พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ระยะห่างจากพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดาร่วม 70 ปี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของประเทศอังกฤษในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ห่างเหินจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดากว่า 70 ปีที่มีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496

แม้ว่าพระราชพิธีหลักๆ จะยังคงไว้เป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง เช่น จำนวนแขกที่เชิญก็ลดลง, ราชรถพระที่นั่งก็เปลี่ยน, น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้เจิมก็เปลี่ยนสูตรโดยตัดบางอย่างออก

ราชวงศ์อังกฤษนับว่าเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดกันมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและเป็นที่จับตามองของทั่วโลกมาตลอดเวลา ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ครั้งนี้ก็จะเป็นเหตุการณ์ที่คนใคร่รู้ใคร่ดู ส่วนจะมากน้อยเพียงใด หลังพิธีก็อาจจะรู้กัน 

พิธีการที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นมีอะไรบ้าง เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นความรู้รอบตัว ใครได้อ่านได้ดูก็ถือว่าได้ความรู้เพิ่มอีกด้านหนึ่ง และพระราชพิธีเช่นนี้มีขึ้นไม่บ่อยนักเช่นครั้งนี้ก็รอกันมา 70 ปีกว่า

ในรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษได้ลำดับพระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมไว้ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากดังนี้...

เริ่มกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าทางการจะเปิดสถานที่ให้คนเข้าไปจับจองที่ชมขบวนเสด็จผ่านจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยังวิหารเวสมินสเตอร์กลางกรุงลอนดอน

เส้นทางผ่านคือ The Mull และ White Hall เมื่อเส้นทางทั้งสองนี้คนเต็มก็จะขยายไปยัง Hyde Park, Green Park และ St. James Park ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งมีการติดตั้งจอภาพให้ชม

สำหรับแขกที่ได้รับเชิญให้มาชมขบวนนั้นจะมีที่นั่งอยู่หน้าพระราชวังได้แก่ทหารผ่านศึก, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (NHS) และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในขบวนเสด็จครั้งนี้คือ รถม้าพระที่นั่งที่เคยใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่แล้วจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้นทรงใช้รถม้าพระที่นั่งชื่อ Gold State Coach แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกที่จะประทับรถม้าพระที่นั่งอีกคันหนึ่งชื่อ Diamond Jubilee State Coach แทน

ความแตกต่างของรถม้าพระที่นั่งสองคันนี้ น่าสนใจคือ Gold State Coach เก่าแก่อย่างยิ่ง คือสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1972 และถูกใช้เป็นพระราชพาหนะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1831 Gold State Coach นั้นงดงามอร่าอร่ามมากและหนักถึง 4 ตัน ถูกเก็บรักษาไว้ใน The Royal Mews เนื่องจากตัวรถสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการเก็บรักษาอย่างดี

แม้จะสวยงามและเก่าแก่ แต่ตามที่มีข่าวออกมาคือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เคยทรงปรารภว่านั่งไม่สบายนักเพราะเมื่อรถเคลื่อนจะโขยกเขยก

มาดูกันว่ารถม้าพระที่นั่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกคือ Diamond Jubilee State Coach นั้นต่างกันอย่างไร?

ที่แน่ๆ คือใหม่กว่ามากเพราะสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยรัฐบาลออสเตรเลียสร้างถวายเป็นของที่ระลึกในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี งดงามและสบายกว่าเพราะติดแอร์คอนดิชั่นเสียด้วย

ผู้เขียนต้องการให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพพระราชพิธีนี้คร่าวๆ ทั้งหมดก่อนว่าจะมีอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจ เพราะว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อธิบายกันแตกแขนงออกไปอีกในพิธีและสิ่งของที่จะใช้ประกอบ ซึ่งทั้งหมดน่าสนใจและจะกล่าวถึงต่อไป

ดังที่กล่าวมาแล้วคือขบวนเสด็จจากวังบัคกิ้งแฮมมายังวิหารที่จะประกอบพระราชพิธี, ภายในวิหารเวสมินสเตอร์จะมีพิธีการอะไรบ้าง ไปจนกระทั่งเมื่อพิธีเสร็จแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ที่ตอนนี้ได้ผ่านพิธีการบรมราชาภิเษกครบถ้วนแล้วทรงทำอะไรบ้าง

หัวใจของพระราชพิธีผู้เขียนเข้าใจว่ามีอยู่ 2 อย่างคือ พิธีที่ประกอบ และ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ The Regalia ที่จะใช้ประกอบ

วิหารเวสมินสเตอร์แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่บรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1066 จำนวน 39 พระองค์และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระองค์ที่ 40 

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จะใช้ในการนี้ บีบีซีภาษาอังกฤษอ้างถึง The Royal Family เว็บไซท์ที่เขียนว่า อังกฤษยังเป็นประเทศในยุโรปประเทศเดียวที่ยังใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีนี้

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ St. Edward, ลูกโลกOrb, คทาที่มียอดเป็นไม้กางเขน Sceptre with Cross, และ คทาที่มียอดเป็นนกพิราบ Sceptre with Dove นอกจากนี้ก็ยังมีพระธำมรงค์หรือแหวนที่จะถวายให้สวมอีกด้วย

ขอเล่าประวัติเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชุดนี้เป็นเกร็ดประกอบเล็กน้อย คือหลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกกลุ่มของโอลิเวอร์ ครอมเวลจับและตัดพระเศียรหลังสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ อังกฤษไม่มีกษัตริย์ปกครองประเทศ

โอลิเวอร์ ครอมเวลสั่งให้หลอมพระมหามงกุฎ St. Edward นั้นเสียและเครื่องราชฯ ชิ้นอื่นๆ ก็กระจัดกระจายหายไป จนกระทั่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ พระโอรสได้กลับมาปกครองอังกฤษอีกจึงสั่งให้ทำมงกุฎ St. Edward ขึ้นใหม่และหรูหรากว่าอันเดิมเพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษกของพระองค์ นอกจากมงกุฎอันใหม่นี้แล้ว ยังมีลูกโลกและคทาที่เอ่ยถึงข้างต้นอีกด้วย และทั้งสามสิ่งนี้ก็ถูกใช้ในพิธีราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษ

เพื่อให้ท่านผู้อ่านค่อยๆ เข้าใจในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ละขั้นตอน ในบทต่อไปจะเขียนถึงพิธีการที่จะประกอบในวิหารเวสมินสเตอร์ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้


เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย