‘ธนาคารกลางทั่วโลก’ ตุนทองคำสำรองเพิ่มขึ้น 176% เครื่องชี้วัดความกลัวเศรษฐกิจถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

‘สภาทองคำโลก’ ระบุไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มปริมาณทองคำสำรองขึ้น 176% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วน ‘จีน’ เพิ่มทองคำสำรองติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ด้านกูรู ชี้ทองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วน

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ‘ราคาทองคำ’ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,082.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะย่อตัวลงมาเล็กน้อย โดยเป็นการเคลื่อนไหวของราคาที่ตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีก 0.25% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ ‘ดอกเบี้ยนโยบายของเฟด’ ขยับขึ้นแตะ 5-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ก่อนวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ 

ทั้งนี้เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมมูลค่าของเงินดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศที่ยังอยู่ในขาขึ้น ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งวิกฤติในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ทั้งหมดจึงส่งผลให้รัฐบาลกลางของหลายประเทศ เดินหน้าสะสมสินทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ด้านสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่า จีน, สิงคโปร์ และตุรกี เป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ของโลก โดยสภาทองคำโลก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 228.4 ตัน หรือประมาณ 176% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ส่วนสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็ได้รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 ว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) เพิ่มปริมาณทองคำสำรองในประเทศเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปีที่แล้ว โดยล่าสุดในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 8.09 ตัน ส่งผลให้ปริมาณทองคำสำรองในคลังทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,076 ตัน

สอดคล้องกับข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนเม.ย. เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.897 แสนล้านบาท) มาอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 105.6 ล้านล้านบาท) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่เสื่อมลง สวนทางกลับราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกที่ปรับตัวสดใสมากขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในเกณฑ์ดีหลังจากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid)

ขณะที่บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวโกลบอล ไทม์ส (Global Times) ของทางการจีน กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นเหมือนหลุมหลบภัยที่มีประสิทธิภาพ สำหรับเงินทุนระหว่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเสี่ยงอื่น ๆ มากมาย”

ฟาก ตง เติ้งซิน (Dong Dengxin) ผู้อํานวยการสถาบันการเงิน และหลักทรัพย์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อู่ฮั่น ประเทศจีน กล่าวว่า ท่าทีของบรรดาธนาคารกลางของหลายประเทศครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั่วโลกสูญเสียความไว้วางใจในการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์เหล่านี้ และเข้าซื้อทองคำอย่างร้อนแรง

“ที่สำคัญ ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่เฟื่องฟู และการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศ” ตง ระบุ

ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ประเทศไทย กล่าวว่า ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นตอบรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งยังสะท้อนว่านักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับภาคการเงินของสหรัฐฯ และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยหากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐยังไม่คลี่คลาย และมีข่าวร้ายเพิ่มเติมอีก ราคาทองคำก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จากความต้องการที่สูงขึ้น ดันราคาทองไปยืนใกล้ระดับ 2,000 ต่อออนซ์อีกครั้ง และเพิ่มสูงขึ้นราว 11% นับจากต้นปี และเพิ่มขึ้น 24% จากระดับต่ำสุดในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ทองคำมองว่า ราคาทองจะยังอยู่ระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยสูงของสหรัฐฯ จะมีส่วนกดดันให้ภาคธนาคารยังอ่อนแอต่อไป

ที่มา: บลูมเบิร์ก / กองทุนบัวหลวง