Saturday, 4 May 2024
พระเจ้าชาร์ลส์ที่3

God Save the King รู้จัก ‘พระเจ้าชาร์ลสที่ 3’ กษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชวงศ์อังกฤษ

วันที่ 8 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า สหราชอาณาจักรเข้าสู่รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต และมีผลให้คำถวายพระพรและเพลงชาติของอังกฤษ เปลี่ยนจาก God Save the Queen เป็น God Save the King

สำหรับพระราชประวัติ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 พระชนมพรรษา 73 พรรษา พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 (พ.ศ. 2491) เป็นพระราชโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป มีพระขนิษฐา 1 พระองค์คือ เจ้าหญิงแอนน์ และพระอนุชา 2 พระองค์ คือเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด 

ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อพระชันษา 10 ปี และขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1 เมื่อเจริญพระชันษา 21 ปี

ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าศึกษาที่โรงเรียน ณ โรงเรียนฮิลล์ เฮ้าส์ กรุงลอนดอน จากนั้นศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์กเชอร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมื่อครั้งวัยหนุ่ม ทรงถูกจับตาเรื่องการเลือกคู่ครองและเป็นข่าวหลายครั้ง รวมถึงกับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ที่มีข่าวว่าสนิทสนมเป็นพิเศษ แต่ไม่อาจลงเอยได้ เพราะติดขัดที่กฎระเบียบราชสำนัก

ต่อมาทรงหมั้นกับ เลดี้ ไดอานา แห่งตระกูลสเปนเซอร์ วัย 19 ปี หญิงที่เจ้าชายฟิลิป พระบิดาสนับสนุน ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีพระชนมพรรษา 30 พรรษา โดยมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระโอรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ท่ามกลางชีวิตสมรสที่มีปัญหาและเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง โดยมี คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ เข้ามาพัวพันด้วย

ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ทั้งสองพระองค์หย่าร้างกัน และหนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงไดอานาก็สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 31 ส.ค. กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกไปทั่วโลก และราชวงศ์อังกฤษต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อขานรับความโศกเศร้าของประชาชนต่อการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา

แปดปีจากนั้น หลังจากสังคมเปลี่ยนไปและมีกระแสต้านลดลง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงอภิเษกอีกครั้งกับ คามิลลา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ. 2548) โดยคามิลลาทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ 

ในพระราชพิธีฉลองควีนครองราชย์ครบ 70 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ควีนทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง หวังให้คามิลลาขึ้นเป็นราชินี เคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อขึ้นครองราชย์

อย่างไรก็ตาม หลังควีนเสด็จสวรรคตวันที่ 8 กันยายน คำที่ใช้เรียก คามิลลา ในนาทีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ยังคงเป็นคำว่า queen consort ซึ่งหมายถึงราชินีคู่สมรส

สำหรับการตัดสินพระทัยแรกของพระองค์ คือการเลือกพระนามที่จะทรงใช้ในฐานะกษัตริย์ 4 ชื่อ จากพระนามเต็ม ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ และพระองค์ทรงเลือกใช้พระนาม 'ชาร์ลส์' 

ทั้งนี้ ทรงเป็นกษัติร์ย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ที่ 3 ที่เลือกใช้พระนาม ชาร์ลส์ จึงมีพระนามในฐานะกษัตริย์ว่า “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” หรือ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3”

คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันเสาร์นี้ (10 ก.ย.) โดยสภาภาคยานุวัติหรือสภาการสืบราชบัลลังก์ ประกอบด้วยคณะองคมนตรี คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน ข้าราชการระดับ ข้าหลวงใหญ่เครือจักรภพ และนายกเทศมนตรีลอนดอน

ในพิธีการ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในลอนดอน ประธานองคมนตรีแห่งสภาองคมนตรีจะประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

จากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จร่วมพิธีการกับสภาภาคยานุวัติ เพื่อทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งมักมีข้อความตามธรรมเนียมโบราณปะปนอยู่ด้วย เช่น จะทรงปฏิญาณว่า จะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

ต่อจากนั้น จะมีการอ่านประกาศต่อสาธารณชนจากระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยจะมีเสียงสรรเสริญขึ้นว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา (God save the King)” และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1952 ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีชื่อเดียวกับข้อความสรรเสริญดังกล่าว จะเปลี่ยนเนื้อที่ร้องว่า “God save the Queen” เป็น “God Save the King”

นอกจากนี้ จะมีการยิงสลุตในไฮด์พาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และขบวนเรือหลวง และคำประกาศที่ว่าพระเจ้าชาร์ลส์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะถูกอ่านในเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ ด้วย

พระราชพิธีสุดท้าย สิ้นสุดรัชสมัย 'สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒' สู่ศักราชใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓' ด้วยพระชนมายุ ๗๓ ปี

ในวันสุดท้ายของพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ให้รายละเอียดกับสื่อมวลว่ามีหมายกำหนดการอะไรบ้าง ซึ่งน่าสนใจอยู่มาก

ผู้เขียนได้อ่านรายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษที่เขียนว่า The State Funeral ครั้งนี้ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมากันเลยทีเดียว

หลังจากการตั้งพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วันให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้าถวายสักการะและอาลัยที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้ว จะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปยังวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ด้วยรถปืนที่เคยใช้เคลื่อนพระบรมศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้าจอร์จที่ ๕ และพระเจ้าจอร์จที่ ๖ มาแล้ว 

ในครั้งนี้จะมีทหารเรือจำนวน ๑๔๒ นาย เป็นคนลากรถปืน (ขอเล่าประวัติการที่ทหารเรือเข้ามามีบทบาทในการลากรถปืนพระบรมศพนี้เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระราชินีวิคตอเรีย โดยดั้งเดิมมักจะใช้ม้าเป็นผู้ลาก แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียขึ้น โดยม้าที่ใช้ลากเกิดตกใจยกขาหน้าขึ้นจนเกือบทำให้หีบพระบรมศพตก ดังนั้นเมื่อใช้ม้าไม่ได้จึงใช้ทหารเรือที่อยู่ในขบวนเข้ามาลากรถปืนพระบรมศพแทนนับตั้งแต่นั้นมาและเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง)

เหมือนเช่นการเคลื่อนพระบรมศพในวันพุธที่ ๑๔ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จะเสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพพร้อมกับเจ้าชายวิลเลี่ยม ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร, เจ้าชายแฮร์รี่ และปีเตอร์ ฟิลิปส์ พระโอรสของเจ้าหญิงแอนน์ ไปยังวิหาร

เนื่องจากเป็นงานรัฐพิธีของประมุขของประเทศ สำนักพระราชวังบักกิงแฮม จึงได้เชิญแขกต่างประเทศมาร่วมในงานด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นพระประมุขและทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินี อาทิ พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป, หรือพระประมุขของประเทศในเอเซีย, ประธานาธิบดี, ผู้นำประเทศหรือผู้แทนทั้งหมด จำนวน ๒,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้จะเป็นแขกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและทำคุณงามความดีของประเทศอังกฤษเข้าร่วมด้วยจำนวน ๒๐๐ คน

มีการเปิดเผยจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่า ในขั้นตอนของพระราชพิธีพระบรมศพนี้นั้น ทางสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ตอนที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ทรงทราบในรายละเอียดด้วยและสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงให้เพิ่มคือ ทรงให้มีการเป่าปี่สก็อตปิดท้ายในพระราชพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์

ซึ่งท่านผู้อ่านอาจได้เห็นขบวนนำพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่สง่างามของเหล่าทหารปี่สก็อต, ทหารไอริช, ทหารอากาศและทหารอาสากูรข่า ส่วนสองข้างทางก็จะมีทหารเรือ, นาวิกโยธิน และทหารกองเกียรติยศยืนเรียงรายและมีวงดนตรีของทหารบรรเลงกันบ้างแล้ว

สำนักพระราชวังได้ประกาศเส้นทางที่ขบวนพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านหลังพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์ออกมาแล้วโดยจะเป็นเส้นทางภายในกลางกรุงลอนดอนและเส้นทางไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ อันเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะมีพระราชพิธีสำคัญที่สุดในโบสถ์ เซนต์ จอร์จ คือการส่งดวงพระวิญญาณและพิธีการฝังพระศพ

คาดว่าในวันนั้นจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้ชมกันจนจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ โดยสิ้นเชิง

อังกฤษจะเริ่มศักราชใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์แบบไหน ภายใต้ความท้าทายของอังกฤษยุคใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ของอังกฤษ ที่เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้จะมีทิศทางในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ท่านจะดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระมารดาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ หรือจะทรงมีแนวทางของพระองค์เอง

จากที่ได้อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษมา พอจะประมวลได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่ท่านคงจะมีกุศโลบายของพระองค์เองเป็นหลัก และดำเนินรอยตามพระมารดาในสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นผลดีอยู่แล้ว เห็นมีการวิเคราะห์กันว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่คงจะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่น ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะทรงรั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาอย่างยาวนานที่สุดถึง ๕๒ ปี อย่าลืมกันนะคะว่า ปีนี้พระชนมายุ ๗๓ พรรษาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นและทรงเจอกับปัญหาทั้งบวกและลบมาพอสมควร 

ประกอบกับระยะเวลาอันยาวนานที่พระมารดาดำรงฐานะพระประมุขของประเทศถึง ๗๐ ปี ทรงพบปะเจอะเจอกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเองถึง ๑๕ คนและประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๑๔ คน และผู้นำของประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงทรงได้เรียนรู้การงานภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างเต็มที่แล้วและจากนี้ต่อไปการที่จะต้องทรงงานด้วยพระองค์เอง คงทรงทำได้และอาจทำได้ดีอีกด้วย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปได้ทราบหรือคนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทราบกันดีคือ พระนิสัยที่ทรงชอบวิจารณ์หรือเสนอแนะในเรื่องต่างๆต่อรัฐบาลอังกฤษ มีหลายเรื่องหลายประเด็นเช่นการเกษตร ท่านสนับสนุนการเกษตรอินทรีจนมีโครงการของตัวเอง,เรื่องผังเมือง,สถาปัตยกรรม,การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องการสงวนรักษาพันธุ์ปลา ดังนั้นเมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐบาลอีกหรือไม่

แน่นอน แต่อาจจะเปลี่ยนจากการส่งโน๊ตไปถึง แต่ท่านจะสามารถพูดโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้เลย เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ ในการเข้าเฝ้านั้นพอที่จะทราบกันว่าจะต้องเป็นการหารือข้อราชการงานเมืองทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีอาจจกราบทูลในเรื่องต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินควรทรงทราบและพระองค์ท่านก็จะทรงแสดงความคิดเห็น ส่วนรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ ก็ได้เพราะอำนาจในการบริหารเป็นของรัฐบาล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของการหารือนะคะ ไม่มีใครทราบ

ทีนี้สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารท่านกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรทำหรือจัดการกับเรื่องนั้นหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทรงอยากจะเสนอแนะในเรื่องใดจะทรงส่งลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ไปถึงรัฐมนตรีคนนั้นจนมีการเอ่ยกันในรัฐบาลว่ามีใครได้รับ “Black Spider Memos” บ้าง

อันหมายถึงลายพระหัตถ์ยุ่งๆเหมือนใยแมงมุมนั่นเอง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านมีความมั่นพระทัยมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น ทีนี้มี reaction ต่อ Black Spider Memos นี้กันอย่างไร ตามที่บทความบีบีซีภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาบอกว่า การที่ได้รับจดหมายข้อความจากท่าน เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน แต่เห็นว่าเป็นเพียงความต้องการที่อยากจะให้เกิดการกระทำในเรื่องนั้นเท่านั้น และไม่ใช่การที่จะนำไปสู่การขัดแย้งใด เป็นเพียงการเสนอความเห็นของพระองค์และ ไม่เป็นการแทรกแซงหรือบังคับ

ในตอนนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล เมื่อนักข่าวทูลสัมภาษณ์ท่านประเด็นนี้ ท่านตอบดีมาก คือ “ถ้าหากเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ฉันก็ภูมิในทีเดียว”

“If that's meddling, I'm very proud of it." But he acknowledged that he was in "a no-win situation.”

แต่ก็ทรงยอมรับว่าท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายหรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงทราบดีว่าพระองค์อยู่ในฐานะพระประมุขเท่านั้น แต่ท่านก็พูดเหมือนจะประชดประชันในทีครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนก็จะบ่นว่าไม่ทำอะไร แต่ถ้าพยายามหรือยืนกรานที่จะช่วยทำอะไรในสิ่งที่เห็น อีกนั่นแหละก็จะถูกบ่นว่าเช่นกัน”

ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งคนละเวลานะคะ ทรงบอกว่า พระองค์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองของพรรคต่างๆ คือไม่สนับสนุนหรือติเตียนพรรคใด แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องพูดออกไปในปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าใจสังคมอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดีก็มีนักการเมืองบางคนที่เข้าใจในความคิดของเจ้าชายอยู่เหมือนกัน  อดีตรัฐมนตรีของพรรคเลเบอ คนหนึ่งเล่าว่าหลังจากที่เขาได้สนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าท่านมีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องที่คิดและยินดีที่จะเสี่ยงที่จะแหย่เท้า (พระบาท)เข้าไปในเรื่องที่ทรงเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่โชคไม่ดีมีปัญหา, ไม่พอใจกับชีวิตหรือการสิ้นหวัง มีพระประสงค์ที่จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีพรรคเลเบอคนนี้บอกว่า เขาประทับใจกับการใส่พระทัยในปัญหาวัยรุ่นของพระองค์มากทีเดียว ซึ่งอันที่จริงเขาบอกว่าในตำแหน่งมกุฎราชกุมารอาจจะไม่ต้องสนใจในเรื่องเหล่านี้ก็ได้สามารถดำรงตำแหน่งสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแก้ไขไป
แต่ท่านก็ไม่ยอมอยู่สบายๆ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือองค์ประธานองค์กรต่างๆ ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง และองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์อย่างมากคือ การตั้ง the Prince’s Trust อันเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือวัยรุ่นโดยเฉพาะขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ที่ได้จากกองทัพเรือมาตั้งกองทุนนี้

The Prince’s trust ช่วยวัยรุ่นด้อยโอกาสจากพื้นที่ที่ยากจนทั่วประเทศในด้านการประกอบอาชีพ มาแล้ว ๙ แสนกว่าคน การตั้งองค์กรนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระอิสริยยสในขณะนั้นเห็นปัญหาที่หลากหลายของสังคมของประเทศของพระองค์โดยตรง แต่ทรงเล่าว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้ความเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงมหาดไทยนัก เพราะมหาดไทยเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การช่วยเหลือนี้สำเร็จได้เพราะเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงท้อถอย ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงบอกว่า ท่านประสูติในฐานะเจ้าฟ้าชายและต่อมาเป็นมกุฎราชกุมาร ดังนั้นจึงทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและจะทำทุกอย่างที่ทรงทำได้

แน่นอนคนอาจจะเห็นว่า คำพูดจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านทำจริง ตามที่เป็นข่าวจะเห็นว่าทรงแสดงความเห็นถึงการเป็นนักปฏิรูปที่อึดอัดกับการที่เห็นบางชุมชนถูกปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งให้ล้าหลังไม่มีการพัฒนา ซึ่งการที่ท่านพูดแต่ละทีก็เป็นข่าวกระตุ้นได้บ้างเหมือนกัน

การให้ความสำคัญต่อส่วนรวมไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น มีคนที่ทำงานกับท่านคนหนึ่งเล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากท่านตอนราว ๓ ทุ่มเมื่อทรงทราบข่าวน้ำท่วมในปากีสถาน
Hitan Mehta, ฮิทาน เมตตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยท่านตั้งองค์กรที่เรียกว่า The British Asian Trust คือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอังกฤษกับประเทศในเอเชีย เธอเล่าว่าในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง ราวสามทุ่มได้รับโทรศัพท์จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงบอกว่าพระองค์ทราบข่าวเกิดน้ำท่วมในปากีสถานและถามเธอว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เมตตาบอกว่าท่านมีงานอื่นมากมายแต่ก็ยังเมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนในปากีสถานและแม้จะมืดค่ำก็ยังทรงถามไถ่เธอมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ท่านเป็นคนที่มีมนุษยธรรมอย่างจริงใจ

ความจริงจังและจริงใจนี้เมื่อฟังเจ้าชายแฮรี่พระโอรสเล่าถึงพระบิดาได้ฟังแล้วก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เจ้าชายแฮรี่บอกว่า พระบิดามักจะเสวยพระกระยาหารค่ำค่อนข้างดึก หลังจากเสวยเสร็จก็จะเสด็จไปที่โต๊ะทรงงาน แล้วก็จะหลับคาสมุดโน้ตของพระองค์

อีกด้านหนึ่ง  พระราชินีคามิล่าได้เล่าในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในวันครบรอบวันประสูติ ๗๐ ชันษาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๓ ว่า ท่านเป็นคนที่พระทัยร้อนมาก ถ้ามีพระประสงค์จะทรงงานอันใดแล้ว คืองานนั้นต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือใจร้อนจนรอให้งานเสร็จวันนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรให้เสร็จโดยเร็วนั่นเอง
แต่ว่าเมื่ออยู่กับหลานๆ คือพระโอรสธิดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมจะทรงหลอกล้อกับเด็กๆ หรืออ่านแฮรี่ พอตเตอร์ให้ฟัง ทรงทำเสียงตามตัวละครให้ด้วย

อังกฤษในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง มีประชากรหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บร็อคดานอร์ Vernon Bogdanor ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ คาดว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะสามารถเข้าถึงประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อถือได้อย่างดีเพราะทรงคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานและจะทรงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศได้ และจะสามารถเชื่อมกลุ่มชนที่ด้อยทางสังคมหรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ก้อมีการคาดหวังอีกด้วยว่าในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ, ด้านดนตรีและวัฒนธรรม งานเหล่านี้คงอยู่ในสายพระเนตรที่จะได้รับความสนใจและสนับสนุน แต่คาดกันว่าเรื่องม้าแข่งอาจจะไม่มากเท่ากับสมเด็จพระมารดาค่ะ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะไม่ทอดทิ้งเพราะอยู่ในความสนพระทัยมากและมานานแล้วคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เรื่องนี้พูดกันว่าพระองค์ได้แสดงความห่วงใยและพูดถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาก่อนคนอื่นๆ ทรงเป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาร่วมมือกันแก้ไข เมื่อปีที่แล้วได้ทรงเข้าร่วมการประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ทรงพบกับประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทูลว่าให้พระองค์ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

Sir Lloyd Dorfman ผู้ที่ถวายงานมานานเห็นว่าเรื่อง Climate change นี่พระองค์อาจจะยังคงผลักดันต่อไปแต่อาจจะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเหมือนที่ผ่านมา

‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ ยกเลิกแผนการเยือนฝรั่งเศส แผนสุดแสบจากผู้ประท้วง ที่ทำ ‘ผู้นำ-รัฐบาล’ หน้าแหก

(25 มี.ค.66) ในที่สุด ‘เอ็มมานูเอล มาครง’ ผู้นำฝรั่งเศส ก็ต้องยอมถอย เมื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงจากการประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงาน ที่ออกมาต่อต้านกฎหมายระบบบำนาญใหม่ของเขาอย่างไม่ยอมถอย และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วกรุงปารีส และเมืองใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ 
.
แต่ที่ว่าถอย ไม่ได้หมายถึงยอมถอดกฎหมายบำนาญฉบับใหม่ แต่เป็นการพูดคุยกับฝ่ายสำนักพระราชวังบักกิงแฮมแห่งอังกฤษ เพื่อขอยกเลิกหมายกำหนดการเยือนฝรั่งเศสของ ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ พร้อมด้วย ‘สมเด็จพระราชินีคามิลลา’ ที่จะเป็นการเสด็จเยือนฝรั่งเศสครั้งแรกในสมัยของพระองค์
.
และก็เป็นไปตามที่คาด การเสด็จเยือนฝรั่งเศสของพระองค์จำเป็นต้องเลื่อนไปก่อน หากแต่หมายกำหนดการเดินทางเยือนเยอรมนียังคงไว้ตามเดิม ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลให้ทั้ง เอ็มมานูเอล มาครง และรัฐบาลฝรั่งเศสเสียหน้าไม่น้อยเลย โดยทำได้แต่กล่าวปลอบใจตัวเองออกสื่อว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และยังเป็นมิตรภาพกันเสมอ
.
ก็อย่างว่า รัฐบาลฝรั่งเศส จะต้อนรับบุคคลระดับประมุขแห่งรัฐที่มาเยือนได้ยังไงในนาทีนี้ หากยังมีการประท้วงกันอย่างดุเดือดทั่วประเทศ แถมท้องถนนในกรุงปารีสตอนนี้ยิ่งกว่าเละเทะ ขยะเต็มเมือง ซากรถยนต์ถูกทุบ ถูกเผาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่นับการเดินขบวนประท้วง ปะทะกับเจ้าหน้าที่แบบไม่ลดราวาศอก

อันที่จริง ไอเดียแสบทรวงเรื่องการประท้วงนี่ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบบังเอิญต่อข้อเรียกร้องเรื่องกฎหมายระบบบำนาญใหม่แบบไร้เชิง แต่ต้องยกให้หัวคิดคนฝรั่งเศสที่มีเป้าหมายใช้การประท้วงมามีส่วนล้มหมายกำหนดการเยือนฝรั่งเศสของกษัตริย์อังกฤษมาตั้งแต่แรก เพื่อฉีกหน้ามาครง 

โดยเริ่มจากการข่มขู่ ให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อย่าเข้าใกล้พระราชวังแวร์ซายส์ ถ้าไม่อยากเจอดี ซึ่งมีการเขียนกำแพงด้วยข้อความว่า “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ท่านรู้จัก ‘กิโยติน’ หรือไม่?” และยังลากเครื่องประหารกิโยตินจำลองมาวางไว้หน้าวังแวร์ซายส์ ที่ตั้งใจจะสื่อว่าเอาไว้สำเร็จโทษพระเจ้ามาครง (ซึ่งมาครงถูกเปรียบเทียบกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่โดนสำเร็จโทษด้วยกิโยตินในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส)

และด้วยมุกกิโนติน ทีเล่น ทีจริง ที่บริเวณหน้าวังแวร์ซายส์นี่เอง ที่ทำให้ทางการฝรั่งเศสต้องยกเลิกงานเลี้ยงกาล่าดินเนอร์รับเสด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และราชินีคามิลล่า เพราะไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าวันงานจริง ผู้ประท้วงจะยกทัพใหญ่มา ละลาบ ละล้วง จาบจ้วงอะไรบ้าง

นอกจากนี้ หากมองข้ามไปถึงแผนการเสด็จเยือนเมือง Bordeaux ที่เป็นแหล่งผลิตไวน์ชื่อดังในฝรั่งเศส และจะประทับรถรางของเมืองด้วยนั้น ก็ปรากฏว่า พนักงานรถรางประท้วงหยุดงาน ไม่ยอมวิ่งรถรางให้ด้วย และล่าสุดอาคารศาลาว่าการเมือง Bordeaux ก็ถูกผู้ประท้วงจุดไฟเผาไปเรียบร้อยแล้ว

เหล่านี้ จึงแลดูสมควรแก่เหตุให้ยกเลิกแผนการเสด็จเยือนฝรั่งเศส

แน่นอนว่า แม้ที่ฝรั่งเศสจะมีเหตุประท้วงกันบ่อย แต่การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานในตอนนี้ อยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา หนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่ากลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่มาครงเคยเจอเมื่อ 3 ปีที่แล้วอย่างมาก และเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลาย 10 ปีของฝรั่งเศส ที่ตอนนี้มีผู้บาดเจ็บ ทั้งผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่เกือบ 200 คน รวมถึงมีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปแล้วกว่า 400 คน

ตอนนี้ มาครง ยังคงใจดีสู้เสือ กล่าวว่าการประท้วงยังอยู่ในระดับ ‘ควบคุมได้’ และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จมาเยือนอีกครั้งในช่วงฤดูร้อนหน้าแน่นอน 


ที่มา : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

https://www.facebook.com/100027974785452/posts/pfbid0VGUXqnW8Evp8DTdJNWnPtCs6kcQXGW2s2BLSzZUpejiLx8BfaeGY3hWr7TyXKfsjl/?mibextid=Nif5oz

อ้างอิง : https://www.france24.com/en/live-news/20230324-%F0%9F%94%B4-britain-s-king-charles-iii-s-state-visit-to-france-postponed

https://www.france24.com/en/europe/20230322-king-charles-set-to-face-strikes-and-disruption-in-france-on-first-foreign-visit

https://guernseypress.com/news/world-news/2023/03/24/macron-says-common-sense-meant-delaying-king-charless-visit/

https://www.telegraph.co.uk/world-news/2023/03/24/king-charles-state-banquet-move-versaille-louvre-elysee-aids/

https://www.bbc.com/news/world-europe-65057249

https://www.dailymail.co.uk/news/article-11880903/French-politicians-receive-GUILLOTINE-death-threats-Macron-faces-vote-no-confidence-TODAY.html
 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ วินาทีเสด็จขึ้นประทับพระราชบัลลังก์ The enthronement

เมื่อ 70 ปีที่แล้วชาวอังกฤษได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (2 มิถุนายน 2496) การถ่ายทอดครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีเสียงคัดค้านว่าไม่ควรที่จะถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในพระราชพิธีที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ เพราะเป็นของสูงและคนชมอาจจะไม่สำรวมพอในระหว่างที่ชม

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีฯ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่มากคือทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ทรงมีพระราชานุญาตให้สถานีบีบีซีที่พร้อมและสามารถที่จะเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกได้ ชาวอังกฤษจึงมีโอกาสชมพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ของตนทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

และเช่นกันในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอนก็จะมีพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามโบราณราชประเพณีเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ผ่านการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยพิธีการทางศาสนาและท่ามกลางมหาสมาคม

พระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ตามรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษบอกว่าแม้จะใช้เวลาราวๆ สองชั่วโมง แต่ก็มีการตัดทอนให้กระชับกว่าเดิม

เวลา 11 โมงเช้าเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลล่าเสด็จมาถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จเข้าทางประตูที่เรียกว่า The Great West Door ที่นั่นผู้นำทางศาสนา, ผู้แทนพระองค์, ผู้แทนจากประเทศในเครือจักรภพและนายกรัฐมนตรีอังกฤษรับเสด็จและนำเสด็จเข้าไปในวิหาร

>> พระราชพิธีแรกที่เริ่มขึ้นเรียกว่า The Recognition หรือการยอมรับ
ในที่นี่พระเจ้าชาร์ลส์จะแสดงพระองค์ต่อที่ชุมนุมโดยจะประทับยืนข้างๆ พระเก้าอี้ราชาภิเษก Coronation Chair (บางที่ก็เรียกว่าบัลลังก์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่มีอายุถึง 700 ปีทำด้วยไม้) พระองค์จะหันพระพักตร์ไปยังทั้งสี่ทิศและจะมีเสียงประกาศว่า Undoubted King คือ กษัตริย์ที่แท้จริงและผู้ที่ชุมนุมในที่นั้นจะแสดงความเคารพและความจงรักภักดี

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่ Archbishop of Canterbury หรือจะเทียบกับทางพุทธก็คือสมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นผู้ประกาศคนแรก ต่อมาผู้ที่ชุมนุมในที่นั่นจะตะโกนว่า “God Save the King” พิธีการนี้อังกฤษทำมาตั้งยุคแองโกลแซกซัน

>> ในขั้นตอนที่ 2 คือการให้คำสาบาน The Oath
พระราชพิธีในขั้นตอนนี้คือจะทรงให้คำมั่นสัญญาอยู่สองคำสัญญา อันแรกเรียกว่า the Coronation Oath อันเป็นข้อกำหนดไว้ในกฎหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสาบานในเรื่องนี้โดยท่านอาร์ชบิชอปจะเป็นผู้นำกล่าวคำสาบานและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำยืนยันว่าจะส่งเสริมและรักษากฎหมายและศาสนจักร Church of England ตลอดการครองราชย์สมบัติ ส่วนในคำสาบานอีกครั้งที่สองเรียกว่า The Accession Declaration Oath คือคำประกาศว่าจะซื่อสัตย์ต่อนิกายโปรเตสแตนต์

เมื่อมาถึงพระราชพิธีตอนที่ 3 คือพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือ the anointing พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้เพื่อรับการถวายน้ำมันเจิมจากท่านอาร์ชบิชอป ก่อนที่พิธีจะเริ่มเจ้าพนักงานจะนำฉากมากั้นรอบพระองค์ เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็น เพราะพิธีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็น แต่มีการอธิบายว่าท่านอาร์ชบิชอป จะรินน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากภาชนะใส่น้ำมันเพื่อทำพิธีกรรม The Ampulla ลงในช้อน The Coronation Spoon (ช้อนราชาภิเษกอันนี้ถือว่าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือรอดจากการทำลายของ โอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากชนะในสงครามกลางเมืองของอังกฤษ) และจะทรงเจิมที่พระนลาฏ, พระอุระ และพระหัตถ์ทั้งสอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top