‘จอม ไฟเย็น’ แฉ!! ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ถามห่วงเด็กหรือหวังอะไรแน่? ให้ ‘หยก’ คัดทะเบียนบ้าน หวังสวมรอยผู้อุปการะ ทั้งที่คุณสมบัติไม่ถึง

(9 ส.ค. 66) จากกรณีที่ทวิตเตอร์ของ น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ ‘พลอย’ อดีตแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มทะลุวัง’ ออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหวของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ อายุ 26 ปี แกนนำกลุ่มทะลุวัง ที่รับสมอ้างเป็นผู้ปกครอง เพื่อใช้ประโยชน์จากเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความรุนแรง โดยมีเบื้องหลังเพื่อไปขอทุนเคลื่อนไหว แต่เงินทุนกลับส่งไม่ถึงเยาวชนเหล่านั้น

นายนิธิวัต วรรณศิริ หรือ ‘จอม ไฟเย็น’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักร้อง และนักดนตรีวงไฟเย็น ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีสาระสำคัญ คือ ปัญหาความพยายามแย่งสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองของ ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปี มีหลายคนตั้งคำถามว่า “แม่หยกหายไปไหน?” ยืนยันว่าแม่หยกไม่ได้หายไปไหน แค่ถูกคุกคามจากฝ่ายความมั่นคง กลุ่มปกป้องสถาบันฯ และสภาพจิตใจเปราะบางจากการถูกพรากลูกไปจากบ้าน จนต้องเก็บตัวไม่พร้อมออกสื่อหรือพื้นที่สาธารณะใดๆ

โดย ‘จอม ไฟเย็น’ กล่าวว่า แม่หยกเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่ส… วงไฟเย็นรู้จักแม่หยกมาก่อนไม่ต่ำกว่า 2 ปี ทางบ้านหยกครอบครัวพอมีฐานะ ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าห้องพัก มีเชื้อสายตระกูล ณ สงขลา ฐานะครอบครัวไม่เดือดร้อนสามารถส่งลูกเรียนเอกชนตั้งแต่อนุบาล-ประถม และสอบเข้ามัธยมได้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หยกเริ่มสนใจการเมืองจากการชุมนุมปี 2563 แม่หยกก็ไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่หากจะไปร่วมชุมนุม ขอให้มีคนที่แม่รู้จักหรือไว้ใจได้ไปรับ-ไปส่งด้วยเสมอ

หยกถูกคดีมาตรา 112 จากการเขียนชอล์คบนพื้นที่การชุมนุมเสาชิงช้าเมื่อ 13 ต.ค. 2565 จากคำปราศัยสุดท้ายของ นายวัฒน์ วรรลยางกูร ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวหยกเริ่มถูกตำรวจคุกคามหลังจากหยกเริ่มออกไปชุมนุมครั้งแรก ที่งานรำลึกอาลัย วัฒน์ วรรลยางกูร โดยฝ่ายความมั่นคงได้ไปคุกคามหยกถึงที่โรงเรียนและคุกคามครอบครัวที่บ้าน เคยกดดันกึ่งข่มขู่พ่อแม่ว่า ถ้ามีลูกแบบนี้ตนผูกคอตายไปนานแล้ว แม่หยกเป็นคนไล่ตำรวจที่มาส่งหมายเรียกคดี 112 ที่บ้าน ให้กลับไปในครั้งแรกเพราะตำรวจอ่านชื่อมั่ว และครอบครัวหยกยังถูกตำรวจนอกเครื่องแบบตามป้วนเปี้ยนคุกคามที่บ้านเป็นระยะ

วันที่ 28 มี.ค. หยกขออนุญาตแม่ไปเที่ยวสวนสยามกับเพื่อนๆ ตอนเช้า แม่อนุญาตเฝ้ารอลูกกลับบ้านในตอนเย็น แต่ไม่ได้กลับบ้านเพราะถูกตำรวจ สน.พระราชวังจับกุม จากการติดตามไปสังเกตการณ์เหตุพ่นสีกำแพงวังที่ถูกจับขึ้นรถตำรวจไป ตำรวจพยายามยัดคดีพ่นสีกำแพงวังให้หยกแต่ไม่สำเร็จ และอ้างหมายจับคดีแรก ที่ออกมา 1 เดือน ถูกจับกุมอย่างรุนแรงและมีการล่วงละเมิดทางร่างกายจากตำรวจชายชุดจับกุม 8 นาย ยึดอุปกรณ์สื่อสารและเอกสารประจำตัวทั้งหมดไป

แม่หยกทราบข่าวก็ตกใจอย่างมาก เพราะเดิมหยกมีนัดรายงานตัวตามหมายในอีก 12 วัน แม่ได้คุยโทรศัพท์กับหยกภายหลังเมื่อทนายความมาถึง หยกแจ้งแม่ว่าไม่ต้องห่วง ขอร้องไม่ต้องมาประกันตัว เพราะจะใช้แนวทางปฏิเสธอำนาจศาล ซึ่งเป็นโมเดลของนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ที่ได้ศึกษามาอย่างละเอียด หยกจึงประกาศขณะตำรวจอ่านแถลงบันทึกจับกุมว่า ไม่ขอแต่งตั้งทนายความเข้าร่วมกระบวนการ และไม่ยื่นประกันตัวใดๆ หยกได้ขอร้องให้แม่เคารพการต่อสู้กับมาตรา 112 ด้วยตัวเอง ขอให้แม่ไม่ออกมาปรากฎตัวต่อหน้าสื่อใดๆ เพราะเกรงว่าจะถูกฝ่ายความมั่นคงคุกคามอีก แม่หยกก็ยังลังเลแต่เลือกที่จะเคารพและเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ แม้จะเจ็บปวดที่ไม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเหมือนที่ทำมาตลอด 15 ปี

ส่วนเรื่องคดีความ แม่หยกเคยเซ็นมอบอำนาจผู้ปกครองชั่วคราวไว้เพียงครั้งเดียวให้กับ เก็ท โมกหลวงริมน้ำ (นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง) เนื่องจากหยกเคยช่วยงานกลุ่มโมกหลวงมาก่อน แม่พอรู้จักเก็ทจากข่าวการเคลื่อนไหวกิจกรรมมาบ้าง และเก็ทอยู่เป็นเพื่อนหยกตลอดในช่วงวันแรกที่ถูกควบคุมตัว ตลอดช่วงเวลาที่น้องถูกควบคุมตัว แม่ติดตามข่าวสารหยกทุกวันในทุกช่องทาง เป็นธรรมดาของแม่ที่จะเป็นห่วงถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่สบาย ล้มป่วย กระทบกระเทือนสภาพจิตใจ ซึ่งในความเป็นจริง เพียงแม่หยกเซ็นประกันตัว หยกก็กลับบ้านได้ เพราะคดีเกิดตอนอายุ 14 ปี ไม่ผิดอาญาอยู่แล้ว และศาลไม่ค้านประกัน แต่แม่เคารพแนวทางการต่อสู้ของหยก จึงต้องหักห้ามใจไม่ให้เผลอไปเซ็นประกันตัว แล้วทำลายการต่อสู้

ตลอด 51 วันที่หยกถูกคุมขัง แม่หยกโทร.มาระบาย เล่าถึงความหลังมากมายความภาคภูมิใจในตัวลูกและเชิดชูในความกล้าหาญของลูก แม่หยกแค่อยากไปเยี่ยมก็ยังไม่กล้าและทำไม่ได้ เพราะรับปากไว้ว่าจะไม่ไปยุ่ง ไปปรากฎตัว หากจะไปเยี่ยมก็ไม่มั่นใจว่าจะทนเห็นสภาพลูกถูกขังได้ไหม เกรงว่าจะไม่สามารถห้ามใจไม่ให้ยื่นประกันได้ ซึ่งจะทำลายแนวทางการต่อสู้ที่หยกตั้งใจไว้ แม่หยกจึงเลือกไม่ปรากฎตัวสาธารณะตามที่หยกขอไว้ ได้แต่โทร.ปรับทุกข์ อัปเดตข่าวสาร เล่าเรื่องราวความหลัง ซึ่งตนก็ทำหน้าที่ประสานกับเก็ท ได้ข้อมูลว่าหยกชอบทานอะไร เพื่อคนข้างนอกจะได้หาซื้อไปเยี่ยม

แม่หยกเริ่มมีปัญหาสภาวะจิตใจหนักขึ้น เวลาซื้อกับข้าวหรือขนมที่เคยกินกันสองคนก็แทบจะกินไม่ลงหรือกินได้คำสองคำแล้วก็ร้องไห้ หลายวันเข้าก็เริ่มไม่อยากกินอะไรเลย จนปวดหัว หน้ามืด น้ำหนักลด ช่วงหลังมาจึงอาศัยการเข้าวัดทำบุญฟังธรรมเพื่อสงบจิตใจไม่ให้เครียดเรื่องลูกไปมากเกินจนทำอะไรในชีวิตประจำวันปกติไม่ได้ ซึ่งแม่หยกฝากขอบคุณทุกคนที่ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้หยกได้รับอิสรภาพมาตลอด

ช่วงใกล้วันมอบตัวชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หยกยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการปล่อยตัว แม่และน้าของหยกได้ไปที่โรงเรียนวันเดียวกับที่เก็ทไปเพื่อขอโอกาสผ่อนผันเลื่อนวันมอบตัวของหยก เนื่องจากหยกถูกคุมขังอยู่ที่บ้านปราณี ซึ่งอาจารย์ก็เข้าใจและไม่ต้องการตัดโอกาสการเรียนของเด็ก จึงได้ทำเอ็มโอยูเป็นเงื่อนไขไว้กับแม่และน้าว่า หยกได้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ให้แม่กับน้าพามามอบตัวกับโรงเรียนแล้วค่อยชำระค่าเทอมภายหลังก็ได้ แต่โรงเรียนจะยังไม่ตัดสิทธิ์เรียนแน่นอน แม้ไม่ได้มามอบตัวตามกำหนดเดิม เป็นเหตุหลักที่ทางโรงเรียนยืนยันมาตลอดว่าให้ผู้ปกครองจริงๆ เป็นผู้พาหยกมามอบตัวเท่านั้นตามเอ็มโอยู เนื่องจากระเบียบราชการถ้าผู้ปกครองตามกฎหมายไม่ได้เซ็นยินยอมมอบตัวกับโรงเรียน ก็ไม่สามารถรับเด็กมาดูแลในช่วงเวลาเรียนได้ เป็นเรื่องสำคัญทางเอกสารราชการที่อาจถูกฟ้องร้องภายหลังได้

เมื่อเปิดเทอมไปได้สักพักหนึ่ง หยกได้รับการปล่อยตัว ‘บุ้ง’ (น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้าไปเยี่ยมหยกหลายครั้ง ก็ได้ไปรับตัวและพาหยกกลับคอนโดมิเนียม โดยตอนแรกแจ้งกับสาธารณะว่าแค่จะรีบพาไปหาหมอ พอได้ออกมาแม่หยกได้คุยกับหยกทางโทรศัพท์ตั้งแต่คืนแรก และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอด แต่แม่หยกไม่เคยคุยกับบุ้งเพราะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าบุ้งคือใคร ซึ่งการที่บุ้งกล่าวกับสื่อมวลชนว่าติดต่อแม่หยกไม่ได้ หาแม่หยกไม่เจอ หยกไม่มีผู้ปกครองนั้นเป็นเรื่องโกหก วันแรกหยกขอพักกับพี่ๆ ก่อน แม่หยกก็ยังไม่ได้ว่าอะไร ปรากฎว่าวันต่อมาบุ้งพยายามแนะนำให้หยกแอบไป “คัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านแม่ไปอยู่บ้านบุ้ง” โดยไม่บอกแม่หยกก่อน

แม่หยกได้ทราบก็ตกใจว่า ทำไมอยู่ๆ จะให้หยกคัดทะเบียนบ้านออก แล้วไม่มาถามแม่หยกซึ่งเป็นเจ้าบ้านและผู้ปกครองตามกฎหมายก่อนสักคำว่ายินยอมหรือไม่ บุ้งอ้างกับหยกว่า ตอนแรกจะให้หยกย้ายมาอยู่กับบุ้งเพราะจะใช้ในการมอบตัวเข้าเรียน รับหมายเรียก เอกสารต่างๆ ซึ่งความจริงมาทราบภายหลังว่า บุ้งก็ใช้วิธีการคล้ายกันนี้กับพลอย (น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส) คือให้คัดทะเบียนบ้านออกมาอยู่กับบุ้ง เพื่อได้สิทธิ์ในการดูแลเป็นผู้ปกครอง หรือดำเนินธุรกรรมต่างๆ แทนผู้ปกครองจริงได้หากอยู่ทะเบียนบ้านเดียวกัน ซึ่งหยกก็อยากมีอิสรภาพมากกว่าเดิมตอน ม.ต้น หลังจากถูกกระทบกระเทือนจิตใจเพราะถูกคุมขังมา 51 วัน และหยกอยากเคลื่อนไหวการเมืองต่อแบบหนักๆ ซึ่งก็เข้าทางบุ้งพอดี

แต่ปัญหาคือ แม่หยกในฐานะเจ้าของบ้านและผู้ปกครองตามกฎหมายไม่ได้ให้ความยินยอม แผนให้หยกคัดทะเบียนบ้านออกเพื่อได้สิทธิ์เป็นผู้ปกครองใหม่ก็เป็นอันล่มไป แต่จุดนี้ก็เป็นจุดที่หยกเริ่มถูกมานิพูเลท (Manipulate หรือถูกหลอกใช้) ให้รู้สึกไม่โอเคกับแม่ที่แม่ไม่ยอมให้เสรีภาพในการย้ายทะเบียนบ้านออกไปอยู่กับบุ้งตามที่คาดหวังไว้ เช้าวันแรกที่บุ้งพาหยกไปโรงเรียนเอง โดยไม่ยอมพาหยกกลับบ้านไปส่งแม่หยกก่อน โรงเรียนซึ่งทำเอ็มโอยูผ่อนผันการมอบตัวล่าช้าเอาไว้ให้กับแม่และน้าของหยก จึงไม่สามารถให้บุ้งมาฉีกเอ็มโอยูเก่าแล้วมอบตัวแทนแม่หยกที่มาขอโอกาสไว้ได้

ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้รับหยกเข้าเรียนไว้ก่อน แต่ผ่อนผันให้หยกมามอบตัวพร้อมผู้ปกครองตัวจริงตามเอ็มโอยูให้ถูกต้อง โดยแจ้งกำหนดระยะวันเวลาหมดเขตกับหยก แต่จนท้ายที่สุดบุ้งก็ไม่ยอมพาหยกกลับไปส่งแม่ เพื่อให้ได้เซ็นมอบตัวตามเอ็มโอยูเดิม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงสบช่องทำลายโอกาสทางการศึกษาของหยกโดยที่ไม่ควรจะต้องเสีย

เช้าวันนั้น บุ้งอ้างกับสื่อมวลชนว่า “หาแม่น้องไม่เจอ-ติดต่อแม่น้องไม่ได้-น้องไม่มีผู้ปกครองมา” ความจริงคือ

1.) แม่หยกยังพำนักบ้านเดิม แค่มีคนพาหยกไปพักที่อื่น ไม่พากลับบ้าน
2.) หยกกับแม่ยังติดต่อกันได้ตลอดตั้งแต่ออกมา แม่เขาแค่ไม่คุยกับบุ้งเพราะเป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ๆ มาฉีกเอ็มโอยูที่ไปของทำไว้กับโรงเรียน ด้วยการพาหยกไปมอบตัวทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง
3.) หยกไม่มีผู้ปกครองมา เพราะบุ้งไม่ได้พาหยกไปส่งบ้านผู้ปกครอง ซึ่งแม่หยกเตรียมการพาหยกมอบตัวกับโรงเรียนตามที่ขอทำเอ็มโอยูไว้แล้ว แต่กลับพยายามให้หยกคัดทะเบียนบ้านออกแทน นี่คือจุดเริ่มต้นของการโกหกใส่ร้ายแม่หยก ซึ่งนำมาซึ่งความโกลาหลทั้งหลายต่างๆ ต่อจากนั้นดำเนินต่อมาเรื่อย เพื่อคงไว้ให้การโกหกครั้งแรกยังเป็นความจริง

หลังจากนั้น บุ้งไปออกช่องวอยซ์ทีวี พูดโจมตีให้คนเข้าใจว่าครอบครัวหยกใช้ความรุนแรง หยกเลยออกมา เพื่อบุ้งจะได้หาทางสวมเป็นผู้อุปการะใหม่ และจากการที่หลายฝ่ายได้ฟังจากบุ้งด้านเดียว ก็แทบหลงทางในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิ์การเข้าเรียน บางฝ่ายถึงกับจะหาทางไปแจ้งความจับแม่หยก ข้อหาทอดทิ้งบุตร เพื่อให้บุ้งได้กลายเป็นผู้ปกครองตัวจริงแทนเสียด้วยซ้ำ ไปกันใหญ่มากๆ โดยที่แม่หยกแทบไม่ทราบเลยว่ากำลังตกเป็นจำเลยสังคมโดยไม่ทันรู้ตัวและยังไม่ได้ทำอะไรผิด

หลังจากนั้น ตนก็ได้คุยกับแม่หยกไม่กี่ครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็ไม่ได้ยินยอมใดๆ กับการที่หยกจะไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ จะมาเอาลูกไปได้ยังไง ซึ่งพักหลังสภาพจิตใจของแม่หยกก็ค่อนข้างย่ำแย่ลงไปมาก จากการขบวนที่บอกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันพรากลูกไปจากอ้อมอกยาวนาน พอเรื่องราวหยกกับที่โรงเรียนเริ่มใหญ่โต ข้อมูลจากฝ่ายบุ้งทำให้สังคมหันมาโทษใส่แม่หยกกันเสียมาก อาจารย์และผู้ปกครองที่มีแนวคิดส… ในโรงเรียนบางส่วนก็ผสมโรง กลุ่ม ศชอ. ก็ปักหมุดลงบ้านล่าแม่มดครอบครัวน้องกันอีกระลอกใหญ่ ลามไปถึงพ่อหยกที่อยู่ต่างจังหวัดก็ถูกตามถึงบ้าน แม่หยกซึ่งอยู่ในสภาวะจิตใจย่ำแย่อยู่เดิมก็ต้องหาพื้นที่หลบทั้งตำรวจที่ตามคุกคาม ทั้งพวกล่าแม่มด ทั้งสื่อที่ตามขุดคุ้ย เพราะไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนสาธารณะในสภาพไม่พร้อมและเสี่ยงถูกคุกคามจากกระแสสังคมเข้าใจผิด

ข้อสรุปในเรื่องนี้คือ การพาหยกไปอยู่ที่อื่นที่กำลังทำกันอยู่นี้ไม่ได้ผ่านการได้รับยินยอมจากแม่ของหยก ซึ่งเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายที่ได้ทำเอ็มโอยูขอมอบตัวหยกล่าช้าไว้กับโรงเรียน เป็นปัจจัยเสริมทำให้สูญเสียสถานภาพนักเรียนไป จากที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามมาแต่แรกที่จะขังหยกจนเลยวันมอบตัว พูดถึงเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชน ถ้าหยกยังอายุเพียง 15 ปี ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ กฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธิ์หยกเลือกผู้ปกครองใหม่ได้ตามใจชอบ ต่อให้หยกไปด้วยอย่างเต็มใจ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกฎหมาย ถ้าผู้ปกครองไม่ยอม เทียบกับคดีพรากผู้เยาว์ การล่อลวงด้วยสิ่งใดให้เด็กรู้สึกเต็มใจไปด้วย หรือแม้แต่เด็กอยากไปด้วยเอง หากผู้ปกครองไม่ได้ยินยอมก็ผิดอยู่วันยังค่ำ

ทำไมแม่ทิ้งน้อง? ตอบว่า แม่ไม่เคยทิ้งหยกเลยตลอดมาตั้งแต่หยกถูกจับขัง การถูกตำรวจคุกคามทางเพศ การถูกลิดรอนเสรีภาพอย่างรุนแรงในคดี 112 และการที่ถูกบุ้งมานิพุเลทจนหยกได้รับอิทธิพลทางลักษณะนิสัยมา “ประท้วงแม่” ตอนที่ทนายสิทธิมนุษยชนพยายามพาหยกกลับไปคุยกับแม่ นั่นต่างหากที่ทำให้เรื่องบานปลายมาขนาดนี้

ทำไมแม่น้องไม่แจ้งความ? ตอบว่า แม่หยกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ไม่ได้ต้องการทำร้ายพี่ๆ เพื่อนๆ ของลูกสาวตน เพราะมันจะสร้างบาดแผลในใจที่ยากจะสมานในระยะยาว แม้จะเจ็บปวดก็จำต้องกล้ำกลืนเพราะยังแคร์หัวใจลูก ถ้าสมมติในอนาคตมีกฎหมายให้เด็กอายุ 15-18 ปี สามารถเลือกผู้ปกครองใหม่ได้เองตามใจ ตนจะยกกรณีนี้มาพิจารณาใหม่

“ถ้าบุ้ง ทะลุวัง คือขบวน คุณคือขบวนที่เลวร้ายมากที่ใส่ร้ายครอบครัวน้องที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน เพื่อหวังกับประโยชน์เฉพาะหน้า และเป็นขบวนที่ทิ้งเหยื่อคนอื่นๆ อย่างแม่น้อง ครอบครัวน้องเอาไว้ข้างหลัง ในวันที่แม่น้องถูกข่มขู่ ขุดคุ้ย คุกคาม โดยไม่มีแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว ที่คิดจะช่วยเซฟสวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจให้ครอบครัวน้อง ในขณะที่ตัวเองได้รับประโยชน์จากลูกเขาเต็มๆ” จอม ไฟเย็น ระบุ

จอม ไฟเย็น กล่าวว่า ปัจจุบันตนติดต่อแม่หยกไม่ได้แล้ว แต่ครั้งสุดท้ายที่คุยในแชท ญาติของหยกยืนยันว่าแม่หยกไม่เคยไปตกลงอะไรใดๆ กับบุ้งไว้ ตามที่มีคนพยายามอ้างว่า “น้องตกลงกันกับแม่แล้วว่าจะให้แม่หายไป” ทั้งสิ้น อันตรายที่สุดอย่างไรหากยังพยายามไม่ให้แม่กับหยกได้ปรับความเข้าใจกันให้เร็วที่สุด?

หากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ หยกจะไม่ได้อยู่ทั้งกับแม่หรือบุ้ง แต่จะกลายเป็นบ้านปราณีที่เคยขังหยก ระหว่างที่รอ พม. หาผู้อุปการะใหม่ ซึ่งสภาพบุ้งเองไม่ผ่านเกณฑ์ผู้รับอุปการะบุตรบุญธรรมของ พม. แน่นอน

พม.จะเข้าแทรกแซงจังหวะไหน? ตอบว่า หลังจากหยกถูกปล่อยตัว นายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. ไปแจ้งความคดี 112 กับหยกเพิ่มไว้อีก 6 คดี หมายเรียกฉบับที่ 1 ที่ 2 กำลังทยอยมา แต่บุ้งก็จะไม่มีทางรู้ว่าวันไหนเมื่อไหร่ และมารู้อีกทีตอนตำรวจถือหมายจับมาล็อกตัวหยกไปแล้ว ถ้า พม. มาพร้อมตำรวจแล้วพบว่าเด็กไม่มีผู้ปกครองหรือผู้รับมอบอำนาจอยู่ด้วย มันจะจบที่บ้านปราณีโดยที่ยังไม่ต้องเริ่มคดี 112 เลยด้วยซ้ำ

“ลองถามตัวเองว่าคุณห่วงเด็กจริงๆ หรือกำลังห่วงอะไรกันแน่?” จอม ไฟเย็น กล่าวทิ้งท้าย