เงินสำรองไทยแกร่งต่อเนื่อง แตะ 8.6 ล้านล้านบาท สะท้อนสถานะทางการเงินของประเทศสุดแข็งแกร่ง

ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 นับเป็นช่วงเวลาที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากต้องรับมือกระแสเก็งกำไรค่าเงินบาท ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต จนทำให้เหลือเงินสำรองฯ เพียง 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนั้น ฐานะเงินสำรองฯ ของประเทศไทยก็เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า จากปี 2540

และเมื่อมองย้อนกลับไป 5 ปี หลังสุด พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2559 อยู่ที่ 6,155,783 ล้านบาท, ปี 2560 อยู่ที่ 6,615,482 ล้านบาท, ปี 2561 อยู่ที่ 6,666,266 ล้านบาท, ปี 2562 อยู่ที่ 6,756,943 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 7,747,644 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 8,212,110 ล้านบาท

ทว่าในปี 2565 ช่วงเดือนธันวาคม ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 8,491,594.33 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ในเดือนเมษายน มีทุนสำรองอยู่ 8,604,607.56 ล้านบาท มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใกล้เคียงกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและเป็นรองเพียงสิงคโปร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น 

ในส่วนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีทองคำด้วยมูลค่า 495,966.88 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีจำนวนทองคำมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน (244 ตัน)

นอกจากนี้ ไทย ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าหนี้’ ของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยได้เงินสบทบหรือให้กู้แก่ IMF เป็นจำนวน 41,508.51 ล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้ เงินสำรองทางการ คือ เงินตรา/สินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของเศรษฐกิจไทย และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างชาติ

ดังนั้น เงินสำรองทางการจึงทำหน้าที่เป็น ‘กันชน’ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับอำนาจการซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้  

เงินสำรองทางการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า คนต่างชาติมาท่องเที่ยวมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น

ฉะนั้น เงินสำรองฯ จึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคง และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า จากระดับของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา