Wednesday, 24 April 2024
รู้เรื่องเมืองอังกฤษ

ริชชี่ สุหนาก VS เอลิซาเบธ ทรัสส์ จะทำอะไร? หลังได้นั่งแท่นนายกฯ ผู้ดี

อังกฤษกำลังมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ในขณะนี้ โดยที่ทางพรรคได้ส่งบัตรเลือกตั้งออกไปตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและจะปิดหีบการออกเสียงของสมาชิกพรรคลงในตอนบ่ายของวันที่ ๒ กันยายนนี้ และจะรู้ผลการเลือกตั้งในวันที่ ๕ กันยายน ซึ่งหมายความว่าอังกฤษจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันนั้นด้วย 

เพราะพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เป็นพรรครัฐบาลอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน ได้ลาออกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยการที่ส.ส.ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เลือกผู้แข่งขันที่จะเข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาได้สองคน คือ นายริชชี่ สุหนาก ซึ่งได้คะแนนจาก ส.ส. สูงที่สุด (อดีต ร.ม.ต. คลังซึ่งลาออกเพื่อประท้วงความประพฤติของนายบอริส) ตามมา คือ นางเอลิซาเบธ ทรัสส์ รมต.ต่างประเทศ

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้สมัครสองคนนี้ได้ตระเวนหาเสียงไปทั่วประเทศเพื่อแสดงนโยบายของตนว่าถ้าได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะบริหารประเทศอย่างไร ซึ่งถ้าเห็นชอบด้วย ก็ขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีอยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คน

การตระเวนหาเสียงหรือเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนน่าสนใจมาก จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังโดยอาศัยข้อมูลจากรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษ

ที่ได้อ่านมารายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษทำได้ชัดเจนมากทีเดียว โดยได้สรุปนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนมาให้เห็นในด้านต่าง ๆ เช่น Tax & spending, Cost of living, Climate, Brexit, Health & social care, Education, Housing planning, Profile ก็คือ เรื่องภาษีและการใช้งบประมาณ, ค่าครองชีพ, การออกจากสหภาพยุโรป, การสาธารณะสุข, การศึกษา ตลอดจนเรื่องบ้านที่อยู่อาศัย คนไหนสนใจในเรื่องใดก็คลิกเข้าไปอ่านได้หรืออยากจะรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละคนก็หาอ่านได้เช่นกัน ซึ่งก็ละเอียดดี 

อยากจะบอกว่ารายงานข่าวแบบนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ผู้สมัครคนไหนจะทำอะไรเมื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองและรู้ว่าเขาพูดอะไรไว้บ้าง นับว่าเป็นสื่อสารมวลชนที่ส่งสาส์นได้ดีทีเดียว

นโยบายที่บีบีซีรวบรวมมาได้นี้ ก็จากการประกาศของผู้สมัครทั้งสองเอง รวมทั้งการตอบข้อซักถามจากสมาชิกพรรคหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ผู้เขียนจะยกประเด็นสำคัญ ๆ มาให้ท่านได้ทราบบางส่วน

เรามาดูกันว่านาง เอลิซาเบธ ทรัสส์ หรือจะเรียกเธอสั้น ๆ ว่า ลิธ ทรัสส์ ซึ่งมีข่าวว่าขณะนี้เธอกลับมีเสียงนำนายริชชี่ สุหนากอยู่ เธอมีนโยบายสำคัญอะไรบ้าง

เธอประกาศว่าจะกลับไปใช้อัตราการเรียกเก็บภาษีที่เรียกว่า National Insurance ในอัตราเดิม หลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา, สัญญาว่าจะยกเลิกแผนการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า, สัญญาว่าจะเปลี่ยนระบบภาษีให้ง่ายขึ้นเพื่อที่จะช่วยคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูกและญาติที่ชรา, เธอต้องการที่จะสร้างระบบที่เรียกว่า ภาษีต่ำและเขตควบคุมที่ไม่เข้มงวดทั่วประเทศเพื่อที่จะให้เป็นศูนย์กลางของบริษัทใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ, เธอบอกว่าจะไม่ตัดงบใช้จ่ายสาธารณะ เว้นไว้เสียแต่ว่าถ้าการต้องทำเช่นนั้นจะไม่นำไปสู่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, นอกจากนี้เธอจะยับยั้งสิ่งที่เรียกว่า “green levy” คือเงินส่วนหนึ่งที่ประชาชนจ่ายค่าพลังงานและถูกนำไปเป็นค่าสนับสนุนโครงการสีเขียวและสังคม และที่สำคัญคือ เธอจะใช้งบประมาณทางด้านกลาโหมในระดับ ๒.๕% ของ GDP ไปในอีก ๔ ปีข้างหน้า และจะเพิ่มเป็น ๓% ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓

จะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ที่ใกล้ตัวประชาชนคนอังกฤษทั้งสิ้น ทีนี่มาฟังทางด้านคู่แข่งของเธอคือนายริชชี่ สุหนาก ที่เคยเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนว่า นายริชชี่ จะบริหารประเทศอย่างไรบ้าง

นโยบายของนายริชชี่ดูจะตรงกันข้ามกับของนางลิธ ทรัสส์ทีเดียว เพราะหัวใจที่เขายึดมั่นอย่างเหนียวแน่นคือเขาต้องการที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่หมัดก่อน ก่อนที่จะไปลดภาษี นายริชชี่ประกาศว่าในสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ต้องลดและควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้ได้เสียก่อนอื่นใด เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีที่เรียกว่า National Insurance เพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านสุขภาพ,เขายืนยันและต้องการที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก ๑๙% เป็น ๒๕% ในปีหน้า (ภาษีทั้งสองอย่างนี้มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนคนอังกฤษ)

ทำความรู้จัก ‘อักชตา มูรธี’ ภรรยานายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่

เมื่อสามีเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดและหนุ่มที่สุดของสหราชอาณาจักรอังกฤษหมาดๆ,นายริชชี่ ซูนัค, คนอาจใคร่รู้ว่า ภรรยาของเขาคือใคร

Akshata Murty  หรือ อักชตา (อัก-ชะ-ตา) มูรธี วัย ๔๒ เช่นเดียวกับสามีเธอ ทั้งคู่แต่งงานกันในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ และมีบุตรสองคน เราอาจจะคิดว่าเธอเป็นแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งแต่ถ้าเอ่ยชื่อเธอหรือบิดาของเธอในอินเดียแล้ว นั่นหมายถึงบิดาและบุตรสาวฐานะมหาเศรษฐีของอินเดีย

อักชตา ถือหุ้นในบริษัทอินโฟซี Infosys  ๐.๙ % หมายถึงมูลค่า ๗๐๐ ล้านปอนด์ที่เธอเป็นเจ้าของตามรายงานประจำปีล่าสุดของบริษัท นั่นยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นที่เธอและสามีร่วมลงทุนอีกราว ๓๐ ล้านปอนด์

บิดาของอักชตาคือ นารายณ์ มูรธี ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัททางด้านไอทีในอินเดียเมื่อราว ๓๐ ปีที่แล้วกับเพื่อนๆอีก ๖ คนด้วยเงินลงทุนที่ยืมมาจากภรรยาของเขาเพียง ๒๕๐ ดอลล่า ซึ่งเขายังรำลึกถึงบุญคุณของเธอจนปัจจุบัน

และปัจจุบัน Infosys มีสำนักงานใน ๕๐ ประเทศมีพนักงานกว่าหนึ่งแสนคนและมีรายได้หลายพันล้านดอลล่า

ฟังดูแล้วเราอาจจะคิดว่าอักชตา ภรรยาของริชชี่ สุนัคมีชีวิตที่แสนสะดวกสบายมาตั้งแต่ต้นซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวที่บิดาของเธอได้เล่าในเวลาต่อมาว่า

เมื่ออักชตาเกิดอีกในเมืองหนึ่งในเดือนเมษายนปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่บิดาเธอมาทำงานอีกในเมืองหนึ่งกว่าเขาจะรู้ว่าภรรยาเขาให้กำเนิดบุตรสาวก็อาศัยข่าวจากเพื่อนที่รู้จักที่เดินทางมายังเมืองที่เขาอยู่เพราะเขาไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อกับครอบครัว อักชตาอายุได้เพียง ๒-๓ เดือนก็ต้องไปอยู่กับย่า เพราะพ่อและแม่ของเธอต้องไปทำงานที่มุมไบ และหนึ่งปีให้หลังพ่อของเธอก็ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบิล เกตส์แห่งอินเดียในเวลาต่อมา

บิดาของเธอเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูก ๆ และเพื่อให้ลูกสนใจในการศึกษามากที่สุดภายในบ้านจึงไม่มีโทรทัศน์ เขาส่งอักชตาไปเรียนยังวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐด้านเศรษฐกิจและภาษาฝรั่งเศส และเธอยังได้ประกาศนียบัตรด้านแฟชั่นที่เธอสนใจอีกด้วย

เธอเริ่มอาชีพด้านการเงินที่บริษัท Deloitte และ ยูนิลีเวอร์ ต่อมาเธอเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดของสหรัฐ ที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีคือริชชี่ ซูนัค

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ตั้งบริษัทในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ในการที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ อักชตา มีชื่อในธุรกิจหลายอย่างเช่น Digme fitness เครือบริษัทสถานออกกำลังที่จ่ายเป็นรายครั้งที่เข้าเล่น นอกจากนี้เธอยังมีชื่อเป็นผู้อำนวยการบริษัทขายเสื้อผ้าผู้ชายราคาแพงอีกด้วย

นอกจากเรื่องราวชีวิตที่ดูเหมือนเทพนิยายที่ครอบครัวสร้างฐานะร่ำรวยจนกลายเป็นมหาเศรษฐีของประเทศและล่าสุดสามีของเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดของประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจแห่งหนึ่ง เรื่องราวของอักชตาในขณะนี้ก็ยังไม่มีประเด็นที่จะถูกวิจารณ์มากนัก ยกเว้นเรื่องภาษีที่เธอถูกวิจารณ์ว่าน่าจะเสียให้กับประเทศที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่บ้าง

เรื่องของเรื่องก็คือ อักชตา อยู่ในอังกฤษในฐานะ ที่เรียกกันว่า non-dom; non-domiciled individual หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา ซึ่งก็คือคนต่างชาติ(ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช้ประเทศภูมิลำเนาของตน) หรือพูดได้ว่าคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ได้ลงทะเบียนเสียภาษีในประเทศนั้น

ความท้าทายการเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 | รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.1

รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.1

แสดงความคิดเห็นในกรณีวิเคราะห์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ?

.

ดำเนินรายการโดย ธนธร ศิระพัฒน์ (แองจี้) 

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST . 

ความขัดแย้งภายในประเทศสู่การประหารชีวิตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 | รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.2

รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.2 ความขัดแย้งภายในประเทศสู่การประหารชีวิต ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ

.

ดำเนินรายการโดย ธนธร ศิระพัฒน์ (แองจี้)

.

🎥 ช่องทางรับชม Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กษัตริย์ผู้หรรษา กับภารกิจฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ | รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.3

รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.3 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กษัตริย์ผู้หรรษา กับภารกิจฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ

.

ดำเนินรายการโดย ธนธร ศิระพัฒน์ (แองจี้)

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

‘ตำนานรักสละบัลลังก์’ ของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 | รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.4

รู้เรื่องเมืองอังกฤษ EP.4

‘ตำนานรักสละบัลลังก์’ ของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8

.

ดำเนินรายการโดย ธนธร ศิระพัฒน์ (แองจี้)

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ระยะห่างจากพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดาร่วม 70 ปี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของประเทศอังกฤษในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ห่างเหินจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดากว่า 70 ปีที่มีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496

แม้ว่าพระราชพิธีหลักๆ จะยังคงไว้เป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง เช่น จำนวนแขกที่เชิญก็ลดลง, ราชรถพระที่นั่งก็เปลี่ยน, น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้เจิมก็เปลี่ยนสูตรโดยตัดบางอย่างออก

ราชวงศ์อังกฤษนับว่าเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดกันมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและเป็นที่จับตามองของทั่วโลกมาตลอดเวลา ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ครั้งนี้ก็จะเป็นเหตุการณ์ที่คนใคร่รู้ใคร่ดู ส่วนจะมากน้อยเพียงใด หลังพิธีก็อาจจะรู้กัน 

พิธีการที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นมีอะไรบ้าง เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นความรู้รอบตัว ใครได้อ่านได้ดูก็ถือว่าได้ความรู้เพิ่มอีกด้านหนึ่ง และพระราชพิธีเช่นนี้มีขึ้นไม่บ่อยนักเช่นครั้งนี้ก็รอกันมา 70 ปีกว่า

ในรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษได้ลำดับพระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมไว้ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากดังนี้...

เริ่มกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าทางการจะเปิดสถานที่ให้คนเข้าไปจับจองที่ชมขบวนเสด็จผ่านจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยังวิหารเวสมินสเตอร์กลางกรุงลอนดอน

เส้นทางผ่านคือ The Mull และ White Hall เมื่อเส้นทางทั้งสองนี้คนเต็มก็จะขยายไปยัง Hyde Park, Green Park และ St. James Park ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งมีการติดตั้งจอภาพให้ชม

สำหรับแขกที่ได้รับเชิญให้มาชมขบวนนั้นจะมีที่นั่งอยู่หน้าพระราชวังได้แก่ทหารผ่านศึก, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (NHS) และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในขบวนเสด็จครั้งนี้คือ รถม้าพระที่นั่งที่เคยใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่แล้วจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้นทรงใช้รถม้าพระที่นั่งชื่อ Gold State Coach แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกที่จะประทับรถม้าพระที่นั่งอีกคันหนึ่งชื่อ Diamond Jubilee State Coach แทน

ความแตกต่างของรถม้าพระที่นั่งสองคันนี้ น่าสนใจคือ Gold State Coach เก่าแก่อย่างยิ่ง คือสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1972 และถูกใช้เป็นพระราชพาหนะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1831 Gold State Coach นั้นงดงามอร่าอร่ามมากและหนักถึง 4 ตัน ถูกเก็บรักษาไว้ใน The Royal Mews เนื่องจากตัวรถสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการเก็บรักษาอย่างดี

แม้จะสวยงามและเก่าแก่ แต่ตามที่มีข่าวออกมาคือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เคยทรงปรารภว่านั่งไม่สบายนักเพราะเมื่อรถเคลื่อนจะโขยกเขยก

มาดูกันว่ารถม้าพระที่นั่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกคือ Diamond Jubilee State Coach นั้นต่างกันอย่างไร?

ที่แน่ๆ คือใหม่กว่ามากเพราะสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยรัฐบาลออสเตรเลียสร้างถวายเป็นของที่ระลึกในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี งดงามและสบายกว่าเพราะติดแอร์คอนดิชั่นเสียด้วย

ผู้เขียนต้องการให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพพระราชพิธีนี้คร่าวๆ ทั้งหมดก่อนว่าจะมีอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจ เพราะว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อธิบายกันแตกแขนงออกไปอีกในพิธีและสิ่งของที่จะใช้ประกอบ ซึ่งทั้งหมดน่าสนใจและจะกล่าวถึงต่อไป

ดังที่กล่าวมาแล้วคือขบวนเสด็จจากวังบัคกิ้งแฮมมายังวิหารที่จะประกอบพระราชพิธี, ภายในวิหารเวสมินสเตอร์จะมีพิธีการอะไรบ้าง ไปจนกระทั่งเมื่อพิธีเสร็จแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ที่ตอนนี้ได้ผ่านพิธีการบรมราชาภิเษกครบถ้วนแล้วทรงทำอะไรบ้าง

หัวใจของพระราชพิธีผู้เขียนเข้าใจว่ามีอยู่ 2 อย่างคือ พิธีที่ประกอบ และ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ The Regalia ที่จะใช้ประกอบ

วิหารเวสมินสเตอร์แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่บรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1066 จำนวน 39 พระองค์และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระองค์ที่ 40 

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จะใช้ในการนี้ บีบีซีภาษาอังกฤษอ้างถึง The Royal Family เว็บไซท์ที่เขียนว่า อังกฤษยังเป็นประเทศในยุโรปประเทศเดียวที่ยังใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีนี้

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ St. Edward, ลูกโลกOrb, คทาที่มียอดเป็นไม้กางเขน Sceptre with Cross, และ คทาที่มียอดเป็นนกพิราบ Sceptre with Dove นอกจากนี้ก็ยังมีพระธำมรงค์หรือแหวนที่จะถวายให้สวมอีกด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ วินาทีเสด็จขึ้นประทับพระราชบัลลังก์ The enthronement

เมื่อ 70 ปีที่แล้วชาวอังกฤษได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (2 มิถุนายน 2496) การถ่ายทอดครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีเสียงคัดค้านว่าไม่ควรที่จะถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในพระราชพิธีที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ เพราะเป็นของสูงและคนชมอาจจะไม่สำรวมพอในระหว่างที่ชม

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีฯ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่มากคือทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ทรงมีพระราชานุญาตให้สถานีบีบีซีที่พร้อมและสามารถที่จะเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกได้ ชาวอังกฤษจึงมีโอกาสชมพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ของตนทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

และเช่นกันในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอนก็จะมีพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามโบราณราชประเพณีเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ผ่านการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยพิธีการทางศาสนาและท่ามกลางมหาสมาคม

พระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ตามรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษบอกว่าแม้จะใช้เวลาราวๆ สองชั่วโมง แต่ก็มีการตัดทอนให้กระชับกว่าเดิม

เวลา 11 โมงเช้าเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลล่าเสด็จมาถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จเข้าทางประตูที่เรียกว่า The Great West Door ที่นั่นผู้นำทางศาสนา, ผู้แทนพระองค์, ผู้แทนจากประเทศในเครือจักรภพและนายกรัฐมนตรีอังกฤษรับเสด็จและนำเสด็จเข้าไปในวิหาร

>> พระราชพิธีแรกที่เริ่มขึ้นเรียกว่า The Recognition หรือการยอมรับ
ในที่นี่พระเจ้าชาร์ลส์จะแสดงพระองค์ต่อที่ชุมนุมโดยจะประทับยืนข้างๆ พระเก้าอี้ราชาภิเษก Coronation Chair (บางที่ก็เรียกว่าบัลลังก์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่มีอายุถึง 700 ปีทำด้วยไม้) พระองค์จะหันพระพักตร์ไปยังทั้งสี่ทิศและจะมีเสียงประกาศว่า Undoubted King คือ กษัตริย์ที่แท้จริงและผู้ที่ชุมนุมในที่นั้นจะแสดงความเคารพและความจงรักภักดี

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่ Archbishop of Canterbury หรือจะเทียบกับทางพุทธก็คือสมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นผู้ประกาศคนแรก ต่อมาผู้ที่ชุมนุมในที่นั่นจะตะโกนว่า “God Save the King” พิธีการนี้อังกฤษทำมาตั้งยุคแองโกลแซกซัน

>> ในขั้นตอนที่ 2 คือการให้คำสาบาน The Oath
พระราชพิธีในขั้นตอนนี้คือจะทรงให้คำมั่นสัญญาอยู่สองคำสัญญา อันแรกเรียกว่า the Coronation Oath อันเป็นข้อกำหนดไว้ในกฎหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสาบานในเรื่องนี้โดยท่านอาร์ชบิชอปจะเป็นผู้นำกล่าวคำสาบานและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำยืนยันว่าจะส่งเสริมและรักษากฎหมายและศาสนจักร Church of England ตลอดการครองราชย์สมบัติ ส่วนในคำสาบานอีกครั้งที่สองเรียกว่า The Accession Declaration Oath คือคำประกาศว่าจะซื่อสัตย์ต่อนิกายโปรเตสแตนต์

เมื่อมาถึงพระราชพิธีตอนที่ 3 คือพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือ the anointing พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้เพื่อรับการถวายน้ำมันเจิมจากท่านอาร์ชบิชอป ก่อนที่พิธีจะเริ่มเจ้าพนักงานจะนำฉากมากั้นรอบพระองค์ เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็น เพราะพิธีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็น แต่มีการอธิบายว่าท่านอาร์ชบิชอป จะรินน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากภาชนะใส่น้ำมันเพื่อทำพิธีกรรม The Ampulla ลงในช้อน The Coronation Spoon (ช้อนราชาภิเษกอันนี้ถือว่าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือรอดจากการทำลายของ โอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากชนะในสงครามกลางเมืองของอังกฤษ) และจะทรงเจิมที่พระนลาฏ, พระอุระ และพระหัตถ์ทั้งสอง

พระราชทรัพย์กษัตริย์แห่งอังกฤษมาจากไหน? จำนวนเท่าไร? ใช้ไปกับอะไร? เสียภาษีหรือไม่?

เมื่อหลายสิบปีมาแล้วมีรายงานข่าวว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ทรงเป็นผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก ด้วยทรงมีพระราชทรัพย์อันเป็นที่ดิน, พระราชวัง, ภาพวาดหายาก, เครื่องเพชรและยังรวมถึงฟคอกม้าอีกด้วย ซึ่งถ้าจะตีความแบบเหมารวมเช่นนั้นสมเด็จพระราชินีก็อาจจะทรงร่ำรวยจริง

แต่ต่อมาก็มีการอธิบายขยายความว่า ที่จริงแล้วต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนในพระราชทรัพย์ที่ทรงมีอยู่ เพราะว่าบางอย่างไม่ใช่ของท่าน แต่เป็นของแผ่นดินอังกฤษที่ตกทอดกันมาตามสายของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์สมบัติ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่หรือได้มาโดยจะทรงซื้อขายได้ตามพระประสงค์

เรื่องความร่ำรวยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ มักจะเป็นข่าวที่คนชอบอ่านเพราะคนใคร่รู้ว่าท่านมีเงินมากน้อยแค่ไหนและได้มาจากไหนบ้าง บางคนอ่านแล้วก็พลอยยินดีปรีดากับทรัพย์ศฤงคารที่มากมายเหล่านั้นและอาจจะเคลิ้มว่าน่าจะเป็นของตนบ้างในชีวิตชาติหน้า

เร็วๆ นี้ผู้เขียนได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งของบีบีซีภาษาอังกฤษชื่อข่าวว่า Royal finance: Where does the king get his money? เขียนโดย Tom Edgington and Jennifer Clarke ผู้เขียนทั้งสองเริ่มด้วยข่าวที่รัฐบาลอังกฤษจะถวายเงินอุดหนุนประจำปีที่เรียกว่า Sovereign Grant หรือเดิมเรียกว่า Civil List เท่ากับปีงบประมาณ ค.ศ. 2021-2022 คือจำนวน 86.3 ล้านปอนด์ (คูณด้วย 44 บาทก็ตกราว 3,800 ล้านบาท)

ข่าวชิ้นนี้ทำให้รู้เกี่ยวกับพระฐานะการเงินของราชวงศ์อังกฤษ ว่ามีอะไรบ้าง และจำนวนเท่าใด เมื่อรู้แล้ว ก็ทำให้รู้ว่าท่านร่ำรวยอยู่ไม่น้อย 

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ผู้เขียนขอสรุปว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะมีรายได้อยู่ 2 ส่วนหลักคือ...

1. จากรัฐบาลอังกฤษถวายที่เรียกว่าเงินอุดหนุนและเงินจากที่ดินส่วนพระองค์ Private Estate โดยการให้เช่า

>> ลองมาดูกันว่าในส่วนเงินอุดหนุนประจำปีที่รัฐบาลอังกฤษถวายนี้มีที่มาอย่างไร?

รายได้ส่วนนี้ จะมาจากเงินงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนที่รัฐบาลตั้งขึ้น โดยเดิมทีเรียกกันว่า Civil List หรือเงินปี ซึ่งแต่เดิมจะกำหนดยอดเงินตายตัวว่ารัฐบาลจะถวายทุกปีจำนวนนี้ 

แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเปลี่ยนชื่อเงินปี เป็น Sovereign Grant หรือเรียกว่าเงินอุดหนุน โดยมีการพิจารณาหรือคำนวณยอดเงินที่จะถวายแต่ละปีเสียใหม่คือ คำนวณจากผลกำไรของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (The Crown Estate คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษแต่ว่าดำเนินการอิสระ มีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาดูแล) กำไรที่ได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้ จะส่งตรงให้กระทรวงการคลังและรัฐบาลอังกฤษ โดยจะใช้ยอดเงินที่เป็นกำไรนี้ มาเป็นบรรทัดฐานในการคำนวนเงินที่รัฐบาลจะถวายแก่พระราชวงศ์อังกฤษ

ยิ่งไปกว่านั้น The Crown Estate หรือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นี้ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินแต่จะเป็นการตกทอดจากแผ่นดินสู่แผ่นดินเท่านั้น จะทรงซื้อขายไม่ได้

อย่างไรก็ดีจากรายงานล่าสุดของข่าวบีบีซีชิ้นนี้บอกว่า รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาทบทวนจำนวนเงินอุดหนุนที่จะถวายเสียใหม่อีกครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คือ รัฐบาลจะถวายเงินอุดหนุนเป็นจำนวน 12% จากผลกำไรของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ The Crown Estate และจะยืน 12% นี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2527 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการซ่อมแซมพระราชวังบักกิงแฮม อันเป็นโครงการซ่อมแซม 10 ปี (ใช้เงินราว 379 ล้านปอนด์) หลังจากปีนั้นแล้วก็มาพิจารณากันใหม่อีกที

>> ท่านผู้อ่านคงอยากทราบแล้วว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อังกฤษนั้น ท่านมีอยู่มากน้อยเท่าใด? 

เมื่อปีที่แล้ว ค.ศ. 2022 มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อังกฤษว่ามีอยู่ราว (16.5 bn ปอนด์) กว่าหนึ่งหมื่นหกพันล้านปอนด์ โดยเป็นอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอน, รวมทั้ง Regent Street, อันเป็นย่านช้อปปิ้งชื่อดังของอังกฤษ และที่ดินชายฝั่งอังกฤษอีกเกือบครึ่งหนึ่ง, ในเวลส์ และไอแลนด์เหนือ (ที่ดินเหล่านี้มีมูลค่าราวแปดพันล้านปอนด์)

>> นั่นก็เป็นเงินที่รัฐบาลจัดถวาย แต่เมื่อถวายแล้วเงินจำนวนนี้จะมีการใช้จ่ายอย่างไร?

พระราชวังจะใช้ไปในงานราชพิธีที่เสด็จออกสมาคมให้ประชาชนเฝ้าเช่นงานเลี้ยงรับรอง, งานพระราชทานรางวัลและงานสมาคมในสวน Garden Party เช่น Garden Party ในพระราชวังบักกิงแฮมอันเป็นงานที่ประชาชนที่ได้รับคัดเลือกจากการทำงานเพื่อสังคม หรือประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ จะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ โดยมีการนับว่าในรอบปีที่ผ่านมาพระราชวงศ์จะเสด็จออกงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวน 2,700 ครั้ง มีงานที่จัดขึ้นตามวังหรือตำหนักที่ประทับของพระราชวงศ์อีก 330 ครั้ง มีแขกที่ได้รับเชิญเกือบหนึ่งแสนคน และนอกจากเงินที่ใช้ไปในการจัดงานแล้ว ก็จะเป็นค่าจ้างพนักงานและดูแลอาคารที่ประทับ สรุปคือ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลถวายจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั่นเอง

2. ในส่วนรายได้หรือพระราชทรัพย์หลักอีกทางหนึ่งและมากโขอยู่ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษก็คือการเป็นเจ้าของที่ดินส่วนพระองค์ในตำแหน่ง Duchy of Lancaster และ Duchy of Cornwall

พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในฐานะที่เป็น 'ดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์' จะทรงเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 18,000 เฮกตาร์ กินพื้นที่ในแลงคาสเตอร์และยอร์กเชอร์ รวมถึงที่ดินในกลางกรุงลอนดอนด้วย ที่ดินเหล่านี้มีมูลค่า 654 ล้านปอนด์และทำเงินในการให้เช่าปีละประมาณ 20 ล้านปอนด์

สำหรับผลประโยชน์อีกตำแหน่งหนึ่งคือ 'ดัชชีแห่งคอนวอลล์' นั้น กำหนดว่า ผู้ใดที่ดำรงตำแหน่ง ดยุคแห่งคอนวอลล์ ซึ่งปัจจุบันคือ เจ้าชายวิลเลียมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งนี้ โดยเป็นผู้ถือครองที่ดินทางตะวันตกฉียงใต้ของอังกฤษอันมีมูลค่า 1,000 ล้านปอนด์และทำรายได้สุทธิในปีนี้ 24 ล้านปอนด์

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าชายวิลเลียมจะทรงได้รับเงินรายได้จากที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวโดยตรงและสามารถใช้ตามที่มีพระประสงค์ เพราะเป็นเงินจากที่ดินที่เป็นสิทธิ์ตามฐานะของท่าน ไม่ใช่เงินจากภาษีของประชาชน แต่ไม่สามารถที่จะขายที่ดินเหล่านี้ได้

***นอกจากเงินจากทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษและพระราชวงศ์ ก็จะมีทรัพย์ส่วนพระองค์ เช่นพระราชวังบ้าง ภาพวาดบ้าง เครื่องเพชรและของมีค่ามีราคาอื่น ๆ ซึ่งได้มาจากการซื้อด้วยเงินส่วนพระองค์

แน่นอนจะเห็นได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงมีฐานะทางการเงินดีไม่น้อย

และเพื่อให้ประชาชนคนอังกฤษเห็นว่า ท่านไม่เอาเปรียบ...ในปี ค.ศ. 1992 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสมัครพระทัยที่จะเสียภาษีเงินได้ที่เกิดจากรายได้ส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าชายวิลเลียม

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

อ้างอิง: BBC news, Royal finances: Where does the King get his money?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top