รัฐบาลลุงตู่ ผู้ฟื้นสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ รอบ30 ปี

จากวิกฤติความสัมพันธ์ สู่ผลงานชิ้นโบแดง รัฐบาลลุงตู่ ผู้พื้นสัมพันธ์ ‘ไทย – ซาอุฯ’ รอบ 30 ปี
25 มกราคม 2565 การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นับเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง ในรอบ 32 ปี 

ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ผ่านการเตรียมการมานานกว่า 1 ปี ไม่นับรวมอุปสรรคจากสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 และช่วงก่อนหน้านั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามประสานเจรจากับทางซาอุดีอาระเบียด้วยตนเองในหลายโอกาส ตั้งแต่เวทีหารือ 3 ฝ่ายในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ  หรือในช่วงการประชุมผู้นำจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นช่วงเดือนมิถุนายน 2562  ขณะที่ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีการพบหารือกันเป็นระยะเกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน 

ย้อนรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มีจุดเริ่มจากการเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียถึง 4 คนในประเทศไทย เมื่อปี 2532-2533 ที่ทางการไทยไม่สามารถแจงผลการสอบสวนให้เป็นที่น่าพอใจไปยังซาอุดีอาระเบียได้  และในช่วงรอยต่อขณะนั้น ยังเกิดกรณีแรงงานไทย 'เกรียงไกร เตชะโม่ง' ขโมยชุดเครื่องเพชรจำนวนมากขณะเข้าไปทำงานในพระราชวังเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด แห่งซาอุดีอาระเบีย แต่การคลี่คลายคดีของตำรวจไทยกลับไม่เป็นไปในทางที่ดี ขณะที่การติดตามเครื่องเพชรเพื่อส่งคืนส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นของปลอม  

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังเกิดกรณี 'มูฮัมหมัด อัลลูไวรี่' นักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูดหายตัวไป หลังถูกควบคุมตัวสอบสวนเหตุพัวพันคดีฆาตกรรมนักการทูต ซึ่งต่อมามีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจำนวนหนึ่งในข้อหา 'อุ้มหาย' กรณีนี้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแทบทุกชุด ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหารอยร้าวของสองชาติ แต่ซาอุฯ ไม่เคยใจอ่อนให้ไทย จนกระทั่งมาบังเกิดผลสำเร็จ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเป็นผลสำเร็จ เปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านแรงงาน ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านพลังงาน ด้านการศึกษาและศาสนา ด้านความมั่นคง ด้านกีฬา และด้านการค้าและการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย

โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ที่ทางซาอุฯ สนใจลงทุนด้านพลังงานสูงถึง 300,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีการลงนามขยายความร่วมมือ จับคู่เจรจาธุรกิจ ระหว่างภาครัฐ และเอกชน มากกว่า 500 คู่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่ 3 หมื่นล้านบาท 

ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายอนุชา บูรพชัยศรี ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างกันของไทยและซาอุดีอาระเบีย ปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 37.64%  โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียเป็นมูลค่ากว่า 71,386.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.46% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง และนำเข้าสินค้าจากซาอุดีอาระเบียกว่า 251,727.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.69% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์

ส่วนด้านการเพิ่มโอกาสแรงงานไทย ข้อมูลกรมการจัดหางาน ก.ค.-ก.ย. 2565 ประกาศรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย 7 บริษัท รวม 2,171 อัตรา ส่วนด้านการท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยกว่า 1 แสนคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ผลงานชิ้นโบแดง ที่นอกจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสองประเทศจะฟื้นคืนกลับมาแล้ว ยังนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้านอื่นๆตามมา รวมถึงเปิดโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ด้านสังคม แรงงาน และมิติต่างๆ ที่มีศักยภาพอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นผลจากความตั้งใจ 'แก้ไขปัญหา' และ 'รื้อฟื้นความสัมพันธ์' ของนายกฯ ที่ชื่อ 'ประยุทธ์' ที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ที่ต้องปรบมือให้