Saturday, 4 May 2024
พระเจ้าชาร์ลส์ที่๓

'สภาภาคยานุวัติ' ประกาศรับรองพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลสที่ ๓' เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ

พระราชพิธีประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

พระราชวังเซนต์เจมส์เวลา ๑๐ นาฬิกาตรงตามเวลาในท้องถิ่นวันนี้ ๑๐ กันยายนจะมีพิธีสำคัญเกิดขึ้น ณ ที่นั่นคือการประกาศแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

พระราชพิธีนี้มีขั้นตอนอย่างไร ขอเริ่มจากจุดที่อาจจะเล็กแต่ก็น่าสนใจ คือ ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้น จะมีการเปลี่ยนการลดธงครึ่งเสาในการไว้อาลัยการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ามาเป็นการชักธงขึ้นเสาเต็มตามปกติและจะทำเช่นนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์จึงจะลดลงครึ่งเสาตามเดิมจนกว่าพระราชพิธีพระศพจะผ่านพ้นไป

ก่อนอื่นขออธิบายว่าพระราชพิธีประกาศแต่งตั้ง Accession Council ในวันนี้ แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก Coronation ซึ่งจะมีขึ้นอีกในเวลาต่อมาเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการระยะหนึ่งและพิธีการนี้จะจัดขึ้นในวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

สำหรับพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษในวันนี้เป็นเพียงพิธีประกาศพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยคณะบุคคลที่เรียกว่า Accession Council หรือภาษาไทยเรียกว่า สภาภาคยานุวัติ กำหนดเดิมคือ ต้องทำภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังการสิ้นพระชนม์ แต่ในกรณีนี้เวลาได้ล่วงผ่านมาแล้ว ตามความเป็นจริงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทันทีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดาแล้ว

ขั้นตอนของพิธีที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในวันนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ในส่วนแรก พระเจ้าชาร์ลส์ จะยังไม่เสด็จเข้าร่วม แต่จะเป็นการชุมนุมของสมาชิกสภาองคมนตรีที่มีจำนวนถึง ๗๐๐ คน แต่พิธีวันนี้อาจเชิญมาได้เพียง ๒๐๐ คน ประธานในพิธีหรือ Lord President ประธานสภาองคมนตรีคือนางเพนนี มอร์ด้อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะอ่านประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นเธอจะให้เจ้าหน้าที่อ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ที่ยืนยันพระนามของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการที่พระองค์ทรงเลือกก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

หลังจากนั้นจะเป็นการลงพระนามและลงนามในคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ประกอบด้วยพระราชินี, เจ้าชายมกุฎราชกุมาร, พระสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่, ประธานสภาขุนนาง, อ้าทบิช็อปแห่งยอร์ก และนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามแล้ว ประธานเพนนี มอร์ด้อนจะบอกให้ที่ชุมนุมเงียบฟังคำประกาศในสาระรายละเอียดของการแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคำประกาศสิ้นสุดลง ประธานเพนนีจะสั่งให้มีการยิงสลุตปืนใหญ่ที่สวนไฮด์ปาร์ก กลางกรุงลอนดอน และหอคอยลอนดอน พิธีการในช่วงแรกนี้ครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดียังมีพิธีการที่ต้องทำอีกอย่างคือ การอ่านคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ระเบียงที่เรียกว่า Friary Court ของพระราชวังเซนต์เจมส์อีกดัวยและจะมีการอ่านคำประกาศนี้ในเมืองเบลฟาส, คาร์ดีฟ, เอดินเบอเรอะ และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

ในช่วงที่สอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะเสด็จเข้ามาในห้องซึ่งจะมีเพียงคณะองคมนตรีที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเข้าเฝ้าและพระองค์จะประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีและกล่าวระลึกถึงพระมารดาเป็นการส่วนพระองค์ ต่อจากนั้นให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแสดงความหวังว่าพระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการทรงงานเพื่อประเทศชาติ 

นอกจากนี้จะตรัสสาบานว่าจะปกปักรักษา Church of Scotland อีกด้วยเพราะการปกครองของสก็อตแลนด์ได้แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน และทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสองฉบับ โดยมีพระราชินีและเจ้าชายมกุฎราชกุมารเป็นพยานพร้อมกับบุคคลอื่นที่อยู่ ณ ที่นั้น คณะที่ปรึกษาจะลงนามด้วยในระหว่างที่ทูลลาจากพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีตามรายงานข่าวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาพระราชอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์ด้วยเป็นครั้งแรก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ระยะห่างจากพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดาร่วม 70 ปี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของประเทศอังกฤษในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ห่างเหินจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระมารดากว่า 70 ปีที่มีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496

แม้ว่าพระราชพิธีหลักๆ จะยังคงไว้เป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง เช่น จำนวนแขกที่เชิญก็ลดลง, ราชรถพระที่นั่งก็เปลี่ยน, น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้เจิมก็เปลี่ยนสูตรโดยตัดบางอย่างออก

ราชวงศ์อังกฤษนับว่าเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดกันมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและเป็นที่จับตามองของทั่วโลกมาตลอดเวลา ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ครั้งนี้ก็จะเป็นเหตุการณ์ที่คนใคร่รู้ใคร่ดู ส่วนจะมากน้อยเพียงใด หลังพิธีก็อาจจะรู้กัน 

พิธีการที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นมีอะไรบ้าง เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นความรู้รอบตัว ใครได้อ่านได้ดูก็ถือว่าได้ความรู้เพิ่มอีกด้านหนึ่ง และพระราชพิธีเช่นนี้มีขึ้นไม่บ่อยนักเช่นครั้งนี้ก็รอกันมา 70 ปีกว่า

ในรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษได้ลำดับพระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมไว้ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากดังนี้...

เริ่มกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าทางการจะเปิดสถานที่ให้คนเข้าไปจับจองที่ชมขบวนเสด็จผ่านจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยังวิหารเวสมินสเตอร์กลางกรุงลอนดอน

เส้นทางผ่านคือ The Mull และ White Hall เมื่อเส้นทางทั้งสองนี้คนเต็มก็จะขยายไปยัง Hyde Park, Green Park และ St. James Park ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งมีการติดตั้งจอภาพให้ชม

สำหรับแขกที่ได้รับเชิญให้มาชมขบวนนั้นจะมีที่นั่งอยู่หน้าพระราชวังได้แก่ทหารผ่านศึก, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (NHS) และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในขบวนเสด็จครั้งนี้คือ รถม้าพระที่นั่งที่เคยใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่แล้วจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้นทรงใช้รถม้าพระที่นั่งชื่อ Gold State Coach แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกที่จะประทับรถม้าพระที่นั่งอีกคันหนึ่งชื่อ Diamond Jubilee State Coach แทน

ความแตกต่างของรถม้าพระที่นั่งสองคันนี้ น่าสนใจคือ Gold State Coach เก่าแก่อย่างยิ่ง คือสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1972 และถูกใช้เป็นพระราชพาหนะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1831 Gold State Coach นั้นงดงามอร่าอร่ามมากและหนักถึง 4 ตัน ถูกเก็บรักษาไว้ใน The Royal Mews เนื่องจากตัวรถสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการเก็บรักษาอย่างดี

แม้จะสวยงามและเก่าแก่ แต่ตามที่มีข่าวออกมาคือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เคยทรงปรารภว่านั่งไม่สบายนักเพราะเมื่อรถเคลื่อนจะโขยกเขยก

มาดูกันว่ารถม้าพระที่นั่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกคือ Diamond Jubilee State Coach นั้นต่างกันอย่างไร?

ที่แน่ๆ คือใหม่กว่ามากเพราะสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยรัฐบาลออสเตรเลียสร้างถวายเป็นของที่ระลึกในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี งดงามและสบายกว่าเพราะติดแอร์คอนดิชั่นเสียด้วย

ผู้เขียนต้องการให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพพระราชพิธีนี้คร่าวๆ ทั้งหมดก่อนว่าจะมีอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจ เพราะว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อธิบายกันแตกแขนงออกไปอีกในพิธีและสิ่งของที่จะใช้ประกอบ ซึ่งทั้งหมดน่าสนใจและจะกล่าวถึงต่อไป

ดังที่กล่าวมาแล้วคือขบวนเสด็จจากวังบัคกิ้งแฮมมายังวิหารที่จะประกอบพระราชพิธี, ภายในวิหารเวสมินสเตอร์จะมีพิธีการอะไรบ้าง ไปจนกระทั่งเมื่อพิธีเสร็จแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ที่ตอนนี้ได้ผ่านพิธีการบรมราชาภิเษกครบถ้วนแล้วทรงทำอะไรบ้าง

หัวใจของพระราชพิธีผู้เขียนเข้าใจว่ามีอยู่ 2 อย่างคือ พิธีที่ประกอบ และ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ The Regalia ที่จะใช้ประกอบ

วิหารเวสมินสเตอร์แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่บรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1066 จำนวน 39 พระองค์และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระองค์ที่ 40 

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จะใช้ในการนี้ บีบีซีภาษาอังกฤษอ้างถึง The Royal Family เว็บไซท์ที่เขียนว่า อังกฤษยังเป็นประเทศในยุโรปประเทศเดียวที่ยังใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีนี้

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ St. Edward, ลูกโลกOrb, คทาที่มียอดเป็นไม้กางเขน Sceptre with Cross, และ คทาที่มียอดเป็นนกพิราบ Sceptre with Dove นอกจากนี้ก็ยังมีพระธำมรงค์หรือแหวนที่จะถวายให้สวมอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top