ชะตากรรมเลือกตั้ง 66 พรรคการเมืองใหญ่ ‘ฝ่ายรัฐ-ฝ่ายค้าน’ ต้องผวา!! หลัง ‘บรรดานักร้อง’ เรียงหน้าขุดหลักฐานยื่น ‘ยุบพรรค’

เมื่อไม่นานมานี้ (9 มี.ค.66) ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และอาจารย์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในคลิปวิดีโอหัวข้อ ‘จับตา! กระแสยุบพรรค...ชะตากรรมเลือกตั้ง 66’ ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ ‘Suriyasai Channel’ โดยระบุว่า…

เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองก่อนมีพระราชกิจฎีกาเลือกตั้ง ก็พบว่า มีกระแสยุบพรรคถูกจุดขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะขอมาเรียบเรียงที่มาที่ไป ที่มันจะทำให้เกิดความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง หรือความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง 

และหากจำกันได้ช่วงเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วในปี 62 ก็มีพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ชื่อพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่ 23 วัน ต้องออกจากสนามเลือกตั้ง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า คะแนนของปีกฝ่ายค้านกับปีกพรรคร่วมรัฐบาลมันไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง มันกลายเป็นการโหวตเพียงเพราะว่าไม่มีพรรคที่เรารักให้โหวตเลยจะต้องไปโหวตฝั่งพรรคอื่น มันเลยเกิดความคาราคาซังอย่างที่ได้เห็นกัน 

ส่วนการเลือกตั้งในรอบนี้ ปี 2566 ก็ต้องรอนายกฯ ประกาศยุบสภาก่อน ส่วนการเลือกตั้งก็คงเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมอย่างแน่นอน และคาดว่าเป็นช่วงต้นเดือน แต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กระแสความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วนั่นก็คือ กระแสยุบพรรคการเมือง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่คนหยิบยกมาพูดกันอย่างล้นหลาม ส่วนความคิดเห็นก็แตกต่างกันไป ส่วนประเด็นที่เราจะยกมาพูดในวันนี้ก็คือแนวโน้มของเรื่องนี้จะเอียนไปทางไหน จะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 62 หรือไม่? หรือมีอะไรที่น่ากังวลมากกว่าเดิมหรือไม่?

>> เริ่มที่ประเด็นที่มีการร้องเรื่องยุบพรรคใหญ่ ๆ ในขณะนี้ที่โดนกันเกือบทุกพรรค

พรรคล่าสุดที่โดนคือ ‘เพื่อไทย’ เพราะมีคนไปร้องว่า ‘คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเลยว่า ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ศาลไม่ได้บอกว่าห้ามไปยุ่งนั้น ห้ามขนาดไหนอย่างไร พอไม่ได้เขียนอย่างนั้น อาจทำให้คุณณัฐวุฒิ สนใจหรือไม่สนใจหรือเปล่า ภาพที่ปรากฏออกมาคือคุณณัฐวุฒิ ไปมีบทบาทผู้นำในพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย การแจกแจงแถลงยุทธศาสตร์แลนสไลด์ ผมคิดว่าคุณณัฐวุฒิปราศรัยทุกครั้ง ชูเรื่องนี้มากกว่าหัวหน้าพรรค พูดมากกว่าใครอีก 

นี่เลยกลายเป็นประเด็นที่มีคนไปร้องพรรคเพื่อไทยว่าปล่อยให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรม หรือการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

ซึ่งก่อนหน้านี้เพื่อไทยก็โดนร้องกรณีที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง หนีคดีด้วย ที่ดูเหมือนเล่นบทบงการพรรค หรือกระทั่งบงการว่าที่นายกคนที่ 30 ด้วยซ้ำไป กลายเป็นคนที่เหมือนชักใยอยู่แล้ว จะบอกว่าใครเหมาะไม่เหมาะ มันก็เลยทำให้ภาพดูยังมีบทบาทกับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยอยู่ ซึ่งก็มีคำร้องเรียนนี้ไว้แล้ว แต่เข้าใจว่ากรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด

ต่อมาคือ ‘ก้าวไกล’ จำได้ว่าคุณศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเบอร์ 1 ก็ไปร้องยุบพรรคก้าวไกล เรื่องร้องเรียนคล้าย ๆ กับกรณีที่ คุณสนธิญา สวัสดี ที่ไปร้องพรรคเพื่อไทยล่าสุดว่า คุณปิยบุตร คุณธนาธร ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี แต่ไปขึ้นเวทีปราศรัย แล้วก็มีบทบาทนำในพรรคก้าวไกลอยู่ในขณะนี้ แม้จะทำในนามกลุ่มก้าวไกลก็ตาม แต่โดยเฉพาะการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเคียงคู่กันมันทำได้หรือไม่อย่างไร หรือเข้าข่ายไปผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่นี่ก็เป็นที่ร้องสักระยะแล้ว

ถัดไปเป็นพรรคใหญ่อย่าง ‘พลังประชารัฐ’ ของลุงป้อมในเรื่องที่ไปโยงกับทุนสีเทา ตู้ห่าว ที่บริจาคให้เงินสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ มีคนไปร้องว่าไปรับบริจาคจากคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นชาวต่างชาติ กฎหมายทำไม่ได้ บริจาคบาทเดียวก็ไม่ได้ อันนี้บริจาค 3 ล้าน เรื่องก็คาอยู่ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง

ต่อมาพรรคลุงตู่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ก็มีคนออกมาพูดเรื่องที่ทำการพรรค สำนักงานพรรคไปโยงกับ ส.ว. คนหนึ่ง ที่คุณโรม รังสิมันต์ โฆษกพรรคก้าวไกล บอกว่าเป็น ส.ว. ทรงเอ แล้วก็เป็นอาคารสถานที่ ที่ไปโยงของเรื่องการได้มาที่มิชอบ หรือไม่สุจริต แล้วมันเป็นที่ทำการพรรคได้อย่างไร ก็มีคนพยายามเปิดประเด็นที่ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นภาพของพรรคใหญ่

และล่าสุดตอนนี้คุณชูวิทย์ ก็เดินหน้าตรวจสอบ ‘ภูมิใจไทย’ อย่างแรง ทั้งเรื่องรถไฟสายสีส้ม เบื้องหน้าเบื้องหลังการประมูล จนกระทั่งเรื่องที่ดินรถไฟ ที่ดินเขากระโดง แล้วก็ใช้นอมินีถือหุ้นแทนเปิดโปงรายวัน ลามไปถึงขั้นประกาศว่าจะทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะว่าเรื่องมันไปโยงกับ ‘คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยด้วย

จะเห็นว่าพรรคใหญ่ 5-6 พรรคเหมือนถูกจ่อคอหอยอยู่เลยนะ แต่ความคิดเห็นบางคนบอกว่าไม่น่าถึงขั้นยุบพรรค หรือไม่น่าจะมีความผิดขนาดนั้น แต่จริง ๆ ก็ไปคาดการณ์อะไรที่มันจะร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการเมืองไทย

ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ถึงขั้นไปเชียร์กฎหมายยุบพรรค เพราะกว่าจะทำพรรคให้เป็นองค์กร เป็นสถาบัน มีสมาชิก มีสาขาตามเงื่อนไขมันยาก อีกทั้งพรรคการเมืองบ้านเรายังไม่มีความเป็นสถาบัน แล้วหากมีบางพรรคกำลังก่อตัวแล้วไปยุบพรรค ลางสังหรณ์ผมไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ในทางกลับกันก็ไม่อาจปล่อยให้พรรคการเมืองทำอะไรตามใจชอบจนเลยเถิด กลายเป็นกลุ่มเป็นแก็งเป็นก๊วนมาหาประโยชน์ โดยอ้างตัวแทนประชาชนไม่ได้ 

ฉะนั้นความพอดีของกฎหมายมันก็ต้องมี หรือความผิดทางกฎหมายมันก็ต้องบรรจุไว้ เรื่องยุบพรรค จึงไม่ได้ลบทิ้งไป ยังคงต้องคาไว้ ในรัฐธรรมนูญ 60 ก็เหมือนกัน ยังเห็นความจำเป็นต้องกำกับควบคุมพรรค โดยเฉพาะการกระทำที่มันทำลายความมั่นคง หรือเข้าข่ายกระทบต่อระบอบของการเมือง การปกครอง 

สำหรับเรื่องนี้บางคนอาจจะชอบ เห็นด้วยว่ามันต้องมี บางคนอาจจะมองกฎหมายว่ามันไม่ควรมี มันก็แล้วแต่คนจะตีความหมาย 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดหนักมาก ๆ ในช่วงนี้ และมีความออกมาชี้เป้า ออกมาเตือนให้จับตาดูว่าอาจจะทำให้การเมืองพลิกกระดานได้ ก็เพราะว่ามีบางคนใช้คำว่า กฎหมายติดเทอร์โบ หมายความว่ามันกำหนดช่วงเวลา วินิจฉัย คำร้องเรียนเรื่องยุบพรรคเร็วมาก ทำให้ไม่สามารถปล่อยทิ้งค้างไว้เป็นปีสองปี หรือจนลืมไปเลย มันทำไม่ได้ เพราะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นเจ้าภาพเบื้องต้นของข้อร้องเรียนเรื่องยุบพรรค กลายเป็นคนออกระเบียบมาเอง
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กกต. หรือกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ออกประกาศ ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ว่าด้วยขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนยุบพรรค หรือที่เรียกว่า ยุบพรรคติดเทอร์โบ 

โดยกำหนดว่าเมื่อมีคำร้อง ขั้นตอนแรกเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องต้องใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน สำหรับตรวจสอบพยานหลักฐานเอกสารดูก่อนว่ามันเข้าองค์ประกอบหรือไม่ หรือมันเป็นแค่บัตรสนเทศ ใบปลิว หรือมันมีตรรกะ มีพยานหลักฐานสมน้ำสมเนื้อควรเป็นคำร้องภายใน 7 วัน คณะทำงานชุดนี้ต้องหาข้อยุติ 

เมื่อเห็นมันเข้าข่ายที่ต้องวินิจฉัยให้เป็นกระแสความ ก็ส่งไปที่กรรมการชุดใหญ่ กรรมการชุดใหญ่ก็ต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยคำร้องนี้ 30 วัน โดยต้องหาข้อยุติว่าเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่? ถ้าหากเวลา 30 วัน ไม่พอสำหรับหาเอกสาร หรือหลักฐานที่มันยังเบาไปอยู่ แต่มีมูลจะหาต่อก็ขยายไปได้อีก 30 วัน รวมแล้วกลายเป็น 60 วัน แต่สามารถทำให้จบได้ภายใน 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันในขั้นแรก 

หมายความว่าทำให้จบภายใน 30 วันได้ จากเดิมเริ่มที่ 7 วัน เป็น 30 วัน ก็ใช้เวลาแค่ 37 วัน แต่ถ้ามีเรื่องที่จะต้องสืบเพิ่ม ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน รวมเป็น 67 วัน สรุปคือ กกต. ใช้เวลาได้ไม่เกิน 67 วัน หรือสองเดือนกว่า ๆ ขยายยังไงก็ได้ไม่เกิน 67 วัน และสามารถทำให้จบก่อนหน้านั้นได้ 

ดังนั้นหากเรื่องตกไปตั้งแต่ขั้นตอนคณะทำงานรับเรื่อง ก็ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องกังวล แต่หากมันมีมูลต้องสอบ ก็ต้องไปรอคำวินิจฉัยของ กกต. ชุดใหม่ ก็จะทำให้พรรคการเมืองที่ถูกร้อง ต้องอยู่ในภาวะหวาดระแวง ทำการหาเสียงไป ชำเลืองมองไปว่า จะถูกวินิจฉัยว่าอย่างไร จะได้หาเสียงแบบสบายใจหรือต้องเอามือก่ายหน้าผาก

อย่างไรก็ตามเมื่อครบ 60 วัน คณะทำงานไม่เกิน 7 วัน กกต. ชุดใหญ่พิจารณาชี้ขาดไม่เกิน 30 วัน ขยายได้ไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 67 วัน ถ้าชุดใหญ่ กกต. เห็นว่ามีมูล สมควรวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นใช้คนนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกมาบงการพรรค ทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหนอย่างไร ก็ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย 

เมื่อ กกต. ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องไปดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนเร็วหรือช้า แต่ศาลไม่ได้ระบุระยะเวลาไว้ เพราะว่ามันเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ใน กกต. โดยรวมไม่เกิน 67 วัน ต้องมีข้อยุติในเรื่องนี้ให้ได้

อย่างเช่นในช่วงที่มีการตัดสินคดีพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ที่มีการเสนอบุคคลสำคัญเป็นแคนดิเดตนายกฯ จนสุดท้ายใช้เวลาแค่ 23 วัน ก็ยุบพรรคกลางสนามเลือกตั้ง ทำให้ตอนนั้นเกิดเป็นประเด็นใหญ่โต

ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ก็ต้องไปดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาแค่ไหน อาจจะ 23 วัน หรืออาจจะ 30 วัน ก็ไม่อาจทราบได้ แต่อย่าลืมว่ากระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภาพรวมเร็วขึ้น ไม่ได้ปล่อยไว้นาน เพราะศาลมองว่าความยุติธรรมที่มันล่าช้าก็ถือเป็นความไม่ยุติธรรม หรือเป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง 

สรุปรวมเลยก็คือ ทุกพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ทั้งทางฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็โดนยื่นฟ้องยุบพรรคกันทั้งนั้น แต่บางพรรคก็มีเค้ามีมูลและต้องตามดูผลวินิจฉัยกันต่อไป และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดเลยคือการห้ามบุคคลที่ถูกตัดสินห้ามยุ่งการเมืองนั้น ขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน ห้ามพูดเรื่องการเมือง ห้ามให้สัมภาษณ์ หรือห้ามแสดงความคิดเห็น และหากศาลรัฐธรรมนูญออกระเบียบให้เป็นมาตรฐานก็คงง่ายต่อทุกองค์กร เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกสังคมสงสัยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


ที่มา: https://youtu.be/Ai-3LGSGhMc