Saturday, 4 May 2024
หมอ

หมอหนุ่มวัย 28 ปี เปิดเพจเล่าเรื่องเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ดูแลสุขภาพอย่างดี ด้านชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ

(11 พ.ย. 65) นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ได้เปิด เพจ ชื่อ 'สู้ดิวะ' เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ดังนี้...

สวัสดีครับ
วันนี้จะขอแนะนำตัวเองนิดนึงครับ
ผมชื่อ กฤตไท ธนสมบัติกุล ครับ ปัจจุบันอายุ 28 ปีครับ
ผมจะพยายามเล่าให้กระชับที่สุดละกันนะครับ

ผมเกิดในครอบครัวใหญ่ครับ นึกภาพครอบครัวที่มีอากงอาม่า กับหลาน ๆ หลายสิบชีวิตครับ

ผมมีชีวิตวัยเด็กที่มีความสุขมาก ๆ ครับ กินเก่ง เล่นเก่ง พูดเยอะ เป็นเด็กน้อยตาตี่อ้วนกลมที่อารมณ์ดีมาก ๆ ครับ

แต่ชีวิตผมก็มีจุดเปลี่ยนตรงช่วงมัธยมต้น ครอบครัวผมมีปัญหานิดหน่อย พ่อแม่ผมท่านได้ตัดสินใจอยู่ห่างกัน ซึ่งดีต่อท่านทั้งสองจริง ๆ แต่ในมุมของผม มันทำให้ผมต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะต้องอยู่กับแม่และน้องสาว ผมต้องเป็นผู้ใหญ่ทันที

ซึ่งมองย้อนกลับไป ผมขอบคุณเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก ๆ ที่ทำให้ผมได้อ่านหนังสือ ได้พัฒนาความคิดและทัศนคติตัวเองขึ้นมา ถ้าไม่ได้เจอเรื่องนี้ ผมคงยังเป็นคุณชาย เป็นเด็กมัธยมธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

ผมเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงมากมายตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม คือต้องบอกว่าผมให้ความสำคัญกับเรื่องเพื่อนมากกว่าเรื่องเรียน

ผมได้มีช่วงชีวิต 6 ปีที่ทรงคุณค่าที่สุดในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผม OSK 131 ครับ

แน่นอนครับ ขึ้นชื่อว่าสวนกุหลาบ ผมมีความเป็นสวนกุหลาบอย่างที่สุด และผมมีเพื่อนสวนกุหลาบที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

ผมได้ถูกปลูกฝังให้เป็นสุภาพบุรุษสวนกุหลาบ รักเพื่อน เคารพพี่ นับถือครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง

หลังจากจบสวนกุหลาบ ผมได้สอบติด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 56 ครับ

ชีวิตได้ขึ้นเหนือในวัย 18 ปี เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญเลยครับ จากเด็กกรุงเทพ ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเชียงใหม่

โอเค ผมเรียนหมอ 6 ปีครบตามเวลา ไม่ขาดไม่เกินครับ เนื่องจากว่าผมมาเชียงใหม่คนเดียว จึงได้มามีเพื่อนใหม่ที่นี่ทั้งหมด ผมโคตรรักพวกมันเลย เพื่อนชาวเหนือ พาผมไปกินอาหารแปลก ๆ เรียนรู้วัฒนธรรม คำเมือง การใช้ชีวิต ซึ่งทุกอย่างมันมาผ่านบาสเกตบอลครับ ผมเป็นนักบาสเกตบอลของคณะแพทย์เชียงใหม่ที่ยิ่งใหญ่ครับ เรื่องราวเยอะมาก ๆ

คราวนี้ผมเรียนจบหมอละ ก็เรียนต่อเฉพาะทางต่ออีก 3 ปีทันทีเลยครับ

ผมเลือกสาขา เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เป็นแพทย์ใช้ทุนร่วมกับเรียนต่อเฉพาะทางที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ครับ เรื่องแฟมเมดเองก็เล่าได้อีกหนึ่งตอนใหญ่ ๆ เหมือนกันครับ ทำไมคนแบบผม ที่หยิบคนมาสิบคนก็ไม่มีใครบอกว่าผมดูเป็นหมอแฟมเมด แต่ทำไมผมถึงเลือกเรียนสาขานี้ และ ที่สำคัญคือทำไม ผมถึงเลือกที่เมื่อเรียนจบแล้ว ผมกลับไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะหมอแฟมเมด แต่กลับย้ายมาทำงานสายระบาดวิทยาคลินิก น่าสนุกใช่ไหมครับ ไว้เรามาว่ากันครับ

ระหว่างที่เรียนเฉพาะทาง ผมก็ฟิตมากพอที่จะไปศึกษา สาขาเฉพาะทางอีกอันหนึ่งคือ ระบาดวิทยาคลินิก (Clinical Epidemiology and Clinical Statistic) สาขาที่เรียกได้ว่าหลายคนในประเทศไทยอาจจะยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่หลัก ๆ คือเป็นศาสตร์ของการตอบโจทย์ ตอบปัญหาของหมอในกระบวนการรักษาคนไข้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสถิติ สร้างผลงานวิจัยเพื่อช่วยให้กระบวนการดูแลคนไข้นั้นดีขึ้นครับ

และ

ผมยังฟิตกว่านั้น ด้วยการเรียนปริญญาโท วิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Data Science) อีกใบพร้อมกันไปเลย สนุกมากครับ ปัจจุบันก็เรียนจบด้วยดี กำลังจะรับปริญญาแล้วครับ ได้เรียนรู้เรื่องข้อมูล เรื่องแนวคิดทางธุรกิจ การแก้ปัญหาด้วยแนวคิดทาง DS และวิธีการจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพร้อมรับมือกับโลกอนาคตครับ

‘นพ.กวิน’ โพสต์ข้อความเตือนสติ ‘หมอรุ่นน้อง’ ให้เข้าใจถึงความเสียสละ และเพื่อนร่วมวิชาชีพอื่น ในโรงพยาบาล

นายแพทย์กวิน ก้านแก้ว แพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้โดยไม่เคยย่อท้อ ได้โพสต์ข้อความ ในฐานะ ‘หมอรุ่นพี่’ ถึง ‘หมอรุ่นน้อง’ ที่ประกอบวิชาชีพแห่งการเสียสละเหมือนกัน โดยได้อธิบายถึงความยากลำบากของทุกคนในโรงพยาบาล ไม่เฉพาะแต่วิชาชีพหมอเท่านั้น โดยมีใจความว่า ...

เห็นข่าวแพทย์ลาออกแล้วอยากจะแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นหมอมาแล้ว 30 ปีว่าเป็นเพราะหมอสมัยนี้หลายคน "เปราะบาง" เกินไป

สมัยก่อนตอนเป็น Extern หรือนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 บางวอร์ดต้องมาทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า บางวอร์ดผ่าน 1 เดือนให้อยู่เวรนอกเวลาราชการทุกวัน เลือกวันหยุดไม่ต้องอยู่เวรได้สัปดาห์ละ 1 วัน นอนหออยู่กันห้องละ 4-6 คน ไม่มีแอร์ ห้องน้ำรวม บางหอเป็นเตียงสองชั้น ตอนจบมาทำงานใหม่ๆชีวิตก็ดีขึ้นนิดนึง

บางคนอาจจะบอกว่าอย่าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนสิ งั้นขอให้เปรียบเทียบกับบุคลากรวิชาชีพอื่นในโรงพยาบาลแล้วกัน พูดกันตามตรง หมอคือตัวตึงสุดของโรงพยาบาลแล้ว ในโรงพยาบาลรัฐถ้าหันไปมองดูเพื่อนร่วมวิชาชีพ เช่น พยาบาล ความก้าวหน้า ภาระงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ห่างไกลจากหมอแบบไม่เห็นฝุ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ หมอสามารถขึ้นถึงระดับเชี่ยวชาญซึ่งเทียบเท่ากับรองอธิบดีได้โดยไม่ต้องเป็นผู้บริหาร เงินเดือนและค่าตอบแทนถึงแม้จะน้อยกว่าหมอภาคเอกชนอย่างมากแต่ก็ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับข้าราชการสายอื่น

ความเปราะบางทางจิตใจเป็นอีกปัญหาหนึ่ง อาชีพหมอคือการทำงานกับชีวิตคนกับความเป็นความตาย ความบกพร่องจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆขำๆที่เหมือนพิมพ์เอกสารผิดแล้วต้องเอากลับไปพิมพ์ใหม่ การตำหนิว่ากล่าวจึงเป็นเรื่องปกติที่สมควรต้องยอมรับกันให้ได้และจะว่าไปมันคือการฝึกฝนประสบการณ์เพื่อให้ลดความผิดพลาดของการทำงานในอนาคต ไม่มีใครไม่เคยทำผิดพลาดการถูกว่ากล่าวคือการช่วยให้จดจำและไม่ทำผิดซ้ำอีก

บางคนอยากเป็นหมอเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่รวยและสบาย แต่กว่าจะรวยและสบายควรต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าสมกับสถานะตรงนั้น การทำงานหนักในช่วงแรกของชีวิตคือหนึ่งในการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานซึ่งหมอที่มีคุณภาพทุกคนต้องเคยผ่านมันมาแล้ว

ทุกวันนี้ผมพอใจในเงินเดือน ค่าตอบแทน และสถานะการทำงานของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการตั้งแต่ 16.30-08.30 น.เดือนละ 7-8 วันทั้งที่อายุมิใช่น้อยแล้วก็ตาม ผมคิดว่าทุกวันนี้หมอในโรงพยาบาลรัฐได้รับอภิสิทธิ์เหนือวิชาชีพอื่นมากเกินพอแล้ว ถ้าให้พูดตรงๆคือ อยากเป็นหมอก็ต้องอดทนบ้าง และอย่ามองแต่ปัญหาของตัวเองบุคลากรสาธารณสุขวิชาชีพอื่นรวมถึงสายสนับสนุนก็สมควรได้รับการเหลียวแลและช่วยเหลือให้มากกว่านี้ เพราะโรงพยาบาลไม่ได้มีแต่หมอ แต่คือทีมที่ทำงานร่วมกัน การดูแลทุกข์สุขของทุกคนในทีมย่อมส่งผลให้การบริการของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นครับ
 

คุณหมอ ขอเล่าประสบการณ์ เคสผู้ป่วยที่เจอ  พร้อมเตือนให้ดูแลตัวเอง ระมัดระวัง จากภัยใกล้ตัว

ผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อว่า drmomdiary ได้โพสต์คลิปสั้น เล่าประสบการณ์ ของตนเองที่เจอกับเคสของผู้ป่วยในวันหยุด โดยระบุว่า ...

คุณหมอไม่ชอบวันหยุด วันหยุดยาวทุกคนจะชอบมากแต่คนที่ไม่ชอบเลยก็คือหมอ เพราะว่าข้อ 1 เคสผู้ป่วยที่มาจะเป็นผู้ป่วยหนัก เพราะถ้าไม่หนักจริงเขาก็ไม่มาในวันหยุดหรอก

ข้อที่ 2 ก็คือ เพราะอาการหนักแล้วก็ต้องปรึกษาหมอเฉพาะทาง ซึ่งหมอเฉพาะทางก็จะไม่ค่อยมีในช่วงของวันหยุด เพราะหมอก็จะลาไป ถ้าเกินศักยภาพของหมอเราก็ส่งต่อยากอีก ฉะนั้นแล้ววันหยุดสำหรับหมอแล้วไม่มีอะไรดีเลย

ยกตัวอย่าง เคสผู้ป่วยของหมอตา เหตุเกิดจากเทศกาลลอยกระทง เกิดเหตุพลุระเบิด แล้วโดนดวงตาเยอะมาก และส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาการหนัก บางครั้งก็ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็นไปเลย มีผู้ป่วยอยู่คนหนึ่ง ไม่ได้จุดเองแค่คนไปยืนดูและก็ไม่ได้จะดูใกล้ๆ แต่พลุระเบิดเนี่ยมันกระเด็นแล้วไปโดนต้นไม้แล้วก็สะท้อนมาโดนที่ลูกตา เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรไปยืนในบริเวณที่มีคนกำลังจุดพลุ

‘ยูทูบเบอร์สาวลาว’ ชื่นชม ‘หมอไทย’ เก่งด้วย ใส่ใจคนไข้ด้วย ไม่แปลกใจทำไม ‘คนลาว’ แห่ไปรักษาที่ รพ.ไทยกันหมด

จากกรณีที่ คุณ ‘แบงค์’ ยูทูบเบอร์ดังสายท่องเที่ยว เจ้าของช่อง ‘Wepergee’ ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ‘Thailand Influencer Awards 2023’ ด้าน ‘Best Travel Influencer’ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ เล่าอุทาหรณ์ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ ‘สปป.ลาว’ หลังประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนที่หลวงพระบาง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

เมื่อคุณแบงค์ถูกนำตัวมาถึงที่โรงพยาบาลก็พบกับสิ่งที่น่าช็อก คือ เจ้าหน้าที่พยายามจะขอเงินทุกอย่าง ต้องขอเงินสดทุกครั้ง หากตนจะขอให้ทำอะไรให้ ขอฉีดยาแก้ปวดก็เจอพยาบาลถามว่า “มีเงินไหม ถ้ามีเงินจะเอามาฉีดให้” คุณแบงค์อ้อนวอนจนท้ายที่สุด ทางโรงพยาบาลก็เอาใบสัญญามาให้เซ็น ซึ่งคุณแบงค์เซ็นไม่ไหว ลุกนั่งไม่ได้ จนต้องปั๊มนิ้วเซ็นสัญญาในการรักษาแทน หลังจากนั้น ต้องหาคนลาวที่มีแอปพลิเคชันธนาคารไทยมาให้ตนโอนเงินจนได้รักษา

แม้คุณแบงค์จะทำประกันการเดินทางมาแล้ว แต่กลับพบว่าประกันนั้นไม่ครอบคลุม จนต้องเสียเงินหลักแสนบาท เพื่อกลับมารักษาตัวที่ไทย

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค. 66) ‘คุณดาว’ ยูทูบเบอร์สาวชาวลาว ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่มีคลิปประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งของคนไทย อีกทั้งได้มีคนไทยบางส่วนคอมเมนต์ว่า “ถ้าอย่างนั้น คนไทยเอาคืนคนลาวได้ไหม? จะไม่ให้คนลาวเข้ามารักษาตัวที่ฝั่งของไทยดีไหม เพราะทางฝั่งลาวปฏิเสธการรักษาประชากรของไทย”

โดยคุณดาวได้แสดงความคิดเห็นว่า จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพของการเป็นแพทย์ คือ คุณต้องรักษาชีวิตของคนไข้ให้หายดีก่อน แล้วค่อยมาคิดถึงเรื่องเงินทีหลัง

นอกจากนี้ คุณดาวยังได้กล่าวว่า ปัจจุบันคนลาวที่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก็จะข้ามมารักษาตัวที่ฝั่งไทย เพราะหากเทียบคุณภาพในการรักษาแล้ว ทางฝั่งไทยให้การรักษาที่ดีกว่าฝั่งลาวมาก เนื่องจากทีมแพทย์ของไทยนั้นรักษาเก่งมาก มีความรอบคอบ และมีความสะอาดในทุกขั้นตอนของการรักษา ผิดกับทางฝั่งลาว เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณดาวที่เคยไปทำการรักษา พบว่า โรงพยาบาลและคลินิกที่ลาวนั้นมีความสกปรกเป็นอย่างมาก แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่นั่งเล่นแต่โทรศัพท์ ไม่ได้สนใจคนไข้ที่มาใช้บริการเลย

“คนไทยอย่าเพิ่งไปน้อยใจนะคะ ว่าคุณเลือกปฏิบัติ เพราะแม้แต่คนลาวด้วยกันเองก็ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน ทำให้คนลาวส่วนใหญ่ถึงแห่มารักษากับหมอไทย เพราะว่าจรรยาบรรณของหมอลาวบางคนนั้นไม่ได้เรื่อง ไร้ซึ่งจิตสำนึกในหน้าที่ของตัวเอง เข้าใจว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน แต่คุณต้องมีจิตสำนึก ถ้าคุณจะเป็นแพทย์ เป็นหมอ เป็นพยาบาล คุณต้องมีจิตใจที่เมตตาก่อน” คุณดาว กล่าว

คุณดาวยังได้กล่าวต่อว่า ตนนั้นไม่ได้มีเงินมากพอจะเรียนแพทย์ เรียนหมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนเองและทุกคนควรจะมีคือ ‘จิตใต้สำนึก’ สิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะตาย ไปโรงพยาบาลหาหมอเพื่อรักษา เพราะอยากมีชีวิตรอดกลับบ้าน สิ่งที่เขาต้องการ คือ การได้รับความใส่ใจจากแพทย์ จากหมอ จากพยาบาล

นอกจากนี้ คุณดาวยังได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเคยพาคุณแม่ไปโรงพยาบาลแล้วเจอหมอที่ไม่กระตือรือร้นจะทำอะไร นั่งเล่นแต่โทรศัพท์ เวลาไปขอใบรับรองแพทย์ ก็เจอหมอนั่งสั่นขาไปมา ไร้มารยาท

อย่างไรก็ตาม คุณตาวได้เน้นย้ำว่า ตนไม่ได้เหมารวมหมอลาวทั้งหมด สิ่งที่ตนเล่ามานั้น คือประสบการณ์การส่วนตัวที่ตนเคยได้ไปเจอมา แพทย์ หมอ พยาบาลส่วนใหญ่ที่ดี มีความตั้งใจในการรักษาคนไข้ก็มี ตนอาจจะโชคร้ายเองที่ไปเจอหมอที่นิสัยแย่

“ส่วนตัวดาวเชื่อว่า แม้คนไทยจะขู่ว่า จะไม่ให้คนลาวข้ามมาหาหมอที่ฝั่งไทยแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ คนไทยเขาก็คงทำไม่ลงหรอก และสิ่งสำคัญที่ดาวอยากจะบอก คือ รัฐบาลไทยนั้น ออกงบประมาณสวัสดิการการดูแลคุ้มครองต่างด้าว หรือชาวต่างประเทศที่มารักษาตัวที่ประเทศไทย ปีหนึ่งพันกว่าล้านบาท แก่กระทรวงสาธารณสุขไทย ทำไมเราถึงไม่มีจิตสำนึกว่า ประชาชนลาวของเราก็ไปรักษาตัวที่ประเทศเขาเยอะแยะมากมาย แล้วเมื่อคนไทยเขามาประเทศเรา เหตุใดเราจึงไม่ดูแลคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือเขาคืนบ้าง” คุณดาว กล่าวทิ้งท้าย

หมอฝึกหัดเกาหลีใต้กว่า 6.4 พันคน ตบเท้าลาออก ประท้วงรัฐบาล เร่งแต่ผลิตแพทย์ แต่ไม่ดูคุณภาพ

แพทย์ฝึกหัดเกาหลีใต้มากกว่า 6,400 คน พร้อมใจยื่นใบลาออก เพื่อประท้วงแผนการเร่งผลิตแพทย์ด้วยการสั่งให้มหาวิทยาลัยเพิ่มโควต้าการรับนักศึกษาแพทย์เกือบเท่าตัว โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านความพร้อมและคุณภาพ ที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต

ไม่นานมานี้ แพทย์ฝึกหัดเกาหลีใต้จำนวน 6,415 คน จาก 100 โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ยื่นจดหมายลาออก ส่วนอีก 1,600 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเดินออกจากที่ทำงานทันที สร้างความปั่นป่วนในการให้บริการผู้ป่วยในหลายโรงพยาบาล ทั้งเกิดความล่าช้าในขั้นตอนการรักษา และคิวผ่าตัด

ปาร์ค มิน-ซู รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขคนที่ 2 ได้เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนัดประท้วงของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดดังกล่าว โดยได้สั่งการให้โรงพยาบาลรัฐ 97 แห่ง ขยายช่วงเวลาการให้บริการยาวขึ้น อีกทั้งให้โรงพยาบาลทหารอีก 12 แห่งเปิดเตียงฉุกเฉินเพื่อรองรับเคสผู้ป่วยพลเรือนทั่วไปเป็นการชั่วคราว 

ปัจจุบันในเกาหลีใต้มีแพทย์ฝึกหัดอยู่ราว 13,000 คน แต่มาวันนี้ นัดกันยื่นจดหมายลาออกไปแล้วกว่า 6,400 คน จนระบบการทำงานในโรงพยาบาลติดขัดอย่างหนัก

สาเหตุของการนัดประท้วงของแพทย์ฝึกหัด เกิดจากนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ต้องการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการเพิ่มโควตาการรับนักศึกษาแพทย์อีกปีละ 2,000 คนตั้งแต่ปีหน้า 2568 เป็นต้นไป จากเดิมที่เคยรับปีละ 3,058 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยชี้ว่าการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น

เนื่องจากในหลายพื้นที่ของเกาหลีใต้ยังขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก อีกทั้งเกาหลีใต้มีสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แพทย์บางส่วนกลับมองว่ารัฐบาลกำหนดนโยบายโดยไม่ได้ปรึกษา หรือรับฟังความเห็นของทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่จริง ๆ จึงมองเพียงตัวเลขเชิงปริมาณ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพทักษะ และหัวใจในการให้บริการ

เช่นเดียวกับกลุ่มแพทย์ฝึกหัดที่ได้ยื่นใบลาออกประท้วงรัฐบาล มองว่าการเพิ่มโควตาการรับนักศึกษาแพทย์ จะยิ่งทำให้คุณภาพการเรียน การสอนในวิชาแพทย์ลดลง เพราะรัฐบาลไม่เคยลงไปศึกษาข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยแพทย์ในเกาหลีใต้มีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐหรือไม่ 

จะอย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วย ปาร์ค มิน-ซู ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการประท้วงของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดในครั้งนี้ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในระบบการดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ มีเคสผ่าตัดหลายเคสต้องเลื่อน หรือต้องย้ายตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นอย่างฉุกละหุก

อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำอันไร้เหตุผล ที่ทิ้งคนไข้ของพวกเขาไว้ข้างหลัง เพื่อเป็นเครื่องมือในการประท้วงนโยบายรัฐ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะส่งผลร้ายแรงอะไรตามมา 

ทางการเกาหลีใต้ได้ส่งจดหมายเรียกตัวแพทย์ฝึกหัดให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ และเตรียมสอบแพทย์ 2 คนที่เชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนัดลาออกประท้วงของบรรดาแพทย์ฝึกหัดในครั้งนี้ หากพบว่าผิดจริงอาจลงโทษหนักถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘นร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย’ สอบติดคณะแพทย์ 42 คน สร้างความภาคภูมิใจ ให้ ‘พ่อ-แม่-ครูอาจารย์’ 

(7 เม.ย.67) โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยแจ้งข่าวดี ปรากฏว่านักเรียนม.6 ของโรงเรียนสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ในปีนี้ถึง 42 คน

โดยจำแนกเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  1 คน และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 41 คน

ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทุกคน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top