Friday, 3 May 2024
รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดร.สามารถ ไขปริศนาปมประมูล ‘สายสีส้ม’ ชี้ ผลปรับแก้ทีโออาร์ ช่วย 'ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี' โผล่ชิง

(4 ส.ค. 2565) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไขปริศนา ! "ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี" แหวกม่านชิง “สายสีส้ม” เป็นปริศนาที่หลายคนค้างคาใจว่า เหตุใดผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลีจึงสามารถจับมือกับผู้รับเหมาไทยเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ได้ ทั้ง ๆ ที่ในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูก รฟม. ยกเลิกไป (ต่อมาศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าเป็นการยกเลิกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ผู้เดินรถไฟฟ้าต่างชาติเข้าไม่ได้เลย หาคำตอบได้จากบทความนี้

ผู้เดินรถไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้ยื่นประมูล เนื่องจากจะต้องให้บริการการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทางจากบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นระยะเวลาถึง 30 ปี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าไว้ดังนี้

1. การประมูลครั้งที่ 1 ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?
ในการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. ให้ความสำคัญต่อผู้เดินรถไฟฟ้าไว้อย่างมาก โดยได้กำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

1.1 ประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง
(1) จะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันหลายสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท

(2) ผลงานดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยประสบการณ์ทางด้านระบบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ระบบ ได้แก่ ระบบขบวนรถไฟฟ้า (Heavy Rail) ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

1.2 ประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า

(1) จะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ ที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) “ในประเทศไทย” โดยมีหนังสือรับรองจากเจ้าของโครงการเป็นลายลักษณ์อักษร

(2) ในกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล ผู้นำกลุ่มจะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) และซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าของตนเอง

2. การประมูลครั้งที่ 2 คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าถูกปรับแก้เป็นอย่างไร ?
การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้า โดยได้ตัดประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งออกไป คงเหลือเฉพาะประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าเท่านั้น ดังนี้

(1) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ ที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail)

(2) ผลงานดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยประสบการณ์ทางด้านระบบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ระบบ ได้แก่ ระบบขบวนรถไฟฟ้า (Heavy Rail) ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

(3) ในกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล ผู้นำกลุ่มจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา หรือประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ของตนเอง

3. ข้อสังเกตในการปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลครั้งที่ 2

การปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลครั้งที่ 2 ผมมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

(1) รฟม. ตัดประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ โดยมีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันหลายสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ออกไป “จึงชวนให้น่าสงสัยว่า Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีที่ร่วมยื่นประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในการประมูลครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มี และ รฟม. ไม่ตัดประสบการณ์นี้ออก ITC ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้”

(2) รฟม. ตัดประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้า “ในประเทศไทย” ออก ถ้าไม่ตัดออก ITC จากเกาหลีก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

(3) กรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล รฟม. เพิ่มโอกาสให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มได้ด้วย ทำให้ ITD ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มยื่นประมูลร่วมกับ ITC ได้ หาก รฟม. ไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่ม ผู้เดินรถไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเช่นเดียวกับการประมูลครั้งที่ 1 แต่ผู้เดินรถไฟฟ้าอย่างเช่น ITC จากเกาหลีคงคิดหนักที่จะรับเป็นผู้นำกลุ่ม เนื่องจากเขาจะต้องถือหุ้นในกลุ่มนิติบุคคลมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%

‘ส.ส.ก้าวไกล’ ชี้!! รฟม.กีดกัน BTS ร่วมประมูลสายสีส้ม ยัน!! ส่วนต่าง 68,000 ล้านบาทมีจริง แต่ไม่รู้เข้ากระเป๋าใคร

(29 ต.ค. 65) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาตอบโต้ รฟม. ที่ชี้แจงว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘โปร่งใส-ตรวจสอบได้’ และบอกว่าส่วนต่าง 68,000 ล้านบาทไม่มีจริง 
โดยสุรเชษฐ์กล่าวว่าคำชี้แจงของ รฟม. ฟังไม่ขึ้น เพราะ รฟม. ไม่เปิดให้ BTS เข้ามาแข่งขันประมูล ทำให้ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายแพงกว่าความเป็นจริง เป็นความจริงนอกสำนวนที่เกิดจากการเล่นตุกติกกีดกัน BTS

สุรเชษฐ์กล่าวว่า หาก รฟม. ‘โปร่งใส-ตรวจสอบได้’ จริง เหตุใดจึงเบี้ยว! ไม่กล้ามาตอบคำถามซึ่ง ๆ หน้า ต่อหน้าคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งได้มีการเรียกมาชี้แจงถึง 2 ครั้ง แต่รฟม. เลือกที่ตอบแบบเลี่ยงคำถาม โดยชี้แแจงแบบต่างคนต่างพูดผ่านสื่อ ควรกล้าเผชิญหน้ากับตัวแทนของประชาชนและคู่กรณี (BTS) ให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ‘ใครแถ’

‘ก้าวไกล’ ยื่น ‘ศาลปกครอง’ เบรกดีลสายสีส้ม เหตุกลัวรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้านบาท

ก้าวไกลเอาจริง ยื่นศาลปกครองหยุดดีลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รักษาผลประโยชน์รัฐ 68,000 ล้านบาท ชี้ ถ้าปล่อยให้การประมูลผ่านอาจกลายเป็นค่าโง่ในอนาคต

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิจารณาหยุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม

สุรเชษฐ์ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็นทุจริตครั้งใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ที่มีมูลค่าจำนวน 68,000 ล้านบาท ตนและพรรคก้าวไกลขอยื่นให้ศาลปกครองหยุดยั่งโครงการนี้ หากปล่อยให้มีการอนุมัติประเทศไทยต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าตัวเลข 68,000 ล้านบาท เกิดจากกระบวนการ ‘ปั้นตัวเลข’ มา ‘ปั่นโครงการ’ และในวันนี้ใกล้จะ ‘ปันผลประโยชน์’ สำเร็จแล้ว

หากศาลปกครองไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เรื่องนี้จะถูกส่งไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แน่นอนว่าเมื่อไปถึงครม. ซึ่งจะทำให้เงินภาษีของประชนถูกใช้เกินจำเป็น 68,000 ล้านบาท

ตนและพรรคก้าวไกล ยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงได้มายื่นฟ้องจำเลย ได้แก่
1.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
2.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
3.) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ
4.) กระทรวงคมนาคม

เพื่อให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคำขอใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.) ยกเลิกการประมูลที่มีปัญหาจัดการประมูลใหม่ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยอย่างน้อย BTS และ BEM ต้องเข้าได้
2.) รฟม. ต้องเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ โดยไม่ปฏิเสธอำนาจนิติบัญญัติอย่างที่ได้เบี้ยวมา 2 ครั้ง
3.) เปลี่ยนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้มีความโปร่งใส เนื่องจากเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ มูลค่าสูง และมีรายละเอียดมาก
4.) คาดว่าศาลคงต้องใช้เวลาพิจารณามากพอสมควร เราจึงได้ ‘ยื่นคำร้อง’ ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา และขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เซ็นสัญญาก่อน เพราะหากปล่อยไป รัฐบาลหน้าจะตามไปแก้ไขอะไรได้ยากและอาจทำให้เกิด ‘ค่าโง่ก้อนใหม่’

'สุรเชษฐ์' โอด!! 'สภาปัดถก-ปิดประตูคำตอบ' กรณีส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 68,613 ล้านบาท

‘สุรเชษฐ์’ ผิดหวัง ไม่ได้คำตอบกรณีส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 68,613 ล้านบาท เตรียมส่งจดหมายถามครม.

(1 ธ.ค. 65) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าตนได้ติดตามกรณี แถลงข่าวความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้มมาโดยตลอด หลังพบความผิดปกติทั้งการฮั้วประมูล เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลอย่างมีผลต่อการแพ้ชนะ ซึ่งความผิดปกตินี้จะทำให้รัฐเสียหายสูงถึง 68,613 ล้านบาท และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สุรเชษฐ์ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอตรวจสอบความผิดปกติดังกล่าว แต่ก็ล่มไปด้วยการโหวตของคว่ำของส.ส.ฝั่งรัฐบาล

สุรเชษฐ์ ยอมรับว่า ตนผิดหวังที่สภาปัดตกไม่ให้มีการพูดคุยถึงกรณีส่วนต่างดังกล่าว สุรเชษฐ์ ยังย้ำอีกว่า พรรคก้าวไกลและตนได้ยื่นหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าจะมีความเสียหาย 68,000 ล้านบาท 

สุรเชษฐ์ ยังกล่าวย้ำว่า ตนจะส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีรายบุคคลว่า ควรอ่านรายละเอียดของกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือต่อให้ไม่ว่างจริงๆ ก็ควรที่จะให้ทีมงานช่วยอ่านให้ฟัง เพราะกรณีนี้สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างมาก และก็ได้มาแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน ว่าจะมอบหนังสือเพื่อตรวจสอบกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีเนื้อหา ทั้งหมด 7 ประเด็น ที่ทำให้คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องออกมาชี้แจงด้วยตนเอง ดังนี้...

ประเด็นที่ 1 การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศที่มีนัยสำคัญต่อการแพ้ชนะต่อการประมูล 

ประเด็นที่ 2 การยกเลิกการประมูลครั้งก่อนเมื่อ 2563 ที่ศาลปกครองระบุแล้วว่า เป็นการยกเลิกมิชอบด้วยกฎหมาย

‘ก้าวไกล’ สวน!! 'โสภณ' ปั้นภาพสวยให้สายสีส้ม เอาความเห็นส่วนตัวมาพูดโดยไม่ยึดมติที่ประชุม

(16 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม พร้อมด้วย ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะ กมธ.การคมนาคม แถลงข่าวตอบโต้กรณี โสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ.การคมนาคม และ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา รองประธาน กมธ.การคมนาคม ออกมาแถลงข่าวเชิงฟอกขาวให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กมธ.การคมนาคม ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื้อหาที่แถลงเป็นความเห็นส่วนตัวของประธาน กมธ. ซึ่งมาจากพรรคภูมิใจไทยที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้เป็นมติที่ประชุม จึงไม่สามารถแถลงในนาม กมธ. ได้ ตนและทวีจึงต้องออกมาแถลงในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้นำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าที่ประชุม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่เข้ามาชี้แจงตามนัด ตนจึงกดดันประธาน กมธ. ว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องใช้อำนาจตรวจสอบทางการเมือง ไม่ใช่บอกว่าเมื่อโครงการอยู่กับฝ่ายตุลาการแล้ว จะแตะต้องไม่ได้เลย ในกรณีนี้ ทั้งสองอำนาจสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้ ตนยืนยันว่า กมธ.ของสภาผู้แทนฯ สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่ต้องมีความโปร่งใส

“มติจริง ๆ ของ กมธ.การคมนาคม เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม 2565) คือ ขอเอกสารประกอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบคำถาม ไม่ได้ฟอกใสตามที่ประธาน กมธ.การคมนาคมแถลง ทั้งประเด็นส่วนต่างราคาและการกีดกันการเสนอราคา นอกจากนี้ จากการตรวจสอบกับคนอื่นๆ รวมทั้งนิกร พบว่าไม่มีใครใน กมธ.การคมนาคมบอกว่าเป็นมติที่ประชุมอย่างที่ประธาน กมธ.การคมนาคมแถลงข่าวไป เพราะเรื่องนี้ต้องมีการประชุมกันอีก” สุรเชษฐ์กล่าว

BEM แจงปม รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไร้ทุจริต ยัน!! เข้าร่วมประมูลถูกต้องตามกฎหมาย

(26 ก.พ.66) จากกรณีมีการให้ข้อมูลปรากฏเป็นข่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่อว่ามีการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) นั้น บริษัทขอชี้แจงว่า BEM เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจโดยสุจริต โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

และในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ชนะการคัดเลือกและอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

‘ก้าวไกล’ เชื่อ รบ. ดันสายสีส้มเข้า ครม. 14 มี.ค. ชี้ เป็นช่วงจังหวะเหมาะลักไก่ ทิ้งทวนก่อนยุบสภา

‘ก้าวไกล’ อ่านเกม รัฐบาลเตรียมดันสายสีส้มผ่าน ครม. ทิ้งทวน 14 มี.ค. ก่อนยุบสภา หนุนประชาชนทุกคนช่วยกันสนใจเพราะเป็นเรื่องใหญ่จริง

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีการทุจริตตั้งเกณฑ์การประมูลกีดกันคู่แข่งประเคนรถไฟฟ้าสายสีส้มให้เอกชนรายเดียว โดยสุรเชษฐ์ กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ และประชาชนทุกคนสนใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่จริง เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรถไฟฟ้าสายสำคัญที่พาดยาวตั้งแต่กรุงเทพฝั่งตะวันออกถึงตะวันตก มีเดิมพันเป็นผลประโยชน์ที่เป็นส่วนต่างอย่างน้อย 68,613 ล้านบาท

เหตุใดถนนสายบันเทิง อย่าง ‘RCA’ ถึงเป็นทางโค้ง? พร้อมเตรียมประมูลใหม่ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีส้มในอนาคต

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของ ‘โค้ง RCA’ ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยทราบมาเล่าให้ฟังกัน

เคยสงสัยกันหรือไม่? ว่าเพราะเหตุใด ‘ถนน RCA’ ถึงเป็นโค้งเชื่อมไปที่ทางรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีรถไฟคลองตัน

แล้วทราบหรือไม่? ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เคยมีโครงการรถไฟเลี่ยงกรุงเทพชั้นใน (บางซื่อ-คลองตัน) เพื่อรับและเชื่อมโยงรถไฟสายตะวันออก กับ เหนือ-ใต้ โดยไม่ผ่านสามเหลี่ยมจิตรลดา ซึ่งพื้นที่ RCA ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนั้น แต่ยิ่งกว่านั้น ถนนรัชดาภิเษก ช่วง ต่างระดับรัชวิภา-ศูนย์วัฒนธรรม และ ถนนศูนย์วัฒนธรรม ก็เป็นเขตพื้นที่ทางรถไฟ คลายข้อสงสัยกับหลายๆ คนว่าทำไม การรถไฟฯ ถึงมีที่ดินให้เช่าอยู่บนถนนรัชดา-RCA

แม้ตอนนี้อาจจะไม่ได้เห็นการพัฒนาทางรถไฟในเส้นทางนี้แล้ว แต่เส้นทางนี้ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อการพัฒนา มาเป็นแหล่งรายได้ในการสนับสนุนการรถไฟฯ ในอนาคต ซึ่งที่ดินแปลง RCA นี้กำลังจะหมดสัญญา และจะถูกเปิดประมูลใหม่ ภายใต้การดูแลของ ‘SRTAsset’ (บริษัทบริหารสินทรัพย์ การรถไฟฯ) โดยจะมีการยกระดับการพัฒนาจากการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งอยู่ต้นทาง RCA ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

แยกลำสาลี’ พลิกโฉมใหม่ รถไฟฟ้า 2 สายมาบรรจบกัน อนาคตเตรียมสร้าง ‘สกายวอล์ค’ พร้อมสวนลอยฟ้า

เฟซบุ๊ก Bangkok Sightseeing ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ที่แยกลำสาลี โดยมีใจความว่า ...

ใครเลยจะคิดว่าแยกลำสาลี ที่หลายๆคนตั้งฉายาว่า "แยกลำสาหัส" จะพลิกโฉมไปได้ขนาดนี้ในวันที่มีรถไฟฟ้า 2 สายมาบรรจบกัน ด้านล่างลึกลงไปใต้ดิน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านบนคือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และอนาคตกำลังมีการก่อสร้างทางเดินหรือสกายวอล์คสวยๆพร้อมสวนลอยฟ้าเชื่อมไปถึงแยกบางกะปิและหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ สายไฟสายสื่อสารก็กำลังจะถูกนำลงใต้ดิน สังเกตุจากตู้ไฟที่ตั้งเรียงรายริมทางเท้าและเกาะกลางถนน นี่มันคือสวรรค์ของคนย่านนี้ชัด ๆ.

‘รฟม.’ ปลดล็อก ‘สายสีส้ม’ เดินหน้าคืนประโยชน์ให้ ปชช. หลังศาลฯ ยกฟ้องปมจัดประมูล ชี้!! ดำเนินการโดยชอบตาม กม.

(18 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ชี้ดำเนินการชอบโดยกฎหมาย

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 2 ปีเศษ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแผนการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)’ ไปพร้อมๆ ด้วย เนื่องจากรฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถทั้งเส้นทางถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุนที่จะมาก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก

ทั้งนี้ รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้าว่า ประเทศอาจจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี ประกอบด้วย

1.) ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี
2.) ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี
3.) ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันออก ดำเนินการก่อสร้างงานงานโยธาแล้วเสร็จ 100% เหลือแต่เพียงการทดลองวิ่งและการประกาศเปิดใช้ที่ รฟม. จะประกาศในอนาคตนี้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก หากไม่มีเอกชนรายใดยื่นคัดค้านคำพิพากษา เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก รฟม. จะเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บีทีเอสซีเสียหาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top