ผู้นำเยอรมนี ชี้ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศยังแกร่ง แม้มีข่าว Deutsche bank จะกลายเป็นโดมิโน่รายต่อไป

ใครที่ตามข่าวในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องก็คงจะรู้ดีว่าตอนนี้ Deutsche Bank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีกำลังถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีข่าวว่า Credit Default Swap (CDS) ได้พุ่งขึ้นทำระดับ New High ใหม่เหนือ 200 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ! โดย CDS จะพุ่งขึ้นเมื่อตลาดกังวลว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ตอนนี้มีแรง Panic ว่า Deutsche Bank จะกลายเป็นรายต่อไปหลังจาก SVB และ Credit Suisse หรือไม่ ?

(26 มี.ค.66) World Maker เผยว่า Olaf Scholz ผู้นำของเยอรมนีได้ออกมาประกาศชัดว่าธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศยังมีความแข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรอย่างดี! ทำให้ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะล้มเหมือนธนาคารอื่น ๆ ในก่อนหน้านี้ โดยเขาได้ปฏิเสธว่า Deutsche Bank มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกับ Credit Suisse จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้

ความเห็นของเขาเป็นไปเช่นเดียวกับ Jerome Powell ประธาน FED รวมถึง Joe Biden ผู้นำสหรัฐฯ และ Christine Lagarde ประธานของ ECB ที่พยายามออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าภาคธนาคารของชาติตะวันตกยังคงมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ธนาคารกลางประกาศชัดเจนว่าได้เตรียมพร้อมสำหรับการ “จัดหาสภาพคล่อง” ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ ผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายกล่าวว่าวิกฤตครั้งนี้จะลุกลามไปใหญ่โตแน่นอน และทำให้เกิดการล่มสลายในระดับมหากาพย์ แต่ผู้ที่มองโลกในแง่ดีกล่าวว่าวิกฤตในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตใหญ่ ๆ ในอดีตอย่างเช่น Great Depression ปี 1930 และวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ซึ่งครั้งนี้จะผ่านไปได้ไม่รุนแรงเช่นนั้น เพราะมีความแตกต่างกันหลายอย่างและระบบการเงินโลกก็ถูกพัฒนาไปมากแล้วจากในอดีต แม้ว่าอาจเกิดความเสียหายในบางส่วนแต่ก็จะไม่ใช่หายนะ 

คำกล่าวของ Scholz เกิดขึ้นหลังจากหุ้น Deutsche Bank ร่วง -14% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนจะฟื้นตัวปิดตลาดที่ -8.53% พร้อมกับ CDS ที่พุ่งทำ New High และปรับตัวลดลงหลังจากนั้น ซึ่งโดยรวมแล้ว Deutsche Bank สูญเสีย Market Cap ไปราว 1 ใน 5 (-20%) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น (ไม่ต่างจากธนาคารอื่นๆ ใน Wall Street ที่สูญเสียมูลค่าไปเช่นกัน)

นั่นทำให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าปักใจเชื่อคำกล่าวของกลุ่มผู้นำโลก แต่ก็ต้องบอกว่ามีนักวิเคราะห์บางคนที่มองในเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น Stuart Graham จาก Autonomous Research ที่ออกมากล่าวชัดเจนว่า Deutsche Bank จะไม่ใช่ Credit Suisse รายต่อไป

ขณะเดียวกันนี้ สถิติแสดงให้เห็นว่าลูกค้าแห่ถอนเงินอย่างน้อย -3.5 ล้านล้านบาทหรือ -1 แสนล้านดอลลาร์ออกจากธนาคารของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต Bank Run ขึ้นมา ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของตลาดเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับที่กองทุน Hedge Funds บางกลุ่มเริ่มเข้า Short Sell สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ ! โดยมองว่าตลาดนี้จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากวิกฤตธนาคาร

ทั้งนี้ Hedge Funds จำนวนไม่น้อยกำลัง Short Sell ผ่านทางด้านหุ้นและอนุพันธ์เครดิต (Credit Deriavtives) โดยหุ้นเกือบ 40% ของ iShares US Real Estate ETF กำลังถูก Short Sell อยู่ ณ ตอนนี้

วิกฤตธนาคารที่เกิดขึ้นถือเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการ Short Sell ในตลาดอสังหาฯ สูงขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดอสังหาฯ ก็เริ่มมีสัญญาณความตึงเครียดเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว อย่างที่ World Maker ได้เคยย้ำเตือนไปในหลายบทความที่ผ่านมา ว่านับตั้งแต่ดอกเบี้ย FED สูงขึ้น มันส่งผลให้ดอกเบี้ยบ้านสูงขึ้นตามไปด้วยในขณะที่ราคาบ้านเองก็อยู่ในระดับสูงลิ่วจนหลายคนเอื้อมไม่ถึงไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ตลาดตึงเครียดมาก ๆ ก็มีแนวโน้มที่ราคาอสังหาฯ จะร่วงลงได้ เนื่องจาก Demand หายไปเพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นพร้อมกับราคาในก่อนหน้านี้ จนทำให้การซื้อบ้านแพงหูฉี่จนหลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตลาดอสังหาฯ ณ ปัจจุบัน

ยิ่งเมื่อ FED ได้ทำ QT โดยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรจำนองบ้าน (Mortgage Backed Securities : MBS) มันก็ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯ ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตธนาคาร ดังนั้นเมื่อมีวิกฤต SVB, Credit Suisse และความกังวลที่แพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรง Panic ในอสังหาฯ พุ่งขึ้นไปอีกระดับพร้อมกันอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก-กลางในตลาด Real Estate อาจมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่วิกฤตเกิดกับธนาคารขนาดเล็ก-กลาง แต่ยังไม่เกิดกับธนาคารขนาดใหญ่เพราะมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดกว่า

ภาพรวมทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นว่าในขณะที่เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤต แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่กำลังแสวงหาโอกาสในการทำกำไรท่ามกลางข่าวร้าย โดยถ้าซื้อแล้วไม่ได้กำไร พวกเขาก็เลือกที่จะ Short Sell แทน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าตลาดสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหนต่อไปกันแน่ ? จะพังหรือพุ่ง ? จะรุ่งหรือร่วง ?

ทางด้าน FED และธนาคารกลางหลายแห่งเช่น ECB ล่าสุดยังคงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อไป โดยมองว่าทั้งระบบมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับแรงกดดันด้านสภาพคล่องในระยะสั้น แม้มีวิกฤตด้านการธนาคารเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรอยร้าวของระบบจากความตึงเครียดทางการเงินที่ถูกยกระดับขึ้นมา 

โดยธนาคารกลางดูเหมือนจะยังคงให้ความสำคัญอันดับ 1 ไปที่การควบคุมเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งอย่างที่บอกว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยทุก Cycle ของธนาคารกลางเหล่านี้ก็มักจะจบลงด้วยวิกฤตทางการเงินหรือไม่ก็ Recession เพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง ก่อนที่ธนาคารจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยและกลับไปสู่วงจรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในขณะที่ความโกลาหลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรสูญเสียเงินไปจำนวนมาก รวมถึงการแห่เทขายเพราะแรง Panic Sell แต่ในขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า “ผู้ที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยดูเหมือนจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนที่ถูกเหวี่ยงไปตามกระแสของตลาด”

และน่าสนใจไม่น้อยว่าท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลายตัวกลับพุ่งขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำ New High ในรอบหลายเดือนและไม่ยอมดิ่งลงด้วย ซึ่งก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าหุ้นเหล่านี้ได้ผ่านจุด Bottom ไปแล้วหรือยัง ? หรือว่าแค่ขึ้นมาเพื่อสับขาหลอกกันแน่ ?

หากจะมองในภาพกว้างแล้ว ตลาดเข้าสู่แรงกดดันและข่าวร้ายมาอย่างน้อย 9 เดือน จึงอาจเป็นไปได้ว่านักลงทุนหลายคนได้ทิ้งหุ้นออกจากมือไปเยอะแล้ว และเมื่อเกิดวิกฤตธนาคารขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยิ่งทำให้คนที่ยังหลงเหลือในตลาดแห่ตัดใจกันไปไม่น้อย เนื่องจากความหวังที่จะตลาดจะฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ดูจะเป็นไปได้น้อยลงกว่าเดิม

ดังนั้นแล้ว เราก็คงต้องรอดูกันอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อคนเริ่มถอดใจกันหมด และสถานการณ์ต่าง ๆ ดูเลวร้าย มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงอีกเช่นนี้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดการเงินโลกต่อไป ? จะมีอะไรอยู่นอกเหนือสายตาของเราหรือไม่ ? จะมีระเบิดลูกไหนบึ้มออกมาอีกหรือไม่ ? หรือว่าทุกอย่างจะเริ่มพลิกกลับไปยังทิศทางที่ดีขึ้นกันแน่ ?

เรื่องของวิกฤต Bank Run จะกลายเป็นโดมิโน่หรือไม่ ? Deutsche Bank ของเยอรมนีจะรอดหรือไม่รอด ? จากคำถามทั้งหมดนี้ เราอาจได้เห็นภาพฉายของอนาคตมากขึ้นในอีกไม่นาน ! ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ World Maker อยากให้จับตามองควบคู่กันไปก็คือการเกิดขึ้นของระบบ Blockchain CBDC และเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อมนุษย์มากขึ้นในอนาคต

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นให้ลองมองดูว่าเมื่อ CBDC เข้ามาแล้ว ระบบธนาคารที่มีหลายบริษัท หลายสาขามากมายในขณะนี้ จะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ? แล้วถ้ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะอยู่ต่อไป พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่อะไรบ้าง ? การลดต้นทุน ลดบริษัท ลดสาขา ลดจำนวนพนักงาน ใช่คำตอบของคำถามเหล่านี้หรือไม่ ?


ที่มา: World Maker
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0uoA2WQiPntEp6hY586CgG81jTP1bpGXjjeA9sL4XWJgSFoJR928rgGWs8bNZDk52l&id=100057372132574&mibextid=Nif5oz