‘กรณ์’ จี้ รัฐฯ ยกเลิกค่าเอฟที ช่วง 3 เดือนที่ร้อนที่สุดทันที ชี้ ทำได้ เพราะต้นทุนก๊าซลดลง ลั่น!! ต้องรื้อโครงสร้างอตุฯ ไฟฟ้า

(21 เม.ย. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง คือ รัฐบาลต้องยกเลิกค่าเอฟที ในช่วง 3 เดือนนี้ทันที ทำได้เลย เพราะต้นทุน กฟผ. ลดลงมากจากราคาก๊าซ LNG ที่ถูกลงมาตลอด โดยพรรคชาติพัฒนากล้าเสนอว่า ต้องรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า เนื่องจากเวลานี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของบ้านเราใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิล ในปริมาณที่สูงเกินกว่า 50% นอกจากนั้น ยังมีถ่านหิน และน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนราว 5 บาท ส่วนที่เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เราใช้ไม่ถึง 10% ทั้งที่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2 บาท กลับเลือกใช้น้อยที่สุด

ต่อข้อถามที่ว่าเรื่องนี้ขัดประโยชน์ของใคร นายกรณ์ กล่าวว่า นั่นเป็นประเด็นสำคัญว่า การจะแก้ปัญหาจะต้องมีความกล้าทางการเมือง ที่จะรื้อโครงสร้างไฟฟ้า โดยต้องเปิดเสรีให้กับประชาชนมีสิทธิเป็นผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างกับปัจจุบันคือเราไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“วันนี้การลงทุนครั้งใหญ่ในการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนถูกลง คือเราต้องปลดแอกให้ประชาชนทุกคนที่มีหลังคาเรือน สามารถเข้าถึงเงินทุนที่จะเข้าถึงแผงโซล่า และให้สิทธิในการขายไฟส่วนเกินคืนให้กับรัฐ ในราคาเดียวกันกับราคาค่าไฟที่ซื้อจากรัฐฯ ซื้อ 5 บาท แต่ปัจจุบันขายคืนในราคา 2.20 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงทุน โดยภาคประชาชน ภาคเอกชน มันไม่เกิด” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนในแง่ของโอกาสซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของทุนใหญ่ เราควรเปิดเสรีเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ลงทุนในส่วนนี้ได้ เพราะเทคโนโลยีไปถึงจุดนั้นแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญคือ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย แต่อีกส่วนคือเรื่องของแหล่งทุน เพราะฉะนั้น เราจึงเสนอแหล่งทุนเพื่อให้ ทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เองได้โดยปลอดดอกเบี้ย ส่วนต้นทุนคือเงินที่ต้องใช้ในการติดตั้ง สามารถผ่อนจ่ายด้วยเม็ดเงินที่ประหยัดจากค่าไฟ ซึ่งคำนวณมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ก็คืนทุน หลังจากนั้น ประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีเลย ซึ่งตรงนี้เราสามารถทำได้ทันทีหลายล้านครัวเรือน และการติดตั้งก็ใช้เวลาไม่นานด้วย

นอกจากนี้ พรรคชาติพัฒนากล้า ยังเสนอให้มีการแยกสายส่งออกมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นรัฐวิสาหกิจต่างหากเพื่อเปิดเสรีการซื้อขายไฟ ระหว่างภาคเอกชนกับภาคประชาชนเพราะตอนนี้การไฟฟ้าเขาหวงเพราะอยากเป็นผู้ผลิตและหวงสิทธิในการผลิตเอง เพราะฉะนั้น ใครจะมาใช้ระบบสายส่งของเขาไม่ได้ ตนขอเปรียบเทียบเมื่อหลายสิบปีมาแล้วตอนที่มีการแปรรูป ปตท.เงื่อนไขคือ ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน คือ การจะแปรรูปได้แต่ต้องแยกท่อแก๊สออกมาเพื่อเจ้าอื่นจะได้ส่งแก๊ส ผ่านท่อแก๊สนั้นได้ แต่ตราบใดที่ยังอยู่ ปตท.เขาก็จะตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อทำให้การแข่งขันไม่เกิด 

“เพราะฉะนั้น เราเน้นเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถที่จะเซ็นซื้อขายไฟระหว่างกันได้เขาต้องมีสายส่งที่สามารถส่งไฟถึงกันได้ ยืนยันว่าเราไม่ได้แปรรูปแต่แยกออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจต่างหาก มีตัวชี้วัดที่แตกต่างชัดเจนและเพื่อเปิดให้เกิดการลงทุนและการซื้อขาย และไหน ๆ รัฐฯ ก็ลงทุนในระบบสายส่งไปแล้ว การที่คนมาใช้มากที่สุดจะเป็นการดีสำหรับตัวรัฐฯ เนื่องจากคุ้มค่าต่อเม็ดเงินการลงทุน เพราะฉะนั้นเป้าหมายทั้งหมดคือ เพื่อปรับโครงสร้างตัวอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้หันมาใช้ต้นทุนการผลิตที่ถูกที่สุดคือ ต้นทุนพลังงานแสงแดดให้มากขึ้น โดยผู้ลงทุนต้องเป็นประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะลงทุนเพื่อประหยัดค่าไฟของตนเอง แล้วมันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่นายทุนกลัวมากแต่เป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่าประชาชนจะต้องทำ” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว