เปิดเหตุผลที่ ‘เมียนมา’ แห่ทะลักมาทำงานในไทย แม้ต้องเข้ามาแบบผิดกฎหมาย...ก็ยอม!!
ช่วงนี้เอย่าได้อ่านข่าวเรื่องการตรวจจับคนเมียนมาข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายแทบจะเรียกได้ว่าทุกวัน
เหตุเพราะตอนนี้ คนเมียนมาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนหรือไม่ใช่ปัญญาชน ต่างก็มุ่งจะออกไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ได้สนใจว่าจะใช้วิธีที่ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย
ซึ่งปลายทางในการเดินทางผิดกฎหมายที่พบในข่าวฝั่งเมียนมามากที่สุดคือ ไทย รองลงมาคือ มาเลเซีย
คำถาม คือ แล้วทำไมเป็นประเทศไทย ที่แรงงานเมียนมาอยากมามากที่สุด
วันนี้เอย่าจะนำข้อมูลที่ได้มาจากกลุ่มแรงงานที่เดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายในไทยมาให้ทราบกัน...
>> ประการแรกคือ ประเทศไทยนั้นมีเอเยนต์ที่คอยการข้ามแดนของพวกเขา เมื่อชาวเมียนมาเข้ามาแล้ว ก็จะไปวิ่งเต้นในการทำบัตรแรงงานต่างด้าวหรือที่เรียกกันว่าบัตรชมพูให้ด้วย
ซึ่งนั่นจะทำให้แรงงานเมียนมาที่ข้ามมาได้แล้ว (ได้บัตรชมพู) ทุกอย่างก็จบพวกเขาสามารถทำงานได้เลยเพราะบริษัทหรือห้างร้านในไทยไม่ได้ตรวจสอบการเดินทางเข้ามาเพียงแต่ตรวจสอบเรื่องการมีบัตรชมพูหรือไม่เท่านั้นเอง
>> ประการต่อมา ในประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเข้าเมืองมาแบบใด ไม่ว่าจะมาแบบมีวีซ่าทำงาน หรือ ท่องเที่ยว หรือ แรงงานก็ตาม หากไปทำเรื่องที่สถานทูตเมียนมาก็สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้กับธนาคารที่มีการดีลกับสถานทูตไว้ ซึ่งนี่เป็นอภิสิทธิ์อีกอย่างหนึ่งให้แก่คนเมียนมา
กลับกันหากเป็นในประเทศอื่น การเดินทางเข้าเมืองแบบไม่ถูกต้อง หรือมาแบบท่องเที่ยว การจะเปิดบัญชีธนาคารนั้นจะยากมาก เนื่องจากตามกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศไม่อนุญาตให้กระทำ
ณ ปัจจุบันคนไทยเป็นมิตรและเปิดรับคนเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดประเด็นเรื่องกัมพูชากับกรณีข้อพิพาทจากซีเกมส์ ทำให้แรงงานเมียนมาเป็นที่ต้องการในตลาดไทยเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ตัวแปรในด้านอื่น ๆ เช่น เรื่องการเปิดกว้างด้านศาสนา เพศสภาพ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม ก็ทำให้ไทยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่ชาวเมียนมาไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากมายเพื่ออยู่อาศัยในไทย
ประการสุดท้าย หากชาวเมียนมาอยากจะกลับบ้าน การเดินทางก็แสนง่าย เช่น หากจะบินกลับย่างกุ้ง ก็ใช้เวลาแค่เพียง 1 ชั่วโมงนิด ๆ เท่านั้น หรือจะเดินทางไปยังเมียวดี จากกรุงเทพฯ ก็แค่ประมาณ 6-7 ชั่วโมง หรือไปท่าขี้เหล็กก็ประมาณ 12 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ
และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยเป็นหมุดหมายของชาวเมียนมาที่อยากจะเข้ามาทำงานไม่ว่าจะมาแบบถูกต้องหรือแบบผิดกฎหมายก็ตาม
จากนี้หากภาครัฐต้องการลดปัญหาการข้ามแดนผิดกฎหมาย อาจจะต้องทบทวน หรือออกกฎ หรือควบคุมการออกบัตรชมพูให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรประสานกับทางกรมแรงงานฝั่งเมียนมาในการทำเรื่องส่งตัวและบริษัทในไทยก็ควรตรวจสอบให้รัดกุมก่อนจะรับแรงงานมาทำงานเช่นกัน
เรื่อง: AYA IRRAWADEE