Sunday, 19 May 2024
วินทร์เลียววาริณ

‘วินทร์’ ชี้ ‘สังคมปัจจุบัน’ กำลังหล่อหลอม ‘เด็ก’ ให้กลายเป็นปีศาจ ‘ความรู้-จริยธรรม’ จึงเป็นธุระของคนทั้งชาติ ที่ต้องคอยช่วยกันปลูกฝัง

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.66) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า…

ข่าวเด็กวัย 14 ก่อเรื่องร้ายสร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคน แม้ว่าเรายังไม่ได้รับรายงานสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นปัญหาทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือปัญหาครอบครัว หรืออะไร เราก็น่าจะฉวยโอกาสนี้สำรวจสถานการณ์เด็กบ้านเราในภาพรวม

หลายปีนี้ผมเจอเรื่องเด็กหลงทางหลายคนที่เป็นลูกหลานของเพื่อน ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวบ้าง ปัญหายาเสพติดบ้าง สร้างความทุกข์มหันต์ให้พ่อแม่ ในฐานะคนที่เคยเลี้ยงลูกวัยนี้ รู้ว่าพฤติกรรมหลงทางของเด็กเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ทุกคน

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นนักเรียนชั้นเลิศ ได้เกรด 4 ทุกวิชา แค่ต้องการให้เรียนวิชาพอมีความรู้ประกอบอาชีพ ไม่สร้างปัญหาแก่ใคร ได้เท่านี้ก็ดีใจแล้ว

แต่การเลี้ยงลูกในยุคนี้ยากขึ้นทุกที ทั้งอิทธิพลจากเพื่อนๆ จากสื่อ โลกโซเชียล จากเกม จากหนัง ไปจนถึงการเมือง

เด็กก็คือเด็ก ฉลาดแค่ไหนก็มีวุฒิภาวะแค่ระดับหนึ่ง แต่มักคิดว่าตนเองรู้จักโลกมากพอแล้ว จึงไม่ฟังใคร

วุฒิภาวะต้องใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตด้วย

เมื่อเกิดปัญหา เรามักชี้นิ้วไปที่ปัจเจกไม่กี่คน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่ความจริงปัญหาของเด็กแต่ละคนที่ทำผิด ก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน จะชี้นิ้วไปที่คนไม่กี่คนในวงแคบๆ ไม่ได้

ดังที่เคยบอกว่า สิ่งมีค่าที่สุดของชาติคือทรัพยากรคน และการสร้างทรัพยากรคนเริ่มที่เด็ก ต้องปลูกฝังความรู้และจริยธรรมควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้เด็กที่มีคุณภาพและวุฒิภาวะที่สูงพอ เป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญหาของสังคม

จะสร้างความรู้และจริยธรรมได้ เป็นธุระของทุกคนและทุกระบบในประเทศ

แต่ภาพในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม หลายปีนี้เราได้ยินข่าวเด็กถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอ บางคนบางฝ่ายสามารถล้างสมองเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างเลือดเย็น 

ปัญหาของเด็กคนหนึ่งจึงมักเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ประกอบด้วยปัญหาอื่นๆ ของคนอื่นๆ คนจำนวนมากไม่ได้อยู่บนยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งนั้น อาจไม่ใช่ปัญหาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะทุกอย่างในสังคมดำเนินไปแบบ cause - effect 

cause #1 สร้าง effect #1, effect #1 สร้าง cause #2, cause #2 สร้าง effect #3... ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ใครคนหนึ่งคอมเมนต์ด่าคนอื่น มันจะกลายเป็น cause ที่สร้าง effect ใหม่ จากคนต่อคน จนถึงจุดหนึ่ง effect ก็ไปถึงเด็กที่ยังมีปัญญาและวุฒิภาวะไม่สูงพอ เด็กคนนั้นก็อาจหลงเชื่อว่าตนเองเป็นทางแก้ปัญหา ทั้งที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และก่อปัญหาสังคมได้โดยที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตนเองกำลังช่วยสังคม

ดังนั้นปัญหาสังคมจากเด็กก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งผู้ใหญ่ที่เจตนาปั่นหัวเด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ไม่แย้งผู้ใหญ่คนนั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์หัวข้อเรื่อง “ยิ่งจะทำให้ดี, โลกมันยิ่งบ้า” ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2513 ว่า

"เสรีภาพในการเขียน ไม่มีใครว่าใครได้ แล้วก็เขียนเรื่องลามก อนาจาร ลงไปในหนังสือประจําวัน, แพร่หลายทั่วไปหมด ; ย้อมนิสัยเด็กๆ ให้เสียไปโดยไม่รู้สึกตัว, โดยไม่ต้องรู้สึกตัว, เขียนเรื่องอ่านเล่นโดยนามปากกา ที่มีชื่อเสียง นิยมนับถือกันทั้งประเทศ แต่แล้วก็เขียนเรื่องที่ทําให้เด็กมีจิตใจเลวทราม, เสื่อมเสียทางศีลธรรมโดยไม่รู้สึกตัว คุณไปเอาหนังสือพิมพ์มาพิจารณาดูเอาก็แล้วกัน ก็จะมองเห็น...

"ยังมีอะไรอีกมากที่ทําให้เด็กๆ กลายเป็นปีศาจในร่างมนุษย์ คนโตๆ ไม่เป็นไร ไม่กี่ปีก็ตาย แต่ว่าการที่ทําให้เด็กๆ มากลายเป็นอย่างนั้นนั้น มันน่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าเขายังจะอยู่ไปอีกนาน..."

นั่นคือภาพเมืองไทยในปี 2513 เมื่อ 53 ปีก่อน วันนี้ปัญหาเด็กที่เกิดจากปีศาจผู้ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย และรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นความล้มเหลวที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพ ก็คือความล้มเหลวของทั้งสังคม

ทุกคำที่เราพูด ทุกประโยคที่เราด่า ทุกแง่ลบที่เราแสดง เป็นส่วนหนึ่งของ cause - effect ของสังคมรวม

วินทร์ เลียววาริณ
6 ตุลาคม 2566

'ศิลปินแห่งชาติ' เผยหนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด ที่รุ่นใหม่ไม่เคยเห็น เงาร่างหนึ่งที่ตามรอยเสด็จในหลวง ร.9 ไปทรงงานเพื่อแผ่นดินตลอดชีวิต

(14 ก.พ.67) นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าตลอดเวลาเจ็ดสิบปีแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงย่างพระบาทไปทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ ทุกชนบท ทุกถิ่นทุรกันดาร ไม่มีจุดใดที่ทรงไปไม่ถึง ดูแลทุกข์สุขของราษฎร

บ่อยครั้งเงาร่างหนึ่งตามรอยเสด็จไปด้วย คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือที่คนรุ่นผมเรียกติดปากว่า 'พระเทพฯ' เสด็จฯ ตามไปด้วยเสมอ แม้ว่าทรงต้องศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์ ทรงศึกษาสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ก็ยังทรงเดินตามรอยพระบาทเสมอมา

ตลอดชีวิต ทรงทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยเสมอมา

นั่นคือภาพที่คนไทยรุ่นผมจดจำได้

หนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด

ผมโชคดีมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเทพฯ หลายครั้ง แทบทุกครั้งคือการรับรางวัลวรรณกรรม ตั้งแต่รวมเรื่องสั้นรางวัลชมเชย เรื่องสั้นรางวัลดีเด่น ไปจนถึงตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนในงานหนังสือทุกปี จึงรับรู้แจ่มแจ้งว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องศิลปะ วรรณกรรมอย่างยิ่ง ทรงแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีน เสด็จไปเมืองจีนนับครั้งไม่ถ้วน ทรงอักษรจีน เป็นบุคคลที่ชาวจีนรักอย่างยิ่ง

นี่ก็คือ soft power ของจริง ทรงเป็นทูตวัฒนธรรมจากไทย นำเสนอวัฒนธรรมของเราไปนานาชาติ นานหลายสิบปีก่อนคำนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ตลอดชีวิต ทรงแต่งานเพื่อแผ่นดิน ด้วยโครงการนับไม่ถ้วน ทั้งหมดเพื่อคนไทย ทั้งมวลเพื่อแผ่นดินไทย

ทรงเป็นหัวใจของคนทั้งชาติ

ดังนั้นคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นภาพนั้น ไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ จึงอาจมิรับรู้ว่าพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระราชวงศ์ เป็นของจริง มิใช่ภาพลวงตา อาจไม่รู้ว่าเมืองไทยรอดมาถึงวันนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ควรกระทำคือ ศึกษาให้รู้ก่อนเชื่ออะไร และที่สำคัญที่สุดคือรู้จักกตัญญูรู้คุณ ต่อผู้ที่มีพระคุณต่อแผ่นดิน

เพราะปราศจากความรู้จริง เดินมุ่งไปข้างหน้าก็อาจเดินถอยหลัง ปราศจากความกตัญญูรู้คุณ อุดมคติสูงส่งแค่ไหนก็ไร้ค่า

'ศิลปินแห่งชาติ' เผยหนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด ที่รุ่นใหม่ไม่เคยเห็น

‘นักเขียนรางวัลซีไรต์’ แนะ ‘เศรษฐา’ แค่เก็บกวาดเรื่องลบ ททท.ก็ผงาดแล้ว ยัน!! เสน่ห์เมืองไทยล้นเหลือ ไม่จำเป็นต้องพึ่ง Taylor Swift มาไทย

(2 มี.ค. 67) นายวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีการรุมชิงตัว นักร้องดัง Taylor Swift ไปแสดง เพื่อดึงนักท่องเที่ยว โดยได้ระบุว่า ...

สองสามวันนี้มีข่าวสองประเทศรุมด่าสิงคโปร์ที่ชิงตัว Taylor Swift ไปแสดงที่นั่นได้สำเร็จ

ข้อกล่าวหาคือสิงคโปร์จ่าย 'ค่าใต้โต๊ะ' จำนวน S$24 ล้าน (638,400,000 บาท) เพื่อให้นางสาวเทย์เลอร์แสดงเฉพาะที่สิงคโปร์ ไม่ให้ไปประเทศเอเชียอาคเนย์อื่นๆ 

รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมสิงคโปร์ปฏิเสธข่าวนี้ บอกว่าจ่ายจริง แต่ไม่มากขนาดนี้

ข่าว BBC วันนี้รายงานว่า นายกฯ ไทย 'ตวาด' (สื่อใช้คำว่า outburst) ใส่สิงคโปร์ว่า จ่ายเงินคนจัดงานคืนละ 2-3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพราะไทยต้องการให้นางสาวเทย์เลอร์ไปแสดงที่นี่มานานแล้ว

สส. ฟิลิปปินส์คนหนึ่งก็ฟาดต่อว่า "นี่มิใช่สิ่งที่เพื่อนบ้านที่ดีกระทำต่อกัน" เพราะฟิลิปปินส์ก็ต้องการให้นางสาวเทย์เลอร์ไปแสดงที่นั่นเช่นกัน แล้วเรียกร้องให้รัฐบาลส่งสารประท้วงอย่างเป็นทางการ

ในมุมมองของผม ทั้งนายกฯ ไทย และ สส. ฟิลิปปินส์มีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทั้งคู่

เมื่อแพ้ก็ถอดบทเรียน แต่ไม่ประณามใคร ไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งตอกย้ำว่าเราต่างหากที่ไม่ทันเกม

นี่คือธุรกิจประมูล ใครเสนอค่าตอบแทนสูงกว่า ก็ชนะประมูล และ exclusive deal เป็นเรื่องปกติธรรมดาในวงการธุรกิจ

สิงคโปร์มองทุกอย่างเป็นตัวเลข เมื่อเห็นว่าคุ้มก็ลงทุน ถ้าต้องจ่ายค่าใต้โต๊ะ S$24 ล้านจริง ก็จะเอาคืนร้อยเท่าพันเท่า 

ตอนนี้ค่าตั๋วไปดูนางสาวเทย์เลอร์คือ S$1,200 ค่าโรงแรมพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิม อยากดูก็ต้องจ่าย

ส่วนโรงแรม Marina Bay Sands มีแพ็กเกจดูคอนเสิร์ตนางสาวเทย์เลอร์ กับพักสามคืน เป็นเงินแค่ S$50,000 (เท่ากับ 1,330,000 บาท ใช่ พิมพ์ไม่ผิด เกินหนึ่งล้านบาท)

ถ้าไทยเราอยากได้นางสาวเทย์เลอร์จริงๆ แค่เจียดงบประมาณสาดน้ำสงกรานต์กับ soft power ก็ชนะสิงคโปร์แล้ว

แต่คำถามคือ เราต้องการ Taylor Swift จริงๆ หรือ?

นางสาวเทย์เลอร์ช่วยอะไรเราได้ ถ้าแค่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเพิ่ม เราอาจต้องทบทวนบางเรื่องใหม่

เราไม่ได้ขาดแคลนนักท่องเที่ยว อาทิตย์ก่อน นายกฯไปสนามบินและ 'outburst' ตม.ว่าทำงานช้า ปล่อยให้คิวนักท่องเที่ยวยาวมาก

อยากเชิญนายกฯ ไปเดินดูถนนสุขุมวิทใจกลางเมืองนี่เองว่า ทางเท้าสกปรกเพียงไร ไม่ได้ล้างมาสิบกว่าปีได้แล้ว และทุกคืนฝรั่งก็เยี่ยวรดริมทางเท้านั่นเอง กลิ่นอยู่ถึงเช้าตอนที่พระออกมาบิณฑบาตพอดี

ยังไม่ต้องพูดถึงการขายเซ็กซ์ทอยริมทางเท้าอย่างโจ๋งครึ่ม นักท่องเที่ยวบางคนเขียนจดหมายไปต่อว่าในบางกอกโพสต์ว่า เขาพาลูกยังเด็กมาเที่ยวเมืองไทย เห็นขายเซ็กซ์ทอยแบบโจ่งแจ้งอย่างนี้ ไม่รู้จะบอกลูกยังไง

ส่วนแท็กซี่ก็ยังคงตีหัวนักท่องเที่ยว จอดเต็มทุกซอยที่มีนักท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้จอดริมถนนใหญ่ได้แล้ว

เหล่านี้เป็นเรื่องที่สมควร 'outburst' ทั้งสิ้น เป็นขยะที่ควรเก็บก่อนต้อนรับแขกเมือง

แค่จัดการบ้านเมืองให้ดี นักท่องเที่ยวก็มาเองและมาซ้ำ โดยไม่ต้องพึ่งนางสาวคนไหน

บางทีเราไม่ได้ต้องการ Taylor Swift มาเมืองไทย เราต้องการคนเก็บขยะมากกว่า

วินทร์ เลียววาริณ

'นักเขียนซีไรต์' แชร์ประสบการณ์ความหนาวเข้ากระดูกในนิวยอร์ก ชวนให้นึกถึงเมษายนเมืองไทย เจอร้อนจัดๆ คงดีเหลือประมาณ

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.67) นายวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

วันนี้ออกไปทำธุระนอกบ้านหลายชั่วโมง ตั้งแต่ก่อนเที่ยงจนบ่าย รับพลังงานแสงอาทิตย์มาหลายกิโลวัตต์ มองดูตัวเอง คล้าย ๆ เนื้อแดดเดียว ถ้ามีข้าวเหนียวด้วยก็ลงตัว

ผมไม่ได้ฟังพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงไม่รู้ว่าเราผ่านจุดร้อนสุดมาแล้วยัง แต่ไอร้อนตอนนี้มันคล้ายอยู่บนดาวซานถี่ ตอนดวงอาทิตย์ขึ้นสามดวงพร้อมกัน

คนไทยที่เจอไอร้อนระดับนี้อาจบ่นอู้ แต่หากเคยผ่านความหนาวของเมืองนอกระดับติดลบ และฮีตเตอร์ไม่ทำงาน จะต้องเปลี่ยนความคิด เห็นว่าร้อนดีกว่า

สมัยผมเรียนและทำงานที่นิวยอร์ก ผมเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่กับเพื่อนคนไทยและฝรั่งอีกคน เจ้าของตึกเป็นยิว และประพฤติตนเหมือนตัวละครไชล็อกที่เราเรียนในเรื่อง เวนิสวาณิช ทุกประการ 

ยิวแสบคนนี้ปิดฮีตเตอร์ตึกเป็นประจำ โดยเฉพาะตอนที่ทุกคนนอนหลับไปแล้ว เรื่องนี้ผิดกฎหมาย แต่ไชล็อกโนสนโนแคร์ เพราะรู้ว่ารายงานไป ทางการนิวยอร์กก็ไม่ทำอะไร เพราะแต่ละวันมีคนหลายร้อยหลายพันคนโดนแบบนี้

ในเมืองร้อน หากเราไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ มันก็ร้อนเท่านั้น แต่ในเมืองหนาว ตึกที่ไม่เปิดฮีตเตอร์ก็คือ การอยู่ในช่องฟรีซเซอร์ตู้เย็น เราต้องสวมเสื้อกันหนาวเต็มยศนอน คล้ายพวกปีนเขาเอเวอเรสต์ มันหนาวเข้าในกระดูก หนาวจนป่วย

ตอนหนาวจัด ๆ แต่ทำอะไรไม่ได้นั้นเอง ผมนึกถึงเดือนเมษายนในเมืองไทย ผมจินตนาการว่าถ้าได้อยู่ในเมืองไทยตอนร้อนจัด ๆ คงดีเหลือประมาณ

ดังนั้นทุกครั้งที่เจออากาศร้อนจัดในเมืองไทย ผมมักนึกถึงคืนที่สวมชุดกันหนาวนอนบนเตียงตัวเอง ในอพาร์ตเมนต์ของไอ้เวรไชล็อก

แล้วความร้อนในเมืองไทยก็คือสวรรค์ดี ๆ นี่เอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top