‘นพ.กวิน’ โพสต์ข้อความเตือนสติ ‘หมอรุ่นน้อง’ ให้เข้าใจถึงความเสียสละ และเพื่อนร่วมวิชาชีพอื่น ในโรงพยาบาล

นายแพทย์กวิน ก้านแก้ว แพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้โดยไม่เคยย่อท้อ ได้โพสต์ข้อความ ในฐานะ ‘หมอรุ่นพี่’ ถึง ‘หมอรุ่นน้อง’ ที่ประกอบวิชาชีพแห่งการเสียสละเหมือนกัน โดยได้อธิบายถึงความยากลำบากของทุกคนในโรงพยาบาล ไม่เฉพาะแต่วิชาชีพหมอเท่านั้น โดยมีใจความว่า ...

เห็นข่าวแพทย์ลาออกแล้วอยากจะแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นหมอมาแล้ว 30 ปีว่าเป็นเพราะหมอสมัยนี้หลายคน "เปราะบาง" เกินไป

สมัยก่อนตอนเป็น Extern หรือนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 บางวอร์ดต้องมาทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า บางวอร์ดผ่าน 1 เดือนให้อยู่เวรนอกเวลาราชการทุกวัน เลือกวันหยุดไม่ต้องอยู่เวรได้สัปดาห์ละ 1 วัน นอนหออยู่กันห้องละ 4-6 คน ไม่มีแอร์ ห้องน้ำรวม บางหอเป็นเตียงสองชั้น ตอนจบมาทำงานใหม่ๆชีวิตก็ดีขึ้นนิดนึง

บางคนอาจจะบอกว่าอย่าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนสิ งั้นขอให้เปรียบเทียบกับบุคลากรวิชาชีพอื่นในโรงพยาบาลแล้วกัน พูดกันตามตรง หมอคือตัวตึงสุดของโรงพยาบาลแล้ว ในโรงพยาบาลรัฐถ้าหันไปมองดูเพื่อนร่วมวิชาชีพ เช่น พยาบาล ความก้าวหน้า ภาระงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ห่างไกลจากหมอแบบไม่เห็นฝุ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ หมอสามารถขึ้นถึงระดับเชี่ยวชาญซึ่งเทียบเท่ากับรองอธิบดีได้โดยไม่ต้องเป็นผู้บริหาร เงินเดือนและค่าตอบแทนถึงแม้จะน้อยกว่าหมอภาคเอกชนอย่างมากแต่ก็ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับข้าราชการสายอื่น

ความเปราะบางทางจิตใจเป็นอีกปัญหาหนึ่ง อาชีพหมอคือการทำงานกับชีวิตคนกับความเป็นความตาย ความบกพร่องจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆขำๆที่เหมือนพิมพ์เอกสารผิดแล้วต้องเอากลับไปพิมพ์ใหม่ การตำหนิว่ากล่าวจึงเป็นเรื่องปกติที่สมควรต้องยอมรับกันให้ได้และจะว่าไปมันคือการฝึกฝนประสบการณ์เพื่อให้ลดความผิดพลาดของการทำงานในอนาคต ไม่มีใครไม่เคยทำผิดพลาดการถูกว่ากล่าวคือการช่วยให้จดจำและไม่ทำผิดซ้ำอีก

บางคนอยากเป็นหมอเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่รวยและสบาย แต่กว่าจะรวยและสบายควรต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าสมกับสถานะตรงนั้น การทำงานหนักในช่วงแรกของชีวิตคือหนึ่งในการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานซึ่งหมอที่มีคุณภาพทุกคนต้องเคยผ่านมันมาแล้ว

ทุกวันนี้ผมพอใจในเงินเดือน ค่าตอบแทน และสถานะการทำงานของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการตั้งแต่ 16.30-08.30 น.เดือนละ 7-8 วันทั้งที่อายุมิใช่น้อยแล้วก็ตาม ผมคิดว่าทุกวันนี้หมอในโรงพยาบาลรัฐได้รับอภิสิทธิ์เหนือวิชาชีพอื่นมากเกินพอแล้ว ถ้าให้พูดตรงๆคือ อยากเป็นหมอก็ต้องอดทนบ้าง และอย่ามองแต่ปัญหาของตัวเองบุคลากรสาธารณสุขวิชาชีพอื่นรวมถึงสายสนับสนุนก็สมควรได้รับการเหลียวแลและช่วยเหลือให้มากกว่านี้ เพราะโรงพยาบาลไม่ได้มีแต่หมอ แต่คือทีมที่ทำงานร่วมกัน การดูแลทุกข์สุขของทุกคนในทีมย่อมส่งผลให้การบริการของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นครับ