‘รฟม.’ ปลดล็อก ‘สายสีส้ม’ เดินหน้าคืนประโยชน์ให้ ปชช. หลังศาลฯ ยกฟ้องปมจัดประมูล ชี้!! ดำเนินการโดยชอบตาม กม.

(18 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ชี้ดำเนินการชอบโดยกฎหมาย

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 2 ปีเศษ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแผนการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)’ ไปพร้อมๆ ด้วย เนื่องจากรฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถทั้งเส้นทางถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุนที่จะมาก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก

ทั้งนี้ รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้าว่า ประเทศอาจจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี ประกอบด้วย

1.) ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี
2.) ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี
3.) ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันออก ดำเนินการก่อสร้างงานงานโยธาแล้วเสร็จ 100% เหลือแต่เพียงการทดลองวิ่งและการประกาศเปิดใช้ที่ รฟม. จะประกาศในอนาคตนี้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก หากไม่มีเอกชนรายใดยื่นคัดค้านคำพิพากษา เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก รฟม. จะเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บีทีเอสซีเสียหาย

โดยศาลให้เหตุผลว่า จากการพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐฯ และเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด

นอกจากนั้น มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.มีประกาศดังกล่าวนั้น หรือมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบีทีเอส ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.ที่เกี่ยวข้องเพื่อออกประกาศเชิญชวนที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงพิพากษายกฟ้อง

โดยสามารถอ่านรายละเอียดคำวินิจฉัยคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับเต็ม ที่แนบมาพร้อมได้ที่นี่ https://bit.ly/3Ke0jEf


ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4135066