Wednesday, 15 May 2024
เลือกตั้งปี66

โหรดังทำนาย!! ปี 66 ‘บิ๊กตู่’ ชีวิตติดดาว พุ่งแรงกว่าใคร ‘เสี่ยหนู’ ไม่น้อยหน้า มีแววนั่งนายกฯ 3 สมัยซ้อน

อย่างที่เราทราบๆ กันดีอยู่ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงใกล้จะเลือกตั้งใหม่อีกครั้งแล้ว หลายพรรคการเมืองต่างออกมาพูดถึงเรื่องนโยบายของพรรคตัวเองเพื่อดึงคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน กระแสตอบรับก็มีทั้งดีและแย่ปะปนกันไป แต่ไม่ว่าอย่างไรทุกพรรคก็วาดหวังว่าจะได้รับเลือกจนสามารถตั้งตัวเป็นรัฐบาลได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากหลายๆ สำนักก็บ่งชี้คล้ายๆ กันว่า พรรคการเมืองบางพรรคเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน นักการเมืองบางคนประชาชนหวังว่าจะได้เป็นนายกฯ ส่วนบางพรรคบางคนคะแนนก็หดหาย คล้ายว่าประชาชนไม่ปลื้ม

เรื่องของผลโพลล์ก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ มีการเก็บข้อมูลก่อนจะนำมาวิเคราะห์ และสรุปเป็นผลสำรวจที่เราๆ ได้อ่านกัน แต่หากแวะไปทางเรื่องของโหราศาสตร์ อาจจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างจากโพลล์ก็เป็นได้ เพราะอย่างที่โบราณว่า ‘แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้’ งานนี้อาจจะพลิกโพลล์ให้หลายคนเจ็บใจเล่นแน่ๆ

และเมื่อไม่นานมานี้ ‘อาจารย์วิสาระ ประนมกรณ์’ นักโหราศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทย ได้ทำนายดวงการเมืองประเทศไทย และเหล่าบรรดาตัวเต็งแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปไว้ในรายการ TOP NEWS TALK ของทางช่อง TOP NEWS โดยสรุปใจความได้ว่า…

ภาพรวมประเทศไทยปี 2566 จะยังมีความขัดแย้งอยู่ แต่การค้าขายดี การทำมาหากินจะเจริญ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา หาเงินคล่องจากต่างชาติ (แต่หลังมกราคม 66 โควิดมีแนวโน้มจะกลับมา โดยเดือน พฤษภาคม - กันยายน จะหนักมาก ) เงินทองสะพัด และที่สำคัญต้องมีผู้นำเป็น ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เท่านั้น 

โดยพลเอกประยุทธ์ จะมีรหัสชีวิตติดดาวหลังวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566 ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน โดยที่ใครก็ไม่อาจมาแข่งได้ และมีแววว่าจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกสมัย รวมไปถึงการย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติก็ยิ่งจะเป็นการดี เพราะอยู่แล้วมีความสุข บ้านเมืองจะเจริญ สงบสุข

ส่วน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่ถึงแม้จะติดโพลล์หลายๆ สำนัก แต่รหัสชีวิตไม่ติดดาว ถึงแม้จะมีความหวังความเชื่อมั่น แต่ความหวังจะน้อยลงเรื่อยๆ และค่อยๆ เลือนหายไป ส่วนโอกาสที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปก็ไม่มีเลย นอกจากนี้ดวงของพ่อ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ได้มีอิทธิพลเกื้อหนุนให้ด้วย

ชะตากรรมเลือกตั้ง 66 พรรคการเมืองใหญ่ ‘ฝ่ายรัฐ-ฝ่ายค้าน’ ต้องผวา!! หลัง ‘บรรดานักร้อง’ เรียงหน้าขุดหลักฐานยื่น ‘ยุบพรรค’

เมื่อไม่นานมานี้ (9 มี.ค.66) ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และอาจารย์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในคลิปวิดีโอหัวข้อ ‘จับตา! กระแสยุบพรรค...ชะตากรรมเลือกตั้ง 66’ ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ ‘Suriyasai Channel’ โดยระบุว่า…

เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองก่อนมีพระราชกิจฎีกาเลือกตั้ง ก็พบว่า มีกระแสยุบพรรคถูกจุดขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะขอมาเรียบเรียงที่มาที่ไป ที่มันจะทำให้เกิดความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง หรือความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง 

และหากจำกันได้ช่วงเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วในปี 62 ก็มีพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ชื่อพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่ 23 วัน ต้องออกจากสนามเลือกตั้ง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า คะแนนของปีกฝ่ายค้านกับปีกพรรคร่วมรัฐบาลมันไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง มันกลายเป็นการโหวตเพียงเพราะว่าไม่มีพรรคที่เรารักให้โหวตเลยจะต้องไปโหวตฝั่งพรรคอื่น มันเลยเกิดความคาราคาซังอย่างที่ได้เห็นกัน 

ส่วนการเลือกตั้งในรอบนี้ ปี 2566 ก็ต้องรอนายกฯ ประกาศยุบสภาก่อน ส่วนการเลือกตั้งก็คงเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมอย่างแน่นอน และคาดว่าเป็นช่วงต้นเดือน แต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กระแสความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วนั่นก็คือ กระแสยุบพรรคการเมือง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่คนหยิบยกมาพูดกันอย่างล้นหลาม ส่วนความคิดเห็นก็แตกต่างกันไป ส่วนประเด็นที่เราจะยกมาพูดในวันนี้ก็คือแนวโน้มของเรื่องนี้จะเอียนไปทางไหน จะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 62 หรือไม่? หรือมีอะไรที่น่ากังวลมากกว่าเดิมหรือไม่?

>> เริ่มที่ประเด็นที่มีการร้องเรื่องยุบพรรคใหญ่ ๆ ในขณะนี้ที่โดนกันเกือบทุกพรรค

พรรคล่าสุดที่โดนคือ ‘เพื่อไทย’ เพราะมีคนไปร้องว่า ‘คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเลยว่า ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ศาลไม่ได้บอกว่าห้ามไปยุ่งนั้น ห้ามขนาดไหนอย่างไร พอไม่ได้เขียนอย่างนั้น อาจทำให้คุณณัฐวุฒิ สนใจหรือไม่สนใจหรือเปล่า ภาพที่ปรากฏออกมาคือคุณณัฐวุฒิ ไปมีบทบาทผู้นำในพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย การแจกแจงแถลงยุทธศาสตร์แลนสไลด์ ผมคิดว่าคุณณัฐวุฒิปราศรัยทุกครั้ง ชูเรื่องนี้มากกว่าหัวหน้าพรรค พูดมากกว่าใครอีก 

นี่เลยกลายเป็นประเด็นที่มีคนไปร้องพรรคเพื่อไทยว่าปล่อยให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรม หรือการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

ซึ่งก่อนหน้านี้เพื่อไทยก็โดนร้องกรณีที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง หนีคดีด้วย ที่ดูเหมือนเล่นบทบงการพรรค หรือกระทั่งบงการว่าที่นายกคนที่ 30 ด้วยซ้ำไป กลายเป็นคนที่เหมือนชักใยอยู่แล้ว จะบอกว่าใครเหมาะไม่เหมาะ มันก็เลยทำให้ภาพดูยังมีบทบาทกับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยอยู่ ซึ่งก็มีคำร้องเรียนนี้ไว้แล้ว แต่เข้าใจว่ากรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด

ต่อมาคือ ‘ก้าวไกล’ จำได้ว่าคุณศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเบอร์ 1 ก็ไปร้องยุบพรรคก้าวไกล เรื่องร้องเรียนคล้าย ๆ กับกรณีที่ คุณสนธิญา สวัสดี ที่ไปร้องพรรคเพื่อไทยล่าสุดว่า คุณปิยบุตร คุณธนาธร ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี แต่ไปขึ้นเวทีปราศรัย แล้วก็มีบทบาทนำในพรรคก้าวไกลอยู่ในขณะนี้ แม้จะทำในนามกลุ่มก้าวไกลก็ตาม แต่โดยเฉพาะการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเคียงคู่กันมันทำได้หรือไม่อย่างไร หรือเข้าข่ายไปผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่นี่ก็เป็นที่ร้องสักระยะแล้ว

ถัดไปเป็นพรรคใหญ่อย่าง ‘พลังประชารัฐ’ ของลุงป้อมในเรื่องที่ไปโยงกับทุนสีเทา ตู้ห่าว ที่บริจาคให้เงินสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ มีคนไปร้องว่าไปรับบริจาคจากคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นชาวต่างชาติ กฎหมายทำไม่ได้ บริจาคบาทเดียวก็ไม่ได้ อันนี้บริจาค 3 ล้าน เรื่องก็คาอยู่ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง

ต่อมาพรรคลุงตู่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ก็มีคนออกมาพูดเรื่องที่ทำการพรรค สำนักงานพรรคไปโยงกับ ส.ว. คนหนึ่ง ที่คุณโรม รังสิมันต์ โฆษกพรรคก้าวไกล บอกว่าเป็น ส.ว. ทรงเอ แล้วก็เป็นอาคารสถานที่ ที่ไปโยงของเรื่องการได้มาที่มิชอบ หรือไม่สุจริต แล้วมันเป็นที่ทำการพรรคได้อย่างไร ก็มีคนพยายามเปิดประเด็นที่ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นภาพของพรรคใหญ่

และล่าสุดตอนนี้คุณชูวิทย์ ก็เดินหน้าตรวจสอบ ‘ภูมิใจไทย’ อย่างแรง ทั้งเรื่องรถไฟสายสีส้ม เบื้องหน้าเบื้องหลังการประมูล จนกระทั่งเรื่องที่ดินรถไฟ ที่ดินเขากระโดง แล้วก็ใช้นอมินีถือหุ้นแทนเปิดโปงรายวัน ลามไปถึงขั้นประกาศว่าจะทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะว่าเรื่องมันไปโยงกับ ‘คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยด้วย

จะเห็นว่าพรรคใหญ่ 5-6 พรรคเหมือนถูกจ่อคอหอยอยู่เลยนะ แต่ความคิดเห็นบางคนบอกว่าไม่น่าถึงขั้นยุบพรรค หรือไม่น่าจะมีความผิดขนาดนั้น แต่จริง ๆ ก็ไปคาดการณ์อะไรที่มันจะร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการเมืองไทย

ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ถึงขั้นไปเชียร์กฎหมายยุบพรรค เพราะกว่าจะทำพรรคให้เป็นองค์กร เป็นสถาบัน มีสมาชิก มีสาขาตามเงื่อนไขมันยาก อีกทั้งพรรคการเมืองบ้านเรายังไม่มีความเป็นสถาบัน แล้วหากมีบางพรรคกำลังก่อตัวแล้วไปยุบพรรค ลางสังหรณ์ผมไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ในทางกลับกันก็ไม่อาจปล่อยให้พรรคการเมืองทำอะไรตามใจชอบจนเลยเถิด กลายเป็นกลุ่มเป็นแก็งเป็นก๊วนมาหาประโยชน์ โดยอ้างตัวแทนประชาชนไม่ได้ 

ฉะนั้นความพอดีของกฎหมายมันก็ต้องมี หรือความผิดทางกฎหมายมันก็ต้องบรรจุไว้ เรื่องยุบพรรค จึงไม่ได้ลบทิ้งไป ยังคงต้องคาไว้ ในรัฐธรรมนูญ 60 ก็เหมือนกัน ยังเห็นความจำเป็นต้องกำกับควบคุมพรรค โดยเฉพาะการกระทำที่มันทำลายความมั่นคง หรือเข้าข่ายกระทบต่อระบอบของการเมือง การปกครอง 

สำหรับเรื่องนี้บางคนอาจจะชอบ เห็นด้วยว่ามันต้องมี บางคนอาจจะมองกฎหมายว่ามันไม่ควรมี มันก็แล้วแต่คนจะตีความหมาย 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดหนักมาก ๆ ในช่วงนี้ และมีความออกมาชี้เป้า ออกมาเตือนให้จับตาดูว่าอาจจะทำให้การเมืองพลิกกระดานได้ ก็เพราะว่ามีบางคนใช้คำว่า กฎหมายติดเทอร์โบ หมายความว่ามันกำหนดช่วงเวลา วินิจฉัย คำร้องเรียนเรื่องยุบพรรคเร็วมาก ทำให้ไม่สามารถปล่อยทิ้งค้างไว้เป็นปีสองปี หรือจนลืมไปเลย มันทำไม่ได้ เพราะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นเจ้าภาพเบื้องต้นของข้อร้องเรียนเรื่องยุบพรรค กลายเป็นคนออกระเบียบมาเอง
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กกต. หรือกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ออกประกาศ ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ว่าด้วยขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนยุบพรรค หรือที่เรียกว่า ยุบพรรคติดเทอร์โบ 

โดยกำหนดว่าเมื่อมีคำร้อง ขั้นตอนแรกเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องต้องใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน สำหรับตรวจสอบพยานหลักฐานเอกสารดูก่อนว่ามันเข้าองค์ประกอบหรือไม่ หรือมันเป็นแค่บัตรสนเทศ ใบปลิว หรือมันมีตรรกะ มีพยานหลักฐานสมน้ำสมเนื้อควรเป็นคำร้องภายใน 7 วัน คณะทำงานชุดนี้ต้องหาข้อยุติ 

เมื่อเห็นมันเข้าข่ายที่ต้องวินิจฉัยให้เป็นกระแสความ ก็ส่งไปที่กรรมการชุดใหญ่ กรรมการชุดใหญ่ก็ต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยคำร้องนี้ 30 วัน โดยต้องหาข้อยุติว่าเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่? ถ้าหากเวลา 30 วัน ไม่พอสำหรับหาเอกสาร หรือหลักฐานที่มันยังเบาไปอยู่ แต่มีมูลจะหาต่อก็ขยายไปได้อีก 30 วัน รวมแล้วกลายเป็น 60 วัน แต่สามารถทำให้จบได้ภายใน 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันในขั้นแรก 

หมายความว่าทำให้จบภายใน 30 วันได้ จากเดิมเริ่มที่ 7 วัน เป็น 30 วัน ก็ใช้เวลาแค่ 37 วัน แต่ถ้ามีเรื่องที่จะต้องสืบเพิ่ม ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน รวมเป็น 67 วัน สรุปคือ กกต. ใช้เวลาได้ไม่เกิน 67 วัน หรือสองเดือนกว่า ๆ ขยายยังไงก็ได้ไม่เกิน 67 วัน และสามารถทำให้จบก่อนหน้านั้นได้ 

ดังนั้นหากเรื่องตกไปตั้งแต่ขั้นตอนคณะทำงานรับเรื่อง ก็ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องกังวล แต่หากมันมีมูลต้องสอบ ก็ต้องไปรอคำวินิจฉัยของ กกต. ชุดใหม่ ก็จะทำให้พรรคการเมืองที่ถูกร้อง ต้องอยู่ในภาวะหวาดระแวง ทำการหาเสียงไป ชำเลืองมองไปว่า จะถูกวินิจฉัยว่าอย่างไร จะได้หาเสียงแบบสบายใจหรือต้องเอามือก่ายหน้าผาก

อย่างไรก็ตามเมื่อครบ 60 วัน คณะทำงานไม่เกิน 7 วัน กกต. ชุดใหญ่พิจารณาชี้ขาดไม่เกิน 30 วัน ขยายได้ไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 67 วัน ถ้าชุดใหญ่ กกต. เห็นว่ามีมูล สมควรวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นใช้คนนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกมาบงการพรรค ทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหนอย่างไร ก็ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top