‘จีน’ ฉุน!! ‘รมว.ตปท.เยอรมนี’ เรียก ‘สี จิ้นผิง’ ว่า “จอมเผด็จการ” ชี้ เป็นความคิดที่ไร้สาระ-ละเมิดศักดิ์ศรี-ยั่วยุทางการเมืองชัดเจน

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ‘จีน’ ตำหนิ ‘อันนาเลนา แบร์บ็อค’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีอย่างดุเดือด หลังเรียกประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ เป็น ‘เผด็จการ’ โดยตราหน้าความคิดเห็นดังกล่าวว่าเป็น ‘การยั่วยุทางการเมืองอย่างเปิดเผย’ ที่ไร้สาระเป็นอย่างยิ่ง

ปักกิ่งคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี แต่เยอรมนีเผยแพร่นโยบายใหม่ในเดือนกรกฎาคม ลดพึ่งพาและหันมาประชันขันแข่งกับจีนแน่วแน่กว่าเดิม หลังจากใช้เวลาถกเถียงกันภายในรัฐบาลมานานหลายปีเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ที่จะใช้กับจีน

แบร์บ็อค ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้เยอรมนีใช้แนวทางสายแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกับจีน แสดงความคิดเห็นเรียก สี จิ้นผิง เป็นเผด็จการ ขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟ็อกซ์ นิวส์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ

ในระหว่างให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสงครามยูเครน เธอบอกว่า “หากปูตินชนะในสงครามนี้ มันจะเป็นสัญญาณสำหรับพวกเผด็จการคนอื่นๆ ในโลกใบนี้ อย่างเช่น สี จิ้นผิง อย่างเช่นประธานาธิบดีจีน หรือไม่? ดังนั้น เพราะฉะนั้น ยูเครนจำเป็นต้องชนะในสงครามนี้”

จีนเคลื่อนไหวตอบโต้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา บอกว่าพวกเขานั้น “ไม่พอใจอย่างมาก” และได้แสดงออกอย่างจริงจังไปถึงฝ่ายเยอรมนีผ่านช่องทางทางการทูตต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

“ความคิดเห็นนี้ไร้สาระเป็นอย่างยิ่ง และล่วงละเมิดศักดิ์ศรีทางการเมืองของจีนอย่างร้ายแรง และเป็นการยั่วยุทางการเมืองอย่างเปิดเผย” เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวระหว่างแถลงสรุปประจำวัน

คณะรัฐมนตรีเยอรมนีให้การอนุมัติแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน ซึ่งเป็นเอกสารความยาว 64 หน้า เมื่อเดือน ก.ค. โดยเน้นย้ำในแผนยุทธศาสตร์ว่า ต้องการรักษาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับจีนต่อไป แต่ขณะเดียวกัน ต้องการลดการพึ่งพาจีนในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้หลากหลายขึ้น เพื่อเป้าหมายคือการลดความเสี่ยง มิใช่การตัดขาดจากห่วงโซ่เศรษฐกิจของจีนเสียทีเดียว

นโยบายใหม่เกี่ยวกับจีนของเยอรมนี เป็นการรักษาสมดุลระหว่าง 2 จุดยืนที่แตกต่างกันภายในรัฐบาลผสม โดยเรียกปักกิ่งเป็นทั้ง “คู่หู คู่แข่งขัน และคู่ปรับในเชิงระบบ”

แบร์บ็อค จากพรรคกรีนส์ ผลักดันให้ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับจีน และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ส่วน ‘โอลาฟ โชลซ์’ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จากพรรคโซเชียล เดโมแครต สนับสนุนให้ใช้ท่าทีที่เป็นมิตรทางการค้ามากกว่า