‘ไทย’ ขึ้นแท่นประเทศที่มียอดขาย EV อันดับ 1 แห่งอาเซียน หลังโครงสร้างประเทศปรับ รับแรงขับเคลื่อนอุตฯ EV เต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 66 ช่อง YouTube ‘Kim Propperty’ ได้เปิดเผยถึง ตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย ที่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าก้าวหน้าเกินประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหลากสัญชาติ รวมถึงความต้องการซื้อที่มากจนมีตัวเลขที่น่าสนใจจะมาแชร์...

ทว่าก่อนอื่น ต้องฉายภาพให้เห็นถึงตัวแปรที่ทำให้ EV กับประเทศไทยเดินเคียงคู่กันไปได้อย่างไร้รอยต่อ โดยต้องยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยนั้นค่อนข้างดีมาก ตั้งแต่ไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้จะมีแบรนด์เป็นของตนเองอย่างเวียดนาม (Vinfast) แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หรือโครงสร้างที่เอื้อต่อการผลิต การขนส่งยังไม่ดีพอ 

ขณะเดียวกัน แม้จำนวนประชากรเวียดนามจะมีจำนวนมาก แต่กำลังซื้อก็ไม่สูง หรือยังไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอ พอ Vinfast ขายในประเทศตัวเองไม่ได้ ก็เลือกไปตีตลาดที่ประเทศอเมริกาแทน แต่ก็ต้องเจอตออย่าง Tesla ส่งผลให้ยอดขายไม่ปัง แถมลูกค้ายังบอกว่าสินค้าไม่ตรงปกอีก เรียกว่าสารพัดปัญหากันเลยทีเดียว 

นี่คือภาพในเชิงของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการขยายตัวของตลาด EV ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ถัดมาคำถามที่น่าสนใจ คือ ในวันที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอเมริกากับจีนซัดกันนัวขนาดนี้ จนแม้แต่ประเทศเวียดนามก็ยังเอาแบรนด์ตัวเองเข้าไปแทรกยากเหมือนกัน แล้วแบรนด์รถยนต์ในประเทศนั้น ๆ เขาจะไปไหน แล้วที่ไหนที่พวกเขาควรไป...

1.) ประเทศที่มี อุปสงค์ (Demand) หรือ ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าและบริการ
2.) ประเทศที่มีโครงสร้างไฟฟ้าที่ครบครันและครอบคลุม 

>> เริ่มเอะใจกันแล้วใช่ไหม!! ก็ประเทศไทยนั่นแหละ

...และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากข้อมูลล่าสุดประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่มียอดขาย EV เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แบรนด์รถยนต์ต่าง ๆ ที่ต่างตบเท้าเข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะแบรนด์จีน ถึงกับเปรยคำหวานว่า “ไม่มีแบรนด์ไหนในประเทศจีนที่ไม่อยากมาในประเทศไทยหรอก”

หลายคนอาจจะมองว่า นี่เป็นความบังเอิญหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ความบังเอิญ เนื่องจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 อย่าง ประเทศอินโดนีเซีย กับประเทศสิงคโปร์ แบบไม่เห็นฝุ่นนั้น หากให้มองจากสัดส่วนของยอดขายในเอเชียประมาณ 60% นั้น แทบจะมาจากประเทศไทยกันเลยทีเดียว

โดยตัวแปรสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ที่ทำให้ภาพเหล่านั้นเกิกขึ้น คือ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศไทยสามารถผลักดันปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน EV อย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้มีแบรนด์ดัง ๆ อย่าง BYD, Ford และอีกหลายเจ้า พร้อมเข้ามาหนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา ตัวอย่างเช่น BYD ที่เข้ามาซื้อที่ดินจาก WHA ไปกว่า 600 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV แห่งใหม่ของอาเซียน ในประเทศไทย

รวมถึงดีลสุดมหัศจรรย์ ที่ทำให้หลายคนต้องอึ้ง อย่างการที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจลงทุนในประเทศไทย และทุ่มงบมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท มาเลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV 

>> ข่าวดีที่ว่ามาดี มาจาก...

1.) ประเทศไทยสามารถดึงแบรนด์ดังๆ ให้เข้ามาผลิตที่ประเทศไทยได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐทุ่มลงทุน
2.) ในฟากฝั่งของผู้บริโภค รัฐบาลไทยได้ทำการออกนโยบายต่าง ๆ นานา เพื่อสนับสนุนให้คนเป็นเจ้าของรถยนต์ EV ได้ เช่น ลดหย่อนภาษีได้
3.) ความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV ของคนไทยมีความสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐยิ่งทำให้คนอยากได้ EV มากยิ่งขึ้น

เหล่านี้ ส่งผลทำให้ราคารถยนต์ EV ในประเทศไทย เริ่มมีราคาที่ถูกลง เราเริ่มเห็นรถ Tesla ในราคาล้านกว่าบาทเท่านั้น จากแต่ก่อนนำเข้ามาเริ่มหลัก 3 ล้านบาท 

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ฝั่งแบรนด์ผู้ผลิตต่าง ๆ จะขอเข้ามามีส่วนเสนอขายสินค้าและบริการ ภายใต้แผนพัฒนาไทยที่จะขอเป็น HUB EV ในย่านนี้ ย่านที่พร้อมไปด้วยโครงสร้างพื้นฐาน, การเดินทาง, การคมนาคม, กำลังซื้อ รวมถึงพลังงานไฟฟ้า ที่มีความยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ต่อให้ค่าแรงในประเทศไม่ถูกเหมือนที่อื่นก็ตาม เพราะหลายผู้ผลิตมองว่า ประเทศไทยของเราใจดี ใจกว้างเหลือเกิน ค้าขายในบ้านเราได้ ภาษีก็ไม่ค่อยเสีย แถมผู้บริโภคในประเทศไทยก็ยังชอบซื้ออีกด้วย (เราเป็นนักซื้อที่ยอดเยี่ยม) 

>> แต่คำถามคือ ประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมไทยได้อะไร?

คำตอบคือ “ได้อย่างมาก” ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท.จับมือกับ Foxconn ทำโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ กล่าวคือ ไม่ได้สร้างแบรนด์ เหมือนอย่าง Vinfast แต่เป็นการรับจ้างในการผลิตนั่นเอง โดยจะเริ่มประมาณ 50,000 คัน/ปี นับเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (S-Curve) ของ ปตท.ที่ทั้งรัฐฯ และเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ให้ร่วมมือ ไปด้วยกัน

>> อีกคำถามคือ ถ้าประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 มียอดขายสูงสุด ดึงดูดการผลิตได้มากที่สุด แล้วมีดีอะไร? ก็เป็นแค่ลูกค้าหรือเปล่า?

ความจริงตรงนี้สามารถมองได้หลายมิติ อย่างแรก คือ เมื่อทุกอย่างมาลงที่ประเทศไทย ทำให้มีการวิจัยพัฒนา สื่อผู้ประกอบการไทยอาจทำธุรกิจต่อยอดได้รวดเร็วกว่าที่อื่น อย่างเช่น ปตท.ที่ทำเรื่องของแท่นชาร์จ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน เกี่ยวกับไฟฟ้า เกี่ยวกับรถ EV ที่ทำมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังจับมือกับทางเครือเซนทรัลฯ ซึ่งเป็น ผู้ให้เช่า (Landlord) ในการติดแท่นชาร์จไปทั่ว

รวมถึงคนไทย เป็นประชากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ EV เป็นอันดับต้น ๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้ดึงดูดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่นี่ก่อน และอาจนำไปต่อยอดขายในต่างประเทศก็เป็นได้ เหมือนประเทศที่มี 5G หรือ 6G มีการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน การบริการ และการลงทุน (FinTech) หรือที่เรียกว่า ‘สังคมไร้เงินสด’ ก่อน อย่างเช่น ประเทศจีน ที่มีแอปพลิเคชันต่าง ๆ สูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ผู้คนมีความพร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด

ฉะนั้น เมื่อประเทศไทยของเรา มีต้นทุนในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่มีความพร้อม เทคโนโลยี และคอนเนกชันที่ดีอยู่แล้ว โอกาสผงาดในเวที EV โลกต่อจากนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อมอย่างแน่นอน...


ที่มา : https://youtu.be/bT0ObSpmD0g