คลี่ประวัติศาสตร์ผ่านดนตรี แสง สี เสียง ในบรรยากาศสุดคลาสสิคที่ 'หัวลำโพง'

วันนี้ (18 มี.ค.66) ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ร่วมกับ Lighting Designers Thailand ที่มาร่วมออกแบบแสงไฟ (Lighting Installation) เพื่อช่วยสร้างเรื่องราวและขับเน้นความงดงามของสถาปัตยกรรม พร้อมกับจัดการแสดงดนตรีที่ได้รับการคัดสรรมาให้สอดคล้องกับการที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นชุมทางของคนเดินทาง

พื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพงสุดคลาสสิก เคยเป็นชุมทางของการเดินทางจากผู้คนทั่วประเทศมายังกรุงเทพมหานคร แม้ปัจจุบันจะลดความคับคั่งลงเหลือเพียงการเดินรถไฟไม่กี่สาย แต่สถานีรถไฟหัวลำโพงยังคงมีความสำคัญในฐานะอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และความทันสมัยด้านระบบคมนาคมของประเทศไทย

ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 126 ปีการรถไฟแห่งประเทศไทยในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ชวนคุณมาร่วมสีสันไปพร้อมกับการเปิดมุมมองใหม่ที่เปี่ยมเสน่ห์ของสถานีรถไฟกรุงเทพ ใน 'Unfolding Bangkok' สอดรับกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของสถานีรถไฟหัวลำโพง จึงเป็นโอกาสในการทดลองปรับพื้นที่ของสถานีรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมสถาปัตยกรรม การเรียนรู้และสันทนาการของผู้คน

ทั้งนี้ Unfolding Bangkok ได้ประสบความสำเร็จกับกิจกรรมหลายครั้งก่อนหน้านี้ อาทิ โรงปั้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวในงานว่า "ทุกวันนี้จำนวนผู้เข้าใช้บริการในการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นมีเยาวชนมากกว่า 50% ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะได้สอดแทรกประวัติศาสตร์อันดีงามของการรถไฟ พร้อมทั้งประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากการเดินทางซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์ รถยนต์ หรือเครื่องบิน และงานนี้จะเป็นต้นแบบให้องค์กรต่าง ๆ ร่วมกันส่งเสริมให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป"

ผู้สนใจเข้าร่วมชมงานฯ สำหรับวันที่ 18-26 มีนาคม 2566 นี้ เป็นงานแสงสีเสียง  และดนตรี ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงร่วมฉลองครบ 126 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยรายละเอียดกิจกรรมงาน Living Old Building แสงสีเสียงหัวลำโพงนี้ มี 3 ส่วนคือ...

1. THE WALL 2023: UNFOLDING HUA LAM PHONG โดย Lighting Designers Thailand ที่จัดแสดงไฟ 3 จุด ช่วงเวลา 19.00-22.00 น. ดังนี้ / จุดแรกทางเข้า (1st Scene: The Door) จุดนี้คือ กระจกทรงโค้งที่บริเวณประตูทางเข้าสถานีรถไฟ เป็นฉากเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อเข้าสู่พื้นที่ภายใน ภายใต้ธีม The Door อันสะท้อนจินตนาการของผู้คนสู่ก้าวย่างใหม่ของการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น / ผู้คน (2nd Scene: The People) ภายในโถงอาคารของสถานีรถไฟหัวลำโพง ในส่วนที่พักคอยของผู้โดยสารที่ออกแบบแสงให้เป็นพื้นที่สำคัญ ให้ “ผู้คน” ที่มานั่งเล่นได้เห็นเสน่ห์ของสถานีรถไฟหัวลำโพงในมุมมองใหม่ พร้อมๆ กับรับชมการแสดงดนตรี และชื่นชมความงามของอาคารประวัติศาสตร์ไปด้วย / อารมณ์ของการพบปะ และจากลา (3rd Scene: The Emotion) บริเวณชานชาลา พื้นที่แห่งการพบปะและจากลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่แสงไฟจะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมในการพบและจากลาของผู้คนในอดีต ที่เคยโดยสารรถไฟหัวรถจักรไอน้ำที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

2. ดนตรี ความบันเทิงของคนเดินทาง - การแสดงดนตรีที่หลากหลาย ทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง หมอลำ ร็อก ฮิปฮอป และแจ๊ซ ที่ล้วนเป็นเพื่อนเดินทางของผู้คนที่หัวลำโพง โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม และ 24-26 มีนาคม เวลา 17.00-21.00 น.

3.ทัวร์ย้อนเวลาศึกษารถไฟไทย - กลุ่มคนรักรถไฟและวิทยากรจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จะมาร่วมกันบอกเล่าถึงความเป็นมาของ “รถไฟไทย” และสถานีหัวลำโพง นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงปัจจุบัน โดยจัดทัวร์ในวันที่ 18-19 มีนาคม วันละ 2 รอบ 24 มีนาคม วันละ 1 รอบ และ 25-26 มีนาคม วันละ 2 รอบ


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์