สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 20 - 24 ก.พ.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 27 ก.พ. - 3 มี.ค.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน โดยตลาดคาดว่าในปี 66 Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบัน สู่ระดับ 5.25-5.50% มากกว่าที่เคยคาดการณ์ 0.25% ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน โดยดัชนีดอลลาร์ (DXY Index) ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลก วันที่ 24 ก.พ. 66 ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.61 จุด จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 105.21 จุด สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ กดดันราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันโลกจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์น้ำมันของจีนที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการเดินทางทางอากาศ โดยสำนักวิเคราะห์ Wood Mackenzie, FGE, Energy Aspects และ S&P Global Commodity Insight คาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าน้ำมันดิบในปี 66 เพิ่มขึ้น 0.5 – 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 11.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ตลาดกังวลว่าอุปทานน้ำมันจากรัสเซียจะตึงตัว หากรัสเซียลดการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทมากกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 66 ตามที่เคยประกาศไว้ เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรและตั้งเพดานราคาน้ำมัน (Price Cap) ของชาติตะวันตก โดย Reuters รายงานรัสเซียมีแผนลดการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Primorsk และ Ust-Luga ในทะเลบอลติก และท่า Novorossiysk ในทะเลดำ 25% ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 66

สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80 – 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

-กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/65 (ประมาณการณ์ครั้งที่ 2) อยู่ที่ +2.7% จากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 3/65 ซึ่งอยู่ที่ +3.2% จากไตรมาสก่อนหน้า)

- Kpler รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสู่ยุโรปในเดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

- Morgan Stanley ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลก เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า จากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวของภาคการบิน

- Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียคาดการณ์อุปสงค์เชื้อเพลิงในปี 66 เพิ่มขึ้น 4.7% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 233.8 ล้านตัน โดยอุปสงค์ Gasoline เพิ่มขึ้น 7.1% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 37.8 ล้านตัน และอุปสงค์ Gasoil เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 90.6 ล้านตัน

-Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 66 ลดลง 7 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 600 แท่น​​​​