‘วินทร์’ ชี้ ‘สังคมปัจจุบัน’ กำลังหล่อหลอม ‘เด็ก’ ให้กลายเป็นปีศาจ ‘ความรู้-จริยธรรม’ จึงเป็นธุระของคนทั้งชาติ ที่ต้องคอยช่วยกันปลูกฝัง

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.66) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า…

ข่าวเด็กวัย 14 ก่อเรื่องร้ายสร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคน แม้ว่าเรายังไม่ได้รับรายงานสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นปัญหาทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือปัญหาครอบครัว หรืออะไร เราก็น่าจะฉวยโอกาสนี้สำรวจสถานการณ์เด็กบ้านเราในภาพรวม

หลายปีนี้ผมเจอเรื่องเด็กหลงทางหลายคนที่เป็นลูกหลานของเพื่อน ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวบ้าง ปัญหายาเสพติดบ้าง สร้างความทุกข์มหันต์ให้พ่อแม่ ในฐานะคนที่เคยเลี้ยงลูกวัยนี้ รู้ว่าพฤติกรรมหลงทางของเด็กเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ทุกคน

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นนักเรียนชั้นเลิศ ได้เกรด 4 ทุกวิชา แค่ต้องการให้เรียนวิชาพอมีความรู้ประกอบอาชีพ ไม่สร้างปัญหาแก่ใคร ได้เท่านี้ก็ดีใจแล้ว

แต่การเลี้ยงลูกในยุคนี้ยากขึ้นทุกที ทั้งอิทธิพลจากเพื่อนๆ จากสื่อ โลกโซเชียล จากเกม จากหนัง ไปจนถึงการเมือง

เด็กก็คือเด็ก ฉลาดแค่ไหนก็มีวุฒิภาวะแค่ระดับหนึ่ง แต่มักคิดว่าตนเองรู้จักโลกมากพอแล้ว จึงไม่ฟังใคร

วุฒิภาวะต้องใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตด้วย

เมื่อเกิดปัญหา เรามักชี้นิ้วไปที่ปัจเจกไม่กี่คน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่ความจริงปัญหาของเด็กแต่ละคนที่ทำผิด ก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน จะชี้นิ้วไปที่คนไม่กี่คนในวงแคบๆ ไม่ได้

ดังที่เคยบอกว่า สิ่งมีค่าที่สุดของชาติคือทรัพยากรคน และการสร้างทรัพยากรคนเริ่มที่เด็ก ต้องปลูกฝังความรู้และจริยธรรมควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้เด็กที่มีคุณภาพและวุฒิภาวะที่สูงพอ เป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญหาของสังคม

จะสร้างความรู้และจริยธรรมได้ เป็นธุระของทุกคนและทุกระบบในประเทศ

แต่ภาพในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม หลายปีนี้เราได้ยินข่าวเด็กถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอ บางคนบางฝ่ายสามารถล้างสมองเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างเลือดเย็น 

ปัญหาของเด็กคนหนึ่งจึงมักเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ประกอบด้วยปัญหาอื่นๆ ของคนอื่นๆ คนจำนวนมากไม่ได้อยู่บนยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งนั้น อาจไม่ใช่ปัญหาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะทุกอย่างในสังคมดำเนินไปแบบ cause - effect 

cause #1 สร้าง effect #1, effect #1 สร้าง cause #2, cause #2 สร้าง effect #3... ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ใครคนหนึ่งคอมเมนต์ด่าคนอื่น มันจะกลายเป็น cause ที่สร้าง effect ใหม่ จากคนต่อคน จนถึงจุดหนึ่ง effect ก็ไปถึงเด็กที่ยังมีปัญญาและวุฒิภาวะไม่สูงพอ เด็กคนนั้นก็อาจหลงเชื่อว่าตนเองเป็นทางแก้ปัญหา ทั้งที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และก่อปัญหาสังคมได้โดยที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตนเองกำลังช่วยสังคม

ดังนั้นปัญหาสังคมจากเด็กก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งผู้ใหญ่ที่เจตนาปั่นหัวเด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ไม่แย้งผู้ใหญ่คนนั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์หัวข้อเรื่อง “ยิ่งจะทำให้ดี, โลกมันยิ่งบ้า” ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2513 ว่า

"เสรีภาพในการเขียน ไม่มีใครว่าใครได้ แล้วก็เขียนเรื่องลามก อนาจาร ลงไปในหนังสือประจําวัน, แพร่หลายทั่วไปหมด ; ย้อมนิสัยเด็กๆ ให้เสียไปโดยไม่รู้สึกตัว, โดยไม่ต้องรู้สึกตัว, เขียนเรื่องอ่านเล่นโดยนามปากกา ที่มีชื่อเสียง นิยมนับถือกันทั้งประเทศ แต่แล้วก็เขียนเรื่องที่ทําให้เด็กมีจิตใจเลวทราม, เสื่อมเสียทางศีลธรรมโดยไม่รู้สึกตัว คุณไปเอาหนังสือพิมพ์มาพิจารณาดูเอาก็แล้วกัน ก็จะมองเห็น...

"ยังมีอะไรอีกมากที่ทําให้เด็กๆ กลายเป็นปีศาจในร่างมนุษย์ คนโตๆ ไม่เป็นไร ไม่กี่ปีก็ตาย แต่ว่าการที่ทําให้เด็กๆ มากลายเป็นอย่างนั้นนั้น มันน่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าเขายังจะอยู่ไปอีกนาน..."

นั่นคือภาพเมืองไทยในปี 2513 เมื่อ 53 ปีก่อน วันนี้ปัญหาเด็กที่เกิดจากปีศาจผู้ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย และรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นความล้มเหลวที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพ ก็คือความล้มเหลวของทั้งสังคม

ทุกคำที่เราพูด ทุกประโยคที่เราด่า ทุกแง่ลบที่เราแสดง เป็นส่วนหนึ่งของ cause - effect ของสังคมรวม

วินทร์ เลียววาริณ
6 ตุลาคม 2566