'อลงกรณ์' เชื่อมั่นนโยบาย 'ธนาคารหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน' ของ 'พรรคประชาธิปัตย์' ดีกว่ายั่งยืนกว่านโยบาย 'เงินดิจิตอล1หมื่น' ของ 'พรรคเพื่อไทย'

กรณีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินดิจิตอล1 หมื่นของพรรคเพื่อไทยทั้งแง่บวกแง่ลบอย่างกว้างขวาง วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตรรองหัวหน้าพรรคและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นในอีกแง่มุมที่น่าสนใจโดยเขียนบทความสั้นในเฟสบุ้ค 'อลงกรณ์ พลบุตร' และไลน์ส่วนตัวเรื่อง 'เงินดิจิตอล & ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน: ความต่างของนโยบายพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์' เป็นการนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายธนาคารหมู่บ้าน-ธนาคารชุมชนของพรรคประชาธิปัตย์ในเชิงเปรียบเทียบกับนโยบายเงินดิจิตอลของพรรคเพื่อไทยไว้อย่างชัดเจนพร้อมเปิดโอกาสนายเศรษฐา ทวีสินโต้แย้งชี้แจงแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยนายอลงกรณ์เขียนไว้ดังนี้

“เงินดิจิตอล VS 
ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน
ความต่างของนโยบายพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์”

กรณีมีการวิจารณ์กันมากเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิตอล1 หมื่นของพรรคเพื่อไทยนั้น ผมสงวนความเห็นไม่กล่าวถึงประเด็นทำได้หรือไม่ ขัดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ แต่จะเสนอนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ให้เห็นเป็นการเปรียบเทียบ นั่นคือ นโยบายธนาคารหมู่บ้านธนาคารชุมชนทุกหมู่บ้านทุกชุมชนใน77 จังหวัด เป็นการจัดตั้งระบบธนาคารท้องถิ่นเพื่อให้บริการเงินฝากและสินเชื่อรวมทั้งบริการอื่นๆใช้เทคโนโลยีธนาคารดิจิตอล(Fintech) ปัญญาประดิษฐ์(AI)และบล็อคเชน (Blockchain)แบคอัพการบริหาร โดยใช้เงิน 2 แสนล้าน เป็นทุนประเดิมเริ่มต้นเป็นเงินหมุนเวียน ไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวจบแบบเงินดิจิตอล1หมื่นของพรรคเพื่อไทย

สรุปคือ ธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชน

1.เป็นการปฏิรูประบบธนาคารใหญ่ที่สุดโดยให้มีระบบธนาคารหมู่บ้านธนาคารชุมชนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า100ปีที่มีแต่ระบบธนาคารพาณิชย์ระดับชาติ
2.เป็นสถาบันการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนและครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเขื่อและทุนของชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมือง

3. ส่งเสริมระบบสินเชื่อเงินฝากและเงินออมโดยชุมชนของชุมชนเพื่อชุมชน
4.เป็นเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
สร้างโอกาสทางการค้าธุรกิจการลงทุนสร้างอาชีพสร้างรายได้และเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจนและแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
5.กรณีต้องใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนจำนวนมากหลักล้านสามารถใช้บริการของกองทุนStartup SME 3 แสนล้าน

ผมคิดว่า นโยบายธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชน 2 ล้านบาทตอบโจทย์ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเข้าถึงสินเชื่อของชาวบ้านและพ่อค้าแม่ขายรวมทั้งส่งเสริมการออมระดับครัวเรือนชุมชนหมู่บ้านอย่างยั่งยืน บนหลักการของวินัยการเงินการคลังท้องถิ่น

นี่คือวิสัยทัศน์และนโยบายธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชนภายใต้ยุทธศาสตร์” สร้างเงินสร้างคนสร้างชาติ” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำหนดนโยบายด้วยความรอบคอบรับผิดชอบต่อวันนี้และอนาคตข้างหน้า เชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนในระบบการเงินภาคประชาชนและรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศโดยกระทบหนี้สาธารณะน้อยที่สุดดีกว่านโยบายเงินดิจิตอลของพรรคเพื่อไทย หรือคุณเศรษฐา ทวีสินจะโต้แย้งชี้แจงก็ยินดีรับฟังแลกเปลี่ยนมุมมองกันตามวิถีทางประชาธิปไตยครับ

อลงกรณ์ พลบุตร
รองหัวหน้าพรรคและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์
10 เมษายน 2566