พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ วินาทีเสด็จขึ้นประทับพระราชบัลลังก์ The enthronement

เมื่อ 70 ปีที่แล้วชาวอังกฤษได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (2 มิถุนายน 2496) การถ่ายทอดครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีเสียงคัดค้านว่าไม่ควรที่จะถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในพระราชพิธีที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ เพราะเป็นของสูงและคนชมอาจจะไม่สำรวมพอในระหว่างที่ชม

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีฯ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่มากคือทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ทรงมีพระราชานุญาตให้สถานีบีบีซีที่พร้อมและสามารถที่จะเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกได้ ชาวอังกฤษจึงมีโอกาสชมพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ของตนทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

และเช่นกันในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอนก็จะมีพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามโบราณราชประเพณีเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ผ่านการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยพิธีการทางศาสนาและท่ามกลางมหาสมาคม

พระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ตามรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษบอกว่าแม้จะใช้เวลาราวๆ สองชั่วโมง แต่ก็มีการตัดทอนให้กระชับกว่าเดิม

เวลา 11 โมงเช้าเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลล่าเสด็จมาถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จเข้าทางประตูที่เรียกว่า The Great West Door ที่นั่นผู้นำทางศาสนา, ผู้แทนพระองค์, ผู้แทนจากประเทศในเครือจักรภพและนายกรัฐมนตรีอังกฤษรับเสด็จและนำเสด็จเข้าไปในวิหาร

>> พระราชพิธีแรกที่เริ่มขึ้นเรียกว่า The Recognition หรือการยอมรับ
ในที่นี่พระเจ้าชาร์ลส์จะแสดงพระองค์ต่อที่ชุมนุมโดยจะประทับยืนข้างๆ พระเก้าอี้ราชาภิเษก Coronation Chair (บางที่ก็เรียกว่าบัลลังก์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่มีอายุถึง 700 ปีทำด้วยไม้) พระองค์จะหันพระพักตร์ไปยังทั้งสี่ทิศและจะมีเสียงประกาศว่า Undoubted King คือ กษัตริย์ที่แท้จริงและผู้ที่ชุมนุมในที่นั้นจะแสดงความเคารพและความจงรักภักดี

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่ Archbishop of Canterbury หรือจะเทียบกับทางพุทธก็คือสมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นผู้ประกาศคนแรก ต่อมาผู้ที่ชุมนุมในที่นั่นจะตะโกนว่า “God Save the King” พิธีการนี้อังกฤษทำมาตั้งยุคแองโกลแซกซัน

>> ในขั้นตอนที่ 2 คือการให้คำสาบาน The Oath
พระราชพิธีในขั้นตอนนี้คือจะทรงให้คำมั่นสัญญาอยู่สองคำสัญญา อันแรกเรียกว่า the Coronation Oath อันเป็นข้อกำหนดไว้ในกฎหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสาบานในเรื่องนี้โดยท่านอาร์ชบิชอปจะเป็นผู้นำกล่าวคำสาบานและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำยืนยันว่าจะส่งเสริมและรักษากฎหมายและศาสนจักร Church of England ตลอดการครองราชย์สมบัติ ส่วนในคำสาบานอีกครั้งที่สองเรียกว่า The Accession Declaration Oath คือคำประกาศว่าจะซื่อสัตย์ต่อนิกายโปรเตสแตนต์

เมื่อมาถึงพระราชพิธีตอนที่ 3 คือพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือ the anointing พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้เพื่อรับการถวายน้ำมันเจิมจากท่านอาร์ชบิชอป ก่อนที่พิธีจะเริ่มเจ้าพนักงานจะนำฉากมากั้นรอบพระองค์ เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็น เพราะพิธีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็น แต่มีการอธิบายว่าท่านอาร์ชบิชอป จะรินน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากภาชนะใส่น้ำมันเพื่อทำพิธีกรรม The Ampulla ลงในช้อน The Coronation Spoon (ช้อนราชาภิเษกอันนี้ถือว่าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือรอดจากการทำลายของ โอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากชนะในสงครามกลางเมืองของอังกฤษ) และจะทรงเจิมที่พระนลาฏ, พระอุระ และพระหัตถ์ทั้งสอง

หลังจากนั้นจะเป็นพระราชพิธีการสำคัญที่เรียกว่า The Investiture หรือการมอบอำนาจหรือตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะได้รับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ ลูกโลก, คทา, พระธำมรงค์ และสุดท้ายท่านอาร์ชบิชอป จะสวมพระมหามงกุฎ St.Edward  ที่พระเศียร

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้รับการถวายพระราชอำนาจครบถ้วนแล้ว พระราชพิธีสุดท้ายคือ การเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ The enthronementโดยท่านอาร์ชบิชอป, บิชอป และขุนนางผู้ใหญ่จะร่วมกันนำเสด็จขึ้นประทับ หลังจากนั้นตามพระราชประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติพระราชวงศ์ที่จะสืบทอดราชสมบัติและขุนนางจะเข้าแสดงความจงรักภักดีด้วยการกล่าวคำสาบานต่อหน้าพระพักตร์ และจูบพระหัตถ์ขวา แต่คาดกันว่าครั้งนี้เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารจะทรงเข้าถวายคำสาบานเพียงพระองค์เดียว และที่แปลกใหม่อีกอย่างคือ ท่านอาร์ชบิชอปจะกล่าวเชิญชวนแขกที่อยู่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์และคนที่ชมพิธีทางบ้านร่วมกันกล่าวคำจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ (ผู้จัดพระราชพิธีบอกว่าเป็นรายการใหม่ล่าสุดและสำคัญทีเดียว)

ทั้งหมดนี้คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรก็ดียังมีพระราชพิธีแต่งตั้งและสวมมงกุฎสมเด็จพระราชินีอีกด้วย แต่จะไม่ใช้เวลานานนัก และทั้งสองพระองค์จะเสด็จเข้าร่วมในพิธีทางศาสนาก่อนที่จะเสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม โดยรถม้าพระที่นั่งที่เก่าแก่คือ Gold State Coach และนี่คือพระราชพิธีที่สืบทอดกันว่าร่วมพันปี เป็นพิธีที่แสดงการต้อนรับและมอบอำนาจแก่ประมุขของประเทศพระองค์ใหม่

(อ่านตอน 1 ได้ที่ >> https://facebook.com/100064606066871/posts/pfbid0ndQy499DnkPFHmZZqomTvoCHipyvRGwKP4i8afv9gDEvHNMYLxmc2WpU4izxR8PCl/)

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย


อ้างอิง: Your full guide to King Charles III's coronation, BBC