มองชีวิตเป็นที่ตั้ง เปิดทาง 'หลากศาสตร์' สู่กระบวนการทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยสิ้นหวังด้วยหลักเมตตาธรรม

ทุกวันนี้สังคมไทยยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวทางการแพทย์อยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการรักษาที่มีความสลับซับซ้อน แต่สิ่งซึ่งผู้เขียนอยากนำมาเสนอในบทความนี้คือ ความปรารถนาให้ผู้คนได้รู้และเข้าใจเรื่องราวของการเข้าถึงกระบวนการการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมทางการแพทย์  รวมทั้งไม่เพิกเฉยละเลยในศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและรักษาชีวิตมนุษย์ทุกผู้ทุกคนบนโลกใบนี้

ในการรักษาตามศาสตร์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น กระบวนการในการรักษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์โดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นมา ครอบคลุมตั้งแต่ บุคลากร วิธีการปฏิบัติ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ ฯลฯ ดังนั้นกระบวนการรักษาโดยรวมจึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมา แต่ก่อนถึงการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านั้นจะมีกระบวนการที่เรียกว่า “การวิจัยทางคลินิก” (Clinical Trial) อันเป็นหนึ่งในกระบวนการทดสอบใน “มนุษย์” ว่า ยา วัคซีน วิธีการรักษา วิตามิน อาหารเสริม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น สามารถรักษาโรคได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และปลอดภัยเพียงพอสำหรับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้และจำหน่ายแล้วหรือยัง 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาการทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้มียาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล แต่ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเหล่านี้ได้ผ่านการทดลองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์ในแต่ละสิ่งอย่างนับร้อย ๆ ชีวิต เป็นร้อย ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนู สุกร กระต่าย หรือ ลิง ซึ่งผ่านการทดลองอย่างปลอดภัยจนมั่นใจว่า สามารถนำไปใช้ในมนุษย์ได้แล้ว แต่อาจจะใช้ในการรักษาโรคผู้ป่วยที่หมดหนทางในการรักษาตามมาตรฐานสากลเท่าที่มีอยู่ และได้ใช้วิธีการรักษาที่มีอยู่จนหมดแล้ว 

โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มที่เรียกว่า “ผู้ป่วยสิ้นหวัง” (Desperate patient) อันได้แก่ ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคทางกายและ/หรือทางใจ โดยไม่มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์ทรมาน และไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ดังกล่าวอาจสามารถใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ และเป็นหลักการที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก ตามที่เรียกกันว่า Compassionate treatment หรือการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรม ตามปฏิญญาเฮลซิงกิของแพทยสมาคมโลก ค.ศ. 2013 (WMA Declaration of Helsinki 2013)

การรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมจึงเป็นหลักการทางการแพทย์ที่ถือว่า มีความเป็นสากล เพราะการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ อาทิ ยาชนิดใหม่เพื่อการวิจัย หรือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกการทดลองทางคลินิก โดยผู้ป่วยที่มีสภาวะร้ายแรงหรือมีภาวะถูกคุกคามชีวิต ซึ่งไม่ตรงตามเกณฑ์การลงทะเบียนสำหรับการทดลองทางคลินิกที่กำลังดำเนินอยู่

ในสหรัฐอเมริกา การรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมเริ่มต้นจากการจัดหายาสำหรับผู้ป่วยบางรายในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยโครงการที่เป็นทางการเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1987 เพื่อตอบสนองต่อผู้ป่วย HIV/AIDS ที่ร้องขอการเข้าถึงยาที่กำลังพัฒนา และทำให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือ Right-to-try laws (กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลอง) กลายเป็นกฎหมายของมลรัฐในสหรัฐอเมริกากว่าสี่สิบมลรัฐแล้ว 

แล้วที่สุดกลายเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงการรักษาเชิงทดลอง (ยา สารชีวภาพ อุปกรณ์) ที่ได้ผ่านการทดสอบระยะที่ ๑ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) เมื่อ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลองใช้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) เพื่อใช้ยาทดลอง ในปี ค.ศ. 2018 มี ๔๑ มลรัฐของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลอง กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลองใช้ของรัฐบาลกลางผ่านในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 นับตั้งแต่การลงนามในร่างกฎหมาย ผู้ป่วยหลายพันคนสามารถใช้วิธีการรักษาแบบทดลองตามกฎหมายนี้ได้ จากข้อมูลของ Scott Gottlieb ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของ FDA ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ องค์การอาหารและยา (FDA) ได้อนุมัติคำขอของผู้ป่วยถึง 99% ในการเข้าถึงยาทดลอง ทั้งทางโทรศัพท์ทันทีหรือภายในไม่กี่วันก่อนที่จะมีการลงทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความสำเร็จในการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมคือ กรณีของ Martin A. Couney ผู้คิดค้นตู้อบทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนด (Neonatal incubators) เมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1900 นักสุพันธุศาสตร์ (นักวิชาการซึ่งทำการประมวลความเชื่อและวิธีปฏิบัติว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพทางพันธุกรรมของประชากรมนุษย์) หลายคนได้เผยแพร่ความเชื่อที่ว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดควรถูกกำหนดให้ตาย และไม่คุ้มค่าที่จะทำการรักษา

แต่ Martin Couney ท้าทายแนวคิดนั้นด้วยนิทรรศการของเขา ซึ่งเขาสร้างขึ้นหลังจากที่เขาดัดแปลงตู้ฟักไก่ให้เป็น “โรงเพาะฟักเด็ก” ในงาน Chicago world fair โดย Martin Couney ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ใด ๆ เลย แต่เขาได้ช่วยชีวิตทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่า ๗,๐๐๐ คนตลอดช่วงชีวิตของเขา โดยจัดแสดงไว้ในตู้อบทารกในนิทรรศการของเขาที่ Coney Island

Couney เชื่อว่า ตู้ฟักไข่จะสามารถทำให้ทารกที่อ่อนแอนั้นรอดจากความตายได้ และทำได้อย่างไร โดยเขาได้แสดงความกระตือรือร้นในการทำความสำเร็จนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเมื่อนิทรรศการของเขาที่ Coney Island ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1943 โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งในอเมริกาก็ได้นำตู้อบทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนดตามแบบของเขามาใช้ แนวคิดและวิธีปฏิบัติของ Couney ผู้ไม่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ใด ๆ เลย กลายเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการดูแลทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนด และทารกซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาจนถึงทุกวันนี้

การใช้ยาด้วยการรักษาตามหลักเมตตาธรรมเป็นการใช้ยาใหม่ที่ไม่ผ่านการอนุมัติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยสิ้นหวังเมื่อไม่มีวิธีการรักษาอื่นด้วยความเข้าใจและเห็นใจ โดยที่ยานั้นอยู่ระหว่างกำลังทดสอบ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรียกว่า ยาที่ใช้ในการวิจัย โดยปกติแล้วยาเหล่านี้จะใช้ได้เฉพาะกับผู้ที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกเท่านั้น ความสามารถในการใช้ยาเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในการทดลองทางคลินิก จึงเรียกว่า การใช้ยาด้วยการรักษาตามหลักเมตตาธรรม

ผู้ป่วยสิ้นหวังย่อมต้องได้รับโอกาสในการรับการรักษา แม้จะหมดหวังในการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่มีอยู่ แต่ด้วยวิธีการใหม่ ด้วยยาตัวใหม่ สมควรได้นำมาใช้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้คนทั่วไปสามารถข้าถึงการรักษาตามหลักเมตตาธรรมได้ตลอด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียหรือแย่ไปกว่านี้แล้ว (Noting to lose) 

สำหรับสังคมไทยแล้ว ระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกลับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการรักษาที่อาจจะดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้และทั้งนั้นเหตุเพราะกระบวนการการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมทางการแพทย์  หากเป็นวิธีการที่ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เคยใช้ และยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรืององค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว กระบวนการรักษาผู้ป่วยสิ้นหวังมักจะใช้หลัก do no harm หรือ การรักษาด้วยการพยุงหรือประคองอาการของผู้ป่วยไปเรื่อย ๆ สำหรับการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้วิธีการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรม จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งในด้าน ความปลอดภัย ผลการรักษา และ กลไกการทำงานของยา โดยต้องมีผลการศึกษาว่า ยามีความปลอดภัยสูงกว่า ผลการรักษาดีกว่า และกลไกการทำงานของยา แตกต่างไปจากยาอื่น ๆ ที่อยู่ตามมาตรฐานสากลอย่างไร เมื่อผู้ป่วยสิ้นหวังไม่มีตัวเลือกการรักษาอื่นใดที่เทียบเคียงได้ และมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยสิ้นจะได้รับประโยชน์ในการรักษา (ด้วยวิธีการ ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใหม่) มากกว่าความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่สุดก็ควรที่ใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมตามหลักเมตตาธรรม