เรื่องเหลือเชื่อ ‘Tsutomu Yamaguchi’ ผู้รอดชีวิตถึง ๒ ครั้งจากระเบิดปรมาณู เมื่อครั้งสหรัฐฯ ถล่มญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Tsutomu Yamaguchi ชายผู้รอดจากระเบิดปรมาณูถึงสองครั้งสองครา

โลกใบนี้มีการใช้ระเบิดปรมาณูในการทำสงครามเพียงสองครั้งคือ ช่วงตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 โดยกองทัพสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ประเทศญี่ปุ่นถึงสองลูก ได้แก่ Little Boy และ Fat Man

เหตุการณ์ในนั้นครั้งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนไม่น้อย แต่ในเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ ยังมีเรื่องราวปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ลูกระบิดปรมาณู Little Boy น้ำหนัก 4.4 ตัน
 
‘Tsutomu Yamaguchi’ เป็นมนุษย์ที่อยู่ในรัศมีของระเบิดปรมาณูแล้วรอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูครั้งแรก (ลูกระบิดปรมาณูลูกดังกล่าวชื่อว่า Little Boy ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Enola Gay ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๙๐,๐๐๐-๑๔๖,๐๐๐ คน) ที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 

แม้ว่าตัว Yamaguchi จะถูกแรงอัดของระเบิดจนหมุนคว้างกลางอากาศราวกับถูกพายุทอร์นาโดพัดจนตกลงไปในคูน้ำ แต่หลังจากรับการรักษาและพักฟื้นอย่างรวดเร็ว เขาก็ตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟกลับไปยังเมืองนางาซากิ และมาถึงในเวลาที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง (Fat Man ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Bockscar ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกราว ๓๙,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ คน) พอดี แต่เขาก็รอดชีวิตมาได้อีกครั้งหนึ่ง


ลูกระบิดปรมาณู Fat Man น้ำหนัก 4.67 ตัน

Tsutomu Yamaguchi (山口彊, Yamaguchi Tsutomu) (16 มีนาคม ค.ศ. 1916 - 4 มกราคม ค.ศ. 2010) เป็นวิศวกรชาวญี่ปุ่นและเป็นผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูสองครั้งทั้งที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง 

แม้ว่าจะมีประชาชนอย่างน้อย ๗๐ คนที่ได้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดทั้งสองครั้ง แต่เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เป็นผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้ง


 
Yamaguchi เกิดและอาศัยอยู่ที่เมืองนางาซากิ เข้าร่วมงานกับ Mitsubishi Heavy Industries ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และทำงานเป็นช่างเขียนแบบซึ่งออกแบบเรือบรรทุกน้ำมัน 

ระหว่างสงครามเขาก็ยังอาศัยอยู่ในเมืองนางาซากิ แต่ได้เดินทางไปยังเมืองฮิโรชิมาเพื่อทำธุรกิจให้กับบริษัท Mitsubishi Heavy Industries ซึ่งเป็นนายจ้างของเขา เมื่อเมืองฮิโรชิมาถูกทิ้งระเบิดเมื่อเวลา 8.15 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เขาได้รับบาดเจ็บ แต่ตัดสินใจเดินกลับมาที่เมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น และแม้ว่าจะมีบาดแผลเต็มตัว แต่เขาก็กลับไปทำงานในวันที่ 9 สิงหาคม วันที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นครั้งที่สอง 

เช้าวันนั้น ขณะที่เจ้านายของเขาบอกว่าเขา "บ้า" หลังจากที่เขาบรรยายว่า ระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งสามารถทำลายเมืองได้อย่างไร ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งยังเมืองนางาซากิก็จุดชนวน ในปี ค.ศ. 1957 เขาได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘Hibakusha’ (ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู) ของเหตุระเบิดที่เมืองนางาซากิ 

แต่จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2009 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า เขาอยู่ในเมืองฮิโรชิมาเมื่อสามวันก่อนการระเบิดที่เมืองนางาซากิด้วย เขาจึงเป็นบุคคลที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้งสองครา เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2010 ขณะอายุได้ ๙๓ ปี


 Yamaguchi กล่าวว่า เขา "ไม่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นควรจะเริ่มสงคราม"

กลุ่มควันรูปดอกเห็ดจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูสูงกว่า 20,000 ฟิต ซ้ายเมืองฮิโรชิมา ขวาเมืองนางาซากิ

ระว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Yamaguchi อาศัยและทำงานในเมืองนางาซากิ แต่ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1945 เขาต้องเดินทางไปทำงานที่เมืองฮิโรชิมาเป็นเวลาสามเดือน ในวันที่ 6 สิงหาคม เขาเตรียมจะออกจากเมืองพร้อมกับเพื่อนร่วมงานสองคน Akira Iwanaga และ Kuniyoshi Sato และกำลังเดินทางไปสถานีรถไฟเมื่อเขานึกขึ้นได้ว่าลืม Hanko (ตราประทับประจำตัวแบบที่ใช้กันทั่วไปในญี่ปุ่น) จึงเดินทางกลับไปยังที่ทำงานของเขาเพื่อนำติดตัว ในเวลา 8.15 น. ขณะเขากำลังเดินไปที่ท่าเทียบเรือ เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ของอเมริกา Enola Gay ได้ทิ้งระเบิดปรมาณู Little Boy ลงใกล้กับใจกลางเมือง ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร 

Yamaguchi จำได้ว่าเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดและปล่อยร่มชูชีพขนาดเล็ก ๒ ร่ม ก่อนที่จะมีแสงวาบขนาดใหญ่บนท้องฟ้า และตัวเขาก็ถูกพัดปลิวไป

การระเบิดทำให้แก้วหูของเขาแตก ทำให้เขาตาบอดชั่วคราว และทิ้งรังสีที่รุนแรงไว้บนด้านซ้ายของลำตัวครึ่งบน หลังจากกลับมาได้สติเขารีบคลานไปที่ที่กำบัง และหลังจากพักผ่อนแล้ว เขาก็ออกเดินตามหาเพื่อนร่วมงานของเขา โชคดีที่พวกเขารอดชีวิตมาได้และอยู่ด้วยกันทั้งคืนในที่หลบภัยทางอากาศก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น


ร่องรอยบาดแผลจากการระเบิดบนตัวของ Yamaguchi

เมื่ออยู่ในนางาซากิ เขาเข้ารับการรักษาบาดแผลและแม้จะพันผ้าพันแผลอย่างหนัก เขาก็มารายงานตัวกลับเข้าทำงานในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ในเวลา 11.00 น. ของวันนั้นเอง ขณะที่ Yamaguchi กำลังอธิบายเหตุการณ์ระเบิดในเมืองฮิโรชิมาให้กับเจ้านายของเขา เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อ Bockscar ก็ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง Fat Man ลงมาใส่เมืองนางาซากิ และที่ทำงานของเขาซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของการระเบิดเพียง 3 กิโลเมตร แต่คราวนี้เขาไม่ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิด อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถเปลี่ยนผ้าพันแผลได้ ทั้งยังมีอาการไข้สูงและอาเจียนต่อเนื่องนานกว่าหนึ่งสัปดาห์

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองญี่ปุ่น Yamaguchi ทำงานเป็นนักแปลให้กับกองกำลังยึดครองญี่ปุน ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เขาและภรรยาซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิเช่นกัน มีลูกสาวสองคน ภายหลังเขากลับมาทำงานออกแบบเรือบรรทุกน้ำมันให้กับบริษัทมิตซูบิชิอีกครั้ง 

เมื่อเขาแก่ตัวลง ความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการใช้อาวุธปรมาณูก็เริ่มเปลี่ยนไป ในวัยแปดสิบเศษ เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขา ชื่อ Ikasareteiru inochi (A Life Well-Lived) รวมถึงหนังสือกวีนิพนธ์ และในปี ค.ศ. 2006 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมในสารคดี 165 double A เกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจากระเบิด (nijū hibakusha ในญี่ปุ่น) เรียกว่า Twice Survived : The Double Atomic Bombed of Hiroshima and Nagasaki ซึ่งฉายที่องค์การสหประชาชาติ โดยเขาร้องขอให้ยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทุกชนิด


 

วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2009 James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวแคนาดา และ Charles Pellegrino นักเขียนได้พบกับ Yamaguchi ขณะที่เขารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในเมืองนางาซากิ

Yamaguchi ผู้ซึ่งกลายเป็นแกนนำในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เขาบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่า “เหตุผลที่ผมเกลียดระเบิดปรมาณูก็เพราะว่า การใช้ระเบิดปรมาณูเป็นการดูถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” 

เขาพูดผ่านลูกสาวของเขาในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมโลกถึงไม่เข้าใจความปวดร้าวของระเบิดนิวเคลียร์ พวกเขาพัฒนาอาวุธเหล่านี้ต่อไปได้อย่างไร” 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2009 James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวแคนาดา และ Charles Pellegrino นักเขียนได้พบกับ Yamaguchi ขณะที่เขารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในเมืองนางาซากิ และหารือเกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ 

“ผมคิดว่าเป็นโชคชะตาที่กำหนดให้ Cameron และ Pellegrino ที่จะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์” Yamaguchi กล่าว


ร่องรอยบนใบหน้าของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู
 
ในตอนแรก Yamaguchi ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องดึงความสนใจของผู้คนด้วยสถานะผู้รอดชีวิตสองครั้งสองคราของเขา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เขาเริ่มมองว่าการรอดชีวิตของเขาคือ โชคชะตา ดังนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2009 เขาจึงยื่นขอคำรับรองว่า เป็นผู้รอดจากระเบิดปรมาณูสองครั้ง และเรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2009 ทำให้ Yamaguchi กลายเป็นบุคคลคนเดียวที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรามาณูทั้งสองครั้ง 

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เขากล่าวว่า “การสัมผัสรังสีสองครั้งของผมกลายเป็นบันทึกอย่างเป็นทางการของรัฐบาลแล้ว มันสามารถบอกคนรุ่นหลังถึงประวัติศาสตร์อันน่าสยดสยองจากผลของระเบิดปรมาณูได้ แม้หลังจากที่ผมตายไปแล้ว”


 
Yamaguchi สูญเสียการได้ยินในหูข้างซ้ายอันเป็นผลมาจากการระเบิดที่เมืองฮิโรชิมา นอกจากนี้เขายังหัวล้านชั่วเวลาหนึ่ง ซึ่งลูกสาวของเขาจำได้ว่า เขาถูกพันด้วยผ้าพันแผลตลอดเวลาจนกระทั่งเธออายุ ๑๒ ปี 

อย่างไรก็ดีตัวของ Yamaguchi เองยังคงมีสุขภาพที่ดี จนช่วงบั้นปลายชีวิตเขาเริ่มทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับรังสี รวมทั้งต้อกระจกและมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ภรรยาของเขายังได้รับพิษจากรังสีจากฝนดำหลังจากการระเบิดที่เมืองนางาซากิ และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2009 (อายุ ๘๘ ปี) ด้วยโรคมะเร็งไตและตับ ลูกๆ ทั้ง ๓ คนต่างก็มีปัญหาความทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพเพราะพวกเขามีพ่อ-แม่ที่รับสารกัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดทั้งคู่ 

Yamaguchi เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2010 ที่เมืองนางาซากิ ขณะอายุได้ ๙๓ ปี ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2010 รายการตลก QI ออกอากาศทาง BBC ได้นำเสนอเรื่องราวของ Yamaguchi โดยกล่าวถึงเขาว่าเป็น "ชายผู้โชคร้ายที่สุดในโลก" ทั้ง Stephen Fry พิธีกรรายการ QI และแขกรับเชิญคนดังต่างหัวเราะราวกับเป็นเรื่องตลกขบขัน คลิปจากตอนนี้ถูกอัปโหลดโดย BBC แต่ถูกลบในภายหลัง

โฆษกของ BBC บอกกับ Kyodo News ว่า "เราสั่งให้ทีมงานของเราลบไฟล์นี้ เนื่องจากเราได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม" 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในญี่ปุ่น ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ณ กรุงลอนดอน เขียนจดหมายถึง BBC เพื่อประท้วงว่า รายการดูหมิ่นผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณู 

มีรายงานว่า Piers Fletcher ผู้ผลิตรายการ ตอบสนองต่อข้อร้องเรียนโดยระบุว่า "เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งในสิ่งที่เกิดขึ้น" และ "เห็นได้ชัดว่า การประเมินความละเอียดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นของปัญหานี้ต่อผู้ชมชาวญี่ปุ่นต่ำไป" 

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2011 BBC และ Talkback Thames ร่วมกันออกแถลงการณ์ นอกจากแถลงการณ์ร่วมแล้ว BBC ยังส่งจดหมายจาก Mark Thompson ผู้อำนวยการใหญ่ของ BBC ถึงสถานทูตญี่ปุ่นอีกด้วย


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ