'อัษฎางค์' เบิกเนตร 'วิโรจน์' หลังพ่นวาทกรรม 'พิสูจน์ความจน' แสดงถึงการด้อยความรู้ เก่งแต่สร้างความเกลียดชังให้คนในชาติ

(15 ส.ค. 66) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า Age Pension หรือที่เมืองไทยเรียกว่า ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ นั้นในทุกประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ต้องมีการ Tests ซึ่งก็คือ ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

ถ้าไม่มีการการตรวจสอบคุณสมบัติผู้จะได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ก็จะทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีทรัพย์สินมากอยู่แล้วได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เหมือนคนที่ไม่มีรายได้และไม่มีทรัพย์สมบัติ

ไหนเรียกร้องความเท่าเทียม ตกลงคุณต้องการนำ ‘ภาษีกู’ มาแบ่งจ่ายให้เศรษฐีได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนคนจนหรือ? คุณต้องการแบบนั้นจริงหรือ?

สส.วิโรจน์ พรรคก้าวไกล ออกมาโวยรัฐ ‘เอาหน้า’ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน หรือสร้างความเกลียดชังของประชาชนต่อรัฐ หรือออกมาแสดงการถึงการด้อยความรู้ กันแน่ ?

สส.วิโรจน์ ใช้คำว่า “การพิสูจน์ความจน คือการกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องแต่จะกดคนให้จนและพยายามตัดเบี้ยผู้สูงอายุ”

ผมจะช่วยเปิดกระโหลก เปิดกะลาให้ท่าน สส.ผู้ทรงเกลียด

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสวัสดิการแห่งรัฐดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็กำหนดว่า ผู้ที่เกษียณอายุ ต้อง ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนจะมีสิทธิ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ”

รายละเอียดสำหรับการ ‘การพิสูจน์ความจน’ ของออสเตรเลียนั้นเยอะมาก และต้องใช้เวลาอ่านทำความเข้าใจอย่างมากถึงจะเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ใช่เหมือนเมืองไทยที่ใครอายุ 60 ก็รับเบี้ยผู้สูงอายุทันทีถ้วนหน้า

เงินภาษีของประชาชนต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมิใช่หรือ แล้วทำไมถึงยินดีที่จะจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเป็นเงิน ‘ภาษีกู’ ให้กับเศรษฐี ซึ่งเขาไม่ได้เดือดร้อน

เบี้ยผู้สูงอายุเพียง 600 หรือ 3,000 (ตามนโยบายก้าวไกลที่ออกมาหาเสียงว่าจะให้คนแก่ตอนก่อนเลือกตั้ง จนคนแห่ไปกาให้ก้าวไกล ก่อนที่ก้าวไกลจะมาประกาศหลังเลือกตั้งว่ายังทำไม่ได้) ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุวัยเกษียณ แต่ไม่มีผลอะไรกับเศรษฐีเลย เอาเงินก้อนนี้ไว้จ่ายผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์หรือไม่มีรายได้ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะผู้สูงอายุวัยเกษียณกำลังเพิ่มขึ้นทุกปี

ขอยกตัวอย่าง การพิสูจน์ความจน เพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุในออสเตรเลียเล็กน้อย (ความจริงรายละเอียดเยอะมาก) ได้แก่

ต้องมีรายได้ต่ำจริงหรือไม่มีรายได้เลย

ผู้สูงอายุวัยเกษียณบางท่านยังคงมีรายได้จากทรัพย์สินเช่น การขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) รายได้จากการเล่นหุ้น, เป็นหุ้นส่วนบริษัท หรือบางท่านยังทำงานอยู่แม้จะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม

แรงงานที่ออสเตรเลียไม่ได้เกษียณที่อายุ 60 (รุ่นผมเกษียณด้วยอายุ 67)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยวัยเกิน 60 ที่ยังทำงานมีรายได้สูงมากในออสเตรเลีย แอบกลับมารับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากรัฐบาลไทยด้วย ได้ 2 ต่อ ทั้งที่รายได้สูงอยู่แล้ว คุณอยากได้แบบนี้ใช่มั้ย

หรือคนไทยวัยเกษียณที่อยู่เมืองไทยก็ตาม แต่เขายังคงมีรายได้จากการทำงาน มีรายได้มหาศาลจากการขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) มีรายได้จากการเล่นหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัท แต่เขาได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เท่ากับผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเลย

คุณ สส. คุณทนาย คุณอาจารย์นักวิชาการ คุณนักเรียกร้องสิทธิ์

พวกคุณเรียกสิ่งนี้ว่าความเท่าเทียมกันหรือ?

พวกคุณโจมตีว่า การพิสูจน์ความจนหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เพื่อให้ได้คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่อง ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ว่ารัฐกดขี่คนจน ผู้เฒ่าผู้แก่หรือ

ทั้งที่เป็นการใช้เงินจาก ‘ภาษี’ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นไปตามหลักสากลที่ทั่วโลกเขาทำกัน

เปิดกระโหลกออกจากนอกกะลา กันเสียที

อย่าฟังแต่เสียงโกหก เพื่อหาเสียงของนักการเมืองจอมบิดเบือนเสียทีพี่น้องไทย