก ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ขอโชว์ตัวชัดๆ สักหน่อยนะครับ 5555

(ป.ล. สรุปว่า จริงๆ ก็ ‘คน’ นั้นแหละครับ ฮะๆๆๆ)

‘อ.เจษฎา’ ชี้!! ไฮเปอร์ลูป ยังเดินหน้า หลายบริษัทยังพัฒนาระบบกันต่อเนื่อง แม้ ‘ไฮเปอร์ลูปวัน’ จะโบกมือลา หลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจ

(22 ธ.ค. 66) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีบริษัทไฮเปอร์ลูปวัน ล้มเหลวทางธุรกิจ ไว้ว่า…

“น่าเสียดายว่า บริษัทไฮเปอร์ลูปวัน ล้มเหลวทางธุรกิจ… แต่โครงการวิจัยพัฒนาระบบไฮเปอร์ลูปของทีมอื่นๆ ยังดำเนินต่อไปครับ”

สำหรับท่านที่สนใจติดตามข่าวความคืบหน้าของการพัฒนาระบบ ‘ไฮเปอร์ลูป hyperloop’ ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการใช้ยานขนส่งระบบลอยตัวด้วยแม่เหล็ก ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงมากๆ ในท่อลดความดันให้ใกล้สุญญากาศ ซึ่งจะช่วยลดกระแสลมต้านทานทางอากาศพลศาสตร์ลง และทำให้รถมีความเร็วสูงขึ้นมาก…

วันนี้มีข่าวน่าเสียดาย ที่หนึ่งในบริษัทที่แข่งขันกันพัฒนาระบบนี้ กำลังจะปิดตัวเองลงครับ ด้วยความล้มเหลวทางธุรกิจ (แต่ทีมวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก ก็ยังคงแข่งขันกันทำอยู่ต่อไปครับ)

บริษัทดังกล่าวคือ ‘บริษัท Hyperloop One ไฮเปอร์ลูป’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในการสนับสนุนของเครือ เวอร์จิ้นกรุ๊ป (Virgin Group) ของมหาเศรษฐี ‘Richard Branson’ กำลังจะหยุดประกอบการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว  Bloomberg (ดู >> https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-12-21/hyperloop-one-to-shut-down-after-raising-millions-to-reinvent-transit) โดยรายงานข่าว ระบุว่าทางบริษัท Hyperloop One
ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Los Angeles จะปลดคนงานทั้งหมดออก และขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มี

ระบบไฮเปอร์ลูป เป็นไอเดียที่มหาเศรษฐี ‘Elon Musk’ ซีอีโอของบริษัท Tesla และ SpaceX  ได้เคยเสนอแนวทางเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013  และหลังจากนั้น บริษัท Hyperloop One ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 และระดมทุนได้ถึง 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายบริษัทและองค์กรของรัฐบาลทั่วโลก ที่พยายามพัฒนาระบบขนส่งคนและสินค้า ที่อาศัยยานขนส่งซึ่งอยู่ในท่อลดความดันจนใกล้สุญญากาศ และจะทำความเร็วได้ถึง700 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ในปลายปี ค.ศ. 2020 บริษัท Hyperloop One ประสบความสำเร็จในการวิ่งทดสอบครั้งแรกพร้อมกับมีผู้โดยสารอยู่ในรางทดสอบด้วย และทำความเร็วได้ที่ 172 กม/ชม. แต่หลังจากนั้น สาธารณชนเริ่มเห็นปัญหาทางธุรกิจของบริษัท เมื่อบริษัทได้ลดจำนวนคนงานลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และประกาศเปลี่ยนเป้าหมายจากการขนส่งคน ไปเน้นที่ขนส่งสินค้าแทน และในปลายปี 2022 ก็มีข่าวว่าชื่อ ‘Virgin’ ได้ถูกนำออกจากชื่อของบริษัท

จริงๆ แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงวุ่นวายเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งแล้ว กับบริษัท Hyperloop One เช่น การฟ้องร้องกันเองระหว่างเหล่าผู้ก่อตั้งบริษัท จนบริษัทมาอยู่ในมือของ Richard Branson ในปี ค.ศ. 2017 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Virgin Hyperloop One’

และเมื่อ Richard Branson ไปวิพากษ์วิจารณ์ประเทศซาอุดีอาราเบีย จากกรณีการฆาตกรรม ‘นาย Jamal Khashoggi’ ในปี ค.ศ. 2018 ทางราชวงศ์ของซาอุดีอาราเบียก็ได้แสดงความไม่พอใจโดยออกมายื้อโครงการเอาไว้ และทำให้ Richard Branson ต้องออกจากตำแหน่งประธานบริษัทไป 

ผลที่ตามมาคือ ในช่วงต้นปี ค.ศ.2022 บริษัท DP World ที่เป็นบริษัทบริหารจัดการท่าเรือดูไบ ได้เข้ามาควบคุมดูแลบริษัท Virgin Hyperloop One นี้แทน และเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโครงการไฮเปอร์ลูป จากที่จะใช้ขนส่งคน มาเป็นขนส่งสินค้าแทน พร้อมกับลดจำนวนสตาฟลงครึ่งหนึ่งและเอาชื่อ Virgin ออกจากชื่อบริษัท 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัท DP World จะรวบรวมเอาทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท Hyperloop One ไปดูแลเอง ขณะที่ทรัพย์สินที่เหลือที่เป็นวัสดุสิ่งของที่เหลือ ซึ่งรวมถึง ‘รางทดสอบ’ ที่เมือง Las Vegas และเครื่องจักรอื่นๆ ก็จะถูกขายทิ้งไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความฝันของบริษัท Hyperloop One จะจบลงพร้อมกับความล้มเหลวทางธุรกิจ แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาระบบไฮเปอร์ลูป เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้

ดังเช่นที่ผมเคยโพสต์เรื่อง ‘ความคืบหน้าล่าสุด ของระบบ hyperloop ไฮเปอร์ลูป ของประเทศจีน ไว้แล้ว โดยทวีตของ China Science ได้ระบุว่า ประเทศจีนกำลังเข้าใกล้สู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบล้ำยุค ที่ประกอบไปด้วยรถไฟฟ้าแบบลอยตัวด้วยแม่เหล็ก (หรือแม็กเลฟ) ที่มีความเร็วสูงถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยวิ่งอยู่ในอุโมงค์ความดันต่ำใกล้สุญญากาศ ล่าสุดได้สร้างท่ออุโมงค์ทดสอบ ขนาดเท่าของจริง (full scale) ที่มีความยาวถึง 2 กิโลเมตรสำเร็จแล้ว ที่มณฑลซานซี (Shanxi) และถือว่ามีขนาดยาวที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการสร้างกันมาทั่วโลก (ดู ภาพและข้อมูลจาก >> https://twitter.com/ChinaScience/status/1727552557793620192)

นอกจากนี้ อีกบริษัทหนึ่งที่ค่อนข้างมีความคืบหน้าไปมาก คือ ‘บริษัท TransPod’ ของประเทศแคนาดา ตั้งอยู่ที่เมือง Toronto ซึ่งเมื่อต้นปี 2023 บริษัท TransPod ได้กลายเป็นบริษัทไฮเปอร์ลูปรายแรกของโลก ที่ยืนยันถึงการก่อสร้างอินฟราสตรักเจอร์ของโครงการขนส่งมวลชนทั้งหมด ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งในนั้นมีการยืนยันที่จะใช้เงินกว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างระบบไฮเปอร์ลูประหว่างเมือง Edmonton และเมือง Calgary และจะทำให้การเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ ใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น

ตามที่บริษัท TransPod แถลงไว้ เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปของพวกเขาถูกออกแบบมาให้มีความเร็วสูงถึง 1,000 กม/ชม. และเคลมว่าระบบขนส่งมวลชนในท่อของพวกเขานั้น จะมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และสามารถรองรับการขนส่งได้เท่าเทียมหรือยิ่งกว่ารถไฟความเร็วสูงด้วย (ดู >> https://dailyhive.com/calgary/transpod-tube-edmonton-calgary-five-stops)

#ความเห็นทิ้งท้าย ก็เข้าใจนะครับว่าหลายคนมองเรื่อง ‘ไฮเปอร์ลูป’ เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องความเกลียดชังหมั่นไส้ธนาธรและอนาคตใหม่ (ผมก็ไม่คิดว่าเราจะสร้างไฮเปอร์ลูปในประเทศไทยเราได้หรอก… เอาแค่รถไฟความเร็วสูง ให้สำเร็จกันก่อนเถอะ) แต่ผมไม่สนใจประเด็นพวกนี้นะ ผมสนใจในประเด็นความท้าทายเชิงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่จะพัฒนาสิ่งที่ดูเหมือนความฝันเหล่านี้ ให้มันสำเร็จ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปีนี้ปีหน้า หรือสิบปียี่สิบปีหน้า แต่สักวันหนึ่ง ผมว่าไฮเปอร์ลูปน่าจะทำได้จริง และจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมของลูกหลานเราในอนาคตครับ

'อ.เจษฎา' แจง!! งานนี้ไม่ใช่บอลประเพณี แต่ผู้ใหญ่ 2 มหาลัยเห็นชอบรูปแบบ แนะ!! หากใครอาสาแบกเสลี่ยง 'อัญเชิญพระเกี้ยว' รีบสมัครล่วงหน้าได้เลย

(4 เม.ย.67) จากกรณีดรามา ‘นิสิตจุฬาฯ’ ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ ปีนี้ สร้างเสียงวิจารณ์กระหน่ำ มีทั้งผู้เห็นด้วยและคิดต่าง กระทั่งคณะผู้จัดงาน ฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ออกมาชี้แจงความหมายของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ที่ตั้งใจคัดสรรสัญลักษณ์ ตัวแทนองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ มา

นอกจากนี้ กรณี พ.อ.รศ.นพ.วิภู กำเหนิดดี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เชี่ยวชาญในการรักษาโรคปวดเรื้อรัง ระบุทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่ต้อนรับแพทย์ใช้ทุนที่จบจากที่นี่ เนื่องจากไม่ชอบ ทำให้ต้นสังกัดอย่าง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่อนคำชี้แจง พร้อมขออภัยบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ตลอดจนให้แพทย์รายดังกล่าวลบโพสต์ไปจากโซเชียลแล้วนั้น

เรื่องราวทั้งหมดนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ออกมากล่าวทางเฟซบุ๊กในมุมที่อาจมีผู้เข้าใจผิดว่า งานบอลที่เพิ่งจัดไปไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

รศ.ดร.เจษฎาระบุว่า ทราบกันหรือไม่ว่า “งานบอลที่เพิ่งจัดไป..ไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครับ” เห็นเป็นประเด็นดรามากันมาหลายวันแล้ว เกี่ยวกับงานฟุตบอล ที่จัดแข่งกันไประหว่างนิสิตจุฬาฯ และศึกษาธรรมศาสตร์…แต่ถ้าผมจะอธิบายให้เข้าใจชัดว่า “มันเป็นคนละงานกัน” กับการฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่ผ่าน ๆ มา ไม่รู้ว่าจะช่วยลดดรามาให้น้อยลงได้หรือเปล่านะครับ 

[ #สรุป (เผื่อใครขี้เกียจอ่านยาว) พูดง่าย ๆ คือสมาคมศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน ไม่จัดงานบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ซักที…เด็ก ๆ นิสิตนักศึกษา ก็เลยจัดงานเตะบอลสานสัมพันธ์กันเอง..งานมันก็เลยออกมาสเกลเล็ก ๆ แค่นี้แหละครับ ]

คือจริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณี ที่จัดกันมากว่า 90 ปีแล้ว (ซึ่งครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 74 เมื่อปี พ.ศ.2563)…แต่มันมีชื่อว่า “งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1” ต่างหากครับ

งานฟุตบอลประเพณีที่ผ่านมา ดำเนินการจัดโดย ‘สมาคมศิษย์เก่า’ ของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาตลอด…ขณะที่งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ที่พึ่งริเริ่มจัดในปีนี้นั้น จัดโดยองค์การบริหารสโมสรของนิสิตจุฬาฯ และของนักศึกษาธรรมศาสตร์

สาเหตุที่เกิดงานนี้ก็คือ การที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ครั้งที่ 75 (ซึ่งควรจะได้จัดไปเมื่อปี 2564) ทางด้านของสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่เป็นเจ้าภาพนั้นได้เลื่อนจัดมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดขึ้น จนมาถึงปีนี้ ก็ยังหากำหนดวันที่เหมาะสมร่วมกันกับทางสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯไม่ได้ แล้วต้องทำให้เลื่อนไปอีกปีนึง

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางองค์การบริหารสโมสรของทั้ง 2 สถาบัน จึงได้ขอจัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ขึ้นเอง แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก และมีงบประมาณน้อยมากก็ตาม โดยจัดในแบบที่กระชับขึ้น เรียบง่ายขึ้น งบน้อยลง ใช้กำลังคนให้น้อยลง..และที่สำคัญคือมีรูปแบบงานในแบบที่นิสิตนักศึกษาอยากจัดกัน (ไม่ได้จำเป็นอยู่ในกรอบแนวทาง ของที่สมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน เคยวางแนวไว้)

ตัวอย่างเช่น การแปรอักษรด้วยป้าย LED ก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการระดมหาคนขึ้นสแตนด์ ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้..หรือแม้แต่การอัญเชิญธรรมจักรและพระเกี้ยวที่เรียบง่ายขึ้น ใช้กำลังคนน้อยลงเช่นนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ดีเช่นเดียวกัน..ซึ่งถ้ามองถึงผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจกันไว้ (แม้ว่าจะไม่อลังการเท่าเดิม ทั้ง stand แปรอักษรและขบวนอัญเชิญ)

ยังไงก็ตาม การจัดงานบอลสานสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ได้มีแต่นิสิตนักศึกษาที่จัดกันเอง แต่ผู้บริหารของทั้งสองมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วยสนับสนุนเช่นกัน..ดังนั้น รูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนไปนี้ จึงถือว่าผ่านความเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยทั้งสองแล้วนะครับ

ดังนั้น ผู้ที่กังวลว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จะดูด้อยลง ลดความสวยงามอลังการลงจากเดิม ก็คงจะต้องรอดูในปีหน้า ๆ ถัดไป ว่างานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 นั้น จะจัดออกมาในรูปแบบไหน? จะสวยงามยิ่งใหญ่เท่าสมัยปี 2563 หรือเปล่า?

หรือจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ไปตามสมัยนิยม ที่ลดเรื่องพิธีรีตอง และเน้นคุณค่าของตัวงาน ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น..ซึ่งก็ต้องรอฟังทางสมาคมศิษย์เก่าของสองสถาบันนำเสนอชี้แจงกันต่อไป

แต่ไม่ใช่ มาดู ‘งานบอลสานสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษา’ ปีนี้ แล้วจะมารีบด่วนตัดสินว่า หลาย ๆ อย่าง (เช่น เสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว) ถูกยกเลิกไปแล้วอย่างที่ข่าวไปกระพือกันนะครับ…เน้นย้ำ ให้มองว่า มันเป็นคนละงานกันครับ!

ป.ล.ส่วนใครปวารณาตัว อยากจะมาช่วยยกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวให้ ในปีหน้า ๆ ต่อไป ก็เป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ รีบมาสมัครล่วงหน้าได้เลย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top