Friday, 29 March 2024
ยุบพรรค

MEET THE STATES TIMES 'เดอะ ดีเบต' | EP.8

📌ร่วมถกประเด็นร้อนในรอบสัปดาห์ ผ่านมุมมองสร้างสรรค์ และคมคิดที่น่าสนใจ ในรายการ Meet THE STATES TIMES ‘เดอะ ดีเบต’

🔥 ในประเด็นร้อน 🔥

1.) ‘ยุบพรรค’ คลื่นสึนามิระลอกใหม่ ใต้จักรวาลการเมืองไทย

2.) ส่องมาตรการโควิดในช่วงสงกรานต์ดุ

3.) สีสันเลือกตั้งผู้ว่ากทม.

🔥ไปกับ ‘โบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ดำเนินรายการโดย ‘หยก THE STATES TIMES’

ในรายการ Meet THE STATES TIMES ‘เดอะ ดีเบต’ ร่วมถกประเด็นสุด​ Exclusive​ ระหว่าง​ THE​ STATES​ TIMES​ และ​ 'โบว์​ ณัฏฐา'​

.

.

‘ชลน่าน’ ชี้!! ไม่เห็นด้วยยุบ ‘พปชร.’ ปมเงินบริจาค ย้ำ!! เหตุยุบพรรคได้ต้อง ‘ล้มล้างการปกครอง’ เท่านั้น

‘ชลน่าน’ ชี้ปม ‘หาวเจ๋อ ตู้’ บริจาคเงินให้พปชร. บอกก่อนรับบริจาคพรรคต้องรู้ให้ชัดถึงที่มา ย้ำ ไม่เห็นด้วยยุบพรรคกับเรื่องอื่นนอกจากล้มล้างการปกครอง

(29 ต.ค. 65) ที่ รร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ ‘หาวเจ๋อ ตู้’ ชายเชื้อชาติจีน ที่เพิ่งได้รับสัญชาติไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับผับฉาวย่านยานนาวา มีชื่อบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 ล้านบาท เมื่อปี 2564 ว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

‘เพื่อไทย’ สับ ‘สนธิญา’ จ้องร้องเอาผิดยุบพรรค เตรียมส่งทีมกฎหมาย ร้อง กกต.เอาผิดคืน

‘ชุมสาย’ สับ ‘สนธิญา’ สิ่งน่ารำคาญทางการเมือง มโนร้องจ้องยุบ พท. เตือนร้องเท็จมีโทษหนัก ระวังโดนอาญากลับ จ่อร้อง กกต.เอาผิดนักร้องมั่ว 

(28 ธ.ค.65) นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายสนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยุบพรรค พท. เหตุที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นบิดาที่ฮ่องกง โดยกล่าวหาว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 44,45,28,29 มีโทษตามมาตรา92 (3) (4) ว่า ตนยังไม่เห็นคำร้องของนายสนธิญา แต่หากดูประเด็นจากสื่อเห็นว่าไม่มีมูลอันจะเป็นความผิดได้ตามที่กล่าวอ้าง ไม่มีข้อเท็จจริง ไร้แก่นสารสาระ ไม่มีพยานหลักฐานและพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะชี้ว่าเป็นความผิด แต่เป็นการใช้จินตนาการหาเหตุยื่นยุบพรรคโดยมิชอบมากกว่า เชื่อว่าเรื่องนี้ กกต.คงไม่เห็นพ้องด้วย พรรค เพื่อไทยไม่ได้หวั่นไหวต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ระเบียบและกฎหมายทุกประการ และไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวอ้าง นายสนธิญาไม่ควรทำตัวเป็นสิ่งน่ารำคาญทางการเมือง

นายชุมสาย กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวของนายสนธิญา น่าจะเข้าข่ายเป็นการกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อ กกต.โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าพรรคการเมืองใดมีส่วนรู้เห็นก็จะมีโทษเป็นสองเท่า โดย กกต.มีอำนาจสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคนั้นได้ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 101 ซึ่ง กกต.ต้องจัดการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายของพรรค พท.จะเข้ายื่น กกต.ให้ตรวจสอบการกระทำของนายสนธิญาในวันที่ 29 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงาน กกต.
 

ชะตากรรมเลือกตั้ง 66 พรรคการเมืองใหญ่ ‘ฝ่ายรัฐ-ฝ่ายค้าน’ ต้องผวา!! หลัง ‘บรรดานักร้อง’ เรียงหน้าขุดหลักฐานยื่น ‘ยุบพรรค’

เมื่อไม่นานมานี้ (9 มี.ค.66) ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และอาจารย์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในคลิปวิดีโอหัวข้อ ‘จับตา! กระแสยุบพรรค...ชะตากรรมเลือกตั้ง 66’ ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ ‘Suriyasai Channel’ โดยระบุว่า…

เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองก่อนมีพระราชกิจฎีกาเลือกตั้ง ก็พบว่า มีกระแสยุบพรรคถูกจุดขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะขอมาเรียบเรียงที่มาที่ไป ที่มันจะทำให้เกิดความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง หรือความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง 

และหากจำกันได้ช่วงเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วในปี 62 ก็มีพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ชื่อพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่ 23 วัน ต้องออกจากสนามเลือกตั้ง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า คะแนนของปีกฝ่ายค้านกับปีกพรรคร่วมรัฐบาลมันไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง มันกลายเป็นการโหวตเพียงเพราะว่าไม่มีพรรคที่เรารักให้โหวตเลยจะต้องไปโหวตฝั่งพรรคอื่น มันเลยเกิดความคาราคาซังอย่างที่ได้เห็นกัน 

ส่วนการเลือกตั้งในรอบนี้ ปี 2566 ก็ต้องรอนายกฯ ประกาศยุบสภาก่อน ส่วนการเลือกตั้งก็คงเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมอย่างแน่นอน และคาดว่าเป็นช่วงต้นเดือน แต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กระแสความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วนั่นก็คือ กระแสยุบพรรคการเมือง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่คนหยิบยกมาพูดกันอย่างล้นหลาม ส่วนความคิดเห็นก็แตกต่างกันไป ส่วนประเด็นที่เราจะยกมาพูดในวันนี้ก็คือแนวโน้มของเรื่องนี้จะเอียนไปทางไหน จะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 62 หรือไม่? หรือมีอะไรที่น่ากังวลมากกว่าเดิมหรือไม่?

>> เริ่มที่ประเด็นที่มีการร้องเรื่องยุบพรรคใหญ่ ๆ ในขณะนี้ที่โดนกันเกือบทุกพรรค

พรรคล่าสุดที่โดนคือ ‘เพื่อไทย’ เพราะมีคนไปร้องว่า ‘คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเลยว่า ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ศาลไม่ได้บอกว่าห้ามไปยุ่งนั้น ห้ามขนาดไหนอย่างไร พอไม่ได้เขียนอย่างนั้น อาจทำให้คุณณัฐวุฒิ สนใจหรือไม่สนใจหรือเปล่า ภาพที่ปรากฏออกมาคือคุณณัฐวุฒิ ไปมีบทบาทผู้นำในพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย การแจกแจงแถลงยุทธศาสตร์แลนสไลด์ ผมคิดว่าคุณณัฐวุฒิปราศรัยทุกครั้ง ชูเรื่องนี้มากกว่าหัวหน้าพรรค พูดมากกว่าใครอีก 

นี่เลยกลายเป็นประเด็นที่มีคนไปร้องพรรคเพื่อไทยว่าปล่อยให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรม หรือการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

ซึ่งก่อนหน้านี้เพื่อไทยก็โดนร้องกรณีที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง หนีคดีด้วย ที่ดูเหมือนเล่นบทบงการพรรค หรือกระทั่งบงการว่าที่นายกคนที่ 30 ด้วยซ้ำไป กลายเป็นคนที่เหมือนชักใยอยู่แล้ว จะบอกว่าใครเหมาะไม่เหมาะ มันก็เลยทำให้ภาพดูยังมีบทบาทกับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยอยู่ ซึ่งก็มีคำร้องเรียนนี้ไว้แล้ว แต่เข้าใจว่ากรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด

ต่อมาคือ ‘ก้าวไกล’ จำได้ว่าคุณศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเบอร์ 1 ก็ไปร้องยุบพรรคก้าวไกล เรื่องร้องเรียนคล้าย ๆ กับกรณีที่ คุณสนธิญา สวัสดี ที่ไปร้องพรรคเพื่อไทยล่าสุดว่า คุณปิยบุตร คุณธนาธร ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี แต่ไปขึ้นเวทีปราศรัย แล้วก็มีบทบาทนำในพรรคก้าวไกลอยู่ในขณะนี้ แม้จะทำในนามกลุ่มก้าวไกลก็ตาม แต่โดยเฉพาะการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเคียงคู่กันมันทำได้หรือไม่อย่างไร หรือเข้าข่ายไปผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่นี่ก็เป็นที่ร้องสักระยะแล้ว

ถัดไปเป็นพรรคใหญ่อย่าง ‘พลังประชารัฐ’ ของลุงป้อมในเรื่องที่ไปโยงกับทุนสีเทา ตู้ห่าว ที่บริจาคให้เงินสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ มีคนไปร้องว่าไปรับบริจาคจากคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นชาวต่างชาติ กฎหมายทำไม่ได้ บริจาคบาทเดียวก็ไม่ได้ อันนี้บริจาค 3 ล้าน เรื่องก็คาอยู่ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง

ต่อมาพรรคลุงตู่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ก็มีคนออกมาพูดเรื่องที่ทำการพรรค สำนักงานพรรคไปโยงกับ ส.ว. คนหนึ่ง ที่คุณโรม รังสิมันต์ โฆษกพรรคก้าวไกล บอกว่าเป็น ส.ว. ทรงเอ แล้วก็เป็นอาคารสถานที่ ที่ไปโยงของเรื่องการได้มาที่มิชอบ หรือไม่สุจริต แล้วมันเป็นที่ทำการพรรคได้อย่างไร ก็มีคนพยายามเปิดประเด็นที่ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นภาพของพรรคใหญ่

และล่าสุดตอนนี้คุณชูวิทย์ ก็เดินหน้าตรวจสอบ ‘ภูมิใจไทย’ อย่างแรง ทั้งเรื่องรถไฟสายสีส้ม เบื้องหน้าเบื้องหลังการประมูล จนกระทั่งเรื่องที่ดินรถไฟ ที่ดินเขากระโดง แล้วก็ใช้นอมินีถือหุ้นแทนเปิดโปงรายวัน ลามไปถึงขั้นประกาศว่าจะทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะว่าเรื่องมันไปโยงกับ ‘คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยด้วย

จะเห็นว่าพรรคใหญ่ 5-6 พรรคเหมือนถูกจ่อคอหอยอยู่เลยนะ แต่ความคิดเห็นบางคนบอกว่าไม่น่าถึงขั้นยุบพรรค หรือไม่น่าจะมีความผิดขนาดนั้น แต่จริง ๆ ก็ไปคาดการณ์อะไรที่มันจะร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการเมืองไทย

ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ถึงขั้นไปเชียร์กฎหมายยุบพรรค เพราะกว่าจะทำพรรคให้เป็นองค์กร เป็นสถาบัน มีสมาชิก มีสาขาตามเงื่อนไขมันยาก อีกทั้งพรรคการเมืองบ้านเรายังไม่มีความเป็นสถาบัน แล้วหากมีบางพรรคกำลังก่อตัวแล้วไปยุบพรรค ลางสังหรณ์ผมไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ในทางกลับกันก็ไม่อาจปล่อยให้พรรคการเมืองทำอะไรตามใจชอบจนเลยเถิด กลายเป็นกลุ่มเป็นแก็งเป็นก๊วนมาหาประโยชน์ โดยอ้างตัวแทนประชาชนไม่ได้ 

ฉะนั้นความพอดีของกฎหมายมันก็ต้องมี หรือความผิดทางกฎหมายมันก็ต้องบรรจุไว้ เรื่องยุบพรรค จึงไม่ได้ลบทิ้งไป ยังคงต้องคาไว้ ในรัฐธรรมนูญ 60 ก็เหมือนกัน ยังเห็นความจำเป็นต้องกำกับควบคุมพรรค โดยเฉพาะการกระทำที่มันทำลายความมั่นคง หรือเข้าข่ายกระทบต่อระบอบของการเมือง การปกครอง 

สำหรับเรื่องนี้บางคนอาจจะชอบ เห็นด้วยว่ามันต้องมี บางคนอาจจะมองกฎหมายว่ามันไม่ควรมี มันก็แล้วแต่คนจะตีความหมาย 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดหนักมาก ๆ ในช่วงนี้ และมีความออกมาชี้เป้า ออกมาเตือนให้จับตาดูว่าอาจจะทำให้การเมืองพลิกกระดานได้ ก็เพราะว่ามีบางคนใช้คำว่า กฎหมายติดเทอร์โบ หมายความว่ามันกำหนดช่วงเวลา วินิจฉัย คำร้องเรียนเรื่องยุบพรรคเร็วมาก ทำให้ไม่สามารถปล่อยทิ้งค้างไว้เป็นปีสองปี หรือจนลืมไปเลย มันทำไม่ได้ เพราะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นเจ้าภาพเบื้องต้นของข้อร้องเรียนเรื่องยุบพรรค กลายเป็นคนออกระเบียบมาเอง
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กกต. หรือกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ออกประกาศ ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ว่าด้วยขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนยุบพรรค หรือที่เรียกว่า ยุบพรรคติดเทอร์โบ 

โดยกำหนดว่าเมื่อมีคำร้อง ขั้นตอนแรกเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องต้องใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน สำหรับตรวจสอบพยานหลักฐานเอกสารดูก่อนว่ามันเข้าองค์ประกอบหรือไม่ หรือมันเป็นแค่บัตรสนเทศ ใบปลิว หรือมันมีตรรกะ มีพยานหลักฐานสมน้ำสมเนื้อควรเป็นคำร้องภายใน 7 วัน คณะทำงานชุดนี้ต้องหาข้อยุติ 

เมื่อเห็นมันเข้าข่ายที่ต้องวินิจฉัยให้เป็นกระแสความ ก็ส่งไปที่กรรมการชุดใหญ่ กรรมการชุดใหญ่ก็ต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยคำร้องนี้ 30 วัน โดยต้องหาข้อยุติว่าเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่? ถ้าหากเวลา 30 วัน ไม่พอสำหรับหาเอกสาร หรือหลักฐานที่มันยังเบาไปอยู่ แต่มีมูลจะหาต่อก็ขยายไปได้อีก 30 วัน รวมแล้วกลายเป็น 60 วัน แต่สามารถทำให้จบได้ภายใน 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันในขั้นแรก 

หมายความว่าทำให้จบภายใน 30 วันได้ จากเดิมเริ่มที่ 7 วัน เป็น 30 วัน ก็ใช้เวลาแค่ 37 วัน แต่ถ้ามีเรื่องที่จะต้องสืบเพิ่ม ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน รวมเป็น 67 วัน สรุปคือ กกต. ใช้เวลาได้ไม่เกิน 67 วัน หรือสองเดือนกว่า ๆ ขยายยังไงก็ได้ไม่เกิน 67 วัน และสามารถทำให้จบก่อนหน้านั้นได้ 

ดังนั้นหากเรื่องตกไปตั้งแต่ขั้นตอนคณะทำงานรับเรื่อง ก็ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องกังวล แต่หากมันมีมูลต้องสอบ ก็ต้องไปรอคำวินิจฉัยของ กกต. ชุดใหม่ ก็จะทำให้พรรคการเมืองที่ถูกร้อง ต้องอยู่ในภาวะหวาดระแวง ทำการหาเสียงไป ชำเลืองมองไปว่า จะถูกวินิจฉัยว่าอย่างไร จะได้หาเสียงแบบสบายใจหรือต้องเอามือก่ายหน้าผาก

อย่างไรก็ตามเมื่อครบ 60 วัน คณะทำงานไม่เกิน 7 วัน กกต. ชุดใหญ่พิจารณาชี้ขาดไม่เกิน 30 วัน ขยายได้ไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 67 วัน ถ้าชุดใหญ่ กกต. เห็นว่ามีมูล สมควรวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นใช้คนนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกมาบงการพรรค ทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหนอย่างไร ก็ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย 

คลิปภาพมัดตัว ‘นันทิวัฒน์’ เผย หลายพรรคเสี่ยงโดนยุบพรรค ชี้!! นักการเมืองมักคิดว่าทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด

(13 มี.ค.66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สุ่มเสี่ยงผิดกฏหมาย

คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองมีความเก่งในการทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดกฏหมาย หรือจะพูดว่า ไม่กลัวการทำผิดกฏหมาย ชอบเดินไต่ลวด ชอบเลี่ยงกฏหมาย หรือพูดง่าย ๆ ว่า ชอบโกง จับไม่ได้ ไล่ไม่ทันก็รอด นักการเมืองพวกนี้มักมีความเชื่อว่า เป็นนักการเมืองจะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด แต่ถึงจะผิด สักวันจะสามารถออกกฏหมายยกเว้นความผิดที่ตัวเองก่อไว้ได้

มันเกิดอะไรขึ้น โมฆะบุรุษ คนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองจะไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ แต่คนเหล่านี้กลับเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองแบบเย้ยกฎหมาย บางคนบางพรรคตั้งให้มีตำแหน่งบนเวทีหาเสียง กระโดดขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงทางการเมือง ชี้นำ โฆษณานโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง มีบทบาทมากกว่าคนอื่น ๆ

พรรคการเมืองหลายพรรคกำลังสุ่มเสี่ยงใช้คนนอกพรรคชี้นำ ครอบงำพรรค บางพรรคเข้าใจเอาเองว่า คนเหล่านั้นสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสี่ยงได้ อันเป็นความเข้าใจผิด

ปัจจุบัน ยังไม่ยุบสภา ยังไม่เปิดรับสมัคร ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น จึงยังไม่มีผู้ช่วยหาเสียงแน่นอน ไก่จะเกิดก่อนไข่ไม่ได้

‘กกต.’ แจงสั่งยุติ 61 คำร้องยุบพรรค ยึดตาม กม. เตือนนักร้อง!! ระวังเจอร้องเท็จ มีโทษหนัก

(17 มี.ค. 66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีมีความเห็นว่าคำร้องยุบพรรค 61 เรื่องไม่มีมูล จึงสั่งยุติเรื่อง ว่า การพิจารณาการยุบพรรคของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถือเป็นเรื่องของกฎหมายพูด เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่นายทะเบียนคิดเอาเอง

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า โดยหลัก เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะให้สำนักงานดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดให้ต้องให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

จากนั้นจึงมาพิจารณาว่า การการกระทำนั้น กฎหมายกำหนดเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ หลายคำร้องมีการกระทำตามที่ร้องเกิดขึ้นจริง แต่การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือสั่งยุติเรื่อง

“แต่ถ้าพิจารณาแล้วการกระทำตามคำร้องนั้นอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ก็จะรับไว้พิจารณาว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือถึงขนาดให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาพบว่าเป็นคำร้องที่ไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเป็นส่วนมาก”

‘ชูวิทย์’ บุก กกต. ยื่นสอบ ‘ภท.’ ปมรับเงินบริจาค มั่นใจ!! หลักฐานแน่น ยุบพรรคได้ 100%

(17 มี.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยเข้าข่าย ขัดมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ และให้ กกต.พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคภูมิใจไทย

โดยนายชูวิทย์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงว่า ตามมาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โอนหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประมาณ 190 ล้าน ให้ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนนั้น ไม่ได้เป็นการโอนหุ้นจริง เพราะจากการตรวจสอบนายศุภวัฒน์ไม่มีรายได้ ไม่มีการยื่นเสียภาษี จึงถือเป็นการโอนหุ้นให้นอมินีที่เป็นพนักงานในบริษัทถือแทน โดยที่นายศักดิ์สยามยังเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว และการที่บริษัทดังกล่าว ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมอยู่นั้น จึงเป็นการรู้อยู่แล้ว แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้บริษัทดังกล่าวได้รับงานกว่า 104 โครงการ 1,500 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้นอมอนี นำเงินที่ได้บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยหลายครั้ง เงินดังกล่าวจึงได้มาโดยมิชอบ

ดังนั้น นายศักดิ์สยาม ในฐานะเลขานุการพรรคภูมิใจไทย จึงรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเงินมาจากไหน ทั้งนี้การนายศักดิ์สยามและพรรคภูมิใจไทยรับเงินบริจาคจาก หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และนายนายศุภวัฒน์ จึงเข้ามาตรา 72 ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้พิษ ผลไม้ก็เป็นพิษ

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า โดยหลักฐานที่ตนยื่นให้ กกต.ในวันนี้ มีทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย บัญชีรายชื่อผู้บริจาคให้พรรคภูมิใจไทย, สำเนาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ, สำเนาการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายศักดิ์สยาม, งบการเงินของบริษัทศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991), งบการเงินของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น, สำเนาโอนหุ้นของนายศักดิ์สยาม, สัญญากรมทางหลวง และรายชื่อบริษัทที่มีสถานะร้าง

‘ไพศาล’ ฟัน!! ยุบสภาฯ พาการเมืองไทยเข้าสู่ ‘กลียุค’ พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ ผวา!! หวิดถูกยุบพรรคเป็นพรวน

(20 มี.ค. 66) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จากยุบสภาสู่การยุบพรรคและกลียุค!!!

1. การนับเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องนับวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ว่า จะสิ้นสุดลงในเวลา 24.00 น. วันที่ 22 มี.ค. 66 ซึ่งเป็นที่ยุติชัดเจนแล้วว่าไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพราะมีคนถือว่า ‘เป็นเรื่องพิเศษ’ กล่าวง่าย ๆ คือเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี

แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องนี้ไว้เฉพาะแล้วว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี” และ “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการยุบสภา” คือลงว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่มีกรณีพิเศษนอกเหนือจากนี้

2. จับตาว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษายุบสภาในวันนี้ตามที่เป็นข่าวลือกันหรือไม่ ถ้าจริง ก็จะลบล้างกำหนดการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศ ก่อนหน้านี้ และทำให้เวลาการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งขยายเอาไป ซึ่งคงจะขยายไปถึงต้นเดือนเมษายน 66 ก็จะขยายเวลาตกปลาในอ่างได้อีกระยะหนึ่ง

จากนั้นก็ต้องติดตามข่าวกระบวนการเดินหน้าในเรื่องยุบพรรค โดยเฉพาะการยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) ก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และขณะนี้ ก็มีเรื่องการยุบพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรวมไทยรักษาชาติ (รทสช.) ตามเข้ามาเป็นพรวนด้วย

3. การกล่าวหาเรื่องใช้อำนาจอ้างการตรวจราชการเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง รวม 19 ครั้ง ที่พรรคเสรีรวมไทยโดยอาจารย์สมชัยและคุณวีระเป็นผู้กล่าวหานั้น ได้ยินว่ามีข้อพิสูจน์ง่ายมาก

~การกระทำทั้ง 19 ครั้งมีหลักฐานชัดเจนทั้งภาพถ่ายและคลิป รวมทั้งตัวบุคคล

~สามารถเปรียบเทียบการตรวจราชการในช่วง 3 ปีก่อนนี้ว่ามีลักษณะรูปแบบอย่างไรแตกต่างกับ ที่อ้างไปตรวจราชการในช่วงก่อนเลือกตั้งนี้อย่างไร ที่ชัดเจนคือการระดมบุคคลหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจังหวัดมาต้อนรับ การจัดรายการพบปะราษฎรและการกล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งการนำผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งขึ้นโชว์ตัวกันเป็นตับ

อย่าทำเป็นเล่นไป เพราะถ้าวันใดกระบวนการยุติธรรมแสดงความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ก็คงน่าดูชม ไม่ใครก็ใครอาจต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

‘พี่ศรี’ ไม่ทน!! โร่ฟ้องกกต. เอาผิด ‘ปดิพัทธ์ หลังปราศรัยพิษณุโลกพาดพิงถึงสถาบัน ชี้!! มีผลยุบพรรค

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นกกต. เอาผิด ‘ปดิพัทธ์’ ส.ส.ก้าวไกล ปราศรัยพาดพิงสถาบันระหว่างหาเสียงที่พิษณุโลก มีผลยุบพรรค

(20 มี.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางยื่นคำร้องต่อกกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบถ้อยคำปราศรัยของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ได้ปราศรัยหาเสียงพาดพิงสถาบัน ที่จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า วันนี้ตนนำหลักฐานเป็นคลิปคำปราศรัยของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล โดยในคำปราศรัยล้วนแล้วพูดถึงแต่สถาบัน บางถ้อยคำปรากฏชัดเจนว่าเป็นการพาดพิงไปถึงโครงการพระราชดำริมากมาย มีการคอร์รัปชัน ซึ่งคำพูดดังกล่าวตนคิดว่าเป็นการให้ร้ายต่อสถาบัน โดยโครงการพระราชดำริเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกร ประชาชน เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปของประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งมีมากกว่า 4,700 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ

‘ภูมิใจไทย’ แจง!! เงินบริจาคถูกต้องตาม กม. ยัน!! ที่ผ่านมาแค่ 'ชูวิทย์' จินตนาการไปเอง

(22 มี.ค.66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายธนิต ศรีประเทศ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หนึ่งในทีมกฎหมายพรรค ภท. ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นต่อ กกต.ให้ยุบพรรคภท. อันเนื่องมาจากเงินบริจาคพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตาม ม.72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยนายศุภชัย กล่าวยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การบริจาคเงินให้พรรคการเมือง เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ได้กำหนดรายละเอียด ว่า ถ้าหากจะมีการดำเนินการใดๆ จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือการบริจาคเงินจากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งเมื่อมีการบริจาคจากทั้ง 2 ส่วน ทางพรรคภท.ในฐานะเป็นผู้รับบริจาค จะต้องตรวจสอบว่า แหล่งที่มาของเงินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าเราทำถูกต้องทุกประการ โดยยอดบริจาค ตั้งแต่ปี 2561 -ปัจจุบัน อยู่ที่ 355,033,639 บาท แบ่งเป็นปี 2561 จำนวน 10 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 161 ล้านบาท ปี2563 จำนวน 24,884,289 บาท ปี 2564 จำนวน 35,952,000 บาท ปี2565 จำนวน 123,197,350 บาท และปี2566 จำนวน 8,730,000 บาท โดยทั้งหมดบริจาคเป็นเงินสด รวมถึงมีบางส่วนที่บริจาคเป็นทรัพย์สิน ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนแล้วแจ้งต่อ กกต. เพื่อประกาศต่อสาธารณะ และขอยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ด้านนายธนิต กล่าวยืนยันว่า การบริจาคของพรรคเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของกกต. รวมถึงมีระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้หมดแล้ว ที่พรรคการเมืองจะต้องพึงสังวร เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมือง โดนโทษจนถึงขั้นถูกยุบพรรค ขณะที่ขั้นตอนการบริจาคทั้ง ในส่วนของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ได้กำหนดไว้ให้บริจาคไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะต้องมีหลักฐานยืนยัน อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือบริคณห์สนธิ (ตราสารที่ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทได้ตกลงร่วมกันจัดทำขึ้น) หนังสือลงนามมอบอำนาจต่างๆ ที่จะต้องรวบรวมแล้วส่งไปยัง กกต.ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลังจากส่งให้กกต.ตรวจแล้ว ก็จะต้องไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบในแง่ของนิติบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้เงินบริจาคไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ ซึ่งจะต้องนำมาดำเนินการ เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งเท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top